ทำความรู้จัก Strategic Foresight คำตอบแห่งอนาคต ที่ไม่ได้มีคำตอบเดียว

เพิ่มอำนาจให้ประชาชน มากกว่าการหย่อนบัตรเลือกตั้ง

เข้าสู่บรรยากาศเลือกตั้ง… หลายคนเริ่มกลับมารู้สึกถึง “สิทธิ” และ “อำนาจ” ของตัวเองอีกครั้ง เมื่อได้เข้าคูหาเลือกคนที่รักพรรคที่ชอบไปทำหน้าที่บริหารประเทศ แต่ประชาธิปไตย 4 วินาทีในช่วงของการหย่อนบัตรดูจะไม่เพียงพออีกต่อไป ทำให้เกิดการออกมาเคลื่อนไหวระดมความคิด มุมมองข้อเสนอ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างตรงความต้องการของพวกเขา มากกว่านโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองนำเสนอ

โดยเฉพาะปัจจุบันที่พรรคการเมืองต่างพากันแข่งขันด้านนโยบายที่ให้ความสำคัญไปกับคะแนนเสียงที่จะได้รับ มากกว่าการตอบโจทย์การพัฒนาเชิงโครงสร้าง หรือก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิสรัปชัน

การคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Foresight จึงเป็นอีกกลไกสำคัญที่ถูกพูดถึงในช่วงใกล้เลือกตั้งครั้งนี้ ด้วยเป้าหมายที่จะดึงภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม มาร่วมกันถักทอภาพอนาคต กำหนดเป้าหมาย และ หาวิธีการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ทุกคนเห็นเป็นภาพเดียวกัน

ผศ.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ ผู้อำนวยการโปรแกรมคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ สถาบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เริ่มต้นอธิบายถึง Strategic Foresight ว่าหมายถึง การคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ เป็นการออกแบบอนาคต เพื่อกำหนดยุทธศาตร์โดยปกติกระบวนการเหล่านี้ถูกนำมาใช้ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ หลักสำคัญคือ การมองสิ่งหนึ่งเพื่อออกแบบนโยบาย หรือกลยุทธ์ ฐานคิดสำคัญคือการเริ่มต้นจากการคิดถึงปลายทางที่เราอยากให้เกิดขึ้น (Begin with the end in mind) หรือการมองในอนาคตที่อยากให้เกิดขึ้น เราจึงจำเป็นต้องใช้เลนส์อนาคตมอง

สำหรับประโยชน์ของการคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ นั้น คือ การมองข้ามข้อจำกัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือมองข้ามสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไร้ความหวัง ทำให้เราไม่กล้าคิด ไม่กล้าฝันไปไกลกว่านั้น หรือการมองที่ยึดติดอยู่ในปัญหาในปัจจุบัน และปัญหาที่เป็นมาแล้วในอดีต ซึ่งจริง ๆ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต อาจไม่มีความสำคัญมากนักเมื่อเทียบกับความท้าทายอื่นที่กำลังเข้ามา ดังนั้นกระบวนการคาดการณ์อนาคต ช่วยให้เรามองอะไรที่กว้างขึ้น ลดมุมบอดที่เราติดอยู่กับปัญหาปัจจุบัน  หรืออดีตที่เราเผชิญความคิดสร้างสรรค์ และความคิดนอกกรอบ จะช่วยให้เรากล้าคิด กล้าฝันมากยิ่งขึ้น 

โดยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการวิเคราะห์สถานการณ์อนาคต คือ Scenario Planning ด้วยการลองสร้างเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และประเมินทางเลือกในการเตรียมรับมือกับปัญหาต่างๆที่อาจเข้ามา โดยในรายละเอียดจะเป็นการวางแผนจากการสร้างสถานการณ์จำลอง ซึ่งอาจจะเป็นอนาคตแบบต่างๆที่เป็นไปได้หรือสถานการณ์ความเสี่ยงรูปแบบต่าง ๆ หลาย ๆ แบบ เพื่อประเมินสถานการณ์ทางเลือกต่าง ๆ และจัดทำแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเลือกต่าง ๆ เหล่านั้น

จุดเด่นของ Scenario Planning คือการช่วยลดความคลาดเคลื่อนจากการแยกปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้ง (1) การเปลี่ยนแปลงที่สามารถคาดการณ์ได้ว่ามีความแน่นอนค่อนข้างสูงซึ่งอาจเป็นผลจากพลังสะสม(โมเมนตัม)ของการเปลี่ยนแปลงในอดีต ออกจาก (2) การเปลี่ยนแปลงที่มีความไม่แน่นอน (Uncertainty) หรือไม่สามารถทราบได้ (Unknowable) ชัดเจนว่าจะเป็นเช่นไร

“การที่ Scenario Planning เกี่ยวข้องกับอนาคตที่เป็นไปได้มากกว่าหนึ่งรูปแบบ จึงต้องการมุมมองที่หลากหลายจากกลุ่มผู้มีข้อมูลกลุ่มต่างๆ เพื่อเปิดมุมมองและเพิ่มความหลักแหลมในการวิเคราะห์เกี่ยวกับปัจจัยภายนอกและโอกาสที่เกิดขึ้น”

ทำไมเราต้องมองอนาคตไปถึงภาพหลังการเลือกตั้ง?

เวลาที่เรามองเรื่อง ‘การเลือกตั้ง’ สิ่งที่เราให้ความสำคัญมีอยู่ 2 เรื่อง คือ โจทย์ของนโยบาย หรือสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นซึ่งมักจะพัวพันอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตและเราเห็นว่ามีความสำคัญในปัจจุบัน ดังนั้นโจทย์ที่เราต้องการจริง ๆ นั้นมันสำคัญกับอนาคตมากน้อยแค่ไหนมันอาจไม่มีใครมาวัดตรงนั้นได้ แต่ถ้าเรามองโจทย์เหล่านั้นให้ไกลมากยิ่งขึ้นจะทำให้เราหลุดจากปัญหาในปัจจุบันและคิดอะไรได้ไกลมากยิ่งขึ้น

“การมองอนาคตสุดท้ายจะเป็นแบบไหน ไม่แน่นอน แต่ละคนมองอนาคตแตกต่างกัน แต่อย่างน้อยแต่และละคนมีสิทธิที่จะมองอนาคตในแบบของตัวเอง มีสิทธิที่จะฝันให้อนาคตของตัวเองเป็นแบบไหน การมองอนาคตมีเสน่ห์อย่างหนึ่งคือเราต้องรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย เพราะไม่มีใครตอบได้ถูกว่าอนาคตเป็นแบบไหน ทุกคนไม่มีใครตอบผิดในเรื่องของอนาคต หรือทุกคนอาจจะมองผิดหมด ดังนั้นคำตอบสำหรับอนาคตไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว ดังนั้นจึงทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์กันเพื่อขบคิด ถักทอความฝัน หรือภาพอนาคตที่เราจะมองเห็นร่วมกันได้”

กำหนดประเด็น จัดลำดับความสำคัญ และร่วมกันขบคิดเป็นนโยบาย

การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่มีรากฐานสำคัญคือ ทำเพื่อประชาชน การปกครองที่ประชาชนมีส่วนร่วม การออกแบบการเลือกตั้งที่ภาคการเมืองควรจะเข้ามาตอบสนองความต้องการของประชาชนน่าจะมีงานหลัก ๆ อยู่ 2 เฟซ 1. จะทำเรื่องอะไร 2. ควรจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นในกระบวนการ Strategic foresight ประชาชนจึงควรมีบทบาทมากในช่วงแรก คือเลือกสิ่งสำคัญที่อยากให้เกิดขึ้น (Agenda Setting)

โดยการกำหนด Agenda มันยึดโยงกับภาควิชาการที่เคยมีการทำการศึกษามาก่อนแล้ว เป็นแบบไหนได้บ้าง ซึ่งอาจจะต้องช่วยย่อยเรื่องเหล่านั้นให้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนเห็นว่า ในอนาคตของประเทศไทยในมิติต่าง ๆ มันเป็นแบบไหนได้บ้าง และเมื่อเกิดการรับรู้ เข้าใจ ขบคิดแล้ว เค้าอยากให้ประเทศไทยเป็นอย่างไรในอนาคต อนาคตของประเทศไทยในเรื่องนั้น ๆ ควรจะเป็นอย่างไร พร้อมกันนั้นประชาชนก็จะมีส่วนร่วมในการจัดลำดับความสำคัญ (Set Priority) การทำก่อนหลัง

อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของการสร้างความฝันนั้นให้เป็นจริง คือ “การออกแบบนโยบาย” อีกภาคส่วนสำคัญที่จะตามมาคือ ภาควิชาการ ภาคนโยบาย และภาคประชาสังคมในเรื่องนั้น ๆ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการขบคิดถึงเรื่องนั้น ๆ ทำให้ไอเดียเรื่องเหล่านั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ ซึ่งในกระบวนการเหล่านั้นทั้งในภาควิชาการ พรรคการเมือง รวมถึงกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาหอการค้า สมาคมด้านต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มเยาวชน ตลอดจนกลุ่มผู้สูงอายุ หลายภาคส่วนมาร่วมกันขบคิดและถักทอในส่วนกลไกเชิงนโยบายเพื่อทำให้ความฝันของประชาชนเป็นจริงได้

การมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง Scenario

การคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ จุดเน้นหลัก ๆ มี 2 ประเด็นด้วยกันคือ 1. ข้อมูลเชิงลึก (Insight) จากกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์ในเรื่องนั้น ๆ เราอยากจะเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของประชาชน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เรากระจายการลงพื้นที่ไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่เชิงพื้นที่แต่ยังหมายถึงกระจายไปในกลุ่มประชาชนต่าง ๆ ทำให้เราได้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นความต้องการที่แท้จริง 2. Inclusion เน้นการมีส่วนร่วม ไม่ละทิ้งความคิดเห็นหรือมองข้ามความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือให้ความสำคัญกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป โดยเรามองว่าจุดเริ่มต้นสำคัญเริ่มจากการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบและได้รับประโยชน์จากนโยบาย

“เรื่องของอนาคตไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ละคนจะมีมุมบอดของตัวเอง เช่น การนั่งล้อมวงไม่มีใครมองเห็นสิ่งที่อยู่ด้านหลังของตัวเองเลย เช่นเดียวกัน สิ่งเล็ก ๆ บางเรื่องที่เรามองไม่เห็นหรือสิ่งที่เรามองข้ามไป โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่อยู่ในบริบทที่แตกต่างจากเรา บางเรื่องที่เรามองว่าสำคัญ เขาอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย

…ในทางกลับกัน บางเรื่องที่เรามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย อาจเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา เป็นเรื่องที่ปลดล็อกชีวิตของเขาสู่ความเป็นอิสระก็ได้ เช่น การมีรายได้เยอะคือการปลดล็อก แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งอาจมองว่าการมีสวัสดิการที่ดี ไม่มีเรื่องต้องเป็นกังวล ทำให้เขาปลดล็อกและมีอิสระมากขึ้น จะเห็นได้ว่า เป้าหมายของทั้งสองแบบคืออิสระเหมือนกัน แต่การเดินไปสู่สิ่งนั้นไม่เหมือนกัน”

เพิ่มอำนาจให้ประชาชน มากกว่าการหย่อนบัตรเลือกตั้ง

ผศ.รักษ์พงศ์ ระบุว่า จังหวะนี้เป็นโอกาสสำคัญของคนไทยที่จะได้ใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเองสะท้อนความต้องการของออกมาว่าอยากให้ประเทศไทยและสังคมไทยเป็นอย่างไรในอนาคตเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ว่าอะไรคือลำดับความสำคัญที่อยากได้หรืออยากให้เป็น เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้รับโจทย์ที่ชัด ๆ และไปออกแบบวิธี นโยบายต่าง ๆ เพื่อมาตอบโจทย์ให้ความฝันของเราเป็นจริงได้

“สิ่งสำคัญที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจกับการร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการนี้คือการมองประชาชนเป็นศูนย์กลาง คือการเพิ่มพลัง เพิ่มอำนาจให้กับประชาชนในช่วงเลือกตั้งไม่ใช่แค่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่เป็นการขบคิด การสะท้อนความต้องการออกมา รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญว่าอยากให้เกิดอะไรขึ้นกับประเทศ”

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ภาควิชาการหรือภาคเอกชนมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับฟังเสียงความต้องการของประชาชน ได้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อนำมาออกแบบเป็นนโยบาย ส่งต่อให้ภาคส่วนอื่นรับไปทำงานต่อ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฟารีดา โยธาสมุทร

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์