Post Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้งฟังเสียงประชาชนภาคอีสาน

เวทีฟังเสียงประเทศไทย “เสียงประชาชนเลือกอนาคตภาคอีสาน เลือกอนาคตประเทศไทย” ระดมข้อมูลเชื่อมโยงจากประสบการณ์การทำงานเจ้าของปัญหาตัวจริง ส่งเสียงเรียกร้องนโยบายขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมที่ดีกว่าด้วยภาพฝัน 10 ปี ข้างหน้า 

วันนี้ (21 มี.ค.) Post Election : ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชนภาคอีสาน เวทีที่ 4 จัดโดยไทยพีบีเอสและภาคีเครือข่าย ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  เวทีนี้เป็นการใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจากเครือข่ายคนที่ทำงานในประเด็นต่าง ๆ ในสังคม ไม่ต่ำกว่า 60 คน ครอบคลุมทุกกลุ่มทั้งเพศ วัย อาชีพระดับการศึกษา และรายได้  ผ่านรูปแบบคำถามที่ชวนให้ประชาชนเลือกภาพฝันของประเทศในอนาคตที่ตัวเองอยากเห็นหลังการเลือกตั้งในอีก 10 ปี ข้างหน้า หรือ ปี 2575 ในประเด็นเศรษฐกิจ รายได้,รัฐราชการความมั่นคง, การศึกษาทักษะ,สุขภาพสาธารณสุข,สังคม พื้นที่การใช้ชีวิต,และสิ่งแวดล้อม

ช่วงแรกของการรับฟัง เรียกว่า “กระบวนการฟังอย่างใส่ใจ”  เปิดประเด็นด้วยการชวนคนในเวที จินตนาการถึง คำหนึ่งคำจากประสบการณ์การทำงานของตนเองที่อยากจะเห็นในอนาคต  ผู้ร่วมหลายคนมีจินตนาการที่ฝันถึงวันข้างหน้าต่างกันออกไป เช่น ชายวัยกลางคน ฝันเห็นสังคมที่ใส่ใจคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะสังคมสูงวัย ที่มองว่า 10 ปี ข้างหน้า จะเผชิญกับปัญหานี้อย่างหนักหน่วง  ขณะที่คนที่เคยผ่านวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ ก็ฝันอยากเห็นอีสานใต้ ไม่ต้องเผชิญกับปัญหานี้อีก ส่วนคนรุ่นใหม่ ฝันอยากเห็นการศึกษาที่ตอบสนองการเรียนรู้ที่กว้างขวางมากขึ้น เปิดโอกาสให้ค้นหาตัวตน พร้อมกับการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เบาบาง และคนสุดท้ายฝันเห็น ”ความสุข” อยากให้สังคมอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี เพราะความขัดแย้งฉุดรั้งการพัฒนา 

ตลอดเวลาของการฟังเสียงประชาชน เลือกอนาคตของประเทศ มีการสอดแทรกข้อมูลจากงานวิจัยที่สะท้อนสถานการณ์ปัญหาครอบคลุมทุกประเด็น เป็นการให้ข้อเท็จจริงประกอบการรับฟังความคิดเห็นเป็นระยะ ซึ่งกระบวนการนี้ถือว่ามีความสำคัญ ทำให้เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนอยู่บนพื้นฐานข้อมูลระดับวิชาการสะท้อนกระบวนการชวนฝันที่ไม่เลื่อนลอย และสร้างฉากทัศน์ที่สามารถออกแบบกลไกในระดับนโนบายที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง

ข้อมูลที่มีการเติมให้ประชาชนในเวที เป็นกระบวนการก่อนที่จะให้เลือกฉากทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศครอบคลุมทั้ง 6 ประเด็น ถือเป็นการเลือกโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าบนข้อมูลงานวิจัย ผ่าน 3 ฉากทัศน์ที่จะให้ร่วมขับเคลื่อน โดยฉากทัศน์แรก คือ เชื่อว่า ประเทศไทยจะไม่สามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านประเด็นปัญหาได้ ฉากทัศน์ที่สอง คือเชื่อว่าเปลี่ยนผ่านได้เรื่อย ๆ และสุดท้าย คือ สามารถเปลี่ยนได้เลย อนาคตของประเทศ จะมุ่งไปสู่ด้านดี ในทุก ๆ ด้าน จากการร่วมมือขับเคลื่อนด้วยนโยบายที่ตอบโจทย์ 

สำหรับภาคอีสานใต้ช่วงท้ายที่มีการเลือกฉากทัศน์ 2575 ผลโหวตทั้ง 2 ครั้ง หลังการได้รับข้อมูลวิชาการสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน คือ เลือกฉากทัศน์ที่เชื่อว่าประเทศไทยจะค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านไปเรื่อย ๆ 50% เปรียบเทียบเหมือนแสงแดดรำไร รองลงมาฉากทัศน์ที่ 2 31.48% เปลี่ยนผ่านได้ และฉากทัศน์ที่ 1 เปลี่ยนไม่ได้ 18.52% 

สำหรับเวทีรับฟังความคิดเห็นยังคงเหลืออีก 4 เวที ได้แก่ เชียงใหม่ ปัตตานี นครปฐมและพิษณุโลก ก่อนจะมีการสรุปข้อมูลที่ได้จากเวทีทั้งหมดทั่วประเทศ สู่กิจกรรมที่เรียกว่า hack นโยบาย โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรมโดยจะจัดขึ้นกลางเดือนเมษายนตลอด 72 ชั่วโมง เพื่อให้ได้นโยบายที่กำหนดภาพอนาคตของประเทศครบทั้ง 6 ประเด็น ฉายออกมาเป็นโปสเตอร์ขนาดใหญ่ และผลักดันให้สู่นโยบายของประเทศ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวถือเป็นความท้าทายและเป็นแนวทางการทำงานเชิงนโยบายที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนแบบใหม่ที่ไทยพีบีเอสตั้งใจจัดทำขึ้นในโอกาสสำคัญของการเลือกตั้งที่จะมาถึง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active