ย้อนมอง โอกาส ศักยภาพ และข้อจำกัด… สู่ข้อเสนอร่วมกำหนดอนาคตภาคใต้

ฉากทัศน์ประเทศไทยภาพอนาคตที่อยากเห็นใน 10 ปีข้างหน้า

ดินแดนด้ามขวาน 14 จังหวัดภาคใต้ของไทย แทบทุกจังหวัดติดทะเลชายฝั่ง  ยกเว้นจังหวัดยะลา และ พัทลุง มีเนื้อที่รวม 44.2 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 13.3 ของประเทศ มีศักยภาพและโอกาสบนความหลากหลายของฐานทรัพยากร ในด้านการประมง ทั้งทะเลอ่าวไทย อันดามัน การบริการท่องเที่ยว รวมถึงด้านการเกษตร

มีประชากรรวมประมาณ 9.2 ล้านคน หรือ คิดเป็น 14 % ของทั้งประเทศ มีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนมาก ในขณะที่วัยเด็กกลับลดลง ส่งผลให้มีกำลังแรงงานน้อยลง

ส่วนใหญ่ทำอาชีพในภาคการเกษตร โดยปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เงาะทุเรียน มังคุด มะพร้าว และมีพื้นที่ปลูกข้าวสำคัญของภูมิภาค ที่ลุ่มน้ำปากพนัง ทะเลสาบสงขลา โครงสร้างเศรษฐกิจสำคัญ จึงยังต้องพึ่งพาภาคเกษตรและการทำประมง แต่พบหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กิจกรรมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวบริการ มีบทบาทมากขึ้น แต่รายได้ยังกระจุกตัวในพื้นที่ที่มีชื่อเสียงทางการท่องเที่ยวในบางจังหวัด เช่น สงขลา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ซึ่งในช่วงโควิดได้รับผลกระทบ เกิดการว่างงาน และตอนนี้แม้จะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังเป็นคำถามถึงอนาคตต่อชีวิตที่มั่นคง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโลก หรือเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมประเมินความเสี่ยงโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั่วโลกมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ความล้มเหลวการเปลี่ยนแปลงเลวร้ายของสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

สอดรับกับสถานการณ์ด้านทรัพยากรของภาคใต้ มีความอุดมสมบูรณ์ ลุ่มน้ำ ภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุมน้ำ แม่น้ำทะเลสาบ ที่มีแนวโน้มลดลง จากหลายปัจจัยทั้งการบุกรุกพื้นที่ทำเกษตร และการเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ธนาคารโลก ยังออกรายงานความเหลื่อมล้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบอัตราความยากจนในชนบท สูงกว่า ชุมชนเมืองถึง 3% ประชากรไทยที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนเพิ่มขึ้น 6.7 ล้านคน จากที่เคยมี4.8 ล้านคน ที่สำคัญคือภาคใต้มีอัตราความจนเพิ่มมากขึ้นที่สุด เป็นครั้งแรกในรอบปี 2563 ถึง 10.94 % หนี้สินเฉลี่ยครัวเรือภาคใต้ สูงขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประชากรส่วนใหญ่ทั่วประเทศ มีรายได้ต่ำ เงินออมน้อย

ด้านสาธารณสุข พื้นที่ยังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ทั่วถึง มีอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรค 5 โรคหลัก ได้แก่ หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง มะเร็ง

ขณะที่อนาคตข้างหน้าภาคการเกษตร ซึ่งเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจหลักของพื้นที่ เผชิญความท้าทายมากขึ้น จากสภาพภูมิอากาศ น้ำสะอาด การขาดแคลนแรงงาน เพราะมีผู้สูงอายุมากขึ้น คนรุ่นใหม่น้อยลง

ดังนั้น จะเห็นทั้งโอกาส ศักยภาพของพื้นที่ภาคใต้ แต่ขณะเดียวกันก็เห็นถึงข้อจำกัดหลายปัจจัย ที่จะเข้ามาปะทะและกระทบต่อพื้นที่ด้วย จึงเป็นสิ่งที่ต้องหันกลับมาคิดต่อ ว่าอนาคตพื้นที่ภาคใต้จะเดินไปในทิศทางไหนคงไม่ใช่แค่ภาคนโยบาย ภาครัฐ ที่กำหนดทิศทาง แต่บทบาทของประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ควรต้องมีโอกาสได้ร่วมกำหนดอนาคตของตนเอง

ประชาชนภาคใต้ ร่วมเวที Post Election 

สะท้อนภาพอนาคตที่พวกเขาอยากเห็นใน 10 ปีข้างหน้า

เมื่อการกำหนดทิศทางภาพอนาคต การวางแผนและนโยบายต่าง ๆ ที่ครอบคลุม จะฟังแค่ส่วนกลาง หรือรัฐฝ่ายเดียวคงไม่พอ แต่ต้องร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ภาคประชาสังคม เอกชน ที่อยู่ในพื้นที่ด้วย จึงเป็นที่มาที่เวที Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ได้เปิดเวทีให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมสะท้อนเสียง เพื่อกำหนดอนาคตของพวกเขาเอง รวม 7 พื้นที่ ซึ่งพื้นที่ภาคใต้ จัดขึ้นเป็นเวทีที่ 2  ณ หาดสิมิหลา จังหวัดสงขลา ฟังเสียงตัวแทนประชาชนภาคใต้ 50 คน

ตัวแทนทั้ง  50 คน ที่มาร่วมสะท้อนในเวทีนี้  มีความหลากหลาย ทั้งเพศ อายุ อาชีพ และพื้นที่ ที่สำคัญยังมีตัวแทนภาคประชาสังคม ที่มีความหลากหลายในการขับเคลื่อนหรือทำงานกับชาวบ้านในประเด็นต่างๆในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งครอบคลุมใน 6 มิติสำคัญ ต่อการพัฒนาและกำหนดอนาคต ทั้ง เศรษฐกิจรายได้, รัฐราชการมั่นคง, การศึกษา, สุขภาพสาธารณสุข และสังคม สิ่งแวดล้อม

พวกเขาร่วมโหวตเลือกภาพฝัน ภาพอนาคต หรือฉากทัศน์ที่พวกเขาอยากเห็นใน 10 ปีข้างหน้า ในปี 2575 จากฉากอนาคต 3 ฉาก

ฉากแรก สุริยุปราคา คือมองว่าภาพอนาคต 10 ปีข้างหน้าปรับเปลี่ยนไม่ได้ เช่น ยังวนเวียนอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแบบสุดขั้ว ยึงคิดอยู่บนกรอบการรวมศูนย์อำนาจ ส่งผลการผูกขาดทุกด้าน การศึกษา สังคม คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมเปราะบางถึงขั้นวิกฤต

ฉากที่ 2 เมฆหนา แสงมองไม่เห็น คือไปเรื่อยๆ เปลี่ยนบ้างไม่เปลี่ยนบ้าง พยายามประคับประคองเศรษฐกิจให้อยู่รอด พยายามปรับตัวกับสิ่งใหม่ที่จะเข้ามากระทบต่อทักด้านทั้งการศึกษา สังคม คุณภาพชีวิต และสภาพแวดล้อมที่นับวันถดถอย

และฉากที่ 3 คือ พระอาทิตย์ทรงกลด เปลี่ยนผ่านได้ คือภาพอนาคตปี 2575 ที่พุ่งทะยานไปข้างหน้า รัฐส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ลงทุนการวิจัยและพัฒนา เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุม เกิดระบบการศึกษาสังคม คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมที่ดีที่ยั่งยืน

ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในเวที 61.9 % เลือกภาพอนาคต ฉากที่ 3 พระอาทิตย์ทรงกลด เปลี่ยนผ่านได้  เป็นภาพอนาคตที่พวกเขาอยากเห็นในอีก 10 ปีข้างหน้า มากที่สุดทั้งก่อนและหลังการพูดคุยสะท้อนเหตุผลของการเลือกฉากอนาคต รวมทั้งข้อเสนอการเดินไปสู่อนาคตที่เลือกไว้ มีเสียงสะท้อนตัวแทนบางส่วนที่น่าสนใจ

“ถ้าแบบที่ 1 ผมมองว่า ก็ไม่ต้องทำอะไร นอนอยู่ที่บ้าน รอให้มันเปลี่ยรไปเอง, แบบที่2 คือแบบตามน้ำ ยังไงต้องถูกเปลี่ยนตามนี้แน่นอน, ถ้าเลือกแบบที่ 3 คือเราวิ่งก่อนจะถูกเขาเปลี่ยน ฉะนั้นถ้าเราคิดว่า เราคุยวันนี้เสร็จ ก็กลับบ้านนอนกัน ก็เป็นแบบที่ 1  แต่ถ้าคิดว่าเดินบ้างหยุดบ้าง ก็เลือกแบบที่ 2  แต่ถ้าเราคิดว่าเราต้องพึ่งตัวเอง เพราะนี่คือประเทศเรา นี่คือบ้านเรา ก็ร่วมกัน มีการวิเคราะห์ว่าจากนี้เป็นต้นไปอีก 10 ปี ที่เกิดปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวญ สงคราม เงินจะไหลเข้ามาเอเชียมากที่สุด ซึ่งไทยคือประเทศ 1 ใน 3 ประเทศ ที่ประเมินว่าเงินไหลเข้ามาแน่ ๆ แต่ถามว่าจะมาแบบไหน มาอย่างไร เราจะตั้งหลักอย่างไร แบบปัจจุบันที่เป็นอยู่เราต้องการไหม? หรือถ้าอยากพัฒนา เช่นอยากพัฒนาลงทุนให้เป็นประเทศที่มีอากาศดี จะทำอย่างไร ก็ต้องออกมาพูดและออกมาร่วมทำ“

สมพร สิริโปราณานนท์ อดีตประธานหอการค้า จ.สงขลา
สมพร สิริโปราณานนท์ อดีตประธานหอการค้า จ.สงขลา

“คนไทย คนใต้ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร แต่ส่วนมากอยู่ในวัยผู้สูงอายุ ฉะนั้นลูกหลานที่ไปเรียนข้างนอกเป็นกำลังสำคัญ ที่เราต้องให้ความสำคัญให้เขากลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง เพราะ 10 ปี 20 ปีข้างหน้า ไม่ใช่คนรุ่นเราที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต แต่คนรุ่นใหม่คือภาพอนาคตของเรา ที่ต้องสนับสนุน ให้เขามาร่วมพัฒนาทุกๆด้าน ทั้งเศรษฐกิจฐานราก การเกษตร แหล่งอาหารที่ยั่งยืนของตนเอง เกื้อกูลทรัพยากร สิ่งแวดล้อมท้องถิ่น กระจายอำนาจการพัฒนาการศึกษา สาธารณสุขในพื้นที่ด้วย“

จิราพร ทองใหม่ โครงการคนกล้าคืนถิ่น จ.พัทลุง

“การโหวต ครั้งนี้แม้จะเป็นเอกฉันท์ในการเลือกฉากทัศน์แบบพระอาทิตย์ทรงกลด คือ เปลี่ยนผ่านได้ แต่จริง ๆไม่ว่าจะเป็นแบบไหน มันมีเหตุผลการมองแต่ละคน สะท้อนตัวขับเคลื่อนของเขา ว่าทำไมเขาถึงมองประเด็นเหล่านี้ หรือสถานการณ์ฉากทัศน์เหล่านี้เป็นภาพที่สำคัญอะไรบ้าง คือ ทั้งโอกาสที่รออยู่สำหรับเขาในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าและอะไรบ้างที่เป็นข้อท้าทายที่เขาเห็นแล้วว่า ถ้ามันยังไปต่อ ข้อท้าทายปัญหาเหล่านี้มันจะยิ่งโตมากขึ้น ถ้าเราไม่จัดการตั้งแต่ตอนนี้  สิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีนี้ ทำให้เราถอยออกมาและดูความเป็นไปได้ว่า ถ้าเราจะต้องทำเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่มันจะต้องไปในอนาคต ต้องใช้เวลา ใช้ความร่วมมือ ใช้พลัง มันต้องมีข้อเสนอมีอะไรบ้างที่เป็นตัวแผนการดำเนินงานของคนที่เกี่ยวข้อง“ 

ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต สถาบันอนาคตไทยศึกษา
ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต สถาบันอนาคตไทยศึกษา

ข้อเสนอ 6 ด้าน เพื่อการขับเคลื่อนภาพฝัน สู่ภาพอนาคตภาคใต้ 

ตัวแทน 50 คน ร่วมสะท้อนข้อเสนอสำคัญต่ออนาคตภาคใต้ใน 6 ด้าน ทั้ง  การศึกษา, สุขภาพ, เศรษฐกิจรายได้, สังคม, สิ่งแวดล้อม และรัฐราชการมั่นคง

ด้านการศึกษา 

-เป็นการศึกษาที่สร้างการตระหนักรู้ถึงคุณค่าและศักยภาพในตนเองและท้องถิ่น ให้ความสําคัญในการต่อยอดวัฒนธรรมในพื้นที่ เป็นพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาที่ตอบโจทย์วิถีชีวิต พัฒนาองค์ความรู้เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจและชุมชนได้

-การศึกษาที่ลดความเหลื่อมล้ำ เรียนฟรีที่เกิดขึ้นจริง ผู้เรียนเลือกเรียนตามความสนใจบนฐานทรัพยากร ในพื้นที่ และสะสมหน่วยการเรียนรู้จากนอกห้องเรียนหรือการประกอบอาชีพตามบริบทพื้นที่ได้ การเรียนรู้ในโรงเรียนชุมชนเป็นฐานการใช้หน่วยกิจจากอาชีพหรือแนวทางที่สอดคล้องกับวิถีในชุมชน

-การศึกษาภาคพลเมืองเพื่อการขับเคลื่อนทางสังคมที่เหนือจากการเรียนในสถาบันการศึกษา แต่เกิดขึ้นได้จากทุกภาคส่วน ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อการพัฒนาพลเมืองเข้มแข็งและมีคุณภาพสู่สากล

ด้านสุขภาพและสาธารณสุข

-คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะ คนจนในชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์คนชายขอบ ผู้อยู่ชนบทห่างไกลจากตัวเมือง สามารถเข้าถึงการ รักษาขั้นพื้นฐานและบริการสาธารณสุขที่มีคถาภาพอย่างทั่วถึง ราคาไม่แพงและใกล้บา้น

-พัฒนาแนวทางการดูแลสุขภาพจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเช่นยาและสมุนไพร พัฒนาแพทย์พื้นบ้านพื้นถิ่นให้มีศักยภาพ ทั้งเพื่อคนในชุมชน และเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้

-การพัฒนาและใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อดูแลสุขภาพและคณุภาพชีวิตที่ดีให้ผู้สูงวัยและคนทุกกลุ่ม

ด้านเศรษฐกิจ รายได้

-รูปแบบเศรษฐกิจที่เน้นการเพิ่มมูลค่าเชิงวัฒนธรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์การท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน ทั้งทางอาหาร สุขภาพ วัฒนธรรม วิถีชุมชน และสิ่งแวดล้อม (BCG และ SDG คือโอกาส) การกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ  นักท่องเที่ยวต่างชาติ ถิ่นเข้าถึงวิถีชุมชน

-บูรณาการ การพัฒนาความร่วมมือทุกภาคส่วน เชื่อมชุมชนกับเมือง พัฒนาธุรกิจชุมชน ให้เกิดบริการและผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสู่ตลาดโลก เช่น เมืองรองพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมืองหลัก เมืองท่องเที่ยวสนับสนุนกเกิดการใช้สินค้าและบริการจากทัองถิ่น พัฒนาสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดโลก

-มีการกระจายรายได้ สร้างโอกาส สร้างอาชีพให้คนในพื้นที่อย่างทั่วถึง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำลดความจนข้ามรุ่น สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้แข็งแรง เพื่อทัดทานอํานาจผูกขาดทุนต่างประเทศ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

ด้านสังคม 

เมืองน่าอยู่ สังคมสีเขียว มีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและระบบการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว ที่มีคุณภาพมาตรฐานทัดเทียมสากล

เป็นสังคมที่มีความเสมอภาค เท่าเทียม มีความหลากหลายทางความคิดของคนทุกเพศทุกวัย มีการสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างคนทุกรุ่นโดยเฉพาะการให้โอกาสและรับฟังคนรุ่นใหม่ พัฒนาคน gen ใหม่ให้พร้อม และคนหลายรุ่นสามารถพูดคุย ทํางาน ช่วยกันขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกันได้

เป็นสังคมแห่งความร่วมมือและมีส่วนร่วมผ่านหลายกลไก ตั้งแต่พูดคุยระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด แพลตฟอร์มออนไลน์ ไปจนถึงการให้การสนับสนุนพัฒนา เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ให้ชุมชนมีการจัดการตนเองที่ดีและเข้มแข็ง

ด้านรัฐ ราชการ ความมั่นคง

-รัฐกระจายอํานาจสู่ท้องถิ่นไม่กดทับประชาชน ประชาชนมีอํานาจต่อรองและกําหนดทิศทางอนาคตของตนได้ท้องถิ่นจัดการตนเองได้จากฐานราก โดยรัฐจัดการไม่ให้อำนาจทุนสีเทากระทบกับอนาคตของประชาชน

ท้องถิ่นสามารถจัดการภาษีท้องถิ่น เลือกผู้ว่าระดับจังหวัด ลดทอนการผูกอํานาจการไม่ดึงอํานาจกลับไปสู่พวกพ้อง ทลายทุนทางการเมือง กฎหมายชุมชม กฎหมายประชาชน

-รัฐขับเคลื่อนและมีการจัดการที่มีคุณภาพเท่าทันโลกเปิดรับให้โอกาสการพัฒนาแนวคิดใหม่ ลงทุนในการพัฒนางานวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ

-รัฐมีธรรมาภิบาลโปร่งใสและตรวจสอบได้ สามารถปรับโครงสร้างราชการให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ มีนโยบายที่ทําได้จริงเพื่อประชาชน ลดความขัดแย้งทางนโยบาย

ด้านสิ่งแวดล้อม

-รักษาความสมบูรณ์และมรดกทางทรัพยากรธรรมชาติดูแลสิ่งแวดล้อมให้สะอาดไร้พิษ ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นได้ด้วยแนวคิดความยั่งยืน BCG/SDG และส่งเสริมการเกษตรสีเขียว

-การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ไม่กระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ชุมชนมีอํานาจต่อรอง โดยประชาชนและคนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการต่างๆที่จะกระทบพื้นที่ร่วมกัน 

-สร้างความร่วมมือระดับประเทศและระหว่างประเทศ เชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดการทํางานด้านสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกัน ไปสู่การลดผลกระทบระยะยาว

จากฉากอนาคตที่อยากเห็น 

สู่ข้อเสนอ และกระบวนการวางภาพฝันให้เป็นความจริง

เวที Post election ไม่ได้มีแค่ตัวแทนประชาชน ภาคส่วนต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคที่มาร่วมสะท้อนเพื่อภาพอนาคต   แต่ในทุกเวทีทุกพื้นที่จะมีทีมนักวิชาการ ซึ่งไม่ใช่แค่มาสังเกตการณ์ แต่จะวิเคราะห์กระบวนการ เสียงสะท้อนจากเวที รวมไปถึงการเติมข้อมูลสำคัญในทางวิชาการเสริมในประเด็นต่างๆที่ประชาชนสะท้อนมา และยังจะนำข้อเสนอที่ถูกรวบรวมนี้ไปวางแผนเพื่อให้ภาพฝันหรือฉากอนาคตที่ประชาชนร่วมกันสะท้อนมาให้เป็นจริง ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ รวมถึงภาคนโยบาย  ร่วมกัน Hack นโยบายกันอีก 48 ชั่วโมง  

อย่างกระบวนการที่ภาคใต้ ตั้งแต่การโหวตคำสำคัญ  การเลือกฉากทัศน์ ความเห็นและข้อเสนอต่อการกำหนดอนาคต 6 ด้าน นักวิชาการที่ติดตามตลอดทั้งกระบวนการมองว่า เป็นจุดสตาร์ทที่ดีในการมองเรื่องอนาคตกับการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในการตอบโจทย์ประเทศไทย 

ทั้ง 6 มิติ ที่ตัวแทนประชาชนภาคใต้ร่วมกันสะท้อนบทบาทของพวกเขาในการมองทิศทางอนาคตของพวกเขาซึ่งรู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่รอเขาอยู่ และปัญหาที่มันสะสมอยู่ทุกวันนี้ ถ้าหากเขาไม่จัดการ หรือเขาไม่เตรียมความพร้อมเพื่อจัดการ ปัญหาก็จะยิ่งทับถมมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งปัญหาใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาด้วยเหมือนกัน ดังนั้นตรงรนี้จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งจุดสตาร์ตที่ดีในการมองเรื่องอนาคต กับการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในการตอบโจทย์ประเทศไทย 

“เป็นโอกาสในอนาคต 10 ปีข้างหน้า น่าจะเห็นจุดร่วมบางอย่างที่สะท้อนความเข้าใจในระดับนโยบายด้วยเหมือนกันว่า การตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้ บางทีอาจจะใช้วิธี one size fit all หรือใช้วิธีการแกนเดียวกันตอบโจทย์คนทั้งประเทศไม่ได้อีกแล้ว มันมีจุดร่วมแต่เราต้องเข้าใจบริบทของเขาด้วยว่าจะทำยังไงให้ตอบโจทย์ความแตกต่างและความหลากหลายที่มีอยู่ในประเทศของเรา“

ภัณณิน สุมมะเศรษฐกุล ผอ.วิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต สถาบันอนาคตไทยศึกษา
ภัณณิน สุมมะเศรษฐกุล ผอ.วิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต สถาบันอนาคตไทยศึกษา


เวที Post election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง จะจัดขึ้นทั้งหมด 7 เวที ครอบคลุมในทุกภูมิภาค ซึ่งเมื่อครบทุกเวทีจะรวบรวมผล ที่ได้ทั้งหมด เชิญนักการเมือง ประชาชน ตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมกัน Hack นโยบายอีก 48 ชั่วโมง เพื่อวางแผนสู่อนาคต 10 ปีข้างหน้า ในปี 2575

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ