เริ่มแล้ว! Post-Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง

ไทยพีบีเอส-ภาคีเครือข่าย สร้างปรากฎการณ์ครั้งสำคัญ ช่วงเลือกตั้ง 2566 นำเครื่องมือ นวัตกรรมทางสังคม ออกแบบกระบวนการมีส่วนร่วม ฟังเสียงประชาชน เลือกอนาคตประเทศไทย 

วันนี้ (25 ก.พ.66) กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อค้นหาฉากทัศน์ของประเทศไทย และภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ เริ่มขึ้นเวทีแรก ที่การฟังเสียงประชาชนภาคตะวันออก ณ ศูนย์การค้า รอยัล การ์เด้น พลาซ่า พัทยา 

โดยกระบวนการที่เกิดขึ้น ได้ชวนคิด ชวนมองภาพฝันของตัวเอง เพื่อสร้างภาพฝันอนาคตของประเทศ พร้อมทั้งแบ่งกลุ่ม 6 ประเด็น ได้แก่ เศรษฐกิจรายได้, รัฐราชการความมั่นคง, การศึกษาทักษะ, สุขภาพสาธารณสุข, สังคม พื้นที่การใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อม

สำหรับนโยบายโดยประชาชน ที่ถูกนำเสนอจากการระดมความคิดเห็นครั้งนี้ เช่น ประเด็นการศึกษา ได้แก่เรื่องหลักสูตร  การประเมินผล ครู  สุขภาพจิต เสนอนโยบายหลักสูตรเรียนฟรี ไม่มีเงื่อนไข หลักสูตรปลดปล่อยผู้เรียนให้เป็นอิสระ ยกระดับคุณภาพครูการผลิตครู และนำคนเก่งเข้าสู่ระบบ 

ประเด็น เศรษฐกิจ อยากให้มีงานวิจัยรองรับการเกษตร เมล็ดพันธ์ ปุ๋ย มีล้งของคนไทยเอง เพิ่มการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ความมั่นคงและความปลอดภัยของอาหาร เน้นเศรษฐกิจการเกษตรทั้งภาคบริการและอุตสาหกรรม การสนับสนุนจากภาครัฐ เครื่องจักรกล การตลาด สนับสนุนให้รายย่อยเข้มแข็ง สอนให้รู้จักการเรียนรู้พึ่งพาตัวเอง 

ประเด็น สิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ อยากเห็น การเพิ่มพื้นที่คุ้มครอง บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กระจายอำนาจ ไม่อยากให้มีการผูกขาดกลุ่มทุน 

ขณะที่ ประเด็นรัฐความมั่นคง อยากให้เพิ่มการกระจายอำนาจ ที่มาพร้อมกับงบประมาณ ส่วน ประเด็นความเหลื่อมล้ำ เป็นประเด็นร่วมที่หลายกลุ่มเห็นพ้องกัน ว่า อยากให้แก้ไขมากที่สุด 

สำหรับตัวแทนเครือข่ายที่เข้าร่วมกระบวนการครั้งนี้ เป็นการคัดเลือกจากกลุ่มเครือข่ายที่มีการทำงานผลักดันในประเด็นปัญหาสังคมในระดับพื้นที่ ซึ่งมีการทำงานและเคลื่อนไหวในระดับพื้นที่ต่อเนื่องและยาวนาน

สมเกียรติ จันทสีมา ผอ.สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส กล่าวว่า เวทีที่ภาคตะวันออกเป็นเวทีแรกของประเทศ ที่กำลังใช้นวัตกรรมทางสังคม ชวนคิดเรื่อง 10 ปีต่อจากนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา พอเลือกตั้งจะได้รับแต่นโนบายของพรรคการเมือง ซึ่งบางเรื่องมองระยะใกล้ แต่หลายเรื่องต้องมองในระยะยาว  

“เรากำลังทำสิ่งที่เรียกว่านโยบายโดยประชาชน  มีหลักการเหตุผล ข้อมูล ในการอธิบายความคิดเห็น  จะมีอีก 7 เวทีอย่างน้อย มีเวทีย่อย ถ้าเรานับหนึ่งได้อย่างคล่องตัว จะเป็นกำลังสำคัญให้ที่อื่น ๆ ในประเทศทำตามเรา” 

ณาตยา แวววีรคุปต์ ผอ.ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ  ไทยพีบีเอส บอกว่า นี่คือการร่วมมือที่สำคัญ ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคีร่วมกันทำ Scenario แต่ข้ออ่อนของการชวนออกแบบภาพอนาคต คือความหลากหลายของเสียงประชาชน แต่ด้วยเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ จึงเชื่อว่าจะสามารถร่วมกันทำสิ่งนี้ได้ โดยจะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมด เชิญนักการเมือง และประชาชน ตัวแทนหลากหลายอาชีพ ร่วมกัน Hack นโยบายอีก 72 ชั่วโมง และออกแบบเป็นโปสเตอร์หนัง 3 เรื่อง ฉายภาพฝันอนาคตของประเทศไทย 

“เรากำลังชวนทุกคนมาร่วมสร้างภาพฝันอนาคตของประเทศด้วยกัน”

ขณะที่ ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ขอให้ประชาชนร่วมกันส่งเสียงให้คนที่เสนอตัวมาบริหารบ้านเมือง  ซึ่งเป็นการส่งเสียงที่มีข้อมูลวิชาการ เพื่อเคลื่อนไหวทางสังคมแบบมีส่วนร่วม 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active