เดินหน้าถึงไหน ร่างกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านานมากกว่า 60 กลุ่มชาติพันธุ์ กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ มีประมาณ 6,100,000 คน หรือร้อยละ 9.68 ของประชากรทั้งประเทศ
แต่ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ยังประสบปัญหาความเดือดร้อนในด้านต่าง ๆ ทั้งปัญหาความมั่นคงในที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย ไม่มีสัญชาติ ไปจนถึงปัญหาในเชิงวัฒนธรรมที่หลายกลุ่มชาติพันธุ์กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่ต้องสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ภาษาเริ่มสูญหายไปพร้อม ๆ กับความรู้และภูมิปัญญา ความสามารถพึ่งพาตนเองถูกลดทอนลงไป
เครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ถึง 5 ฉบับ หวังให้เป็นก้าวสำคัญของสังคมไทย สู่เป้าหมายให้ความคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 70
“รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดํารงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุขฯ “
The Active รวบรวมความคืบหน้าในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว ตลอดจนความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดปี 2021
มกราคม – กุมภาพันธ์: ทวงคืนสิทธิ “กะเหรี่ยงบางกลอย กลับใจแผ่นดิน”
ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต้นปี 2564 ได้จุดกระแสให้คนในสังคมหันมาสนใจและติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์
- 15 มกราคม กะเหรี่ยงบางกลอย อพยพกลับป่าใหญ่
- 15 มกราคม รู้จัก ‘ชนเผ่า’ ในไทย | 6 เรื่องราว เติมฝัน เติมไฟ ความเป็นมนุษย์เท่ากัน
- 17 มกราคม เปิดร่างกฎหมาย เปิดโอกาสชาติพันธุ์
- 21 มกราคม จากกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์
- 1 กุมภาพันธ์ 25 ปี ความหวัง คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน “กะเหรี่ยงบางกลอย”
- 9 กุมภาพันธ์ 2 ทศวรรษปัญหากะเหรี่ยงบางกลอย ถึงแนวทางแก้ปัญหาชาติพันธุ์
การเดินหน้า “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่มีการขออนุมัติหมายศาล และจับกุมชาวบ้าน ได้นำมาสู่กระแส #SAVEบางกลอย หนึ่งในแฮทแท็กที่สะท้อนความพยายามสื่อสารเพื่อเรียกร้องสิทธิชาติพันธุ์ ในที่สุดการเคลื่อนไหวของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เดินหน้าคู่กับการเรียกร้องทางการเมือง
- 16 กุมภาพันธ์ กลุ่ม #saveบางกลอย ขีดเส้นรัฐบาล ลงนามข้อตกลงร่วมแก้ปัญหาเรื้อรัง 25 ปี ภายใน 1 ชั่วโมง
- 22 กุมภาพันธ์ บางกลอยตึงเครียด ชาวบ้านจับตาความเคลื่อนไหว “เฮลิคอปเตอร์” อุทยานฯ แก่งกระจาน
- 23 กุมภาพันธ์ ร้องรัฐหยุดยุทธการต้นน้ำเพชร ซ้ำรอย “ยุทธการตะนาวศรี” เพิ่มไฟความขัดแย้ง
- 24 กุมภาพันธ์ จับตาเจรจาแก้ปัญหาบางกลอย นักวิชาการติง “เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเกินจริง” ชาวบ้านขอพื้นที่ 5,400 ไร่
- 5 มีนาคม ฝากขัง 22 กะเหรี่ยงบางกลอย รวม “หน่อแอะ มีมิ” ข้อหาบุกรุกป่าต้นน้ำ 157 ไร่
มีนาคม: เดินหน้าเวทีรับฟัง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ 3 ฉบับ
ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ถูกหยิบยกมาเป็นหนึ่งกรณีปัญหาที่สะท้อนในเวทีการประชุมเครือข่ายสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมต่อการผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่า การมีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จะเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมให้คนได้อยู่กับป่าอย่างยั่งยืน
เมษายน: ร่างกฎหมาย ฉบับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
ตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองจากภูมิภาคต่าง ๆ ยื่น 13,020 รายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เสนอ ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย คาดหวังให้เป็นเครื่องมือและกลไกทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และผลกระทบจากนโยบายหรือแบบแผนการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับบริบทการดำรงชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ชนเผ่าพื้นเมือง ได้มีโอกาสในการยกร่างและนำเสนอกฎหมายด้วยตนเอง
กรกฎาคม – สิงหาคม: “ไร่หมุนเวียน” บทพิสูจน์ความมั่นคงทางอาหาร ประคองวิกฤตโควิด-19
ช่วงการระบาดหนักของโควิด-19 ชุมชนเมืองหลายชุมชนได้รับผลกระทบ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จ.ลำปาง และแม่ฮ่องสอน หลายชุมชน ร่วมระดมผลิตผลจากไร่หมุนเวียน ป่าชุมชน ส่งต่อวัตถุดิบ พืชอาหาร เพื่อกลุ่มเปราะบาง คนตกงาน เข้าไม่ถึงอาหารในภาวะวิกฤติโควิด-19 ใน จ.เชียงใหม่ ตอกย้ำศักยภาพคนอยู่กับป่า ส่งต่อความมั่นคงอาหารถึงคนเมือง ที่ควรได้รับการส่งเสริมคุ้มครอง
ตุลาคม – พฤศจิกายน: เดินหน้ารับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองชาติพันธุ์ ฉบับประชาชน กับโอกาสเป็นพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ
หลังเปิดรณรงค์เข้าชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง หรือร่างฉบับประชาชน ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และเครือข่ายชาติพันธุ์ ลงพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ หนึ่งในนั่นคือ ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง พื้นที่ที่เตรียมการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ เพื่อร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ฉบับประชาชน สร้างความเข้าใจและรวบรวมเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย โดยชาวบ้านเชื่อว่าร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้ จะนำไปสู่การช่วยลดอคติ เสริมศักยภาพตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสร้างความยั่งยืนซึ่งถือเป็นผลประโยชน์โดยตรงกับชาวบ้าน
- 8 พฤศจิกายน เดินหน้า ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ฉบับประชาชน ความหวัง คุ้มครองสิทธิ – วิถีวัฒนธรรม
- 10 พฤศจิกายน กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่ “คนอื่น”
ธันวาคม: ส่งท้ายปี ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ฉบับประชาชนถึงสภา
ภาคประชาชนในนาม พีมูฟ และเครือข่ายชาติพันธุ์จากทั่วประเทศ นำรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 16,599 รายชื่อ เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. … หรือ ร่างกฎหมายฉบับประชาชน มีหลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ หลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม หลักการส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ และหลักการสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ร่างฯนี้ ถือเป็นร่างกฎหมายฉบับที่ 4 เพราะก่อนหน้านี้มีอีก 3 ฉบับที่เสนอแล้ว คือ 1. (ร่าง) พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เสนอโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ 2. (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคก้าวไกล และ 3. (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร และที่กำลังผลักดันอีก 1 ฉบับ คือ (ร่าง) พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน ) มีสถานะเป็นร่างกฏหมายของรัฐบาล ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี
ปี 2565 จึงเป็นปีที่ต้องจับตาความคืบหน้าในการพิจารณาร่างกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้ง 5 ฉบับ
- 10 ธันวาคม “รัฐธรรมนูญ” กับการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์