เดินหน้า ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ฉบับประชาชน ความหวัง คุ้มครองสิทธิ – วิถีวัฒนธรรม

“พีมูฟ” ลุย ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง สร้างความเข้าใจ รวบรวมรายชื่อชาวบ้าน ร่วมผลักดันกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวบ้านคาดหวัง ยกระดับเครื่องมือแก้ปัญหาจากผลกระทบนโยบายรัฐ ที่ลดทอนวิถีความเป็นอยู่ พื้นที่ทำกิน

ชาวบ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ฉบับประชาชน

วันนี้ (8พ.ย.64) ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ลงพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์บ้านแม่ส้าน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง พื้นที่ที่เตรียมการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ เพื่อร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ฉบับประชาชน ที่อยู่ระหว่างการสร้างความเข้าใจ และรวบรวมเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย โดยชาวบ้านเชื่อว่า ร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้ จะนำไปสู่การช่วยลดอคติ เสริมศักยภาพตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสร้างความยั่งยืน เพื่อความมั่นคงทางอาหารในชุมชน ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์โดยตรงกับชาวบ้าน

พชร คำชำนาญ กองเลขานุการ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) บอกว่า การลงพื้นที่เริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจ ที่มาที่ไปของร่างกฎหมายฯ ฉบับนี้ เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และ ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ได้สร้างรูปธรรม ประกาศให้ชุมชนหลายพื้นที่เป็น “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยแนวฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วย แนวนโยบายและหลักการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงมาอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญเรื่องนี้ ยังเป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาล ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา เรื่องการจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และคุ้มครองวิถีชีวิตของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยการกำหนดให้มีกฎหมาย การส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสังคม

พชร คำชำนาญ กองเลขานุการ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

ทั้งนี้รัฐบาลต้องผลักดันให้มี พ.ร.บ.เขตส่งเสริมและคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ภายในปี 2564 ช่วยคุ้มครอง ส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อยกระดับมติดังกล่าวให้เป็นกฎหมายโดยเร่งด่วน กลุ่มพีมูฟ และเครือข่ายชาติพันธุ์  จึงจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ฉบับประชาชน ประกบเข้าไปด้วย ตามมาตรา 70 ในรัฐธรรมนูญ และตามหลักสิทธิมนุษย์ชน

“ความชอบธรรม ตามหลักปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งไทยได้ไปลงนามเป็นประเทศภาคี แม้ไทยจะไม่ได้ยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่านั้น  นำมาสู่การที่จะต้องมีกฏหมาย โดยกฏหมายจะได้มาจากการลงพื้นที่รับฟังรวบรวมข้อกังวล ข้อเสนอแนะของกลุ่มชาติพันธุ์ ร่างเป็นกฏหมายภาคประชาชนฉบับนี้ ซึ่งที่ผ่านมากกหมายของรัฐหากไม่มีกฏหมายฉบับประชาชน กฏหมายที่ออกมาจะไม่ตรงตามเจตนารมณ์”

ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ฉบับประชาชน เน้นหลักการสำคัญ 3 ข้อ

  • หลักการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม ได้แก่  สิทธิทางวัฒนธรรมและการศึกษา , สิทธิในที่ดินและทรัพยากร, สิทธิในการกำหนดตนเอง, สิทธิในความเสมอภาค ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ, สิทธิการมีส่วนร่วม และ สิทธิบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ
  • หลักการส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อปรับหลักคิดจากการมองชาติพันธุ์เป็นเพียงผู้ด้อยโอกาส ช่วยเหลือด้วยการสงเคราะห์ เป็นการคุ้มครองสิทธิ และส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์, เชื่อมั่นในองค์ความรู้ และศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ เปลี่ยนเป็นพลัง มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาและสร้างความมั่นคงให้ประเทศ
  • หลักการสร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำจากอคติ

“เน้นย้ำว่า การคุ้มครองสิทธิ์เหล่านี้ ไม่ใช่สิทธิพิเศษ แต่คือสิทธิ์ที่กลุ่มชาติพันธุ์พึงมี แต่ที่ผ่านมาพวกเขายังไม่ได้รับอย่างเท่าเทียม และป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายกฏหมายฉบับบนี้เป็นเพียงการคืนสิทธิ ที่พวกเขาถูกลดทอนตั้งแต่ต้น เพื่อคืนสิทธิให้พวกเขามีสิทธิเท่าเทียมกับเราทุกคนที่เป็นคนในเมืองหรือคนไทยทุกคน ถ้ามีกฏหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จะนำไปสู่การแก้ปัญหา สามารถแสดงตัวตน ประกาศพื้นที่ ยืนยันการจัดการทรัพยากรได้ด้วยตนเอง โดยกฏหมายอื่น ๆ ไม่ควรกระทบในพื้นที่”

ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้าน ที่ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายมีความหวัง ว่า ร่างกฎหมายจะช่วยลดอคติ  ยอมรับในวิถีวัฒนธรรม วิถีทำกินอย่างมั่นคง เช่น ไร่หมุนเวียน

เบื้องต้นมีชาวบ้านเข้าชื่อไปแล้ว 80 คน ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (9พ.ย.64) ทีมพีมูฟ จะตระเวนไปตามชุมชน เพื่อให้ข้อมูลกับชาวบ้านที่มีสิทธิเลือกตั้ง อีกเกือบ 300 คน ที่ยังไม่ได้มาร่วมรับฟังในวันนี้ และจะรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายเพิ่มเติม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ