หลงดอย: ความเป็นอื่นของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ในวันที่เมืองล้อมป่า

เสียงแคนจากผู้เฒ่า ประจำชนเผ่าอาข่า ดังก้องไปทั่วขุนเขาดอยผาฮี้
ในงานประเพณีโล้ชิงช้า ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

วันสำคัญเช่นนี้ ลูกหลานชาวอาข่าที่ออกไปทำงานต่างถิ่น ได้กลับมาอยู่กันพร้อมหน้า 

รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ บอกถึงความสุขที่พวกเขาได้กลับมาเยือนบ้านเกิด

“…ที่เคยถามร้อยทั้งร้อยอยากอยู่บนดอย การที่เราอยู่บ้านตัวเองกับบ้านเช่า คิดเอาเองว่าอยากอยู่ที่ไหน อยู่ที่ไหนแล้วมีความสุขที่สุด เพราะเขามีบ้าน ไม่ต้องเช่า มีไร่นาให้เขาไป ปลูกพืชผักที่กินได้ ไม่ต้องซื้อ น้ำก็ไม่ต้องซื้อ เพราะเราอยู่ต้นน้ำ มีแหล่งน้ำสะอาดอยู่แล้ว คือ แบ่งเบาภาระหลายอย่าง เราไม่ต้องมีเงินก็อยู่ได้”

‘หมี่จู มอแลกู่’ ประธานเครือข่ายอาข่าลุ่มน้ำโขง สะท้อนความรู้สึกของพี่น้องชาติพันธุ์ที่ต้องลงไปอยู่ ‘สลัมชนเผ่า’ ในตัวเมืองเชียงใหม่ให้ฟัง

ขณะเดียวกัน “แม้ปกาเกอะญอจะมีที่ดิน มีเมล็ดพันธุ์ แต่ไม่มีสิทธิ์ในที่ดินทำกิน บ้านที่เคยอยู่ ป่าที่เคยหากินกลายเป็นเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ กลายเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทำให้พวกเขาไม่มีทั้งอาหารและสถานที่หาอาหาร” พฤ โอ่โดเชา กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ จังหวัดเชียงใหม่ อธิบายภาพรวมของปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศไทยมากกว่า 4,000 ชุมชน

สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนหนึ่ง เขาเป็นคนชายขอบของคนจนเมือง เพราะปัญหาที่ทำกินส่งผลให้เกิดวงจรความยากจนเชิงโครงสร้าง ถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน เข้าไม่ถึงการศึกษา ต้องเข้าเมืองมารับจ้างทำงานรายได้น้อย ไม่มีสวัสดิการรองรับ จากที่เป็นคนชายขอบอยู่แล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ยังถูกผลักให้เป็นจำเลยสังคม เป็นตัวการตัดไม้ทำลายป่า เพียงเพราะรัฐมองผ่านกรอบความคิดว่าคนต้องแยกตัวออกจากป่า ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือบังคับให้พวกเขาต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตโดยไม่ได้เข้าใจวิถีที่ผูกพันกับธรรมชาติ

“พวกเขาต้องสู้กับธรรมชาติ สัตว์ในป่า กับโรคร้ายที่ก็ลำบากมากแล้ว ยังต้องมาสู้กับรัฐที่มาซ้ำเติมอีก”

จากที่เคยพึ่งพาตัวเองได้ รัฐกลับเข้ามาทำให้พวกเขาจนลง ทั้งด้านความเป็นอยู่ และโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดี…


จากป่าสู่เมือง

ก่อนวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เชียงใหม่ ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันเป็นอันดับหนึ่งของโลก เปลี่ยนโฉมหน้าเมืองท่องเที่ยวไปอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยเต็มไปด้วยแสงสี ถนนคนเดิน ร้านอาหาร สถานบันเทิงสารพัดรูปแบบที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ มาวันนี้ เหลือเพียงห้องแถวทิ้งร้าง ป้ายปิดกิจการ ป้ายให้เช่าติดอยู่เรียงรายอย่างน่าใจหาย

‘อาชุม’ หญิงสาวชนเผ่าอาข่าวัย 38 ปี เดินเตร็ดเตร่ไปตามท้องถนนที่เงียบเหงา ในมือถือกระบะขายสินค้าตกแต่งแบบชนเผ่าหลากสีสัน ด้านหลัง ลูกน้อยวัยไม่ถึงขวบถูกมัดติดแนบแผ่นหลังของเธอไว้เหมือนเป็นก้อนเนื้อเดียวกัน

‘อาชุม’ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูกทั้งหมด 7 คน ลูกหญิงชาย 3 คนแรกโตพอที่จะหาเลี้ยงตัวเองได้ จึงแยกย้ายออกไปมีครอบครัวแล้ว เมื่อ 2 ปีก่อน เธอตัดสินใจหนีจากสามีที่ติดยาเสพติด บอกลาบ้านเกิดที่ดอยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อมาหาโอกาสใหม่ในเมืองเชียงใหม่กับลูกเล็กอีก 4 คน

เพื่อให้ลูกได้มีที่พักอาศัย มีอาหารกิน และได้รับการศึกษา เธอจำใจฝากลูกชายไว้ที่มูลนิธิวัดดอนจั่น ลูกสาวอีก 2 คนอยู่ที่มูลนิธิบ้านพรสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนลูกคนสุดท้องที่เพิ่งลืมตาดูโลกอาศัยอยู่กับอาชุมใน ‘ชุมชนกำแพงงาม’ จังหวัดเชียงใหม่ ที่นี่เป็นศูนย์รวมของพี่น้องชนเผ่าอาข่าที่ย้ายลงมาอยู่ร่วมกัน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รวมกลุ่มกันประดิษฐ์ของที่ระลึก เย็บผ้า เย็บหมวก ร้อยพวงกุญแจ ในตอนกลางวัน แล้วกระจายตัวกันตระเวนขายให้แก่นักท่องเที่ยวในตอนกลางคืน

รายได้เล็กน้อย ๆ ที่ ‘อาชุม’ ได้รับในแต่ละวัน ก็ยังไม่เพียงพอใช้จ่าย ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคระบาดยิ่งทำให้รายได้ลดลงไปอีก เธอเล่าประติดประต่อสำเนียงไทยกลางไม่ชัดนัก

“ตรงนี้เป็นคนไทยส่วนน้อย แต่คนจีนกับฝรั่งเยอะ ถ้ามีนักท่องเที่ยวจะมีรายได้ประมาณพันนึง ถ้าน้อยก็ 300 บาท ของที่ขายมีนาฬิกาและก็ปิกาจู ดาวตก กำไลข้อมือ วันนี้ขายได้ 600 บาทแล้ว บางครั้ง… ขายได้แค่ 50 บาทก็มี แล้วหนูเดินขายไปด้วย หอบลูกไปด้วย ถามว่าพอไหม มันก็ไม่พอ พวกหนูก็ต้องอด ๆ อยาก ๆ 450 บาท อาทิตย์นึงมันไม่พอ มันไม่พอจริง ๆ ก็เลยต้องอดค่ะ ลูกไม่อด หนูให้ลูกกินก่อน ถ้าหนูไม่มี ก็ซื้อให้ลูกกินอิ่ม ส่วนแม่ไม่มีกิน”


รากหญ้าในป่าปูน

ความเหลื่อมล้ำยิ่งกระทำความรุนแรงกับกลุ่มแรงงานชาติพันธุ์มากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะนอกจากสังคมไทยจะมองว่าพวกเขา ‘เป็นอื่น’ แล้ว พวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคม ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่สามารถรับเงินเยียวยา ในสถานการณ์โควิด-19 หรือแม้แต่การกู้เงินในระบบก็ยังไม่สามารถทำได้”

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า รัฐควรปรับมุมมอง แก้ไขความเข้าใจเดิม ๆ ว่า จากที่เคยสงเคราะห์คนจน เปลี่ยนเป็นการมอบสิทธิขั้นพื้นฐานแก่คนที่อยู่ในเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ปรากฏการณ์คนจนเมืองเชียงใหม่ เป็นผลกระทบจากการพัฒนาเมืองอย่างขาดการมีส่วนร่วม เริ่มเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยกตัวอย่างถึงการพัฒนาที่ดิน หลายครั้งผลประโยชน์ผูกขาดกับกลุ่มทุน จากการที่เชียงใหม่ถูกวางเป้าหมายให้เป็นเมืองรวมศูนย์ราชการ เมืองการศึกษา เมืองเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9-11 (ปี 2547-2557) ทำให้มีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเมืองโตเดี่ยว (primate city) เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค หรือ Aviation Hub โครงการสร้างเชียงใหม่ให้เป็น Hub ด้านการท่องเที่ยว ทั้งด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ประเภทต่าง ๆ แต่คนในเมืองกลับเป็นผู้รับผลกระทบ ทำให้เมืองถูกควบคุมอำนาจโดยคนเพียงไม่กี่กลุ่ม

ส่วนคนจนนั้น จะถูกลดรูปให้เป็นเพียงคนที่ต้องทำงานให้กับเมือง ซึ่งทั้งหมดนั้นทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็หนีไม่พ้นแรงงานชาติพันธุ์นั่นเอง

สอดคล้องกับงานวิจัย “พลวัตคนจนและชุมชนเมืองในสังคมที่เปลี่ยนแปลง: กรณีศึกษาเชียงใหม่” โดย รศ.สมชาย ปรีชากุล และคณะ เสนอข้อสรุปจากการค้นพบซึ่งเป็นหัวใจของการศึกษา ว่า ถ้าเมืองเติบโตเป็นเมืองขนมชั้น สถานะคนจนและชุมชนเมืองในจังหวัดเชียงใหม่ ดำรงอยู่ในฐานะ ‘คนใต้เมือง’ อันหมายถึง คนกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนอย่างสำคัญต่อการสร้างเมืองให้มีความเติบโตขึ้นในหลากหลายสถานะ

ทว่า ในสถานะของคนที่ ‘อยู่ข้างใต้’ ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกคำนึงถึง หรือมีการให้ความสำคัญมากเพียงพอในการวางแนวทางพัฒนาเมือง มีหลักฐานมากมายที่ชี้ให้เห็นว่าไม่เคยมีความพยายามในการผลักดันประเด็นสิทธิที่อยู่อาศัยในเขตเมืองปรากฏขึ้นแม้แต่น้อย ทั้งที่ประเด็นดังกล่าวเป็นความชอบธรรมขั้นพื้นฐานของคนจนเมือง

วิธีคิดข้างต้นมาจากฐานคิดว่า เชียงใหม่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของภาคเหนือ มีประชากรเป็นทางการประมาณ 1.7 ล้านคน (ข้อมูลปี 2559) อำเภอที่มีประชากรมากที่สุด คือ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว (GDP  per capita) เท่ากับ 112,874 บาท แหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์มวลรวมจำแนกได้เป็น ภาคการเกษตร (22.14%), ภาคอุตสาหกรรม (10.12%) และภาคบริการ (67.83%) สัดส่วนรายได้ของภาคบริการที่มากกว่าการผลิตในภาคอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นว่า ระบบเศรษฐกิจของเชียงใหม่มีลักษณะความเป็นเมืองที่ผูกพันกับรายได้นอกภาคเกษตรอย่างเห็นได้ชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากตัวเลขนักท่องเที่ยวประมาณ 3 ล้านคนเมื่อปี 2540 ได้ขยายตัวเป็น 18 ล้านคนในปี 2560 และรายได้จากการท่องเที่ยวมีมูลค่าประมาณ 9 หมื่นล้านบาทในปี 2560 ส่งผลสืบเนื่องต่อธุรกิจต่าง ๆ ที่มีความเชื่อมโยงกัน เช่น อุตสาหกรรมโรงแรม การผลิตและจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก การก่อสร้างสถานที่ท่องเที่ยว และนำมาสู่การจ้างงานที่ขยายตัวไปพร้อมกัน

และในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การผลักดันพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้กลายเป็น “เมืองมรดกโลก” หรือ “นครที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม” คนจนเมืองยิ่งมีบทบาทสำคัญต่อการ “สร้างบ้านแปงเมือง” เพราะหากปราศจากคนจนเมืองแล้ว จังหวัดเชียงใหม่ก็ยากจะเป็นเมืองหลักด้านการท่องเที่ยวได้ดังที่เป็นอยู่ ด้วยธุรกิจจำนวนมากล้วนต้องอาศัยกำลังแรงงานของคนจนเมืองเป็นส่วนหนึ่ง เช่น ถนนคนเดินในวันเสาร์ย่านวัวลาย ถนนคนเดินท่าแพวันอาทิตย์ ธุรกิจขายของที่ระลึก รถตุ๊กตุ๊กทัวร์เมือง ร้านอาหารหลากหลายประเภท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนจนเมืองกลับไม่ถูกตระหนักถึงในฐานะของผู้มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคั่งให้เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ ก่อนหน้าทศวรรษ 2530 ชุมชนของคนจนเมืองยังมีลักษณะที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตเมือง มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น มีการรวมกลุ่มและการรวมตัวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับการไล่รื้อที่อยู่อาศัยจากหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาเมือง อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดด้านพื้นที่และการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่เข้มข้นมากขึ้น ทำให้การบุกเบิกพื้นที่ว่างในเขตเมืองยากลำบากมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ดังนั้น การวิจัยพลวัตรคนจนเมืองเชียงใหม่ข้างต้น จึงระบุว่า ในตัวเมืองเชียงใหม่มีคนจนและชุมชนเมืองดำรงอยู่ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในแง่ของคนไร้บ้าน คนรับจ้าง คนงานก่อสร้าง คนงานรายได้ต่ำ ซึ่งกระจายตัวออกไปหลากหลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัด ชุมชนในเขตเมือง ชุมชนบุกรุกที่ดินของรัฐ ห้องเช่าขนาดเล็กซึ่งแทรกตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ หรือคอนโดเอื้ออาทร เป็นต้น

และเมื่อพิจารณาจากลักษณะเด่นของกลุ่มคนจนและชุมชนเมือง จำแนกได้ 3 กลุ่มสำคัญ

  1. กลุ่มคนเมืองที่ดำรงชีวิตอยู่มาอย่างเนิ่นนาน ในพื้นที่เชียงใหม่
  2. กลุ่มแรงงานชาติพันธุ์ซึ่งอาจมีพื้นเพต่างถิ่น แต่ได้อพยพโยกย้ายมามีวิถีชีวิตในเขตเมือง (รวมถึงการเป็นลูกหลานแรงงานชาติพันธุ์ด้วย)
  3. กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเชียงใหม่ ภายใต้การเติบโตและขยัยตัวของระบบเศรษฐกิจการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

และแรงงานชาติพันธุ์ที่ย้ายถิ่นฐานมายังเชียงใหม่ จำนวนไม่น้อยวางแผนอยู่แบบถาวร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่ง ‘ประยงค์ ดอกลำใย’ ประธานกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ได้ให้ข้อมูลในวงเสวนาเรื่อง “จากปารีณา 1,700 ถึงกรณีปัญหาที่ดินป่าไม้ของคนจน : ข้อเสนอและทางออก” ไว้ว่ามีการดำเนินคดีกับประชาชนมากถึง 46,000 คดี ภายในเวลาเพียง 5 ปี (พ.ศ. 2557-2562)


วิถีดั้งเดิมในโลกใหม่

เสียงกลองและแคนน้ำเต้าประกอบท่วงทำนองของ ‘ยูนะ’ กับ ‘พอลล่า’ สองสามีภรรยาชาวลาหู่ เสมือนว่าเขาทั้งสองกำลังมีความสุขอยู่ในงานประเพณีรื่นเริงบนดอยสูง

แต่ที่นี่คือกลางเมืองเชียงใหม่!

และเครื่องดนตรีที่เคยใช้ในงานประเพณีกลายเป็นเพียงเครื่องมือหารายได้ที่ ‘ยูนะ’ และภรรยาใช้แสดงแลกกับน้ำใจจากนักท่องเที่ยว

ผมลงมาอยู่ที่บ้านศูนย์วัฒนธรรม แล้วก็ทำแคน ทุกวันนี้ทำแคนชาวเขาแล้วก็เอาไปขายไนท์บาซ่า ตอนนั้นแคนอันละ 40 บาทไป ตอนนี้ไม่มีลูกค้าแล้ว

‘ยูนะ’ และ ‘พอลล่า’ ชนเผ่าลาหู่ วัย 60 ปี หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และการพัฒนาแหล่งต้นน้ำบนดอยผาแดง ต้องอพยพลงจากดอยบ้านผาแดง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เข้ามาหางานทำในเมืองเชียงใหม่ ที่บ้านปากเซ ชุมชนต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ แออัดไปด้วยชนเผ่าลาหู่กว่าร้อยครอบครัว ที่อพยพลงมาทำงานในเมือง

‘ยูนะ’ และครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้กว่า 10 ปีแล้ว เขาทำหน้าที่เป็นเหมือนหัวหน้าชุมชน ดูแลความเรียบร้อยให้กับเจ้าของที่ดิน ทุกวันอาทิตย์ ชาวลาหู่ โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะแต่งชุดชนเผ่ามาสวดมนต์ภาษาลาหู่และร้องเพลงในโบสถ์จำลอง ซึ่งสภาพเหมือนศาลากลางหมู่บ้าน เป็นกิจกรรมเพียงสัปดาห์ละครั้งที่พวกเขาจะได้เชื่อมโยงกลับไปหาศาสนาและชาติพันธุ์ที่จากมา ‘หมี่จู มอแลกู่’ กล่าวขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้พวกเขามาเจอกันอีกครั้ง “เราเคยอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำแม่สวย ก็ถูกยึดพื้นที่ ไม่มีที่อยู่อาศัยไม่ที่ทำกิน”

“ชุมชนที่นี่หาเช้ากินค่ำ ส่วนใหญ่ร้อยดอกไม้ขายตามสี่แยก เศรษฐกิจไม่ดี คนซื้อมาลัยก็ไม่เยอะ รายได้ก็น้อยไม่พอเลี้ยงครอบครัว ที่ตรงนี้ก็ต้องเช่าที่อยู่ เพราะฉะนั้นยากจนมาก เขามีงานทำเป็นบางคน บางครอบครัวมี 5-8 คน แล้วทำงานแค่คนเดียวก็ไม่พอกิน เราก็เลยไปเอาข้าวมาจากบนดอยของหมู่บ้านพี่น้องกะเหรี่ยงแบ่งปันน้ำใจมา”

“ทุกคนอยากอยู่บนดอย แต่ที่บ้านและที่ทำกินก็อยู่ในเขตป่าอุทยานฯ เขตป่าสงวน ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าว่าตามกฎหมาย แม้แต่ที่ของบรรพบุรุษเราก็อยู่ไม่ได้ ก็ไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวอยู่บนดอยได้ เขาก็เลยอพยพมาอยู่ในเมือง มาตายเอาดาบหน้า มาหากินในเมืองเพื่อมีกินไปวัน ๆ หาเช้ากินค่ำ แต่ว่าพอเกิดโควิดระบาด การหาเช้ากินค่ำก็ทำไม่ได้ หาเช้าไม่พอกินเช้า ไม่พอกินบ่าย ไม่พอกินเย็น”

ชีวิตที่เปราะบางของคนบนดอยที่จำต้องทิ้งรกรากเข้ามาแสวงโชคในเมืองใหญ่ หวังฝากชีวิตปากท้องไว้กับนักท่องเที่ยว แต่สถานการณ์โรคระบาดเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้พวกเขาขาดรายได้จุนเจือครอบครัว

ครั้น…จะหันหลังกลับดอย ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว

บนดอยนี่อยู่สบาย ไม่มีทะเลาะเบาะแว้งอะไร ต่างคนต่างทำกิน ต่างคนต่างอยู่ เรามีความสุขอยู่บนดอย อยากกลับ แต่กลับไม่ได้ มันไม่มีที่อยู่และไม่มีที่ดิน ก็ต้องทำไปแบบนี้แหละ กลับไปไม่ได้”

‘ยูนะ’ เล่าย้อนถึงวิถีชีวิตบนดอยที่เขาคิดถึง ขณะที่เขาต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นชิน ทว่า สำหรับ ‘หมี่จู’ เห็นข้อดีประการเดียว ที่กลุ่มชาติพันธุ์หรือคนอพยพใหม่กลายเป็นคนจนเมืองกลางเชียงใหม่ คือ ความคาดหวังถึงอนาคตของเด็ก ๆ ที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา

“สภาพที่เป็นอยู่ขณะนี้ เด็ก ๆ อาจไม่สนุก ที่มีคนนอก (ชุมชน) มองว่าที่นี่คือ สลัมของชนเผ่า คนนอกบางกลุ่มเรียกหมู่บ้านนี้ว่า ‘หมู่บ้านคาเซ’ ซึ่งมีความหมายที่พวกเขาแปลความกันเอง คือ ‘หมู่บ้านของคนไร้แผ่นดิน”

แง่นี้ สถานะของแรงงานชาติพันธุ์ทั้งหมดจึง ‘อยู่ข้างใต้’ ชั้นล่างสุดของ “เมืองขนมชั้น” เมืองเชียงใหม่


คนอยู่ได้ ป่าอยู่ดี

หากถามถึงทางออก อย่างน้อยทางหนึ่ง เราต้องตระหนักและมีสายตา “เห็น” การมีอยู่ของคนจนเมืองในรูปแบบที่หลากหลาย

“ในโลกสมัยนี้ ถ้าจะให้มีกิน มีที่อยู่ ต้องเริ่มที่ที่ดินทำมาหากิน มีความรู้เพาะปลูกตามฤดูกาล ความรู้ในการถนอมอาหาร ความรู้ของกะเหรี่ยงแบบดั้งเดิมที่อยู่กัน มาได้เป็นร้อยปีในป่าเขา และความรู้เรื่องระบบเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ด้วย เพื่อไม่ให้ถูกหลอกเป็นหนี้”

พฤ โอ่โดเชา ยังทิ้งท้ายถึงการรักษาสมดุลระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมและความรู้ของโลกสมัยใหม่ที่จำเป็นต้องควบคู่ไปด้วยกัน

เขาว่า สิ่งที่เราทุกคนต้องช่วยกันมากยิ่งขึ้น ก็คือ การสนับสนุนสิทธิของบุคคลไร้สัญชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ หมั่นตรวจสอบนโยบายของรัฐให้มั่นใจว่า การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของป่า จำเป็นจะต้องรวมถึงผู้คนที่อยู่ร่วมกับป่าด้วย เพราะการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการถนอมรักษาวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์คือรูปแบบความยั่งยืนที่โลกยุคใหม่มองหา

“และไม่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะเลือกอยู่ในเมืองหรือป่า เราต่างต้องร่วมยืนยันและประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคนให้เสมอภาคกัน”


อ้างอิง

สมชาย ปรีชากุล และคณะ. “พลวัตคนจนและชุมชนเมืองในสังคมที่เปลี่ยนแปลง: กรณีศึกษาเชียงใหม่”. ใน “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง”. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.). กรกฎาคม 2563.

“ถอดบทเรียนทวงคืนผืนป่า : คนจนคือเหยื่อ-รัฐขาดมาตรฐาน-ทหารต้องออกไปจากการจัดการป่า”. เว็บไซต์ไอลอว์. เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562.

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active