แล้วจะถูกกฎหมายได้ไหม? ถ้าเข้าใจ(อดีต) ‘Sex Worker’ แบบฉัน

sex worker

“พี่พูดกับตัวเองเสมอว่า สักวัน…ถ้าฉันหลุดจากชีวิตตรงนี้ไป ฉันจะเอามาเล่า”

ในที่สุด…ประสบการณ์กว่า 30 ปี ของ “เอรี่” ธนัดดา สว่างเดือน ก็ได้ถูกเผยแพร่ออกมาให้ผู้คนรับรู้ถึงเส้นทางชีวิตตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงก้าวสุดท้ายกับอาชีพที่น้อยคนจะกล้ายื่นอกยอมรับว่า ‘ฉันคือ Sex Worker’

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 แน่นอนว่าถ้าพูดถึง ‘Sex Worker’ สังคมส่วนใหญ่ยังคงตัดสินและตีตราว่า ผู้ค้าบริการทางเพศเป็นคนไม่ดีและมีท่าทีรังเกียจ เมื่อรู้ว่าเขาเหล่านั้นใช้เรือนร่างเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน หรือแม้กระทั่ง Sex Worker เองก็ไม่กล้าที่จะบอกกับสังคมว่าเธอทำอาชีพนี้ในการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว

แต่ไม่ใช่สำหรับเอรี่ เธอกล้าที่จะบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของเธอที่จำเป็นจะต้องขายเรือนร่างในต่างแดนผ่านหนังสือ ‘ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน’ โดยไม่ได้สนใจเสียงสังคมเลยแม้แต่น้อย และรางวัล ‘ชมนาดระดับดีเด่น’ ที่เธอได้รับจากการเขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าเรื่องราวของเธอนั้นเป็นเรื่องจริงเจ็บจริงที่ยิ่งกว่านิยาย และทำให้สังคมรับรู้ว่ากว่า Sex Worker จะได้เงินแต่ละบาท ต้องเจอกับความโหดร้ายจนเรียกได้ว่าชีวิตของเธอแทบจะไม่มีค่าเมื่อเธอเข้าสู่วงการนี้

The Active ชวนคุยกับ “เอรี่” ธนัดดา สว่างเดือน อดีต Sex Worker และนักเขียนรางวัลชมนาด ถึงเรื่องราวในอดีตของเธอกับการขายบริการทางเพศที่ทำให้เห็นว่า ทำไม? Sex Worker จึงต้องทำให้ถูกกฎหมายและต้องได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกันกับอาชีพอื่น ๆ

“ลูกค้าบังคับให้เรา เล่นยา ใช้ยาเสพติด”
“เขาตบตีเรา ซ้อมเราอยู่ในห้อง”
“พาเพื่อนมารุมโทรมเรา”
“บางทีถุงยางแตก บางทีลูกค้าแอบถอดถุงยาง”
“เรารู้สึกว่า เราเหมือนสัตว์ตัวหนึ่งที่จะทำยังไงกับเราก็ได้”

จากคำบอกเล่าของเอรี่ อาจดูเป็นเหตุการณ์เดิม ๆ ที่หลายคนคงรู้หรือฟังจนชินหูอยู่แล้วว่านี่คือสิ่งที่ Sex Worker จะต้องเจอโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงความโหดร้ายนี้ได้ ทว่าความโหดร้ายที่เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดของเธอนั้น กลับไม่ได้รับความเห็นใจจากสังคม มิหนำซ้ำยังถูกสังคมซ้ำเติมและลดทอนคุณค่าความเป็นคนอีกด้วย

ฉันกลายเป็นคนไร้คุณค่า เพราะฉันถอดเสื้อผ้าหากิน?

ทั้ง ๆ ที่การทำร้ายร่างกาย การบังคับให้เสพยา หรือความโหดร้ายต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับอาชีพไหนหรือกับใครก็ตาม และไม่ใช่เรื่องปกติที่เมื่อเวลาผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว สังคมยังคงเพิกเฉยจนเคยชินกับเหตุการณ์เหล่านี้อยู่ โดยไม่ได้รู้สึกว่าผู้ถูกกระทำอย่าง Sex Worker ต่างหากที่สังคมควรจะเห็นใจมากที่สุด เพราะคงไม่มีใครอยากโดนทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ เพียงเพราะต้องการหาเงินเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด โดยเฉพาะคนที่ ‘จำเป็น’ และ ‘ไม่ได้มีทางเลือก’ เหมือนกับคนอื่น ๆ

เปิดให้เขาเห็นขาอ่อนที่ ‘จำเป็น’ ต้องแข็งแรง เพื่อเป็นเสาหลักให้ครอบครัวพึ่งพิง

อย่างที่หลายคนรู้กันว่า ‘คนเราเลือกเกิดไม่ได้’ ซึ่งคงโชคดีหน่อยถ้าได้เกิดมาในครอบครัวที่มีความพร้อมทางการเงิน และสามารถเลือกที่จะทำอาชีพใดก็ได้ตามใจคิด แต่สำหรับบางครอบครัวไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะชนบทของประเทศไทยที่น้อยครอบครัวจะเพียบพร้อมด้วยเงินทอง และบางครอบครัวยังมาพร้อมกับหนี้สินที่ต้องช่วยกันแบกรับภาระนี้ไว้

เมื่อเลือกเกิดไม่ได้ ‘การศึกษา’ จึงมีหน้าที่เหมือนบันไดที่จะพาครอบครัวเลื่อนชั้นและสถานะทางสังคมไปจากจุดเดิม ซึ่งก็มีหลายครอบครัวที่ใช้การศึกษานำพาให้หลุดพ้นจากความข้นแค้นนี้ไปได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ไม่อาจหลุดพ้นด้วยเงื่อนไขของความจนที่บีบให้ต้องออกจากระบบการศึกษา จนทำให้ชีวิตไม่ได้มีทางเลือกเหมือนคนอื่น

“ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ความรู้เราน้อย แค่ ม.3”

แน่นอนว่าอาชีพในประเทศไทยมีให้เลือกมากมาย แต่ด้วยความรู้ที่มีน้อย และข้อจำกัดของความจน งานที่สามารถทำได้จึงมีรายได้ไม่พอที่จะทำให้มีชีวิตดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานรับจ้างที่มีรายได้ขั้นต่ำเพียง 300 บาท และเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก เส้นทางที่จะไปสู่อีกระดับของชีวิตจึงเป็นเรื่องยาก

ดังนั้น สำหรับคนที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก หนทางหนึ่งและอาจเป็นทางเดียวที่เหมือน ‘ขึ้นทางด่วน’ เพื่อลัดไปยังเส้นทางที่สามารถสลัดความจนได้อย่างเร็วที่สุดและทำให้ครอบครัวลืมตาอ้าปากได้ จึงหนีไม่พ้นการขายเรือนร่างเพื่อแลกเงินจากการเป็น Sex Worker เพราะเสียงท้องที่ร้องด้วยความหิวของคนในครอบครัวไม่สามารถรอได้นานขนาดนั้น

“ต้องบอกอย่างนี้ว่า คนที่มาขายตัว ส่วนใหญ่เป็นคนรากหญ้า คนต่างจังหวัดเยอะมาก พ่อแม่ยากจน มีหนี้สิน เขามาช่วยพ่อแม่เขา เพราะว่ามันง่าย ไว จะมาทำแบกหาม เป็นกรรมกรก่อสร้าง เมื่อไหร่จะไปปลดหนี้ปลดสินให้กับพ่อแม่ได้”

เสี่ยงตาย เสี่ยงโรค เสี่ยงไปหมด!
แต่จะเป็น Sex Worker เพราะ ‘เงินเท่านั้นที่ Knock Everything’

หากชีวิตเลือกได้ว่าจะทำอาชีพอะไร แล้วอะไรที่ทำให้ยังเลือกเป็น Sex Worker? ขณะที่รู้ทั้งรู้ว่าเป็น Sex Worker จะต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย อีกทั้งยังโดนคนรอบข้างและสังคมรังเกียจเหยียดหยาม

“เงินคือแรงจูงใจให้พี่หนิง(เอรี่)ทำอาชีพนี้”

ชีวิตของเอรี่ไม่ได้ต่างจากกระดุมเม็ดแรกที่พลาดติดผิดตำแหน่ง จนทำให้ทุกอย่างที่วาดฝันไว้พังลงมาอย่างไม่เป็นท่า เพราะเธอตั้งครรภ์ขณะเรียนในวัยเพียง 15 ปี ซึ่งผลักให้เธอต้องหลงเข้ามาสู่วงการนี้ โดยการชักจูงจากเพื่อนให้ไปทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ เมื่อไปถึงบาร์ เธอจึงรู้ว่างานที่เพื่อนเธอพาไปทำกลับไม่ใช่นักชงเครื่องดื่มอย่างที่เข้าใจ แต่กลับกลายมาเป็น หญิงนั่งตู้กระจก หรือ ‘Sex Worker’

“พี่ไม่เคยคิดมาทำอาชีพขายบริการ แต่ว่าเราถูกเพื่อนชักจูงพาไปทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ เมื่อไปถึงเราถูกเอาเข้าไปนั่งในตู้ เราก็ยังไม่รู้อีกว่าเราขายตัวอยู่ จนกระทั่ง 4 วันผ่านไป เจ้าของบาร์ที่พัทยาก็ให้เราไปกับลูกค้า วันนั้นเราจึงได้รู้ว่านี่คืออาชีพขายตัว ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน”

แม้ว่าก้าวแรกที่เข้าสู่วงการนี้ของเอรี่จะเป็นการก้าวเข้ามาอย่างไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่อยู่ในวงการนี้ เธอพยายามที่จะเลิกเป็น Sex Worker อยู่หลายครั้ง และท้ายที่สุดก็ต้องวนเวียนเข้าสู่วงการขายเรือนร่างอีกครั้งอย่างนับไม่ถ้วน เพราะหลงไปกับมนต์สะกดที่เรียกว่า ‘เงิน’ จึงไม่ต่างจากการต้องคำสาปที่ทำให้เมื่อเข้ามาค้าบริการทางเพศแล้วไม่สามารถเลิกได้โดยง่าย ดังนั้น ‘เงิน’ คือคำตอบง่าย ๆ สั้น ๆ ที่แม้แต่คนมีทางเลือก ก็ยังเลือกที่จะเป็น Sex Worker เพราะหาเงินได้ง่าย และเร็ว

ก้าวแรก…

“วันแรกที่ขึ้นงานกับลูกค้า โชคดีที่ไปเจอคนไทย แล้วน้ำนมเราไหล เค้าก็เลยไม่มีเซ็กส์กับเรา แล้วเค้าจ่ายเงินเรา 4,000 บาท เราก็เลยมีความรู้สึกว่า ทำไมมันได้เยอะจัง คือตัวเลขมันเยอะมาก 4,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทำอะไรเลย เพราะก่อนหน้านี้ พี่ทำงานเป็นพนักงานขายของในห้างได้เดือนละ 3,500 บาท”

ก้าวที่ย้อนกลับ..

“เราอยากเลิก ก็เลยไปทำงานปูเตียงที่โรงแรม ปรากฏว่า โห ทำไมมันได้เงินน้อยจังวะ เดือนหนึ่งได้ 10,000 บาท ถ้าเราได้ขายตัว 10,000 บาท เราสามารถทำงานไปกับลูกค้าแค่หนึ่งคืนหรือสองคืนก็ได้แล้ว แล้วทำไมเราจะไปปูเตียงวะ”

ขายง่ายเหมือนขายก๋วยเตี๋ยว
แต่ขายก๋วยเตี๋ยวต้องลงทุนฉันใด ขายบริการทางเพศก็ต้องลงทุนฉันนั้น

เมื่อค่านิยมหรือความคิดของคนในสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ‘ความจำเป็น’ และ ‘จำใจ’ จึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้หลายคนเข้ามาเป็น Sex Worker อีกต่อไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นอาชีพที่ ‘เงินมาง่ายและได้มาเร็ว’ แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนว่าวันนี้จะมีลูกค้าหรือไม่? เพราะเป็น Sex Worker ก็ต้องลงทุน

ต้องมีจ่าย..

“ค่าแท็กซี่ 500 บาท ต้องมีจ่าย
ค่าแต่งหน้าทำผม 200 บาท ต้องมีจ่าย
ค่าดื่ม 500 บาท ต้องมีจ่าย
ค่าแท็กซี่ขากลับ 500 บาท ต้องมีจ่าย”

คำว่า “ต้องมีจ่าย” คือต้องจ่ายไปก่อนโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันนี้จะมีผู้มาซื้อบริการหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีลูกค้า ก็เหมือนกับการเทเงินทิ้งไปเสียเปล่า หรือบางครั้ง ‘ลงแรงไปแล้ว’ แต่ลูกค้ากลับไม่จ่ายค่าตัวก็มี ดังนั้น การขายเรือนร่างจึงไม่ได้ง่ายเหมือนกับการขายก๋วยเตี๋ยวที่สามารถแช่ตู้เย็นแล้วนำมาอุ่นทีหลังได้

ก๋วยเตี๋ยวยังสั่งพิเศษได้ แล้ว Sex Worker มีแบบพิเศษบ้างไหมนะ?

“พี่เคยคุยกับเด็กคนหนึ่งที่เป็นเด็กนั่งเลาจน์ เขาจะมีกระเป๋าแบรนด์เนมอยู่ใบหนึ่ง เขาบอกใบนี้ ทุกคนต้องมี การแต่งตัว พวกเสื้อผ้าต้องเป็นแบรนด์เนม บางคนต้องขับรถเก๋ง ไปซื้อรถมาผ่อน ขายตัวผ่อนรถ มันเป็นการเรียกค่าตัวขึ้นมา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง”

ก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามจะอร่อยได้ต้องมีเส้น ซุป ผัก ลูกชิ้น จัดเรียงอยู่ในชามให้สวยงามเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาลิ้มลอง ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าก็จะต้องลงแรงไปตลาดและลงเงินเพื่อซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ ให้กลายมาเป็นก๋วยเตี๋ยวชามนี้ และเมื่อมาเทียบกับการเป็น Sex Worker คงไม่ได้ต่างกันมากนัก ซึ่งต้องลงเงินและลงแรงเช่นกัน เพราะเขาเหล่านี้ต้องใช้เสื้อผ้า หน้าผม เพื่อดึงดูดลูกค้า และอุปกรณ์ที่ช่วยรักษาความปลอดภัยกับเหล่า Sex Worker

ดังนั้น จึงมีแต่ ‘ได้กับได้’ ถ้า Sex Worker ถูกกฎหมาย?

แม้ปัจจุบันจำนวน Sex Worker ในไทยจะยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่แน่นอนว่าคงมีจำนวนไม่น้อย เพราะเป็นที่รู้กันของทุกคนว่าประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องการค้าบริการทางเพศ จนทุกคนต้องร้อง “อ๋อ” เมื่อพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวยามราตรีที่ขึ้นชื่ออย่าง ‘พัทยา’ หรือตรอกซอยต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพ ซึ่งถ้าทำให้ Sex Worker ถูกกฎหมาย อาจเป็นเรื่องดีสำหรับทุกคน

แม้ความเห็นของเอรี่ มองว่า Sex Worker หลายคนไม่ต้องการทำให้ถูกกฎหมาย เพราะไม่อยากขึ้นทะเบียนกับทางรัฐว่าตนเองทำอาชีพค้าบริการ ด้วยทัศนติของสังคมที่ยังไม่ได้เปิดกว้างมากพอ และไม่พร้อมจะยอมรับเหล่า Sex Worker ให้มาเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายได้ จึงไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวตน อีกทั้งยังมีเสียงสะท้อนของสังคมจากประสบการณ์ของเอรี่ที่สวนกลับมาว่า Sex Worker ไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิ์การคุ้มครองเหมือนกับอาชีพอื่น ๆ เพราะสามารถใช้เงินที่หามาดูแลตัวเองได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยในการทำงาน คือสิ่งที่แรงงานทุกคนต้องการไม่ว่าจะทำงานในอาชีพใด แม้ว่ารัฐบาลจะมีกฎหมายออกมาคุ้มครองแรงงานผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่าง ๆ แต่สำหรับอาชีพที่มาพร้อมกับความเสี่ยงมากมายและยังต้องมีการลงเงิน-ลงแรง อย่าง ‘Sex Worker’ กลับไม่ได้รับการคุ้มครองใด ๆ จากรัฐบาลเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งยังทำให้อาชีพนี้เป็นอาชีพผิดกฎหมาย ด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 จนเรียกได้ว่าเหล่า Sex Worker ทำงานโดยที่ไม่มีอะไรรับรองได้เลยว่าชีวิตของเขาจะปลอดภัย

“เด็กพวกนี้เวลาถูกแขกทำร้ายต่อยตี เขาไปแจ้งความไม่ได้ แจ้งความปุ๊บ โดนก่อนเลย เพราะเขาทำอาชีพที่ผิดกฎหมาย พี่อยากให้ตรงนี้มันถูกต้อง คือทำยังไงก็ได้ที่ให้เด็กพวกนี้ ไม่ต้องไปโดนจับ เวลาถูกทำร้าย บางคนถึงขั้นเสียชีวิต เพราะกฎหมายไม่คุ้มครอง”

นอกเหนือจากความปลอดภัยคือ ‘รายได้’ จากการเป็น Sex Worker ที่เอรี่มองว่าเป็นอาชีพทำเงินได้สูงและรวดเร็ว ซึ่งถ้ามองในแง่ความยุติธรรมในการจ่ายภาษี การไม่ให้ Sex Worker ถูกกฎหมายจะทำให้รัฐเสียรายได้จากการเก็บภาษี เพราะถือว่ายังเป็นแรงงานที่อยู่ใต้ดิน อีกทั้งยังไม่ยุติธรรมกับประชาชนที่ต้องเสียภาษีตามระบบ โดยเฉพาะบางอาชีพที่ไม่ได้หาเงินมาง่ายเหมือนกับ Sex Worker

“พวกคุณทำงานเสียภาษี 1 ปี ซื้อบ้านได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่ขายตัวมันง่าย เผลอ ๆ ไม่ถึง 1 ปี เขาก็ซื้อบ้านได้ เพราะเขาไม่เคยเสียภาษี ในความยุติธรรมก็ต้องเอาอาชีพนี้มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องไปเลย จะได้เสียภาษีเท่ากัน”

สุดท้าย…หากมาดูสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ว่ายังมีบางส่วนในสังคมยังไม่เปิดกว้างกับ Sex Worker อยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการเข้าใจและใช้เวลาพอสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนติที่ฝังมานานนับสิบปี และเมื่อมาในปี 2567 ที่ถือได้ว่ามีการพัฒนาและเจริญก้าวหน้ามากกว่าเดิมแล้วนั้น เรื่อง ‘สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย’ และ ‘ความเท่าเทียม’ จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญกับทุกคน ซึ่งไม่สามารถมองข้ามได้

Sex Worker ได้รับการคุ้มครองและรับรองความปลอดภัยด้วยการตรวจสอบและดูแลตามมาตรฐาน
ผู้ซื้อบริการ สามารถใช้บริการได้อย่างสบายใจ
รัฐบาล สามารถเก็บภาษีได้มากยิ่งขึ้นและเศรษฐกิจอาจดีขึ้นตามไปด้วย
ประชาชน ได้รับความยุติธรรมในการเสียภาษี

ดังนั้น เมื่อ Sex Worker ถูกกฎหมายและได้รับการคุ้มครอง คำว่า ‘มีแต่ได้กับได้’ จึงไม่เกินจริงมากนัก หากแต่ต้องมองและศึกษาอย่างละเอียดในหลายมิติ ทั้งความต้องการของ Sex Worker บางส่วนที่ต้องการการคุ้มครอง แต่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน หรือการระมัดระวังว่าจะไม่เป็นการเชิญชวนเด็กและเยาวชน เพราะเรื่องการใช้เพศเป็นอาชีพ ยังคงเป็นเรื่องเปราะบางในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ถือว่าสถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากบรรยากาศที่มีผู้คนร่วมลงชื่อทั้งภาคประชาชนและส่วนของพรรคการเมืองร่วมเสนอกฎหมายคุ้มครองเขาเหล่านี้ที่แทบไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

Author

Alternative Text
AUTHOR

กัลยกร สมศรี

นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

ชาลี คงเปี่ยม