ชีวิตใน ‘บ้านกล่อง’ (รุ่นที่ 3) อีกนานไหม ? จะก้าวพ้นความจน

“ความตั้งใจของหนูก็คือจะเรียนให้จบ เพื่อพาทุกคนไปอยู่ข้างนอก ไปอยู่บ้านหลังใหม่ ไปเริ่มต้นใหม่ที่ดีกว่านี้”

ไม่แปลกที่ ‘ข้าว – บวรภัค ไพรทูล’ หญิงสาววัย 19 ปี จะฝันแบบนั้น เพราะชีวิตของเธอที่เติบโตมาท่ามกลางสภาพของชุมชนแออัด บ้านเรือนเรียงรายกันมากกว่า 360 หลังคาเรือน บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร มีผู้คนอาศัยมากกว่า 2,000 คน ‘บ้าน’ จึงไม่ต่างจากกล่องสี่เหลี่ยม

และเมื่อ ‘บ้านกล่อง’ หลังน้อย คือที่พักพิงให้กับอีก 8 ชีวิต อาศัยอยู่รวมกัน ก็ยิ่งทำให้เธอและทุกคนในบ้านครอบครัว เผชิญกับแทบทุกอุปสรรคโดยมีพื้นฐานแรกมาจากปัญหาที่อยู่อาศัย

ข้าว – บวรภัค ไพรทูล

ข้าว อาศัยอยู่ในบ้านกล่องหลังนี้มาตั้งแต่จำความได้ เมื่อพ่อแม่จากไป ‘อุดม มีพารา’ ย่าของเธอ จึงรับหน้าที่ดูแลเธอ และน้อง ๆ

ย่าดมเป็นคนต่างจังหวัด เข้ามาทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯ ก่อนลงหลักปักฐานใน ‘ชุมชนริมคลองสามเสน’ ชุมชนแออัดในเขตราชเทวี

ข้าวไม่เคยรู้สึกว่า ชุมชนแออัดหรือบ้านที่เธออยู่เล็ก คับแคบ ไม่ปลอดภัย จนในวันหนึ่งเมื่อเธอ และน้อง ๆ ค่อย ๆ เติบโตขึ้น ชีวิตของหญิงสาว ในชุมชนแออัดที่บ้านอยู่ในสภาพไม่มิดชิด ห้องน้ำไม่ได้อยู่ภายในตัวบ้าน ไม่มีแสงสว่างบนเส้นทางสัญจร จากสภาพแวดล้อมที่เธอเคยชินในวัยเด็ก จึงกลายเป็นความรู้สึกไม่ปลอดภัย

“หนูเรียกที่นี่ว่าบ้าน มันเล็ก ตอนนอนมันต้องนอนหลาย ๆ มุม เด็กก็เริ่มโตขึ้น พอเด็กโตมันก็จะดูเล็กกว่าเดิม หาที่นอนไม่ค่อยได้”

ไม่ใช่ทุกครั้งที่หลังจากเลิกงานกลับบ้านดึก ๆ ดื่น ๆ แล้วย่าดมจะไปรอรับข้าวเดินกลับเข้าบ้านด้วยกัน เพราะย่าเองก็เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานนั่งร้อยมาลัยมาทั้งวัน ไหนจะดูแลหลาน ๆ อีกหลายคน รวมถึงคนพิการ ในบางคืนข้าวจึงต้องเดินเข้าบ้านเพียงลำพัง

เส้นทางที่ใช้สัญจรไม่ใช่แค่มืด และเปลี่ยวเท่านั้น แต่ยังแคบมาก หลายครั้งมีคนประสบอุบัติเหตุ หรือมีเหตุอาชญากรรมเกิดขึ้นภายในชุมชนด้วย ซ้ำร้ายเมื่อต้องถูกสายตาของกลุ่มวัยรุ่นชายจ้องมอง และใช้ถ้อยคำแทะโลมต่าง ๆ นา ๆ ระหว่างทางกลับบ้าน ก็ยิ่งทำให้ข้าวรู้สึกไม่ปลอดภัยเข้าไปอีก

“บางทีเขาก็มองกัน มองแล้วพูดอยากได้คนนี้น่ารัก อยากได้เป็นแฟน บางทีหนูใส่กระโปรงสั้นก็มองหนูจนเดินลับไปเลย”

แม้ที่ที่เรียกว่าบ้านเต็มไปด้วยความไม่ปลอดภัย และไม่สะดวกสบาย แต่ข้าวก็ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ ไหนจะช่วยให้เธอประหยัดเพราะไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน จึงยังต้องจำใจอยู่บ้านกล่องหลังนี้ต่อไป โดยที่ข้าวก็ฝันว่าสักวันหากเรียนจบ จะรีบทำงานเก็บเงิน และพาทุกคนออกไปจากที่นี่

หนทางเดียวนอกจากทำงานเก็บเงินส่งตัวเอง และช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว ข้าวยังเชื่อว่า ‘การศึกษา’ จะเป็นบันไดพาไปคว้าฝัน

แต่ตลอดเส้นทางกว่าจะไปถึงตรงนั้นไม่ง่าย เพราะเต็มไปด้วยต้นทุนที่สูงจนบางครั้งทำให้ข้าวและน้อง ๆ เสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ทุกเมื่อ ย่าดม และ ‘อาเพ็ญ – เดือนเพ็ญ ไพรทูล’ จึงเป็นกำลังหลักหาเลี้ยงทุกคน แต่เพราะคนรุ่นย่า รุ่นอา เรียนจบไม่สูง อาชีพจึงทำได้เพียงลูกจ้าง รับจ้างล้างจาน ซึ่งเงินเดือนที่ได้เมื่อเทียบกับภาระค่าใช้จ่าย ยังคงไม่เพียงพอที่จะจุนเจือทุกคน ข้าวในฐานะพี่คนโต จึงต้องเรียนไปด้วยทำงานพิเศษไปด้วยเพื่อช่วยอีกแรง

“หนูเรียนจบก็ยังมีน้องอีก 4 คน ที่เรียนหนังสือต่อ ก็หาเงินมาช่วย ๆ กันให้เขาเรียนหนังสือ เผื่ออาเพ็ญกับย่า จะได้ไม่ต้องมานั่งร้อยมะลิแบบนี้ บางวันกลับมาจากที่ทำงานก็ยังเห็นย่ากับอาเพ็ญร้อยยันเช้า บางวันก็ช่วย ถ้าตอนเช้าไม่มีเรียน เพราะต้องตื่นตอนเช้าไปเรียนตอนเย็นก็ต้องไปทำงานต่อเลย”

ข้าวและน้อง ๆ เป็นเพียงหนึ่งในภาพสะท้อนความทุกข์ยากของชีวิต ไม่ต่างกับเด็กยากจนอีกกว่า 2.8 ล้านคน ที่พยายามหาเงินเรียนหนังสือแบบข้าว และเด็กอีกนับล้านคน ที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว ด้วยเหตุผลจากฐานะทางบ้าน  

ทำไม ? การศึกษาที่เด็ก ๆ ใฝ่ฝันเพื่อช่วยผลักตัวเองให้หนีพ้นความจน จึงได้มีต้นทุนที่สูงขนาดนี้ และทำไม ? ถึงได้กลายเป็นภาระของเด็กและผู้ปกครองเพียงอย่างเดียว มีหน่วยงานรัฐ หรือกลไกไหนที่เข้ามาทำงานกับเด็กกลุ่มนี้หรือไม่ ?

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กศส.) ยอมรับว่า หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเด็กยากจนมีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมามีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเข้าถึงตัวเด็กและครอบครัวได้ เด็กเองก็ไม่รู้ว่ามีช่องทางการช่วยเหลืออยู่

ความสำเร็จในเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ คือการพึ่งพาครู และโรงเรียนที่ช่วยสำรวจสอดส่องเยี่ยมบ้าน เพื่อดึงข้อมูลพื้นฐานครอบครัวและส่งต่อ

ขณะที่การแก้ปัญหาการศึกษาไทยซึ่งยังมีต้นทุนสูง หรือเรียนฟรีไม่มีอยู่จริง ก็จำเป็นที่จะต้องเพิ่มสวัสดิการอื่น ๆ ให้ครอบคลุม เช่นสวัสดิการอาหาร, การเดินทาง และการทำงานเชิงรุก พร้อมทั้งจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาโดยปฏิรูปโครงสร้างด้วยการออก พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่, การปฏิรูปงบประมาณ หรือแม้แต่การพัฒนาหลักสูตรสมรรถนะฉบับใหม่แทนฉบับเก่าที่ล้าหลัง

“ปัญหาความยากจนและระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์เด็ก ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา แม้เรียนฟรี 15 ปี เป็นกฎหมาย แต่ทรัพยากรที่ลงไปไม่ได้ลงที่ตัวเด็กและการเรียนรู้ แต่ลงที่โครงสร้างการบริหารมากเกินไป ดังนั้นงบฯ ที่เอามาลงกับเด็กเลยกระท่อนกระแท่น”

ศ.สมพงษ์ สะท้อนมุมมอง

ขณะที่ทุนการศึกษา คือ อีกหนทางหนึ่ง ที่พอจะเข้ามาช่วยเหลือเด็กยากจน เพื่อให้พวกเขามีทุนทรัพย์ในการเรียน แต่ ‘เพ็ญวดี แสงจันทร์’ ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีป ซึ่งเป็นมูลนิธิที่มุ่งยกระดับความยากจนด้วยการศึกษา ก็ให้ความเห็นว่า สภาพแวดล้อมการเติบโตในชุมชนแออัดนั้นไม่เอื้อต่อการเติบโตของเด็ก ส่งผลเสียต่อสุขภาวะ และการเข้าถึงการศึกษา และบอกว่าการหาทุนให้เด็กกลุ่มเปราะบางนั้นทำได้อย่างจำกัดเพราะเด็กที่อยากเรียนอาจไม่ใช่เด็กเรียนดีทุกคน

“ถึงแม้เราให้ทุนบางส่วนแล้วเด็กก็เรียนไม่ได้ เราถึงต้องให้เด็กเรียน 100% ถึงแม้ว่าจะให้ได้ไม่เยอะ ให้ได้ไม่ถึง 20 คน เพราะเราหาคนสนับสนุนยาก เนื่องจากยังมีมายาคติที่ว่าคนอยากให้เด็กเรียนดี แต่ในความเป็นจริงเด็กไม่ได้เรียนดีทุกคน ถึงเขาจะอยากเรียนแต่ก็เรียนไม่ได้ เลยหาอาชีพทำ เข็นเท่าที่เขาจะไหว เขาต้องเรียนผ่านการลงมือทำ แต่ระบบในโรงเรียนเราไม่เคยเทสเด็กว่าถนัดอะไร”

เพ็ญวดี ขยายความ

ท้ายที่สุด ถ้าเรายังเชื่อว่าการศึกษาเป็นโอกาสที่จะทำให้คนคนหนึ่งหลุดพ้นจากวังวนของความยากจน ที่ส่งผ่านกันมาเป็นทอด ๆ จากรุ่นพ่อแม่ แต่ตราบใดที่ต้นทุนของการเข้าถึงการศึกษายังคงสูงขนาดนี้ ความพยายามของเด็กที่อยากจะเรียนอาจท้อถอย และล้มเลิกกลางคันไปในที่สุด

จะดีกว่าไหมหากการเรียนรู้ไม่ได้ถูกวัด และผูกขาดกันเพียงแค่ระดับวิชาการ แต่มีความหลากหลาย มีนโยบายชัดเจน มีแนวทางช่วยเหลือ ที่สามารถเติมความฝันให้เด็กทุกคนกลายเป็นจริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล