ชาติพันธุ์: กติกาที่เขียนให้เขากลายเป็นคนจน | พฤ โอ่โดเชา

เมื่อกติกาที่เขียนขึ้นใหม่ ไม่รับรองวิถีที่พวกเขาดำรงกันมานับร้อยปี กลุ่มชาติพันธุ์ ที่นิยามตัวเองว่ารุ่มรวยด้วยภูมิปัญญา และทรัพยากร จึงถูกผลักให้กลายเป็นคนจน

กลุ่มชาติพันธุ์และการผลิตซ้ำมายาคติ แล้วอะไร คือ ทางออกของปัญหา?

วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม?

หรือการปรับตัวสู่วิถีชีวิตที่ทันสมัย

มอง ความรวย ความจน แบบคนปกาเกอะญอ กับ พฤ โอ่โดเชา

กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นคนจนจริงหรือ?

มองได้สองแบบ หนึ่ง คือพวกเขาต้องยอมรับว่าเป็นคนยากจนจริง เพราะถ้าเชื่อแบบนั้นก็จะได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือคนจนโดยรัฐ แต่อีกด้าน ก็รู้สึกว่าตนเองไม่ใช่คนจน เพราะตามความเชื่อของคนกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ “คนจน” หมายถึงคนที่เกิดมาแล้วพิการ กลุ่มเด็กกำพร้า หรือแม่ม่ายที่ไม่มีลูก

ปกาเกอะญอ กับความจนในมุมของ “พฤ”

“จน” สำหรับ พฤ คือคนที่ทำมาหากินลำบาก ไม่มีบ้านหรือที่นอน ต้องการการดูแลจากชุมชน เพราะเมื่อก่อนพวกเขาเชื่อว่า หากมีมือมีเท้า จะทำมาหากินที่ไหนก็ได้ แค่มีที่ดินให้ปลูกข้าว ก็มีกิน ส่วนที่บอกว่าจนเพื่อให้ได้สิทธิ์ เป็นการบอกให้คนอื่น “เห็นหัวเรา” พฤ บอกว่า ตอนที่นึกถึงความจน ข้อความนี้ก็ขึ้นมาในหัว ราวกับว่าจู่ ๆ เขากลายเป็นคนจนขึ้นมา

เรื่อง บัตรประชาชน ก็เป็นอีกตัวอย่าง ที่ พฤ รู้สึกว่าจู่ ๆ ก็กลายเป็นคนที่มีความผิด สมัยก่อนเขารู้สึกว่าจะมีหรือไม่มีบัตรประชาชน ทุกคนก็เท่ากัน ธรรมชาติให้มาเท่ากัน มีมือมีเท้า แต่ปัจจุบันมันต่างออกไป พอมีบัตรประชาชน มีสำเนาทะเบียนบ้าน ตามที่รัฐซึ่งใช้ภาษาไทยเป็นผู้ออกกฎ แล้วมาบอกว่า พวกเขาต้องทำตามเกณฑ์นี้ ทั้ง ๆ ที่กลุ่มชาติพันธุ์ก็อยู่แบบเดิมมาโดยตลอด สิ่งที่เคยคิดว่าทุกคนเท่ากัน ก็หายไปในตอนที่รัฐนิยามเรื่อง “สิทธิ”

กลายเป็นว่ามีการแบ่งคนที่มีและไม่มีสิทธิ์ คนที่คิดเรื่องนี้ขึ้นมา รัฐไทยไม่ได้เข้าใจแบบที่บรรพบุรุษของพวกเขาเข้าใจ ว่าทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน ถึงแม้ไม่มีร่างกายที่สมบูรณ์ แต่ก็มีวิญญาณ ถ้าสิทธิ์มันทำให้ทุกคนเท่ากันจริง ก็คงจะดี

สรุปได้ว่า จนแบบแรก คือ การที่กลุ่มชาติพันธุ์ทำตัวให้ดูลำบากเอง เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนแบบที่สอง คือ การถูกทำให้จน ทำให้เราลำบากด้วยกฎกติกาบางอย่าง มันเหมือนกับมีคนหนึ่งไปรังแกคนที่อ่อนแอกว่า

ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ในปัจจุบัน

สิ่งที่สำคัญของปกาเกอะญอ อาหาร คือ อันดับแรก หมายถึงการมีข้าวพอกิน มีที่ดินให้เพาะปลูก มีที่อยู่ที่นอน เพราะหากมีที่ดิน แต่ร่างกายไม่แข็งแรง ก็ทำงานไม่ได้ หรือถึงจะมีกิน แต่ไม่มีที่นอนก็ไม่ได้

ปัญหาในปัจจุบัน คือ มีที่ดิน มีเมล็ดพันธุ์ แต่ไม่มีสิทธิ์ในที่ดิน ชาวปกาเกอะญอ อาศัยในพื้นที่เดิมมาเป็นเวลานานแล้ว แต่วันหนึ่ง รัฐก็มาบอกกับพวกเขาว่า ที่ดินนี้อาศัยอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะเป็นเขตอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเป็นต้นน้ำ พืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่เคยเก็บได้ตามป่า ก็ถูกห้าม ทำให้พวกเขาไม่มีทั้งอาหารและสถานที่หาอาหาร

พฤ บอกว่า ไม่ต้องไปคิดถึงการเรียกร้องอะไรอื่น ๆ เลย เพราะแค่สิทธิ์ขั้นพื้นฐานของพวกเขา ก็ถูกลิดรอนไปหมด เหมือนตกลงไปในหลุมความผิด แล้วขยับไปไหนไม่ได้ ความจนมันเลยเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ  วิธีคิดของรัฐ เป็นวิธีคิดแบบคนภาคกลาง ไม่เข้าใจคนที่อาศัยอยู่กับทะเลหรือภูเขา กติกาเหล่านี้มันไปรบกวนชีวิตของคนที่อยู่กับธรรมชาติ ลำพังแค่ใช้ชีวิตก็ลำบากมากแล้ว ยังต้องสู้กับรัฐที่มาซ้ำเติมอีก

เขายอมรับว่า “คนเราเกิดมาจะเข้าใจคนทุกมุมโลกก็ไม่ได้” แต่รัฐที่ต้องทำหน้าที่ออกแบบกฎของการอยู่ร่วมกัน ก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย

รัฐต้องการให้กะเหรี่ยงเป็นคนจน

พฤ บอกว่าโครงสร้างของรัฐไม่ได้สอนให้พวกเขาฉลาดขึ้น ไม่ได้ให้ความสะดวกในการศึกษากับพวกเขา เพราะหากพวกเขาค้าขายเก่ง ฉลาดกว่านี้ ก็จะไปแย่งงานคนในเมือง คนรากหญ้า คนชนบทต้องเป็นคนจนเพื่อรับใช้เศรษฐกิจระดับใหญ่ สินค้าต่าง ๆ จากในเมืองก็แพง แถมยังมีค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

รัฐมองว่ากะเหรี่ยงอยู่แต่ในป่า ขี้เกียจ ไม่ทำงาน ทั้งที่จริง ๆ แล้ว พวกเขาอยู่กันแบบพึ่งพาตนเอง เก็บของป่ากิน สิ่งที่รัฐทำคือการมาปิดพื้นที่หาอาหารของพวกเขา ให้กลายเป็นเขตหวงห้าม ควบคุมการใช้น้ำและดิน ทีนี้พวกเขาก็ต้องไปเป็นแรงงานในระบบ

ต้นทุนที่ไม่เท่ากัน

ลองคิดดูว่าจะมีกะเหรี่ยงกี่คน ที่สามารถขึ้นไปอยู่ในระดับบริหาร เป็น ส.ส. เข้าไปมีส่วนแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ โครงสร้างมันไม่ได้มีพื้นที่ ไม่มีโควตาของพวกเขา บางครั้งมีเจ้าหน้าที่ราชการเรียกชาวกะเหรี่ยงไปร่วมประชุม พวกเขาก็พยายามอธิบายความเดือดร้อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เพียงเพื่อให้เห็นว่า ชาวกะเหรี่ยงมีส่วนร่วมกับภาครัฐ แต่ไม่ได้นำสิ่งที่พวกเขาเสนอไปแก้ไข ทั้งที่หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ของพวกเขา แต่ชาวบ้านกลับไม่มีอำนาจอะไรใด ๆ เลย

แนวโน้มในอนาคต ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่อนโยบายของรัฐในปัจจุบัน

คิดไม่ออกเลย อาจจะมองจากกลุ่มคนที่เคยอยู่มาก่อน คนไทยก็ตามกระแสของโลกตะวันตก ตามจีน ตามกระแสของสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ชีวิตแบบเดิมของคนไทยมันดีอยู่แล้ว เป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่รัฐไทยก็เปลี่ยนไปตามโลก มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ปรับตัวเพื่อให้เงินไหลมาเทมา

คนปกาเกอะญอเองก็เปลี่ยนความคิด มีคนอยากสร้างบ้านตามคนเมือง ลูกหลานของพวกเขาก็จะเหมือนคนกรุงเทพฯ แต่กลับกัน คนกรุงเทพฯ อยากจะย้ายมาอยู่เชียงใหม่ อยู่กับภูเขากันมากขึ้น

หากถามว่ามองอนาคตอย่างไร ก็มองว่ากลุ่มชาติพันธุ์จะเหลือแต่กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน เหมือนในชนบทภาคอีสาน ลูกหลานจะไม่กลับมาอยู่กับดินกับน้ำ เกิดวิกฤตในชุมชน ที่ดินอาจกลายเป็นของรัฐหรือมีคนมาซื้อไป ความเป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่พึ่งตนเองได้ ก็จะหายไป

“อยากให้คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหว ให้สามารถอยู่แบบพึ่งตัวเองได้เหมือนสมัยก่อน กลับมาทำการเกษตร เมื่อพวกเขาอาจพบว่าชีวิตในเมืองไม่ใช่คำตอบ แล้วกลับมาบ้าน ที่มีป่า ดิน น้ำ มันก็อาจจะชะลอการล่มสลายของชาติพันธุ์ได้ แต่เท่าที่ดูแล้วก็ยากมาก”

หนทางสู่การไม่จน

ในโลกสมัยนี้ ถ้าจะให้มีกิน มีที่อยู่ ต้องเริ่มจากมีที่ดิน ที่ดินแบบที่นิยามโดยกะเหรี่ยง ที่ไม่ได้หมายถึงการมีโฉนดที่ดินตามนิยามแบบรัฐ แต่หมายถึงที่ดินสำหรับทำมาหากิน จำเป็นต้องมีลูกหลาน คนรุ่นใหม่มาช่วยทำงาน ต้องมีความรู้ในการเพาะปลูกตามฤดูกาล ปลูกแบบไหน มด ปลวก ถึงไม่มากัดกิน ปลูกอย่างไรไม่ให้พืชตาย ความรู้ในการถนอมอาหาร ความรู้ของกะเหรี่ยงแบบดั้งเดิมที่อยู่กันมาได้เป็นร้อยปีในป่าเขา และที่สำคัญต้องรู้เท่าทันคนภายนอก

ในตอนนี้พวกเขากลายเป็นคนมีหนี้ ราชการก็ทำงานไปตามคำสั่งที่ได้รับ ไม่ได้มาดูว่าบริษัทต่าง ๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ทำให้พวกเขาลำบากแค่ไหน ที่ผ่านมามีคนนอกเข้ามาชวนชาวบ้านให้ปลูกพืชบางชนิด โดยโฆษณาว่าจะทำให้รวยได้ มีตัวอย่างคนที่รวยมาให้ดู แต่เวลาผ่านไปที่ดินกลับสึกหรอ ปลูกพืชไม่ได้ น้ำไม่สะอาด ร่างกายอ่อนแอ กลายเป็นหนี้

“คือ ปัญญาอาจจะมีแล้ว แต่ปากท้องก็จำเป็น วิกฤตมันมาอยู่ตรงหน้า พวกเขาก็ต้องเลือกแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่กลายเป็นว่ามันทำให้พวกเขาเหล่านั้นตั้งตัวไม่ได้ ส่วนนี้ควรมีคนเข้ามาช่วยสอนให้พวกเขารู้เท่าทันโลก”

ทำไมถึงเป็นหนี้?

อันดับหนึ่ง คือ การศึกษาของลูก ตามมาด้วย ค่ารักษาพยาบาล อันดับสุดท้าย คือ เรื่องรถ ค่าใช้จ่ายดูแล ซ่อมแซม ค่าเดินทาง ตั้งแต่กะเหรี่ยงแต่งงาน พวกเขาจะต้องไปโรงพยาบาลเพื่อไปฝากท้องเดือนละครั้ง ไปตรวจครรภ์ ซึ่งจำเป็นต้องมีรถส่วนตัวสำหรับการเดินทางที่ค่อนข้างถี่ เพราะหากใช้บริการรถรับจ้างก็จะเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินไป จึงต้องนำเงินไปซื้อมอเตอร์ไซค์ เพื่อง่ายในการเดินทางออกจากหมู่บ้าน

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทำให้พวกเขาต้องแก้ปัญหาโดยการหางานรับจ้างในเมือง จะได้ถือว่าเข้าเมืองมาเพื่อทำงานไปด้วย คือ ต้นทุนการรักษาของพวกเขามันแพงกว่าคนในเมือง แม้มีแพทย์อาสาเข้าไปในพื้นที่ชุมชน แต่ก็มาไม่ถึงหมู่บ้านกะเหรี่ยง จะใช้วิธีนัดให้ชาวบ้านออกไปหานอกหมู่บ้าน

เด็กที่เพิ่งเกิดใหม่ในหมู่บ้านเองก็ป่วยบ่อย บางทีเดือนละครั้ง หรือสองเดือนครั้ง ทำให้สูญเสียเงินไปกับค่ารักษาจำนวนมาก พอลูกโตขึ้นก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษา ค่าอาหารกับค่าเดินทางเข้าเมือง ยิ่งเรียนสูงค่าเทอมยิ่งแพงขึ้น ไหนจะมีค่าอาหาร ค่าหอพัก เห็นได้ว่าไม่ได้มีแค่ค่าเทอม มันมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาด้วย

การขายของให้ไม่ขาดทุนจากพ่อค้าคนกลางที่มากดราคา พวกเขาจำเป็นต้องซื้อรถกระบะสำหรับขนผักไปขาย เพื่อไม่ให้เสียค่าขนส่ง กลายเป็นการสร้างหนี้ขึ้นไปอีก บางคนขยายงานขึ้นไปโดยการซื้อเครื่องสูบน้ำ ซื้อปุ๋ย สารเคมีมาเพื่อทำการเพาะปลูกในปริมาณที่มากขึ้น ทำเพื่อกำไร แต่สุดท้ายกลายเป็นการเพิ่มหนี้

โอกาสในการอยู่รอดของ “กะเหรี่ยง”      

ในชุมชนกะเหรี่ยงมีคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปในเมืองได้ คนเหล่านี้มีความตั้งใจจะอยู่ในพื้นที่เดิมต่อ โดยเฉพาะในยุคที่มีการระบาดของ COVID-19 พวกเขาก็เริ่มตระหนักว่าชีวิตในเมืองอาจจะไม่ใช่ทางออก และควรจะมีทางเลือกสำรองของพวกเขา

คำสอนแต่โบราณ บอกเอาไว้ว่า ต้องมีน้ำบ่อหน้าและบ่อหลัง คือต้องมีการเก็บอาหาร ปลูกพืชผักไว้ อย่าไปหวังน้ำบ่อหน้า เพราะถ้าบ่อไม่มีน้ำ ก็จะไม่เหลืออะไรข้างหลัง แม้คนกะเหรี่ยงจะไม่รู้ว่าตนเองจะรวยหรือจน แต่สำหรับ พฤ เขาเชื่อว่ากะเหรี่ยงสามารถอยู่รอดได้ เพราะมีเมล็ดพันธุ์ มีที่ดิน แม้จะยากที่ต้องต่อสู้กับรัฐ แต่ถ้ารัฐเอื้ออำนวยกะเหรี่ยงมากกว่านี้ พวกเขาก็จะอยู่ได้

ผลกระทบ COVID-19 กับกะเหรี่ยง

มีโควิดหรือไม่มี พวกเขาก็อยู่กันเป็นปกติ มีการปิดประตูกันคนเข้าออก ที่เห็นได้ชัดคือนักท่องเที่ยวฝรั่งหายไป พวกที่ทำธุรกิจปางช้างก็อยู่ไม่ได้ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องเอาช้างเหล่านั้นกลับมาเลี้ยงในหมู่บ้าน และรับเงินจากพ่อเลี้ยง (เจ้าของช้าง) ที่ให้เป็นค่าดูแลช้าง แต่ปัญหาที่ตามมา คือ ชาวบ้านก็ต้องปลูกพืชให้เป็นอาหารช้าง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

หลายคนที่ทำงานรับจ้าง ก็ต้องกลับมาทำในหมู่บ้าน กลุ่มนี้จากที่มีงานทำก็จะรู้สึกว่ามาเป็นภาระของคนที่บ้าน เพราะขาดรายได้ พฤ ยังตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่จะฟื้นตัวกลับมาได้จริงหรือไม่ ในภาวะแบบนี้ ที่น่ากังวลคือการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม เขาก็มองว่า ชุมชนกะเหรี่ยงยังสามารถอยู่ได้ ต่างจากในเมืองที่เศรษฐกิจหยุดนิ่ง

บทเรียนจากการระบาดของ COVID-19

จริง ๆ แล้วตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยง จะมีวิกฤตเกิดขึ้นเป็นระลอก สิ่งที่จะช่วยพวกเขาได้คือธรรมชาติ ที่สร้างข้าวปลาอาหาร พวกเขาจึงต้องรักษาธรรมชาติ วางแผนการผลิตอาหาร ทุกอย่างสามารถควบคุมได้ ปัญหาที่เจอก็ไม่ใหญ่มาก แค่แมลงมารบกวน แต่ผู้เฒ่าในสมัยก่อน ก็ไม่ได้คาดคิดว่าในปัจจุบัน ที่มีรัฐสมัยใหม่จะทำให้วิถีของพวกเขาที่พยายามพึ่งตัวเองไปต่อไม่ได้

ผลของกระทบของไฟป่า

นอกจากการระบาดของ COVID-19 แล้ว ก่อนหน้านี้ยังมีไฟป่า เจ้าหน้าที่รัฐถูกกดดันจากสังคมให้หาสาเหตุของไฟป่าในภาคเหนือ สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐทำ กลายเป็นการมาจับชาวกะเหรี่ยง ที่ต้องใช้ไฟในการเผาสิ่งต่าง ๆ อยู่แล้ว มีคนที่อำเภออมก๋อยโดนจับ ทีนี้คนกรุงเทพก็โทษว่าเป็นเพราะพวกกะเหรี่ยงเผาไร่ เผาป่า จึงเกิดไฟป่า ทั้ง ๆ ที่ไฟป่าที่ดอยสุเทพ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพื้นที่เขา ประชาชนไม่ได้เข้าใจในภูมิประเทศ

การปรับตัวกับวิถีชีวิตสมัยใหม่

พฤ ตอบว่า พวกเขาทำได้เพียงปล่อยไปตามกาลเวลา สิ่งที่กำลังพูดถึงมันควบคุมไม่ได้ การเคลื่อนไหวของกะเหรี่ยงเพื่อให้ภาครัฐปรับเปลี่ยนนโยบายมีมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ จนทุกวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ในบริบทปัจจุบัน มันกลายเป็นว่าเจอปัญหามากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เราอาจจะต้องรอให้เกิดโควิดครั้งที่ 2 หรือ 3 พวกเขาถึงจะมองเห็นเรา

มายาคติของรัฐต่อกะเหรี่ยง

เมื่อก่อนรัฐก็ตัดไม้ ขายไม้เหมือนกับที่กะเหรี่ยงทำ ขายไม้ให้ชาวต่างชาติ แต่พอรัฐเปลี่ยนไปเป็นผู้อนุรักษ์ป่า พวกเขากลับถูกมองเป็นฝ่ายผิด ในสมัยก่อนรัฐเคยบอกให้ชาวบ้านเปิดป่า ให้รัฐเข้าไปตัดต้นไม้ ขอช้างมาเป็นแรงงาน แต่พอตอนนี้ รัฐบอกว่ากะเหรี่ยงทำลายป่า จึงเข้ามาควบคุม สมัยยังเป็นสยาม มันมีความหลากหลายของกลุ่มคน พอเริ่มคิดแบบรัฐสมัยใหม่ รวมไทยเป็นหนึ่ง กลุ่มกะเหรี่ยงหรือกลุ่มชาติพันธุ์ เลยกลายเป็น “คนอื่น” รัฐพยายามควบคุมชนเผ่าที่ไม่ใช่คนไทยเป็นพิเศษ

อย่างการเรียก “ชาวเขา” ก็คือสิ่งตรงข้ามกับ “ชาวเรา” เป็นพวกเขา ไม่ใช่พวกเรา มีมายาคติว่าชาวเขาเป็นพวกทำไร่เลื่อนลอย ค้ายาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่า เวลามีไฟป่า เวลาถึงหน้าแล้ง คนในเมืองก็ต่างพากันโทษชาวเขา เรื่องนี้ถูกผลิตซ้ำมาเรื่อย ๆ


ดูเพิ่ม

รู้จัก ‘ชนเผ่า’ ในไทย | 6 เรื่องราว เติมฝัน เติมไฟ ความเป็นมนุษย์เท่ากัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active