“อาชีพเราเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ได้เหงื่อ ก็ไม่มีเงินซิคร๊าบบบบบ”
‘ตาไหม’ ลากเสียงยาวเหมือนเป็นการทักทายเรา – คนไม่คุ้นหน้า คนไม่รู้จักกันมาก่อน ชายชราร่างกายกำยำ มัดกล้ามและเส้นเลือดที่ปูดโปนเห็นเด่นชัดตามมือ แขน ขา ทั้งริ้วรอยบนใบหน้าคล้ำแดดแผดเผา และการสักลวดลายมังกรไปทั่วตัว สวมเสื้อแขนกุดกางเกงสั้นถึงหน้าแข้ง บ่งบอกถึงประสบการณ์ชีวิตที่ใช้ร่างกายเป็นต้นทุนแรงงานเลี้ยงชีพมาอย่างยาวนาน เขายังส่งเสียงล้อเลียนเรา – คนแปลกหน้าที่เข้ามาคุยด้วยไม่หยุดหย่อน แต่มันไม่ขำสำหรับคำเปรียบเปรยที่ดูตรงกันข้ามกับสิ่งที่ปรากฏตรงหน้า ทว่าสะท้อนใจยิ่งกว่าปกติ
“ไม่มีความยากจนในหมู่คนขยันคร๊าบบบบบ”
“คนขยันไม่มีวันอดตาย”
“ขยันให้เหงื่อออกทางขุมขน ดีกว่าขี้เกียจแล้วยากจน จนน้ำล้นออกทางตา”
หลังจากเราตาม ‘ตาไหม’ เวียนไปส่งถ่านตามร้านอาหารและร้านทองจนครบ เขาก็ชักชวนให้ไปคุยกันที่ “บ้านของเขา” ซึ่งเป็นเพิงไม้ประติมากรรม ‘ปะติด’ คือ บ้านที่เต็มไปด้วยการ ‘ปะ’ สังกะสีผุและบรรจง ‘ติด’ เศษไม้ที่หาได้ป้ายโฆษณาหาเสียงของนักการเมืองท้องถิ่น เป็นที่คุ้มหัวยามหลับและยามตื่นของสมาชิกในครอบครัว อยู่บริเวณริมน้ำเจ้าพระยาตั้งอยู่ในทำเลระดับหมื่นล้าน ฝั่งตรงข้ามเป็นห้างสรรพสินค้าหรูสัญลักษณ์ใหม่แห่ง “เมืองสยาม” และคอนโดมิเนียมสูงเสียดฟ้า เมื่อมองลอดเข้าไป มีบานหน้าต่างเปิดรับลมจากแม่น้ำช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดี นี่คือพื้นที่ที่ครอบครัวหนึ่งเรียกว่า “บ้าน”
“เมื่อคืนฝนตก หลังคารั่ว ก็เลยต้องขึ้นมาซ่อมแซม มันรั่วนอนไม่ได้เลยเปียก เลยต้องมาแปะมุงไว้ก่อน” ตาไหมเ่อยขึ้นก่อนที่เราจะถามอะไร “คฤหาสน์ของผม มันได้มาจากทุกอย่างที่ผมเก็บมาได้ เอามาปะ เสริม เติม ให้มันไม่รั่ว ให้มันนอนได้อยู่ได้ ไปเรื่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ”
‘ตาไหม’ เป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องเลี้ยงลูกและหลานรวม 9 ชีวิต เขาเดินทางเข้ามาแสวงโชคหางานทำในกรุงเทพฯ เมื่อ 20 ปีก่อน ทิ้งเรือกสวนไร่นาในจังหวัดสุรินทร์ไว้เป็นเพียงความทรงจำสีจาง ญาติพี่น้องขาดการติดต่อกันไปนาน ต่างคนต่างมีชีวิตเป็นของตัวเอง ‘ตาไหม’ ทำงานรับจ้างขนของในละแวกชุมชนตามแต่จะมีคนจ้าง มีเวลาว่างก็เดินคุ้ยถังขยะ เก็บขวดพลาสติกไปขาย รับจ้างขนส่งถ่านไม้ให้ร้านอาหารและร้านทองในเยาวราชเป็นครั้งคราว แลกกับค่าตอบแทนครั้งละ 150 บาท เหนื่อยยากแค่ไหนก็ต้องอดทนส่งเสียหลานทั้ง 3 คนของลูกสาวให้ได้รับการศึกษาสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
ภายในบ้านของ ‘ตาไหม’ เต็มไปด้วยข้าวของอัดแน่นเต็มพื้นที่ แต่ก็พยายามแบ่งสัดส่วนให้สมาชิกในบ้าน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่อยู่ร่วมกันได้ พวกเขายอมจ่ายค่าเหมาเช่า 2,600 บาทต่อปี เพื่อให้ได้อาศัยอยู่ใกล้กับย่านเยาวราช ซึ่งมีเงินสะพัดนับล้านตลอดทุกคืนจากธุรกิจอาหารริมทาง สำหรับคนไร้บ้านและเป็นแรงงานนอกระบบ ที่อยู่และที่ทำมาหากินของคนจนเมืองมักเป็นที่เดียวกัน ตลอดเส้นทางที่ ‘ตาไหม’ และลูกชายนั่งท้ายกระบะไปส่งถ่านไม้ เขาได้พบเถ้าแก่ร้านทอง เจ้าของภัตตาคารอาหารจีนมากหน้าหลายตา ได้เห็นชีวิตที่เขาไม่เคยได้สัมผัส
“ผมเห็นคนจีนเขาทำงาน ผมก็อยากเป็นเหมือนเขา มีงานอะไรผมก็ทำหมด เราซื่อสัตย์ พึ่งพาตัวเอง ผมก็คิดเหมือนเขา (คนจีน) แต่ผมทำไม่ได้เหมือนเขา ขยันอย่างไร มันก็ได้อยู่เท่านี้”
“เสื่อผืนหมอนใบ” เป็นเรื่องเล่าของชาวจีนเยาวราชมาช้านาน เคียงคู่กับความเป็น “เมืองการค้า (trading town)” หรือ “ชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” หรือ “ไชน่าทาวน์เมืองไทย” ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งจากสถานการณ์ของประเทศจีน นับตั้งแต่ชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มแรกหนีความแร้นแค้นจากแผ่นดินใหญ่มาเทียบท่าที่สำเพ็ง อันเป็นก้าวแรกบนแผ่นดินสยาม ประกอบกับโอกาสค้าแรงงานในสยาม อันเป็นเหตุปัจจัยให้ชาวจีนอพยพมาทางเรือสำเภาขนสินค้าเพื่อมาลงหลักปักฐานในสยาม ช่วงรัชกาลที่ 1-3 ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง ในรัชกาลที่ 4 สยามต้องเปิดการค้าขายเสรี กิจการนำเข้าส่งออกจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่ชาวจีนเยาวราชเป็นกลุ่มสำคัญที่ได้ประโยชน์จากการก้าวเข้าสู่การค้าสมัยใหม่ในโลกการค้าเสรีนี้ ยิ่งประกอบกับโครงการตัดถนนในท้องที่อำเภอสำเพ็ง (ย่านเยาวราชในปัจจุบัน) ในสมัยรัชกาลที่ 5 พื้นที่บริเวณท่าเรือไปจนแนวถนนหลายสายในย่านเยาวราชก็เริ่มพัฒนากลายเป็นเขตการค้าที่รุ่งเรืองเรื่อยมา
“ถนนเยาวราช” เป็นถนนสายหลักของชุมชนชาวเยาวราชได้รับการขนานนามว่าเป็น “ถนนมังกร” โดยมีจุดเริ่มต้นของหัวมังกรที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บริเวณวงเวียนโอเดียน ท้องมังกรอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราช และสิ้นสุดปลายหางมังกรที่บริเวณปลายสุดของถนน
ธุรกิจการค้าในย่านเยาวราช มีความหลากหลาย ทั้งธุรกิจการค้า การเงิน การธนาคาร ร้านทอง ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านค้า เทปและซีดีสวดมนต์ ของเล่นเด็ก ชุดกี่เพ้า โคมไฟและผ้าแดงมงคล เครื่องประดับ ปฏิทิน อาหารแห้ง รวมไปถึงโรงแรมที่พักต่าง ๆ โดยธุรกิจที่โดดเด่นที่สุดในย่านเยาวราช คือ ร้านขายทอง หรือนิยมเรียกกันว่า ห้างทอง ซึ่งมีตลอดแนวถนนเยาวราช จนเป็น “ถนนสายทองคำ” ในพื้นที่เพียง 1.43 ตารางกิโลเมตรของเยาวราช มีร้านทองรวมกันกว่า 130 ร้าน กลายเป็นย่านค้าทองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และยังเป็นตลาดทองรูปพรรณทำด้วยมือที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ถนนสายทองคำแห่งนี้มีกระแสเงินหมุนเวียนจากการค้าทองคำวันละหลายสิบล้านบาท หรือสูงกว่า 3 พันล้านบาทต่อปี หลายร้านมีอายุเก่าแก่ เปิดตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงปัจจุบันก็มีปรับให้ทันสมัยมากขึ้น แต่บางร้านก็ล้มหายไป
ในยามราตรี ถนนเยาวราชยังกลายเป็นแหล่งรวมอาหารจีนเลิศรสตลอดเส้นทางกว่า 1 กิโลเมตร มีร้านอาหารกว่าพันร้านให้เลือกชิมในหลากหลายราคาและรูปแบบ ทั้งภัตตาคารหรู ร้านห้องแถว ร้านข้างถนน หาบเร่แผงลอย มีตั้งแต่เมนูธรรมดาอย่างก๋วยเตี๋ยวคั่ว ก๋วยจั๊บน้ำใส บะหมี่จับกัง ตือฮวน หอยทอด ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวหน้าเป็ด ฯลฯ และเมนูเจ้าสัวอย่างอาหารทะเล กระเพาะปลา หูฉลามน้ำแดง ปลิงทะเล และแพะเย็น เป็นต้น ทั้งยังมีขนมและผลไม้ให้ตบท้าย อาทิ เต้าทึง ลอดช่องสิงคโปร์ ติ่มซำ จุ๋ยก้วย แปะก้วย เม็ดบัว เกาลัด รังนก ฯลฯ สมกับเป็นสวรรค์ของนักชิมอย่างแท้จริง
สำหรับการอยู่อาศัย ที่ดินส่วนใหญ่ของย่านเยาวราชเป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นการอยู่อาศัยแบบสิทธิการเช่าระยะยาว โดยในอดีตคนที่ค้าขายย่านนี้จะเปิดร้านด้านล่าง และใช้ชั้นบนในการอยู่อาศัย แต่ปัจจุบันคนที่เป็นคนดั้งเดิม แม้จะยังทำการค้าอยู่ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ชั้นบนของร้านแล้ว จะให้ลูกน้องอยู่อาศัยแทน ส่วนตัวเองขยับออกไปอยู่พื้นที่ใกล้เคียง หรือซื้อบ้านหลังใหญ่ หรือสร้างบ้านเองบริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ แทน
ธุรกิจของชุมชนเยาวราชซบเซาไปนานกว่า 5 ปี ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และเพิ่งจะกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อมีการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในปี 2562 ถึงแม้การเดินทางมาเยาวราชจะสะดวกมากขึ้นเพราะ ‘สถานีวัดมังกร’ อยู่ห่างจาก ชุมชนเจริญไชยหนึ่งในชุมชนบนถนนเยาราชเพียง 100 เมตรเศษ แต่การปรับพื้นที่โดยรอบและการออกผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ที่เปิดโอกาสให้พื้นที่รัศมี 500 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้าสามารถก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ ทำให้ผู้คนในชุมชนกังวลกับอนาคตที่ไม่แน่นอนของตัวเอง
เพราะแต่เดิม สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (ก่อนปี 2561 ใช้ชื่อ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์”) รวมทั้งคนที่เช่าที่ดินในกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ที่เคยให้คนในชุมชนเช่าเป็นสัญญาระยะยาว จนปี 2551 ก็มีการยกเลิกสัญญาเช่าระยะยาวและเหลือเพียงต่อสัญญาเป็นปีต่อปีเท่านั้น
บ้านของ ‘ตาไหม’ อยู่ในซอกหลืบเล็ก ๆ ท่ามกลางความเจริญของเมือง ในย่านเยาวราช แต่โอกาสสำหรับคนที่เรียนไม่จบการศึกษาภาคบังคับก็มีไม่มากนัก เขาทำทุกอย่างที่มีคนจ้าง จากวัยหนุ่มล่วงเลยมาใกล้วัยชรา เขายังหาเช้ากินค่ำอยู่ในเมืองใหญ่ จะกลับไปบ้านเกิดก็หมดหนทาง
“ที่บ้านผมที่สุรินทร์ไม่มีใครอยู่แล้ว ขายทิ้งหมด ไร่นาก็ขายหมด”
“พี่ชายพี่สาวแยกกันไป พ่อแม่ก็ตายตั้งแต่ผมแบเบาะ”
“ผมไม่มีบ้าน ต้องเร่ร่อนจากบ้านนอกมากรุงเทพฯ มาเก็บของเก่าขาย เขาจ้างอะไร เอาทุกอย่าง”
“ที่อบอุ่นคือบ้าน ถ้าเรามีที่มันก็อบอุ่นเต็มร้อย ชีวิตผมอยากได้แค้บ้าน ได้ที่ดิน เป็นเจ้าของปลูกบ้าน เผื่อเราไปจาก ลูกเต้าก็มีที่พึ่งพา” จากเสียงเล่าอารมณ์ดีในช่วงแรกเสียงเขาเปลี่ยนเป็นสั่นเครือโดยไม่ต้องสังเกตให้ยุ่งยากใจ
หลายครั้งที่บ้านโทรม ๆ และชีวิตยากจนแบบตาไหมถูกมองเป็นสิ่งแปลกปลอมของการพัฒนาเมือง แต่ในเมืองที่หรูหราก็มีชีวิตของคนจนแบบตาไหมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ
ช่วงบ่ายของแต่ละวัน ลูกจ้างหลากหลายเชื้อชาติเร่งทำงานให้ทันเวลาเปิดร้าน… คนทำมาหากินเข็นรถขายสินค้าออกมาตั้งร้านริมถนน แรงงานรับจ้างราคาถูก เป็นฟันฟืองสำคัญของถนนเส้นนี้ เยาวราชมี ‘สตรีตฟูด’ ที่โด่งดังไปทั่วโลก แรงงานของ ‘ตาไหม’ เป็นส่วนหนึ่งของสีสันและรสชาติอาหาร เขารับจ้างขนส่งถ่านให้กับร้านค้าบนถนนสายนี้
ถ่านของ ‘ตาไหม’ ปลุกเปลว เติมเชื้อไฟให้กับชีวิตและเศรษฐกิจของคนทุกชนชั้น
เขาคือ “แรงงานนอกระบบ” รับจ้างขนถ่านเป็นอาชีพทำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เขากับลูกชายต้องส่งถ่านให้กับร้านค้าต่างๆ ทั่วเยาวราช ด้วยแรงกายแห่งวัยชรา วันนี้ เขาต้องพาลูกชายไปช่วยแบกถ่านส่งตามร้านประจำ เพราะทำคนเดียวไม่รอด เขาจะไปที่ร้านขายถ่านแต่เช้า เขาและคนงานอื่น ๆ แบกถุงถ่านใส่รถกระบะจนเต็มไม่เหลือที่นั่งให้แก่แรงงานเพื่อความปลอดภัย ทุกคนโหนห้อยอยู่ท้ายรถเตรียมพร้อมกระโดดลงเหมือนเป็นธรรมชาติของคนใช้แรงงาน
‘ตาไหม’ เล่าไล่เรียงความจำเป็นของถ่านไม้กับแต่ละกิจการ
“ไปส่งร้านขนมไข่ก่อน แล้วไปร้านทอง แล้วไปร้านหมูสะเต๊ะ ใช้ถ่านสั้นห้าถุง แบบแท่งยาวสามถุงครับ ร้านหมูสะเต๊ะใช้แท่งยาว เพราะเตามันยาว เวลาย่างจะอร่อย ไอ้ท่อนสั้นไว้ไปต้มน้ำจิ้ม”
“ถ่านจากไม้ไทยใช้ดี เขาเผาดี แต่ก่อนถ่านกิโลละ 20 สิบกว่าบาท เดี๋ยวนี้ 40 บาทแล้ว ถ่านแท่งยาว ๆ สองแท่งก็เป็นร้อยบาทแล้ว”
“สำหรับร้านทองต้องไปส่งให้เขาชั้นสองยี่สิบกระสอบ แบกกันคนละสองเที่ยว เที่ยวละห้ากระสอบ”
เจ้าของร้านทองที่ ‘ตาไหม’ ไปส่งถ่าน เล่าว่า การหลอมทองคำ ต้องใช้ความร้อนสูงจากถ่านหิน แต่ถ่านไม้สีดำที่ตาไหมแบกหามขึ้นมา ช่วยจุดและเติมเชื้อไฟให้อยู่ยาว โดยเฉพาะขั้นตอนการนำทองมารีไซเคิล จะต้องมีการนำเนื้อเงินมาผสมกับทอง เพื่อให้ทองตกกตระกอนต่ำ แล้วดึงเงินกลับออกมา เพื่อให้เนื้อเงินไปดึงเศษสกปรกออกมาจนเหลือเนื้อทอง 99% ถ่านไม้อันดับแรกเลยขาดไม่ได้ ต้องเอาถ่านไม้มาติดถ่านหิน ถ้าถ่านหินไม่มีถ่านไม้จะไม่สามารถติดไฟได้ถ่านจึงไม้มีความจำเป็นในการหลอมทองมาก
กองถ่านที่ตาไหมออกแรงแบกหามเคลื่อนย้ายกระจายไปทั่วเยาวราช จุดไฟสว่างไสวทั่วท้องมังกรอันมั่งคั่ง กลับจากขนส่งถ่านไม้เติมความสว่างไสวให้เตาไฟทั่วย่านเยาวราช เมนูอาหารที่รอ ‘ตาไหม’ บนพื้นกระดานมีเพียงต้มมะเขือที่เก็บได้ริมทางลวกจิ้มน้ำพริก และไข่เจียวสำหรับเด็ก ๆ
“ของอย่างนี้คนรวยเขาไม่ได้กินหรอก เราดีใจที่ได้เอาถ่านไปส่ง และเขาได้กินของดี ๆ”
“ผมกลับมาบ้านก็เจอแต่อาหารแบบนี้ ผมก็พอใจของผม ได้กินข้าวกับลูก กับเมียก็สุดยอดแล้วครับ”
‘ตาไหม’ พูดให้เราเห็นว่า ความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว และความหวังว่าหลานตัวน้อยจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจให้ตาไหมยังกัดฟันสู้กับความเหนื่อยยากในวัยชราได้ต่อไป
เยาวราชเป็นเมืองเก่าที่เติบโตผ่านเวลาหลายยุคสมัย หลายช่วงอายุคน มีคนจำนวนหนึ่งปรับตัวเติบโตตามเศรษฐกิจ แต่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งถูกทิ้งไว้กับอดีต มีชีวิตอยู่ในซอกหลืบและความจน และยังมีคนจำนวนมากเดินทางเข้ามาหางานทำ อยู่อาศัยในสภาพตามข้อจำกัดของการดิ้นรน
ไม่ไกลจาก ศาลเจ้าโกวซือกง ในชุมชนตลาดน้อย กรุงเทพมหานคร ข้ามจากฝั่งตลาดเก่ามาซอยอิสรานุภาพที่เชื่อมระหว่างถนนเยาวราชกับถนนเจริญกรุง เดินเข้าไปลึกสักหน่อย พอถึงกลางซอยจะมีตรอกแยกเข้าสู่ตลาดสดอีกแห่งอยู่ด้านขวามือ มีป้ายสีแดงเขียนว่า “ตลาดกรมภูธเรศ” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียก “ตลาดใหม่กรมภู” ที่เคยเป็นตลาดสดขนาดใหญ่ แหล่งปลา และเครื่องปรุงอาหารจีนที่ครบครันที่สุด ทั้งของนำเข้าจากจีน และเนื้อปลาอาหารทะเลขายปลีกราคาถูก
ปัจจุบัน บริเวณตลาดตลาดกรมภูธเรศทรุดโทรมลงมาก ทั้งแผงตลาดและตัวอาคารแฟลตห้าชั้นที่อยู่ด้านบน เดิมเคยเป็นที่เช่าพักอาศัยของคนจีนที่อพยพเข้ามาเมืองไทย แต่เมื่อร่ำรวย หรือมีกิจการอื่นก็ขยับขยายกันออกไป ขณะนี้ชาวบ้านที่มาค้าขายอยู่ในย่านเยาวราช ซึ่งรวมเอาผู้คนหลายชาติหลากชีวิตเข้าไว้ด้วยกัน แต่ละห้องมีขนาดราว 20 ตารางเมตร ตึกเช่านี้มีทั้งหมด 250 ห้อง บางห้องเป็นผู้เช่าวัยเกษียณที่อยู่อาศัยที่นี่มายาวนานหลายสิบปีจะอยู่ชั้นล่าง บางห้องเป็นผู้เช่าหน้าใหม่เดินเข้าออกอยู่เสมอ พวกเขาคือ แรงงานต่างถิ่น แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน มารวมกันเช่าห้องเล็ก ๆ อยู่ด้วยกันราคาเช่าประมาณ 3,000 – 4,000 บาท กลุ่มที่ทำงานกะกลางวันผลัดมานอนตอนกลางคืน เมื่อตื่นเช้าก็ไม่อาจอิดออดขอนอนต่อได้ เพราะต้องเตรียมตัวออกไปทำงาน จัดห้องหับให้เพื่อนกะกลางคืนกลับมานอนเอาแรง หมุนวนกันไปอย่างนี้ไม่รู้จบ
ความไม่แน่นอนคือความแน่นอนที่เขาสูดเข้าออกเป็นลมหายใจ ด้วยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประกาศประกวดราคางานตรวจสอบสภาพอาคารด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ระบบสาธารณูปโภค ของอาคารแฟลตกรมภูธเรศร์ และตลาดกรมภูธเรศร์ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเตรียมปรับพื้นที่ให้สอดคล้องสมประโยชน์ แห่งเมืองมั่งคั่งในเร็ว ๆ นี้
ทว่า แรงงานดั่งมดงานที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ พวกเขาขูดรีดชีวิตและความฝันของตัวเอง เพื่อเป็นแรงงานหมุนเศรษฐกิจในเมืองใหญ่ แลกกับค่าตอบแทนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน สวัสดิการที่ไม่ทั่วถึง ทั้งที่พวกเขาเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจในย่านเยาวราช ไม่ต่างจาก ‘ตาไหม’ พวกเขาคอยเสิร์ฟอาหารเลิศรสให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่มาลิ้มลอง “สตรีตฟูด” บนถนนสายมังกร แบกสมุนไพรจีนในกระสอบหนักอึ้งส่งตามร้านค้าในตรอกลึก ผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอยในย่านนี้ล้วนแต่เคยเดินผ่านแต่ไม่เคยมองเห็นพวกเขาจริง ๆ
ดังที่ ‘ศาสตราจารย์ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์’ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายการมีอยู่ของคนจนเมืองนั้น ทําให้กรุงเทพฯ เปรียบเสมือน ‘ชุมชนขนมชั้น’ แม้พวกเขาจะอยู่อาศัยในพื้นที่ร่วมกัน แต่ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน พวกเขาไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐมากเพียงพอ ทั้งยังไม่เคยได้รับความเห็นอกเห็นใจจากเพื่อนร่วมสังคมเดียวกัน เพราะไม่ได้อยู่ในกรอบความคิด คำจำกัดความของคนจนที่สังคมส่วนใหญ่มอง เป็นความจนอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความเปราะบางในการดำเนินชีวิต ไม่มีใครกล้าจินตนาการถึงวันที่พวกเขาเจ็บป่วยจากการทำงาน ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไป
วันงานเทกระจาด ณ “ศาลเจ้าโจวซือกง” มีคนมารอรับของแจกจำนวนมากเช่นทุกปี วันนี้ ‘ตาไหม’ เปลี่ยนบทบาทจากที่เคยเป็นผู้รอรับ เขาไม่แทรกในแถวยาวเหยียด ทว่า เขามาเป็นอาสาสมัครช่วยแจกข้าวสารอาหารแห้ง วันนี้ ‘ตาไหม’ ได้สินน้ำใจเป็นข้าวสารนับสิบถุงซึ่งจะทำให้ครอบครัวของเขามีข้าวกินไปทั้งปี แต่เขาก็ยังมีน้ำใจแบ่งปันบางส่วนแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง ถือเป็นการช่วยเหลือกันตามกำลังที่มี
ศาลเจ้าในเยาวราช ทั้ง “ศาลเจ้าโจวซือกง” “ศาลเจ้าไต้ฮงกง” หรือศาลเจ้าบริเวณใกล้เคียงที่สะท้อน ถึงความศรัทธาของชาวจีนอันนำมาสู่งานสาธารณกุศล หรือมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง “โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ” แสดงถึงอุดมการณ์การช่วยเหลือดูแลกันของพี่น้องชาวจีน “โรงเรียนเผยอิง” กลไกทางสังคมของชุมชนเยาวราชในการสืบทอดค่านิยมและวิธีคิดของบรรพบุรุษชาวจีนสู่คนรุ่นหลัง “วัดเล่งเน่ยยี่” วัดจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวจีน “โรงงิ้ว” สื่อบันเทิงและสื่อสำคัญในการถ่ายทอดคติธรรม ประวัติศาสตร์ชนชาติจีนและความรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะสำหรับชาวจีนผู้ไม่รู้หนังสือ เป็นต้น
ศาสนสถานเหล่านี้กลายเป็นเป็นที่พึ่งของคนยากไร้ให้พอต่อชีวิตไปได้ อาศัยการบริจาคโดยผู้มีจิตศรัทธา ส่งเสริมบารมีให้ผู้มีอันจะกินได้อิ่มบุญ คนยากไร้ได้อิ่มท้อง แต่จะดีแค่ไหนหากรัฐซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเข้ามาลงมือปรับโครงสร้างในสังคมให้เกิดความเท่าเทียมทางโอกาสมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องรอน้ำใจจากคนรวย คนชนชั้นกลาง
“ความจนเชิงโอกาส” ที่ทำให้คนจนเข้าไม่ถึงโอกาส เข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานนั้น ส่งผลต่อการดำรงชีวิตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และยากที่เขาจะหลุดออกจากโครงสร้างความยากจน ‘อภินันท์ ธรรมเสนา’ นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) อธิบายให้เห็นภาพว่า การช่วยเหลือผู้ที่มีต้นทุนน้อยมากกว่าผู้ที่มีต้นทุน อยู่บ้างแล้วเป็นวิถีทางที่จะค่อย ๆ สร้างความเสมอภาคในสังคมให้เกิดขึ้นได้จริง รวมถึงการสร้างตาข่ายทางสังคม (Social Safety Net) หรือรัฐสวัสดิการ ที่จะช่วยรองรับคนจนที่มักได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก ๆ เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้ง
เมื่อผู้คนไม่ต้องกังวลว่าพรุ่งนี้จะนอนที่ไหน มื้อต่อไปจะมีกินหรือไม่ โอกาสที่แต่ละคนจะพัฒนาตัวเองตามศักยภาพที่มีก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อนั้น, ความขยันของทุกคนในสังคมก็จะได้ฉายโชนประกายไฟความสร้างสรรค์ ความทุ่มเทออกมาได้อย่างงดงามยิ่งกว่าเดิม.
ชมสารคดีชุด “คนจนเมือง” ตอน ซอกหลืบเยาวราช