ความจนและหนี้สิน เป็นเพียงระบบสุริยะหนึ่งในจักรวาลของความทุกข์ยาก

บันทึกจากงาน Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย
โดย ‘ธวัช มณีผ่อง’ สาขาวิชานวัตกรรมการพัฒนาสังคม ม.อุบลราชธานี

  • ความยากจนและหนี้สินเป็นเพียงระบบสุริยะหนึ่งในจักรวาลว่าด้วยความทุกข์ยากของประชาชนไทยหนำซ้ำยังมีหน่วยของปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นเหมือนอีกจักรวาลหนึ่ง เช่น ปัญหาการศึกษา ปัญหาการจัดการทรัพยากร ฯลฯ ที่เชื่อมโยงถึงกัน
  • โอกาสของการหลุดพ้นจากหนี้สินและความยากจน นอกจากทุนในความหมายเชิงตัวเงินแล้ว “ทุนทางสังคม” และ “ทุนทางวัฒนธรรม” ยังมีความสำคัญ หากเรามองปัญหาความยากจนและหนี้สินในเชิงระบบ
  • ธวัช มณีผ่อง นักวิชาการด้านนวัตกรรมการพัฒนาสังคม จาก ม.อุบลราชธานี บันทึกส่ิงที่เกิดขึ้นจากงาน“Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย” ที่ตกผลึกแล้วว่า การแก้ปัญหาหนี้สินและความยากจน จำเป็นต้องแก้เชิงระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจต้องข้ามไปสู่การแก้ปัญหาในระบบสุริยะอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

“ความยากจนทำให้เป็นหนี้” หรือ “หนี้สิน คือ วงจรแห่งความยากจน” อาจไม่สามารถหาจุดเริ่มต้น เหมือนโจทย์ทดสอบว่าด้วย “ไก่กับไข่” การหาจุดเริ่มต้นอาจไม่สำคัญเท่าการหาจุดสิ้นสุด…

7 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา เวที “Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย” มีผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง หน่วยงาน สถาบันวิจัย เอกชน ภาคประชาสังคม และผู้ประสบปัญหาวงจรหนี้และความยากจน เข้าร่วมนับร้อยคน

​เริ่มต้นที่การสำรวจภูมิทัศน์ของความยากจนและวงจรหนี้สิน และสถานะความยากจนในพื้นที่ทั่วประเทศไทย ประเด็นสำคัญที่พบ คือ

1. ปัจจัยทางสังคมเป็นตัวกำหนด ทั้งความยากจนและหนี้สินเป็นเพียงระบบสุริยะหนึ่ง ในจักรวาลว่าด้วยความทุกข์ยากของประชาชนไทย นอกจากทั้งสองปัญหาจะเกี่ยวเนื่องกันจนแทบไม่สามารถแยกส่วนออกจากกันได้เพราะความจน ยังมีปัจจัยอย่างรายได้ไม่สอดคล้องกับรายจ่ายที่มากกว่า หนี้สินของคนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้สินครัวเรือน กู้มาเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว เพื่อการศึกษาบุตร เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การพนันและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ล้วนเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หนำซ้ำ ยังมีหน่วยของปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นเหมือนอีกระบบสุริยะหนึ่ง อาทิ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาการไร้ที่ดิน การแย่งชิงทรัพยากรในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ อุทยานทับที่ทำกินและที่อาศัยชาวบ้าน โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ทำให้ประชาชนสูญเสียต้นทุนในการดำรงชีวิต เหล่านี้ล้วนสืบเนื่องมาสู่ความยากจนและหนี้สิน

2. ปัญหาความยากจนและหนี้สินมีความเป็นองค์รวม ความยากจนและหนี้สินมีความซับซ้อน ทั้งรูปธรรมและบริบท มีความต่างกันทั้งรูปแบบของหนี้สิน ระดับความยากจน และเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดปัญหา เกินกว่าที่จะใช้เพียงมุมมอง ความรู้ หรือประสบการณ์ แบบใดแบบหนึ่งสำหรับการวิเคราะห์และหาทางออกของทุกรณี กรณีที่เป็น Best Practice วงเสวนาเสนอหลักการหาแนวทางการแก้ไขปัญหา 3 ระดับ คือ ระดับสากลทั่วไป (universal) ระดับกลุ่มเป้าหมาย (target) และ ระดับที่มีความเฉพาะ (tailormade) นอกจากต้องจำแนกกลุ่มผู้ประสบปัญหาความยากจนและหนี้สินออกจากกันตามปัจจัยและเงื่อนไขแล้ว คำถามที่ท้าทายของเวทีคือ ปัญหาเหล่านี้ ใครคือเจ้าภาพ? ในการรวบรวม วางแผน และแก้ไข

3. ปัญหาความยากจนและหนี้สินต้องมองเชิงระบบ (system thinking) แนวทางสำคัญคือ ต้องมองพ้นไปจากการเอาตัวเงินเป็นศูนย์กลาง ปัญหาไม่ใช่เรื่องลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เพียงเท่านั้น หากแต่เป็นความสัมพันธ์ทางสังคม นับตั้งแต่ระดับครอบครัว การกู้ยืมหรือค้ำประกันเพื่อคนในครอบครัว เครือญาติ หรือความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นการขวนขวายเพื่อโอกาสที่ดีของลูกหลานที่จะหลุดออกจากระบบสุริยะของความยากจน เช่น การเรียนโรงเรียนที่ดี เพื่อมีโอกาสชีวิตที่ดีกว่า หรือ การต่อสู้ก้มหน้าทำงาน หมุนเงินรายวันและรายเดือนที่มองไม่เห็นปลายทาง ทำให้หลายคนเลือกที่จะเสี่ยง ทั้งการซื้อลอตเตอรี่ การพนัน เพื่อการการหลุดพ้นจากความยากจน จึงต้องใช้ทุนอื่นเข้ามาช่วย โดยเฉพาะทุนที่นอกเหนือจากตัวเงิน 2 ลักษณะคือ 1. ทุนทางสังคม (social capital) อันได้แก่ กลุ่มองค์กร เครือข่าย หน่วยงานพาะกิจ ฯลฯ

ในวงเสวนามีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม, กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน บริษัท สฤก จำกัด, ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านชากไทย จังหวัดจันทบุรี, มูลนิธิสุภา วงศ์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ หรือ บริษัท โนบูโร แพลตฟอร์มจำกัด และ 2) ทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) เช่น ความรู้ ภูมิปัญญา หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้ยกตัวอย่างของ “กองบุญข้าวปันสุข” ในโครงการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอำนาจเจริญ ที่พัฒนาธนาคารข้าว ให้กลายเป็นกองบุญ ระดมทุนทั้งตัวเงินและข้าวผ่านงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ บริหารจัดการโดยวิสาหกิจ เพื่อนำดอกผลมาเป็นหลักประกันให้ครัวเรือนคนจนที่ข้าวไม่พอกิน ให้ได้มีข้าวกินตลอดทั้งปี และขยับวิสาหกิจกองบุญข้าวสู่ผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยร่วมลงทุนกับวิสาหกิจอื่น ๆ ที่ดำเนินมานานและมีความมั่นคงทางการเงิน ส่งผลให้กองบุญข้าวเกิดความยั่งยืน ​

การเสวนาในครั้งนี้ มีความน่าสนใจที่องค์ประกอบและกระบวนการจัด ที่ไม่เพียงมาบอกเล่าปัญหา หากแต่ระดมความคิดเพื่อแนวทางการแก้ไข ให้ประชาชนไทยราว 20 ล้านคน หลุดออกจากสภาวะความยากจนและเขาวงกตแห่งหนี้ หลักการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) นำมาประยุกต์ใช้ การระดมปัญหา (empathize) การระบุปัญหา (define) ผ่านไปแล้วในช่วงแรก ข้อสรุปสำคัญ คือ “ความยากจนและหนี้สินมีลักษณะเป็นองค์รวม”

การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องใช้แนวทางที่หลากหลาย การระดมความคิด (ideate) เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เริ่มจาก 4 กรณี คือ หนี้เกษตรกร หนี้คนจนเมือง หนี้นอกระบบ และหนี้สินเชื่อบัตรเครดิต ภายหลังที่ตัวแทนของหนี้ทั้ง 4 กรณี เล่าเรื่องราวของตนเอง สิ่งที่พบสาเหตุเป็นจุดร่วมกัน คือ ความรัก ความโลภ และความไม่รู้ ทั้งของตนเองและคนอื่น ​“ความไม่รู้” ถูกแผ่ออกมากลางวงสนทนาอย่างละเอียด ทั้งระบบการก่อหนี้ เช่น ความไม่รู้ในระบบการกู้ การคิดดอกเบี้ย การค้ำประกัน และระบบการหลุดพ้นจากหนี้สิน ทางเลือกที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นคือ การจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ การกู้เงินนอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงมากเกินกฎหมายกำหนด หรือกระทั่งการฆ่าตนเองและคนในครอบครัวเพื่อยุติวงจรหนี้และความยากจน ​

การระดมความคิดจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งจากผู้แทนธนาคาร กองทุนหรือวิสาหกิจชุมชน บริษัทเอกชน และตัวแทนลูกหนี้ มีจุดร่วมของปัญหา คือ รายได้ไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและใช้หนี้ การระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาทำให้รายไม่แน่นอนหรือขาดไป และการไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารการเงินและการจัดการหนี้สิน ทั้งที่มีหน่วยงานและระบบจำนวนมากที่ดำเนินการด้านนี้อยู่ไม่น้อย แนวทางสำคัญคือ จะมีแนวทางที่จะเชื่อมต่อวงจรเหล่านี้อย่างไร ในตอนท้ายของวงสนทนา ได้แบบจำลอง (prototype) ของการทดลองปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาจำนวนมาก เช่น การจัดตั้งศูนย์แก้หนี้แห่งชาติที่มองปัญหาหนี้สินเชิงระบบ การจัดทำแพลตฟอร์มเชื่อมองค์ประกอบที่มีอยู่ การทำงานเชิงพื้นที่ ฯลฯ

แบบจำลองเหล่านี้ จำเป็นต้องได้ทดลองทำ (test) อันเป็นกระบวนการสุดท้ายของการคิดเชิงระบบ เมื่อทดลองแล้วนำมาระดมปัญหาอีกหลาย ๆ รอบ จนกว่าจะได้แนวทางที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญที่สุด คือ “เจ้าภาพ” ในการขับเคลื่อน หากเราเชื่อว่า ความยากจนและหนี้สิน เป็นสิ่งประกอบสร้างและมีปัจจัยทางสังคมเป็นตัวกำหนด ปัญหานี้ต้องมองเชิงระบบ ที่เรียกว่า “จักรวาลแห่งความทุกข์ยากของประชาชน” ทุกระบบสุริยะนอกจากต้องมีเจ้าภาพและเชื่อมโยงกันเองแล้ว และจำเป็นต้องข้ามไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ในอีกระบบสุริยะที่เชื่อมโยงกัน โดยมี ไทยพีบีเอส องค์กรสื่อ ที่มีวาระแห่งปีว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ เป็นกลไกเชื่อมโยงของทั้งจักรวาล


อ้างอิง

  • Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย 7 ธันวาคม 2565 ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทสไทย จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (TPBS) หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง