Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย

The Active และ Thai PBS ถ่ายทอดสดออนไลน์ เวทีระดมข้อมูลครั้งสำคัญ สู่ปฏิบัติการทางนโยบายแก้หนี้แก้ความยากจนไทย 7 ธ.ค. นี้

รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า สถานการณ์ความยากจนในปี 2564 ปรับตัวดีขึ้น คนยากจนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.32 ลดลงจากปีก่อน ที่มีสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.83 เมื่อเทียบสัดส่วนครัวเรือนยากจน พบว่า ในปี 2564 มีครัวเรือนยากจนทั้งสิ้น 1.24 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.79 ของครัวเรือนทั้งหมด ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีจำนวนครัวเรือนยากจนประมาณ 1.40 ล้านครัวเรือน

สาเหตุสำคัญ คือ มาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลในช่วงปี 2563 – 2564 โดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจนและผู้มีรายได้น้อย

ขณะเดียวกัน หนี้ครัวเรือนในปี 2564 กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2562 โดยข้อมูลระบุว่า ในปี 2564 ครัวเรือนยากจนที่เป็นหนี้ มีทั้งสิ้น 5.98 แสนครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.34 ของครัวเรือนยากจนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 18.87 โดยมีหนี้เฉลี่ยที่ 121,224 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2562 ที่ 90,036 บาทต่อครัวเรือน

แบ่งเป็น หนี้ในระบบ 116,234 บาทต่อครัวเรือน และหนี้นอกระบบ 4,990 บาทต่อครัวเรือน แม้ดูเหมือนหนี้นอกระบบจะมีมูลค่าน้อย แต่เมื่อพิจารณาจำนวนครัวเรือนยากจนที่เป็นหนี้นอกระบบ พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 6.1 หมื่นครัวเรือนในปี 2562 เพิ่มเป็น 8.1 หมื่นครัวเรือนในปี 2564 สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยากจนมีปัญหาเรื่องหนี้มากขึ้น

และหากดูจากโครงสร้างหนี้ของครัวเรือนยากจนจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคร้อยละ 46.95 ของหนี้ในกลุ่มครัวเรือนยากจนทั้งหมด รองลงมาเป็นหนี้ที่เกษตรกรกู้มาเพื่อทำการเกษตรคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.17 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562

ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเทียบกับในอดีตหรือเทียบกับต่างประเทศ ข้อสรุปจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า คนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย เป็นหนี้จำนวนมากและนานขึ้น แม้แต่วัยเกษียณอายุก็ยังมีหนี้สูง ซึ่งสะท้อนถึงภาวะความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทย และนำไปสู่ปัญหาในการดำรงชีวิตและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว ในปี 2565 รัฐบาลจึงประกาศให้เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน”

และเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ในระดมความคิด บทเรียนจากปฏิบัติการของชุมชน รวมถึงสังเคราะห์บทเรียนเพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายแก้ปัญหาความยากจน และปัญหาหนี้สินครัวเรือน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ร่วมกันจัดเวทีระดมข้อมูลครั้งสำคัญ

แก้หนี้ แก้จน

“Policy Forum ทางออกแก้หนี้แก้จนไทย” วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ @BOT อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เวทีระดมข้อมูลจากงานวิจัยและประสบการณ์จริงของผู้เชี่ยวชาญหลากหลายวงการกว่า 30 คน ใน 5 ช่วงการสนทนา

ภูมิทัศน์แก้หนี้แก้จน

  • ดร.ปิติ ดิษยทัต สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
  • รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  • ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่
  • รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

ปัญหาความยากจนและหนี้ครัวเรือน และกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน

  • ภูมิทัศน์ปัญหาความยากจนและนโยบายแก้จนของไทย และแนวทางแก้จน โดย ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
  • สถานการณ์ความยากจนในระดับพื้นที่ และกลไกการพัฒนาระดับพื้นที่ โดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
  • ภูมิทัศน์ปัญหาหนี้สินของครัวเรือนฐานรากไทย และทางออกที่ยั่งยืน โดย ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER)

ถอดบทเรียนโครงการแก้จน

  • พงศ์นคร โภชากรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
  • ดร.อำพล อาภาธนากร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
  • บัญญัติ คำบุญเหลือ บริษัท สฤก จำกัด
  • กฤษดา สมประสงค์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

ดำเนินการเสวนาโดย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล

ถอดบทเรียนโครงการแก้หนี้

  • อรมนต์ จันทพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
  • อุมาพร แพรประเสริฐ ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
  • เรวัต นิยมวงศ์ ศูนย์จัดการกองทุนชุมชนบ้านชากไทย จ.จันทบุรี
  • ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ดำเนินการเสวนาโดย ธีรเดช งามเหลือ

Roundtable discussion: สู่ปฏิบัติการทางนโยบายแก้หนี้ แก้ความยากจน

  • รสสุคนธ์ งามจั่นศรี กรณีศึกษาปัญหาหนี้เกษตรกร
  • วิมล ถวิลพงษ์ กรณีศึกษาปัญหาหนี้คนจนเมือง
  • พรลภัส รุ่งหัวไผ่ กรณีศึกษาปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
  • สงเมือง มูลมาตร กรณีศึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ
  • เกรียงไกร กัลหะรัตน์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
  • สุปรียา พิพัฒน์มโนมัย กรรมการอิสระ ธนาคารออมสิน
  • โสวัฒน์ อยู่คงดี สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
  • ดร.ขจร ธนะแพสย์ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย
  • เชิดศักดิ์ หิรัญสิริสมบัติ อัยการอาวุโส อดีตรองอัยการสูงสุด
  • อาจิน จุ้งลก มูลนิธิสุภา วงค์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้
  • สมจิต คงทน มูลนิธิชีวิตไท
  • วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)
  • สุรพล โอภาสเสถียร บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
  • ภูมิ วิสิฐนรภัทร บริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด
  • ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ร่วมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญร่วมแลกเปลี่ยนตลอดการเสวนา

ดำเนินการเสวนาโดย ณาตยา แวววีรคุปต์ และ ธวัช มณีผ่อง

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล พิธีกรตลอดกิจกรรม

“Policy Forum ทางออกแก้หนี้แก้จนไทย” ด้วยความร่วมมือของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS)

ติดตามชมการถ่ายทอดสดออนไลน์ตลอดกิจกรรม วันพุธที่ 7 ธันวาคม 2565 เวลา 9.00 – 17.00 น. ทางเพจ The Active และ Thai PBS

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active