ศิลปะความจนอยู่มานาน และอาจอยู่ตลอดไป?

ศิลปะความจน คนกับควาย EP.3

“ผมเชื่อว่าไม่มีรัฐบาลชุดไหนจะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศไทยได้หมดไป เพียงแต่มันอาจจะทุเลาเบาบางลงในบางช่วง”

เจด็จ คชฤทธิ์ คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล

ประติมากรรมความจน คนและควาย และ 5 ทศวรรษ “คนกับควาย” คีตกรรมความจนและชนชั้น เป็นบทความที่ว่าด้วยเรื่องความจนผ่านสัญญะ คนกับควาย โดยสื่อสารผ่านศิลปะ 2 แขนง ที่ The Active เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้

ส่วนบทความที่ทุกท่านกำลังไล่สายตาสะกดอ่านอยู่นี้ เป็นบทความสุดท้ายสำหรับซีรีส์ชุด ศิลปะกับความจน โดยการพยายามค้นหางานวิชาการมาอธิบายนัยการเกิดขึ้นของงานศิลปะกับสัญญะดังกล่าว

เราลองค้นหางานวิชาการเพิ่มเติม เพื่อจะมองเรื่องนี้ในมิติที่กว้างขึ้นก็พบงานที่ชื่อว่า กระบวนทัศน์ความยากจน ภาพสะท้อนที่ปรากฎในเรื่องสั้นไทยร่วมสมัย และ ความยากจนในวรรณกรรมเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเป็นงานวิชาการของ เจด็จ คชฤทธิ์ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล โดยมีความเชื่อมโยงกันกับงาน 2 ชิ้นก่อนหน้าด้วยคำใหญ่ ๆ ที่ว่า ศิลปะ ความจน และคนกับควาย

“เมื่อเอาวรรณกรรมเพลงและเรื่องสั้นมาเทียบกันและดูความแตกต่าง พบว่าส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากครูประพันธ์อยู่ในกลุ่มศิลปินเหมือนกัน โดยงานที่ถูกสื่อสารออกมาในลักษณะของภาพสะท้อนความยากจน มีส่วนที่เชื่อมโยงกันในหลายมิติ” อาจารย์เจด็จเกริ่นกับเราถึงงานวิชาการถูกสื่อสารเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน

เขาเริ่มบทสนทนา ด้วยการกล่าวว่า ศิลปะ คือ ศิลปะ เชื่อว่าศิลปะอนุญาตและเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ตีความ ตนอาจจะตีความผลงาน ควายผอมแบกกระสอบ ไปอีกแบบหนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับทัศนคติและมุมมองของคนที่เสพงานศิลปะ วรรณกรรมเพลง เรื่องสั้นก็เหมือนกัน อย่าลืมว่า วรรณกรรมไม่ว่าเรื่องสั้นหรือวรรณกรรมเพลง เป้าหมายสำคัญเชื่อว่าไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการถ่ายทอดสาระที่เป็นภาพสะท้อนสังคมเพียงอย่างเดียว แต่คือสุนทรียด้วย

“ผมว่าเป้าหมายสำคัญของคนทำงานศิลปะก็คือสุนทรียก่อน แต่ว่าผลพลอยได้ที่ศิลปินนั้นมีความสามารถจะทำมัน สามารถพาสิ่งอื่นไปได้ด้วยหรือไม่

ผมว่าเวลาผมอ่านเรื่องสั้น ผมก็ต้องการสุนทรีย คงไม่อ่านเรื่องสั้นเพื่อมาเติมความเครียดในชีวิตหรอก ขณะเดียวกัน มันได้อย่างอื่นมาด้วย เพลงก็เหมือนกัน เราไม่ได้ฟังเพลงเพื่ออยากจะรู้ว่าสังคมนั้นมันเลวทรามต่ำช้าอย่างไร ไม่มีใครอยากฟังเพลงเพื่อรู้สภาพสังคม เพราะชีวิตจริงพวกเราเห็นอยู่แล้ว แต่ว่าความเป็นศิลปินและความเชี่ยวชาญต่างหากที่ทำให้ความสุนทรียมาพร้อมกับแง่คิดที่ได้จากวรรณกรรมนั้น ๆ ไม่ว่าจะเรื่องสั้นหรือบทเพลง”

ความยากจน วนเหตุวนผลกัน

ในส่วนที่ผมศึกษา คือ กลุ่มของเรื่องสั้นและกลุ่มวรรณกรรมเพลงลูกทุ่ง ก็จะเห็นภาพที่ศิลปินหรือนักเขียนถ่ายทอดออกมา ทำให้เราเห็นว่า ความยากจนสามารถแบ่งออกได้หลายลักษณะ ความยากจนในเรื่อง ทรัพย์สิน โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรี ฉะนั้น ความยากจนไม่ได้อยู่จำเพาะในเรื่องของทรัพย์สินตามเส้นความยากจนที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียว แต่ความยากจนผมมองว่ามันวนเหตุวนผลกัน เมื่อขาดสิ่งหนึ่ง จะทำให้เราอยู่บนความยากจนในอีกด้านหนึ่ง

บางคนอาจจะตั้งต้นว่าความยากจนคือเรื่องของทรัพย์สินอย่างเดียว แต่จริง ๆ ในตัวศิลปินที่เขียนงานออกมา สื่อสารไปลึกกว่านั้น ไม่ใช่เพียงเรื่องของทรัพย์สิน ชิ้นงานทำให้เห็นว่าคนที่ขาดโอกาสก็นำไปสู่ความยากจนด้านทรัพย์สิน คนที่ขาดอำนาจในการต่อรองไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐหรืออำนาจระหว่างนายทุน ก็ทำให้เขากลายเป็นคนจน

ส่วนมิติความจนศักดิ์ศรี จะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดกันน้อยบนความยากจน แต่จะให้ความสำคัญในเรื่องของทรัพย์สิน ถ้ายิ่งพูดไปถึงทรัพย์สิน ก็ยิ่งแบ่งได้หลายมิติ ถ้าเราแบ่งทรัพย์สินเป็นปัจจัย 4 ก็จะเห็นได้ว่า คนจนขาดปัจจัย 4 เป็นหลักก่อนเบื้องต้น

วรรณกรรมที่ศึกษา ที่เปรียบเทียบ “คนกับควาย” มีสัดส่วนแค่ไหน

จริง ๆ เวลาศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นหรือวรรณกรรมเพลง มักพูดถึงความจนในหลายมิติอย่างที่กล่าวไป ตัวสัญลักษณ์ก็ใช้หลากหลายเหมือนกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพูดถึงควาย ไม่ว่าจะเป็นมิติศิลปะประเภทเรื่องสั้นหรืออย่างอื่น อย่างประติมากรรมที่ใช้ควายในการสื่อสาร แต่ผมมองว่าเบื้องต้น เหตุที่ ทำไมเลือกใช้ควายเป็นส่วนหนึ่ง เพราะสังคมเราเป็นสังคมเกษตรกรรม เราคุ้นชินกับสัตว์ชนิดนี้ แล้วเราเห็นว่าควายทำงานหนัก เหนื่อย อดทน สู้ และที่สำคัญ คือ ควายอยู่ในท้องทุ่งท้องนา ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สบาย เพราะฉะนั้น ความยากจน นิยามส่วนหนึ่งก็ต้องคุยกันอีกยาวเลยว่าคืออะไรกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ นิยามหนึ่งที่เราเห็นกัน คือความลำบากทุกข์ยาก ความยากจนคือความลำบากทุกข์ยาก ควายเป็นสิ่งที่อาจจะมองเห็นได้ง่ายในมิติสังคมเกษตรของเรา ควายจึงเป็นตัวแทนของความลำบากทุกข์ยาก ว่าจะต้องทำงานหนัก ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมศิลปินจำนวนหนึ่ง จึงเลือกเอาควายมาเป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความยากจน

การเปรียบเทียบเช่นนี้เกิดขึ้นมานาน อย่างเพลงคนกับควาย ก็ประมาณ 50 ปี แต่ยังได้รับความนิยมต่อเนื่อง

อันดับแรกต้องบอกเลยว่า ความยากจนไม่ได้หายไปจากสังคมไทยและก็ไม่ได้หายไปจากโลกนี้ ผมพูดแรงไปหรือเปล่าก็ไม่รู้ อาจจะเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย และที่สำคัญคือมันอาจจะทวีความรุนแรงในบางมิติ บางสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวงจรโลกด้วย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงสถานการณ์โลกต่าง ๆ มันบีบให้มนุษยชาติเราต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งเหตุการณ์ของโควิด-19 มีส่วนทำให้ความลำบากทุกข์ยากเข้ามากระทบต่อมนุษย์เรามากขึ้น และที่สำคัญ คือความยากจนไม่ใช่มิติของทรัพย์สินอย่างเดียว แต่เป็นมิติของโอกาสและอำนาจด้วย เพราะฉะนั้นเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ของประเทศไทย เราอยู่ในจุดที่มีแรงกดทับแรงขัดแย้งกันในเชิงอำนาจบางอย่าง ถ้าพูดกันตรง ๆ เลยก็คือเรื่อง การเมือง วงจรที่เราหนีไม่พ้น ในเมื่อวงจรนี้มันมีผลต่อการทำให้ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ อะไรบางอย่างก็ถูกแสดงออก

ผมว่าศิลปะเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งที่ เยี่ยม (เจ้าของผลงานควายผอมแบกกระสอบ) ทำงานศิลปะนี้ออกมา ผมว่าก็เป็นการสะท้อนความคิดบางอย่างของเขาผ่านตัวประติมากรรมที่ทำออกมา อาจจะเชื่อมโยงกับคำว่า ควาย ที่เรารู้กันว่าเป็นสัญลักษณ์ที่เรารับรู้กันมานาน และเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนมาก ถ้าเราจะพูดถึงความเหนื่อยยาก ความลำบากทุกข์ยาก ควายจะมาก่อน ที่สำคัญก็คือ มันไม่ใช่แค่เรื่องทรัพย์สินอย่างเดียว แต่สะท้อนไปยังเรื่องของอำนาจด้วย เพราะ ควายเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นความยากจน ขณะเดียวกันควายถูกดึงถูกลากถูกผลักถูกดัน เพราะฉะนั้น เขาอยู่ภายใต้อำนาจการกดทับอะไรบางอย่าง ผมไม่อาจตีความสิ่งที่น้องถ่ายทอดออกมา

ผมเชื่อว่ามิติที่เยี่ยมพูดถึงความยากจน ตรงนี้อาจไม่ได้พูดถึงทรัพย์สินแล้ว แต่อาจจะเป็นความยากจนในมิติอื่น ผมว่ามันเชื่อมโยงกันได้ อย่างน้อยก็เชิงอำนาจและโอกาสในการที่จะต่อสู้ในการที่จะเรียกร้องอะไรบางอย่าง มันดูเบาบางและถูกตีกรอบอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งของบ้านเมืองเราในตอนนี้ ซึ่งจากการศึกษาของผมนักเขียนสะท้อนมามีแนวคิดอยู่สองแนวคิด

หนึ่ง ท่าทีและทัศนคติของผู้ที่ยากจนก็เป็นส่วนหนึ่ง เราคงไม่ได้มองโลกสวยว่า “คนจน” จนเพราะถูกกระทำเสมอไป บางทีตัวเขาเองก็อาจจะมีท่าทีและทัศนคติที่พาตัวเองตกต่ำแบบนี้ เช่นนี้ก็มี เราจะมองแบบคู่ตรงข้าม ดีเลว เราก็ไม่ได้บอกว่าคนจนจะต้องเป็นคนที่ขยันขันแข็งเสมอไป คนจนที่ขี้เกียจก็มี แต่อำนาจที่อยู่นอกเหนือคนจนส่วนหนึ่งต่างหากที่ทำให้เขาต้องเป็นแบบนั้น อำนาจนั้นคืออะไร ชัดเจนก็คืออำนาจของรัฐ

อำนาจทางการเมือง ที่ดึงทรัพยากรบางอย่างที่เขาควรจะได้รับออกไป หรือให้มาแต่ไม่เท่าเทียม ก็ต้องไปคุยกันอีกว่าความเท่าเทียมมันมีอยู่จริงหรือเปล่า อย่างที่บอกว่าความเท่าเทียมและความเสมอภาคพูดกันยาก ฉะนั้น ต้องยอมรับข้อหนึ่งว่าอำนาจรัฐมีบทบาทที่จะชี้นำหรือให้โอกาสก็ได้ ความยากจนอำนาจมันเชื่อมโยงกัน ถ้ารัฐมองเห็น รัฐมีอำนาจ และรัฐให้โอกาส คนที่จนในมิติที่มีทัศนคติต่อชีวิตในทางบวก เขาได้โอกาส เขาได้อำนาจ เขาอาจจะหลุดพ้นจากความยากจนได้

ขณะเดียวกัน เราไม่ได้ปรักปรำอำนาจรัฐอย่างเดียว แต่ถ้าคนจนแม้ได้โอกาส ได้อำนาจ แต่มีทัศนคติและท่าทีต่อชีวิต พาตัวเองตกต่ำ เช่น เรื่องยาเสพติด เรื่องการพนัน ก็อาจจะทำให้เขาตกต่ำลงไปได้ ฉะนั้น ผมมองว่าถ้ามองในเชิงการเมืองเราก็ไม่ได้ปรักปรำการเมืองว่าการเมืองดึงทรัพยากรออกไปจากชีวิตของคนจนเสมอไป เพราะบางทีรัฐก็พยายามจัดให้เหมือนกัน แต่ว่ามันพอเพียง มันเท่าเทียม หรือว่ามันถูกซ่อนอะไรไว้ภายใต้ความเหลื่อมซ้อนของการมอบให้หรือเปล่า คำว่าการมอบให้หมายความว่า มอบให้คนจนก็จริง แต่เขาก็มอบให้คนอื่นด้วย ช่วงช่องว่างของการมอบให้ มันเป็นช่องว่างที่คนจนได้จริงหรือเปล่า

ยกตัวอย่าง เช่น กรณีการถือครองที่ดิน คนจนกับคนรวยต่างกัน หากมองอย่างเป็นอิสระของระบอบประชาธิปไตย คนรวยเขาก็มีโอกาสที่จะถือครองที่ดินได้มากกว่าคนจนอยู่แล้วด้วยจำนวนเงินที่มีอยู่ มันเป็นการจัดสรรอำนาจ โดยที่โอกาสของคนจนอาจจะขยับเข้าไปสู่อำนาจนั้นน้อยกว่า แล้วยิ่งไปเชื่อมโยงในเรื่องของกฎหมาย ซึ่งกฎหมายก็คือการเมือง คนที่เข้าไปจัดการกฎหมายได้คือใคร และเข้าไปในช่องทางไหน มันก็คือช่องทางการเมืองเรียกว่า มันวนเหตุวนผล กันอยู่แบบนี้

“ผมเชื่อว่าไม่มีรัฐบาลชุดไหนจะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศไทยได้หมดไป เพียงแต่มันอาจจะทุเลาเบาบางลงในบางช่วง ถ้าไม่ถูกสถานการณ์โลกกดทับอีก”

ความจนไม่หายไป ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหานี้ได้จริง แนวทาง ทางออก ข้อเสนอ 

มิอาจมีข้อเสนอแนะที่เป็นไปได้ เพราะผมไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจ มีบทบาท และมีความรู้เชี่ยวชาญในด้านแก้ปัญหาความยากจน แต่ผมขออนุญาตเปิดเผยมุมมองที่นักเขียนสะท้อนไว้ว่า พวกเขามองปัญหาความยากจน แม้มันจะแก้ไม่ได้ แต่ทางออกเขามองอย่างไรไว้บ้าง

เมื่อเป็นปัญหาของความยากจนในงานวรรณกรรม งานวิจัยสามารถกรองออกมาให้เห็นแนวทางได้ ว่าจัดรูปแบบอย่างไรบ้าง

หนึ่ง ปรับเปลี่ยนทัศนคติและท่าทีต่อชีวิต อันนี้หมายถึงตัวผู้ที่ประสบปัญหาความยากจนเอง การปรับเปลี่ยนทัศนคติและท่าทีต่อชีวิตเป็นสิ่งแรกที่ไม่ว่าใครก็ตามต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อชีวิตตัวเองก่อน เช่น อย่างน้อยที่สุด คือไม่พาตัวเองตกต่ำ ไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือย หรือไม่พาตัวเองไปสู่สิ่งเสพติด หรืออื่น ๆ ที่เกิดจากปัจจัยภายในของตัวเอง

สอง ลดช่องว่างความสัมพันธ์อันไม่เสมอภาค อันนี้จะเป็นมุมมองของรัฐที่เข้ามาช่วยได้ ตรงนี้อาจจะต้องขยับโดยรัฐ รัฐจะต้องเข้ามาและมองถึงสิ่งที่รัฐสวัสดิการจะจัดให้ นอกจากแบบประชานิยมแล้ว ควรจะเน้นในเรื่องของช่องว่างหรือความไม่เสมอภาคอย่างพอเหมาะพอควรด้วย เพราะว่าบางอย่าง บางโครงการ เราจะเห็นว่าดูเหมือนว่าผู้ยากไร้จะได้ประโยชน์ แต่ถ้าเรามองจริง ๆ แล้ว คนที่ได้ประโยชน์หลังผู้ยากไร้ กลับเป็นคนที่มั่งมีอยู่แล้ว และได้ประโยชน์ทับซ้อนไปในนั้นอีกที ตรงนี้ผมขออนุญาตไม่พูดถึงว่ามันเป็นตัวอย่างของโครงการแบบไหนบ้าง

สุดท้าย ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ที่ขาดแคลน อย่างน้อยก็ในเชิงทรัพย์สิน รัฐอาจจะต้องเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงชีวิต รัฐสวัสดิการ อาจจะต้องจัดให้ครอบคลุม แม้กระทั่งโอกาสในเรื่องของการเข้าถึงระบบบริการรัฐต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล สถานการณ์ตัวอย่าง เช่น การรักษาพยาบาล คนจนเข้าไปรักษาพยาบาลเพื่อรักษาชีวิต บางทีไม่ใช่แค่การรักษาชีวิตอย่างเดียว บางโรคคือไม่สามารถรักษาได้ แต่เขาต้องจ่ายค่ารักษาจนหมดตัว แต่ถ้ารัฐจัดเรื่องนี้ให้ ก็จะไม่ได้เจียดเงินหรือทรัพย์สินของเขาไปเพื่อใช้ในเรื่องนี้ แต่เรื่องนี้ก็คงต้องเป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งผมไม่ขอพูดถึงว่าระบบสวัสดิการรัฐ ที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลควรจะไปถึงจุดไหนอย่างไร 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นจุดเริ่มต้น แต่ว่าสวัสดิการรัฐอื่น ๆ โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลผมมองว่ามันเป็นสิ่งสำคัญ

ถ้ามองในเรื่องของการศึกษาอันนี้ยิ่งมีผล ถ้าเรามองว่าจัดระบบและสวัสดิการเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาได้ดี พอคนมีความรู้และก็สามารถปรับทัศนคติและท่าทีของตัวเองได้จากความรู้ มันก็จะพาตัวเองออกไปจากความยากจนนั้นเองได้ด้วย

เรื่องของสาธารณสุข ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญ แม้ทางหนึ่งที่เขาจะพาตัวตัวเองออกไปจากความยากจนด้วยตัวเขาเองด้วยการศึกษาได้ แต่การรักษาพยาบาลเป็นอีกเรื่อง ถ้าไม่ได้รัฐช่วยเหลือ บางคนตัดสินใจที่จะต้องจบชีวิตญาติพี่น้องไป เพราะว่าไม่สามารถหาเงินมารักษาโรคบางโรคได้ นี่คือตัวอย่างของแนวทางผมสำรวจและเสนอไว้

อันนี้จะปรากฏในเรื่องสั้นเป็นส่วนใหญ่ แต่หากเป็นบทเพลงจะใช้พื้นที่ในการบรรยายได้น้อย แต่ถ้าเป็นเรื่องสั้นเขาสามารถสร้างตัวละคร สร้างฉากได้ยากกว่า เพราะฉะนั้น เขาอาจจะสะท้อนได้ในหลายมิติได้มากกว่า หมายถึงว่าถ้ามิติสาเหตุของความยากจน ผลกระทบจากความยากจน ลักษณะความยากจน ก็มีเสนอว่า เราต้องดูท่าทีชีวิตของตัวเอง อย่าเพิ่งไปโทษรัฐ มีส่วนหนึ่งที่สะท้อนมาแบบนี้ 

แต่ถ้าในบทเพลงอย่างที่บอกว่าเน้นเรื่องความสุนทรีย ผมเชื่อว่าอย่างนั้น ฉะนั้นมันอาจจะไม่ได้ละเอียดเท่าวรรณกรรมที่เป็นเรื่องสั้นหรือนวนิยาย แต่ว่าข้อดีของเพลงผมเชื่อว่าเพลงมันกระแทกใจได้กว่าเรื่องสั้น อาจจะใช้เวลา มีรายละเอียดที่ครอบคลุมภาพสะท้อนหรือภาพแทนความจริงได้เยอะกว่า แต่เพลงเรานั่งฟังไม่ถึง 1-2 นาที แต่มันทำให้คนซาบซึ้งหรือว่าสะเทือนใจไปกับถ้อยคำบรรยายที่ใช้คำได้สละสลวยกว่า และอาจมีผลต่อการสร้างแรงบันดาลใจได้ เช่น เพลงลูกทุ่งหลายเพลงที่สะท้อนความยากจนแล้ว ทำให้คนรู้สึกมีกำลังใจที่จะต่อสู้ชีวิตได้มากกว่า และใช้เวลาน้อยกว่าในการซึมซับรับรู้สิ่งที่กวีหรือผู้แต่งประพันธ์ออกมา

“แต่อย่าลืมว่าตัวผู้ประพันธ์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่เราก็ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เขาเขียนเป็นเรื่องจริง อันนี้ต้องยอมรับข้อนี้ก่อน ไม่เชื่อเรื่องจริง แต่มันเหมือนเรื่องจริง”

ผมขอยกคำพูดของอาจารย์ปรีชา ช้างขวัญยืน นิดหนึ่ง อาจารย์พูดถึงเรื่องของตัววรรณกรรมไว้ว่า “วรรณกรรมแม้ไม่ใช่ชีวิตของคนจริง ๆ แต่มีชีวิตที่เหมือนคนจริงหรือสมจริงคือชีวิตที่เป็นไปได้ ทั้งนี้ เพราะผู้เขียนที่เป็นผู้ถ่ายทอดชีวิตคนออกมาเป็นวรรณกรรม ก็เป็นคนจริง ๆ เข้าใจ รู้จักคนจริง ๆ ดังนั้น วรรณกรรมจึงเกิดจากความรู้จักคน และในขณะเดียวกันเราก็สามารถรู้จักคนผ่านวรรณกรรมได้ด้วยเช่นกัน อันนี้คือพลังของวรรณกรรม”

การเปรียบเทียบความจน คนกับควาย อนาคตยังจะมีหรือไม่ ด้วยเหตุผลอะไร 

ยังคงมี และยังคงมีต่อไป ผมว่ามันเข้าใจง่ายดี ถ้าผู้ที่สร้างสรรค์งานศิลปะต้องการสื่อสารที่รวดเร็ว ก็ต้องใช้ อาจจะเป็นตัวเลือกหนึ่งที่หยิบมาใช้เพราะว่าพอสื่อสารไป แทบไม่ต้องทำความเข้าใจกันนาน เพราะไทยเราสังคมเกษตรกรรม ถึงแม้จะบอกว่าเราเปลี่ยนแปลงมาเป็นสังคมที่ผมเองก็ยังบอกไม่ถูกว่าเรายังเป็นเกษตรกรรมจริงหรือเปล่า แต่เราเริ่มต้นจากเกษตรและเรารู้จักสิ่งนี้กันพอสมควร สิ่งนี้ที่ว่าหมายถึงควาย

ผมอยากลองชวนมองควายในมิติที่เกี่ยวข้องกับความเข้มแข็ง เราอาจจะไม่พูดถึงควายในมิติของความยากจน ความทุกข์ยากก็ได้ แต่เราจะพูดถึงความเข้มแข็ง ความอดทน ใครจะรู้ ตอนนี้ควายตัวหนึ่งมูลค่าหลักแสนบาท ผมไม่รู้และไม่สามารถทำนายได้ วันหนึ่งควายอาจจะเป็นมิติของความร่ำรวยก็ได้ในอนาคต เพราะว่าควายเหลือน้อยลง มันอาจจะมีบทบาทที่แตกต่างไป แต่วันนั้นคงอีกไกลเพราะเราอยู่ในจุดที่ยังไปไม่ถึงตรงนั้น เพราะเราถูกขนบวัฒนธรรมที่เกาะอยู่กับเรา หรือจริง ๆ แล้ววัฒนธรรมไม่ได้เกาะอยู่กับเรา แต่เราต่างหากที่เกาะอยู่กับวัฒนธรรม

อย่างที่บอกว่าศิลปะมันเปิดโอกาส ผมเชื่อว่าศิลปินทุกคนดีใจที่ผู้เสพตีความด้วยตัวเอง คือผมก็เป็นคนที่เขียนเรื่องสั้นอยู่บ้าง ถ้าเรื่องสั้นของผมจะต้องมาอธิบายความหมายที่ผมเขียนอีก ผมว่าผมไม่มีความสุข แต่ถ้าใครจะตีงานเขียนของผมออกไปในมิติอื่น ผมจะฟัง ถ้ามีตีกลับหรือการวิจารณ์ที่ดี ทั้งผู้เสพงานศิลปะและผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ ก็จะเดินไปด้วยกันและอาจจะสร้างสัญลักษณ์ เช่น ควายอาจจะมีสัญลักษณ์ใหม่ที่เราอาจจะข้ามความยากจนไปสู่เรื่องของความเข้มแข็ง ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งผมจะต้องมีสร้อยข้อมือเป็นรูปควายที่แสดงออกว่าผมเป็นผู้ที่มีความร่ำรวยก็ได้ ใครจะรู้ ในอนาคตอีกซัก 100 ปีหรือเปล่าก็ไม่รู้ ผมเชื่อว่ามันจะยังคงอยู่แน่ ๆ มันอาจจะหายไปช่วงหนึ่ง แต่อย่างที่บอกว่ามันหยิบมาใช้ มันรวดเร็วที่จะสื่อสารผู้รับสารรับสารได้เร็วเพราะว่ามันเป็นภาพจำของสังคมเรา

ผมอยากชวนให้มองสัญลักษณ์อื่น ๆ มาแทนที่ควายหรือควายเองก็อาจจะถูกมองในมิติอื่นบ้าง เพื่อให้เราได้พัฒนาการวงการทางวรรณกรรม อันนี้ในเชิงวรรณกรรมมันก็จะได้มีสัญลักษณ์อื่น ๆ ที่ขยายความคิดและการตีความของงานศิลปะไปอีกคงไม่ซ้ำอยู่ที่ควายคือความยากจนอย่างเดียว

ส่วนความยากจนก็ยังยืนยันว่าเป็นปัจจัยวนเหตุวนผล เป็นสิ่งที่มันยังคงอยู่แน่ ๆ เพียงแต่ว่าอยากให้มันทุเลาเบาบางลงภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ภายใต้การเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่นำไปสู่การแบ่งแยกโดยชนชั้น ถ้าช่องว่างของชนชั้นมันแคบลง เราอาจจะยืนอยู่ภายใต้ไหล่ที่เสมอกัน มีความเท่ากันในเชิงศักดิ์ศรี และเมื่อทุกคนเท่ากัน ถึงแม้ไม่ใช่ยูโทเปียนัก แต่ว่าถ้าทุกคนมองตากันแล้วรู้สึกถึงความเท่าเทียมกัน เราก็จะเดินไปด้วยกันอย่างที่รู้สึกว่าปัญหาเราสามารถแก้ไขด้วยความสามัคคี เพราะทุกวันนี้เราคงเห็นว่าเรามองตา แล้วเราก็เคลือบแคลงสงสัยกันพอสมควร

การหลุดพ้นจากความจน ความเสมอภาคนั้นจะได้มาด้วย “โอกาส” ใช่หรือไม่

ผมรู้สึกว่าโอกาสเป็นจุดหนึ่งที่มันต่อทางเดินให้โอกาสซึ่งกันและกัน แต่อย่างน้อยอย่างที่เราเห็นเหมือนจะได้รับโอกาส แต่โอกาสนั้นมันแฝง ผมรู้สึกว่ามันแฝงไปด้วยอะไรบางอย่าง ที่ทำให้ผู้ได้รับโอกาสไม่ได้รับโอกาสจริง แต่อาจจะต้องเสียบางอย่างไปเหมือนกัน แม้กระทั่งโอกาสในการรับและสวัสดิการต่าง ๆ ที่ได้ เท่านี้ก็ดีแต่ในขณะที่พวกเขาได้โอกาสเพียงเท่านี้ ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากโอกาสนั้นด้วย ไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่เราบอกว่าเราให้โอกาสเขาแต่จริง ๆ คือ มีคนที่อยู่เบื้องหลังได้โอกาสจากการทำโครงการอะไรทำนองนี้ของรัฐด้วย

“จริงหรือไม่ ใช่หรือเปล่า ที่อำนาจและโอกาสจะทำให้หลุดพ้น ผมแค่รู้สึกว่าเราก็คงต้องดูกันต่อไปว่าอำนาจนั้นอยู่ในมือของประชาชนจริงหรือไม่ เพราะเราเห็นว่าบางทีอำนาจที่อยู่ในมือของประชาชน แต่อย่าลืมว่าในมือของ ประชาชนก็ยังมีกลุ่มที่อยู่เหนือประชาชน มันซับซ้อนลงไปอีก”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์