- 9 มิถุนายน นี้ จะครบ 1 ปีที่ “กัญชา” ถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติด 1 ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์หลายอย่าง ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสังคม ในภาวะสุญญากาศทางกฎหมาย โดยเฉพาะการเปิดข้อมูลทางวิชาการพบว่าเยาวชนสูบกัญชาเพิ่ม 10 เท่า หลังปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด รวมถึงการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยจิตเวชอย่างมีนัยสำคัญ
- การปลดล็อกได้ทำให้เกิดความตื่นตัวในเชิงธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ ความเห็นต่างจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง แม้ก่อนหน้านี้จะเคยผ่านวาระแรกของร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชงมาแล้ว แต่สุดท้ายกฎหมายก็ค้างสภา สิ่งที่ยังเป็นข้อถกเถียง คือ สาระสำคัญของกฎหมายที่ยังมีช่องโหว่ หรือเป็นเกมทางการเมืองกันแน่
- The Active ชวนย้อนดูเส้นทางกัญชาก่อนปลดออกจากบัญชียาเสพติด และกำลังจะถูกนำกลับเข้าบัญชียาเสพติดอีกครั้ง หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้
ความพยายามของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ในการตรวจยึดต้นกัญชา และแจ้งจับ เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2562 นำมาสู่กระแสเรียกร้องให้ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด
ก่อนหน้านี้ สังคมรู้จัก ”อาจารย์เดชา” ในนามนักเคลื่อนไหวด้านเกษตรกรรมยั่งยืน และผู้บุกเบิกเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งเริ่มสนใจศึกษาศาสตร์ของกัญชาในฐานะตัวยารักษาโรคอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2556 หลังแม่และคนในครอบครัวเสียชีวิตด้วยมะเร็งตับ เขาผลิตน้ำมันกัญชาเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ป่วยที่ดูแลแบบประคับประคอง “แบบใต้ดิน” มานานหลายปี จนกระทั่งเกิดกระแส #saveเดชา
ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งครั้งใหญ่เมื่อปี 2562 “พรรคภูมิใจไทย” เสนอนโยบายปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด อนุญาตให้ปลูกกัญชาได้บ้านละ 6 ต้น พร้อมสัญญาประชาคมที่จะทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่แก้ทั้งความเจ็บป่วยและความยากจนไปพร้อมกัน
หลังการเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคร่วมรัฐบาล “อนุทิน ชาญวีรกูล” ขอนั่งเก้าอี้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขับเคลื่อนนโยบายกัญชาโดยเฉพาะ ในระหว่างที่กัญชายังเป็นยาเสพติด มีช่วงการนิรโทษกรรม 90 วัน ที่เปิดโอกาสให้ผู้ครอบครองกัญชาทางการแพทย์ยื่นจดแจ้งโดยไม่ต้องรับโทษ อนุทิน ย้ำว่าการปลดล็อกกัญชาจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยไม่เกี่ยวกับการนันทนาการ
นับแต่ปี 2564 เรื่อยมา มีความพยายามในการ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ในวาระแรกกฎหมายฉบับนี้ได้รับเสียงข้างมากจากทางพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน แต่มาสะดุดลงในวาระที่สองเมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเองก็เห็นต่าง ทำให้เกิดกรณีสภาล่มหลายครั้ง จนร่างกฎหมายยังคงค้างอยู่ในสภาฯ
ในช่วงเวลาที่กฎหมายควบคุมกัญชายังไม่ผ่านสภา อนุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็เซ็นอนุมัติประกาศกระทรวง ให้กัญชาออกจากบัญชียาเสพติด โดยมีผล 9 มิถุนายน 2565
หลังจากนั้นเกิด “ภาวะสุญญากาศกัญชา” ร้านค้ารายย่อย หรือ แคนนาบิส ช็อปขายช่อดอกเพื่อนันทนาการอย่างเปิดเผย ไม่ถูกจับกุม อาหาร-เครืองดื่มผสมกัญชาขายอย่างไร้การควบคุม จนสังคมเริ่มตั้งคำถามว่า นี่เป็นการปลดล็อกกัญชา ตรงตามเจตนารมณ์เดิม เพื่อการแพทย์หรือไม่
สถิติของศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุงานวิจัย เยาวชนสูบกัญชาเพิ่ม 10 เท่า หลังปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศ 2 ฉบับ ห้ามสูบในที่สาธารณะและห้ามจำหน่ายช่อดอกแก่เยาวชน แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการผุดขึ้นของร้านแคนนาบิสช็อป และยังพบการนำเข้ากัญชาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างผิดกฎหมาย
เครือข่ายอาจารย์แพทย์ หลายคนเริ่มส่งเสียงเตือนภาวะสุญญากาศกัญชา ที่น่าห่วงที่สุดคือส่งผลกระทบต่อเยาวชน และมีข้อสังเกตว่าผู้ป่วยจากการใช้กัญชาทั้งจากการสูบ การกิน สูงขึ้นสามเท่า ที่ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล กลายเป็นดาบที่ย้อนกลับมาทิ่มแทง นโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทย ที่ได้รับเสียงตอบรับดีในช่วงแรก
ก่อนเลือกตั้งปี 2566 ไม่กี่เดือน “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” เปิดแคมเปญรณรงค์ให้คนไม่เลือกพรรคที่มีนโยบายกัญชาเสรี ในขณะที่จุดยืนของหลายพรรคสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ กระทั่งบันทึกข้อตกลงการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล ปรากฏข้อที่ 16 ต้องการดึงกัญชากลับไปขึ้นบัญชียาเสพติด โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตอบคำถามสื่อมวลชนเพิ่มเติมในกรณีนี้ว่า ให้มีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา ทำให้สถานะของ กัญชา กลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมอีกครั้ง
ปฏิกิริยาค้าน-หนุน กัญชากลับเป็นยาเสพติด
เมื่อ MOU จัดตั้งรัฐบาลออกมาแบบนี้ แน่นอนว่าต้องไปถามอีกฝั่งเช่นกัน อย่าง “เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย” กลุ่มนี้ ยืนยันจุดยืนหนักแน่น ยังไงกัญชา ต้องไม่กลับไปเป็นยาเสพติดอีกแล้ว เพราะประโยชน์ทางยาสำหรับกัญชา สร้างโอกาส และทางเลือกให้กับประชาชนอีกจำนวนมากเช่นกัน
“ประสิทธิ์ชัย หนูนวล” เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย บอกว่า หากตั้งรัฐบาลเสร็จ ยังมีจุดยืนนำกัญชาไปเป็นยาเสพติดเจอม็อบแน่ พร้อมท้าพรรคก้าวไกลนำข้อมูลวิทยาศาสตร์มาแสดงให้เห็นว่า เหล้า บุหรี่ มีประโยชน์กว่ากัญชา จะยอมให้เอากลับไปเป็นยาเสพติด ขณะที่พรรคก้าวไกลดัน “สุราก้าวหน้า” เสรีการดื่ม หลักการย้อนแย้ง เมื่อคุมเหล้าเสรีไม่ได้ ก็ต้องให้เป็นยาเสพติดด้วยหรือไม่
ประสิทธิ์ชัย ในฐานะของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำงานขับเคลื่อนเรื่องกัญชามาด้วยกันกับพรรคก้าวไกล ถึงขั้นสงสัยว่า ทำไมพรรคก้าวไกล จึงเปลี่ยนจุดยืนเรื่องกัญชารวดเร็วขนาดนี้ เพราะก่อนหน้านี้แทบไม่เห็นท่าทีพรรคก้าวไกลค้านกัญชา จึงเชื่อว่ามองอย่างอื่นไม่ได้เลยยกเว้นประเด็นการเมือง
“เรื่องกัญชาอาจมีส่วนสำคัญกับการต่อรองเนื้อหาใน MOU ของพรรคร่วม โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติ ที่ก็มีจุดยืนไม่สนับสนุนกัญชาเสรี”
ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย เชื่อว่า หากกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ปัญหาจะเกิดขึ้นกับประชาชนที่ขออนุญาตปลูกนับล้านคน และร้านค้าที่ขออนุญาตจำหน่าย กว่า 1 หมื่นใบอนุญาต แม้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จะยืนยันว่า ผู้ที่ขออนุญาตถูกกฎหมายไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังไม่มีอะไรยืนยันว่าถ้าใบอนุญาตหมดอายุ ในช่วงเวลาที่กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้ว การต่อใบอนุญาตจะเป็นอย่างไร ยังทำได้หรือไม่ อะไรคือหลักประกัน
“ไทยจะสูญเสียโอกาสอีกมาก สำหรับการเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จึงอยากเสนอให้พรรคก้าวไกล รับฟังข้อทักท้วง และเดินหน้าสร้างกลไก ควบคุม ที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าทำได้ ถ้าจะทำจริง ๆ”
ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
ส่วนทางฟากฝั่งที่เห็นด้วยกับการให้กัญชากลับขึ้นบัญชียาเสพอีกครั้ง “นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธ์” กรรมการแพทยสภา และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย บอกว่า การดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของกลุ่มแพทย์มาตั้งแต่ต้น ซึ่งปัญหาอยู่ที่การปลดล็อกทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุม ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศ เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมาควรจะทำหน้าที่เป็นผู้เตือน แต่กลับทำหน้าที่เป็นคนโปรโมทเสียเอง
แม้จะบอกว่าใบอนุญาตให้ใช้เพื่อการแพทย์ แต่ร้านทุกร้านขายช่อดอกเพื่อนันทนาการเกือบร้อยเปอร์เซ็นตามแหล่งท่องเที่ยว แต่คนอนุญาตเป็นกรมแพทย์แผนไทย หรือ สสจ. ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้กัน ว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อการแพทย์
อาจมีคำถามว่า ทำไมกัญชาต้องกลับไปเป็นยาเสพติด แล้วบุหรี่กับเหล้าไม่เป็นยาเสพติด กรณีนี้หากดูตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดกัญชาเป็นยาเสพคิด เนื่องจากส่งผลต่ออาการทางจิต และเมื่อเป็นยาเสพติดจะควบคุมได้ง่าย ซึ่งถ้าจะให้เปรียบเทียบอันตรายระหว่างกัญชา กับ เหล้า บุหรี่ ก็ไปเปิดดูข้อมูลได้จากองค์การอนามัยโลก
“ประเด็นสำคัญคือหลังจากปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด มีผู้ป่วยเยอะมากทั้งผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยจิตเวช ต้องถามกระทรวงสาธารณสุขว่ามันเท่าไหร่เพราะไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล แต่หมอจิตเวชทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่าเคสผู้ป่วยจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น หลายเท่า”
นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธ์
นพ.สมิทธิ์ ยังบอกอีกว่าหากจะให้ได้ข้อยุติในเรื่องนี้ ขอให้ทำประชามติทั้งประเทศ เพราะต้องยอมรับว่าพืชกัญชายังมีประโยชน์ด้านเศรษฐกิจด้วย แต่งานวิจัยรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริการ ระบุว่า ทุก 1 ดอลลาร์ที่ได้จากภาษีกัญชา เราจะเสีย 4.5 ดอลลาร์ ในการรักษาคนเจ็บป่วยจากกัญชา
หนุนกัญชาทางการแพทย์ มีกฎหมายควบคุมชัดเจน
ขณะที่ “รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์” ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ที่ผ่านมาเห็นด้วยกับเรื่องกัญชาทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการรักษาบรรเทาอาการปวด
“รัฐบาลเก่า หรือรัฐมนตรีสาธารณสุขขณะนั้น บอกว่ากัญชาทางการแพทย์ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีเรื่องอื่นมาด้วย ทำให้มีการกำหนดค่า THC เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์อื่น หรือแม้แต่ขนมที่มีการผสมกัญชา หรือร้านกัญชาเกิดขึ้น”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่าการออกกฎหมายบังคับใช้ก็สับสน ไม่ชัดเจน เช่น ห้ามหญิงตั้งครรภ์ใช้ผลิตภัณฑ์ หรือรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ทำไมไม่ห้ามแบบเด็ดขาดไปเลยว่าห้ามมีส่วนผสมของกัญชาในอาหารปรุงเองในแบบครัวเรือน หรือร้านอาหาร เพราะในความเป็นจริงอาหารแบบนี้ควบคุมยาก ไม่เหมือนการควบคุมอาหารเชิงอุตสาหกรรม มีแบรนด์ ที่ต้องกำหนดสัดส่วนชัดเจน และจำหน่ายภายใต้การกำกับดูแลของ อย.
ส่วนข้อกังวลว่าผู้ประกอบการลงทุนไปแล้วเกี่ยวกับเรื่องกัญชา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของร้านกัญชา หรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง รศ.นพ.อดิศักดิ์ เชื่อว่าธุรกิจมีความยืดหยุ่น และผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ การปลูกกัญชาทางการแพทย์ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เพราะยาระงับปวดจากกัญชาให้ผลดี กรณีอย่างการรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก