ทางแยกกัญชา “ใน-นอก” บัญชี “ยาเสพติด”

ปี 2566 คนไทยใช้กัญชา 9.8 ล้านคน หลังปลดล็อกจากบัญชียาเสพติด
ขณะที่ร้านขายกัญชา ถึงเวลาที่จะต้องลงมาขายใต้ดินอีกครั้ง?

หลัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งสัญญาณกลางวงประชุมของแพทยสภาว่าอาจนำบางส่วนของกัญชา เช่น “ช่อดอก” กลับไปขึ้นบัญชียาเสพติด ทำให้สถานะของ “กัญชา” มาถึงทางแยกอีกครั้ง! หลังเพิ่งปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดไปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 หรือปีกว่า ๆ เท่านั้น 

ข้อมูลนี้ได้รับการเปิดเผยจาก ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ กรรมการแพทยสภา ซึ่งยืนยันว่ากลุ่มแพทย์ต้องการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเหมือนเดิม และถือเป็นหนึ่งในข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลชุดนี้ เพราะเห็นได้ชัดว่าตามสถานที่ท่องเที่ยวเต็มไปด้วย “ร้านขายช่อดอกกัญชา” เพื่อใช้สันนนาการ  สอดรับกับที่โรงพยาบาลพบจำนวน “ผู้ป่วยจิตเวช” เพิ่มขึ้น ฉะนั้นถ้ากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ก็ช่วยเรื่องปัญหาสุขภาพจิตไปด้วย 

แม้ นพ.สมิทธิ์ จะบอกว่า นพ.ชลน่าน มีท่าทีจะดึงเฉพาะช่อดอกกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่เมื่อ นพ.ชลน่าน ได้พบกับ “เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย” ที่เข้าหารือที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมากลับพูดอีกอย่าง 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พบ เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566

นพ.ชลน่าน บอกว่ายังใช้กฎหมายปัจจุบัน คือ “ต้น-ช่อดอกกัญชา” ยังไม่ถือเป็น “ยาเสพติด” ยกเว้นสารสกัด THC เกิน 0.2% โดยคาดว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชา ของกระทรวงสาธารณสุข จะเสร็จภายในปี 2566 ก่อนเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย  

ขณะที่ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวกับ “กัญชา” มี 2 ส่วน คือ 1.กฎหมายว่าด้วยประมวลยาเสพติด คือ กัญชา มีสถานะเป็นสารเสพติดเมื่อเป็นสารสกัด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ผ่านความเห็นของ ป.ป.ส  และ 2.กฎหมายที่ออกมาเฉพาะ คือ ร่าง พ.ร.บ.กัญชงกัญชา ที่จะออกมาควบคุม ดูแลการใช้ การผลิตการนำเข้าการส่งออก วิธีการใช้ต่าง ๆ ที่เราใช้ว่า ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการ

กลุ่มค้านกัญชาเป็นยาเสพติด พร้อมดีเบต 

“เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย” ได้แสดงจุดยืนและออกมาเคลื่อนไหวชัดเจนว่า กัญชาต้องไม่ใช่ยาเสพติด และต้องเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนสามารถปลูกได้  “ประสิทธิชัย หนูนวล” เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย บอกว่าเจตนารมณ์คือการควบคุมในส่วนที่อาจก่อผลกระทบเชิงลบกับผู้อื่น ใครจะปลูกต้องอยู่ภายใต้ระบบอนุญาต และหลังจากนี้เครือข่ายจะรอขั้นตอนของรัฐมนตรีฯ ที่จะนำ ร่าง พ.ร.บ.กัญชงกัญชา เข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นในไม่ช้านี้ 

ประสิทธิชัย ไม่ปฏิเสธข้อโต้แย้งจาก “กลุ่มนักวิชาการ” เกี่ยวกับโทษของกัญชาและเสนอว่าสังคมต้องดีเบตกันด้วยข้อเท็จจริง โดยมีข้อสังเกตว่าผู้ที่ทำวิจัยกัญชาได้งบฯ มาจากกลุ่มต่อต้านยาเสพติด เพื่อทำงานวิจัยสนับสนุนกัญชาให้กลับเป็นยาเสพติด นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงเปรียบเทียบสิ่งที่ก่อให้เกิดการเสพติด 4 ชนิด คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ กาแฟ กัญชา อีกด้วย 

การมองผลเสียจาก “กัญชา” ด้านเดียวโดยไม่เปรียบเทียบกับสิ่งเสพติดอื่น ๆ ที่ถูกกฎหมาย ได้สร้างความรู้สึกที่ “ไม่เป็นธรรม” ให้กับ “ผู้ประกอบการธุรกิจกัญชา” อย่าง “ช่อขวัญ ช่อผกา” เจ้าของแบรนด์ช่อผกา และในฐานะผู้ผลักดันกัญชาถูกกฎหมาย 

เธอบอกว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพเช่นกัน แต่ทำไมถูกควบคุมน้อยว่า กัญชา” เห็นได้จากอัตราการป่วยเป็นไขมันพอกตับ ตับอักเสบและมะเร็งตับ ที่สูงติดอันดับโรคที่คนไทยป่วยมากที่สุด ขณะที่ กัญชา” ไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพขนาดนั้น 

“เราอาจจะมองอะไรบางอย่างผิดไป เพียงเพราะคำว่าสูบแต่กัญชา ซึ่งการใช้กัญชา สามารถใช้ได้ด้วยหลายวิธีที่จะเป็นประโยชน์ เราจึงควรที่จะให้ความรู้กับผู้ที่อยากจะใช้ หรือถึงเขาไม่ได้อยากจะใช้ เขาก็ควรที่จะมีความรู้” 

เปิดใจเจ้าของร้านขายกัญชา ต้นทางใช้กัญชาเชิงสันทนาการ? 

ร้านขายช่อดอกกัญชา หรือ แคนนาบิสช็อป น่าจะเป็นธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากความไม่แน่นอนและในสถานะของ กัญชา ที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่ารัฐบาล จะดึงกลับไปเป็น ยาเสพติด” หรือจะควบคุมกัญชาต่อไปอย่างไร ขณะเดียวกัน ร้านขายช่อดอกกัญชา ก็ตกเป็นจำเลยที่สังคมมองว่าเป็นต้นทางของการเข้าถึงกัญชาเชิงสันทนาการได้ง่ายที่สุด

ช่อดอกกัญชาถูกวางขายในร้านตึกแถวแคบ ๆ ใจกลางเมือง ย่านอโศก  หลังกัญชาถูกปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดมาปีกว่า ฐานลูกค้าของ “ร้านช่อผกา” มีทั้งลูกค้าประจำที่เป็นคนไทย และต่างชาติที่แวะเวียนมา 

การขายช่อดอกกัญชา แบ่งขายปลีกเป็นกรัมราคาต่างกันตามสายพันธุ์ เฉลี่ยกรัมละ 400-500 บาท ท่ามกลางข้อสังเกตว่าไทยยังไม่มีพระราชบัญญัติ กัญชามารองรับ ทำให้เกิดการใช้เชิงสันทนาการ ส่งผลกระทบเชิงสุขภาพ โดยมีร้านขายช่อดอกกัญชา เป็นต้นทางของการเข้าถึงที่ง่ายที่สุด

แม้ที่ผ่านมาจะมีการกวาดล้างร้านขายช่อดอกกัญชาที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่สำหรับ “ร้านช่อผกา” นั้นได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายและไม่ขายให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือสตรีมีครรภ์โดยเด็ดขาด 

ช่อขวัญ ช่อผกา

ช่อขวัญ ช่อผกา เจ้าของร้านช่อผกา ยืนยันกับ The Active ว่า เจตนารมณ์ของการขายช่อดอกกัญชามีเป้าหมายเพื่อใช้ในเชิงสุขภาพ ไม่ใช่สันทนาการ และมองว่าการขายเพื่อสันทนาการ คือการขายแบบพร้อมใช้ เช่น ขายเป็นม้วน แต่ร้านขายเพียงช่อดอกซึ่งเป็นวัตถุดิบ  ซึ่งลูกค้าจะเอาไปทำอะไรต่ออีกทีไม่รู้ แต่เราจะแนะนำวิธีการใช้ให้เข้ากับเขา และที่ร้านไม่มีการใช้ในร้านตั้งแต่วันแรก 

แม้ในช่วงที่ยัง พ.ร.บ.กัญชา มาควบคุม แต่กฎหมายที่มีอยู่ ประกาศกระทรวงต่าง ๆ ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว หากตำรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพราะหากเดินเข้าซอยไปก็หาซื้อกัญชาที่มวนแล้วพร้อมใช้อยู่ดี 

“อาจไม่เป็นธรรมหากอนาคตจะมีการดึงกัญชากลับมาเป็นยาเสพติดอีกครั้งตามข้อเรียกร้องของนักวิชาการบางกลุ่มเพราะเรื่องนี้ต้องมอง 2 ด้าน” 

ช่อขวัญกล่าว 

หลังจากปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ภาคธุรกิจเดินหน้าไปมากแล้วความไม่ชัดเจนในนโยบายกำลังจะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ขณะที่ยังมีอีกหลายทางเลือกที่จะควบคุมกัญชาโดยที่ให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ 

ช่อขวัญ ชวนให้คิดตามว่า ถ้าร้านขายกัญชาร้านหนึ่งมีลูกค้าอยู่ 100 คน และหากกัญชาถึงดึงกลับไปเป็นยาเสพติด ร้านนั้นก็ยังมีฐานลูกค้าอยู่ 100 คน พอมันกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายก็ลงไปอยู่ใต้ดิน เงินจากคน 100 คนที่รัฐจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ และก็จะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ตำรวจคอร์รัปชันอีก รีดไถเงินจากร้านกัญชาที่อยู่ใต้ดิน สุดท้ายปัญหาก็วนเวียนอยู่ที่เดิม  

ที่ผ่านมามีขบวนเรียกร้องปลดล็อกกัญชา ให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์เชิงสุขภาพ แต่ต่อมาเกิดกระแสตีกลับ กัญชาถูกมองในแง่ลบ ช่อขวัญ” จึงอยากให้สังคม มองทั้งสองด้าน เพราะหากกัญชากลับเป็นยาเสพติด ก็จะเกิดผลกระทบตามมาอีกด้านเช่นกัน  

“นักวิชาการ หมอ ที่ออกมาโวยวายว่า คนกัญชาทำตัวไม่ดี เรามาช่วยกันคิดไหม เพราะว่าการเป็นเกราะที่ดีที่สุดให้กับเยาวชน คือการให้ความรู้ แล้วถ้าเกิดเราจะไม่ยอมพูดถึงมันเลยอ่ะ ยิ่งห้ามก็ยิ่งยุ วิธีเดียวที่ทำให้เขาปลอดภัยได้ก็คือว่าทำยังไง ถ้าจะใช้ให้ปลอดภัย” 

“ช่อขวัญ” ในฐานะผู้ผลักดันกัญชาถูกกฎหมาย บอกด้วยว่ากำลังสะสมรายชื่อ 10,000 รายชื่อสำหรับ พ.ร.บ.ควบคุมกัญชากัญชง ที่ทางประชาชนเขียนกันเอง โดยการเดินทางทั่วประเทศไปฟังความคิดเห็นของทุกคนเอาสิ่งที่เราเห็นว่าควรที่จะเป็นเอามารวมกัน เป็นพ.ร.บ.

“เราเองอยากจะผลักดันเข้าไปอยู่ในสภาฯ ให้ได้ ก่อนกระทรวงสาธารณสุข จะสามารถผลักร่างกฎหมายของเขาไป เพราะเรากลัวนักการเมืองไม่ทำในสิ่งที่เขาสัญญา … “ 

ช่อขวัญ ระบุตอนท้าย 

คนไทยใช้กัญชาสูงเป็นอันดับ 2 รองจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังปลดล็อกฯ

ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยผลวิจัยพฤติกรรมคนไทย เกี่ยวกับการใช้กัญชาในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาระหว่างปี2563 ถึง 2566 พบว่าในปี 2565 ซึ่งช่วงกลางปี มีการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ทำให้มีผู้ใช้กัญชาสูงถึง 11 ล้านคนส่วนล่าสุดในปีนี้ 2566 ซึ่งผ่านมาหนึ่งปี สำรวจอีกครั้งพบว่าผู้ใช้กัญชาลดลงจากปีที่แล้วเหลือ 9.9 ล้านคน แต่ก็ยังถือว่าสูงอยู่ 

โดยในจำนวนนี้ 8 ล้านกว่าคนใช้กัญชาผ่านการกินผสมในอาหาร และอีก 2 ล้านกว่าคน ใช้สูบ ส่วนอีก 1 ล้านกว่าคนใช้ทั้งกินทั้งสูบ 

ส่วนสาเหตุที่ผู้ใช้กัญชา ปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณ 1.2 ล้านคน ดร.สุริยัน บุญแท้ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ มองว่าอาจจะมาจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข หลายฉบับ โดยเฉพาะการจำกัดสถานที่จำหน่ายและห้ามการโฆษณา ที่มีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 

“แม้ว่าจะมีประกาศกระทรวงมาควบคุมการซื้อขายในช่วงปลายปี 2565 แต่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่ชัด การปล่อยปละละเลย พบตัวเลขของเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 3 แสนคนยังใช้กัญชาอยู่แปลว่าเราจะควบคุมไม่ได้” 

ดร.สุริยัน 

และถ้าเปรียบเทียบกับย้อนไปก่อนการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดปี 2564 มีผู้ใช้กัญชาเพียง 1.8 ล้านคนเท่านั้น ถือว่าหลังการปลดล็อกมีผู้ใช้กัญชาสูงขึ้นเป็น 10 เท่า แล้วถ้าดูจากกราฟ เส้นสีแดงเป็นเส้นของการใช้กัญชาทางการแพทย์ ก็จะเห็นว่าไม่ได้มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายหลังจากปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด 

แล้วถ้าจัดอันดับสิ่งเสพติดที่คนไทยใช้มากที่สุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ค่าประมาณการ อันดับหนึ่งยังคงเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ 19 ล้านคน แต่อันดับที่สองตามมาด้วยกัญชาอยู่ที่ 9.9 ล้านคน มากกว่าบุหรี่มวนซึ่งอยู่อันดับสามมีผู้สูบอยู่ที่ 9.8 ล้านคน

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด  มองว่ายิ่งตัวเลขของผู้ใช้กัญชามีสูงมากเท่าไหร่ ในจำนวนนี้จะมี 8-10% ที่จะได้รับผลกระทบทางสุขภาพ เช่นเกิดอาการแพ้ หรือทำให้มีภาวะทางจิต

พญ.รัศมน ยังเสนอทางเลือกในการควบคุมกัญชาว่า ถ้าจะไปในแนวทางของการออกพระราชบัญญัติควบคุม ก็ต้องยิ่งเข้มงวดมากขึ้น แต่เลือกดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ก็สามารถออกเงื่อนไขในการใช้ประโยชน์เพิ่มเติม เพราะที่ผ่านมามียาเสพติดหลายชนิด ที่ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์อื่น ๆได้ และการกลับไปเป็นยาเสพติดจะทำให้จำกัดการใช้ ได้ดีกว่า  

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS