กัญชาเสรี: โอกาสหรือผูกขาด

สำรวจธุรกิจกัญชา จากต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ใครได้ประโยชน์ ?

การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดอย่างเป็นทางการ 9 มิถุนายน 2565 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ “กัญชาเสรี” เท่านั้น

หากแต่การปลดล็อกที่แท้จริงจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก็เมื่อมีกฎหมายมารองรับ ที่เวลานี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ซึ่งจะเปิดทางให้มีการจดแจ้งปลูกเชิงพาณิชย์

“นโยบายกัญชาเสรี” มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก แต่คำถามก็คือ “ฐานราก” อย่างเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการปลูกกัญชาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่

The Active สำรวจวงจรธุรกิจอุตสาหกรรมกัญชา ที่แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ต้นน้ำ เกษตรกรผู้ปลูกกัญชาจากไร่ กลางน้ำ คือโรงงานสกัด และ ปลายน้ำ คือผู้นำสารสกัดกัญชามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ 

ต้นน้ำ

การจะปลูกกัญชาให้ได้คุณภาพจริง ๆ มีต้นทุนค่อนข้างสูง คณาพงษ์​ วงศ์งาม ประธานวิสาหกิจ​ชุมชน​เกษตรอินทรีย์​ บ้านสหกรณ์ จ.เชียงใหม่ บอกว่า สองแสนบาทคือมูลค่าที่ต้องลงทุนเริ่มต้นกับการปลูกสร้างโรงเรือนกัญชา โดยหนึ่งโรง ปลูกได้เพียง 50 ต้น เพราะว่ากัญชาเป็นพืชที่ดูดซับสารเคมีและสารโลหะหนักจากดินได้ดี ดังนั้น กระบวนการปลูกจึงต้องพิถีพิถันให้ปลอดสารพิษและควบคุมสารโลหะหนัก จึงจะมีคุณภาพมากพอที่จะส่งต่อ โดยเฉพาะส่วนดอก ที่จะส่งให้กรมแพทย์แผนไทย นำไปสกัดสาร CBD (Cannabidiol)

กัญชาเสรี
โรงเรือนกัญชา วิสาหกิจชุมชนบ้านสหกรณ์ มูลค่ากว่า 2 แสนบาท

การใช้เงินในการเริ่มต้นการปลูกที่สูงถึงหลักแสนบาท จึงต้องรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อระดมทุน หรืออาจเป็นเอกชน/นายทุนที่มีสายป่านยาว คำถามก็คือเกษตรกรทั่วไปจะเข้าถึงการปลูกกัญชาได้จริงหรือไม่ หลังถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว  

กลางน้ำ

เราเดินทางไปที่ บริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด จ.เชียงใหม่ โรงงานสกัดกัญชาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกำลังการผลิตรองรับดอกกัญชา 200 ไร่ต่อปี โรงงานสกัดมีบทบาทคล้ายพ่อค้าคนกลาง มีอำนาจในการกำหนดราคาก็จริง แต่ ธนดี พันธุมโกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการบริษัทฯ บอกว่า มีโครงการจะส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกกัญชาในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา หรือ Contect Farming แต่ยืนยันว่าไม่มีการผูกขาดอย่างแน่นอน 

นักธุรกิจไทยที่สนใจอุตสาหกรรมกัญชาคนนี้ยังประเมินด้วยว่า การปลดล็อกกัญชา ออกจากบัญชียาเสพติดเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่เสรีกัญชาจะเกิดขึ้นจริง หากร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง แล้วเสร็จ มีผลบังคับใช้ โดยคาดว่าหลังการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ 1 ปี ก็อาจเกิดภาวะกัญชาล้นตลาด คือปลูกจนเกินความต้องการภายในประเทศ และต้องหาทางส่งออก 

ปลายน้ำ 

ผู้ผลิตปลายน้ำ อย่าง สุรพงษ์ หมั่นเพียร ผู้จัดการร้านสมุนไพรคาเฟ่ จ.เชียงใหม่ เป็นกลุ่มสตาร์ตอัปรายย่อย บอกว่าหลังศึกษาสรรพคุณกัญชามาเป็นเวลานานแล้ว จึงมองว่าการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด จะเป็นก้าวแรก ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีทางเลือก หยิบกัญชาขึ้นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสร้างมูลค่าเพิ่ม 

กัญชา
ร้านสมุนไพรค่าเฟ่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ปัจจุบันในร้านไม่ได้มีเพียงเครืองดื่ม แต่ยังมีผลิตภัณฑ์และอาหารอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น คุกกี้กัญชา ไส้อั่วกัญชา เป็นต้น โดยหลังจากเปิดร้านมาได้ 6 เดือน มีแนวโน้มยอดขายเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เห็นชอบให้ใช้ส่วนของกัญชาและกัญชงในผลิตภัณฑ์อาหาร เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 แม้ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ยังไม่บังคับใช้ แต่ อย. ก็ได้อนุญาตผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสมอยู่หลายชนิด ที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ไม่เกิน 0.2% 

รศ.พญ.รัชมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าปี 2564 พบคนไทยอายุ 18-25 ปี ใช้กัญชาที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ จำนวน 1.89 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากปี 2563 หลังกระทรวงสาธารณสุขเปิดให้ใช้บางส่วนของกัญชา และเริ่มมีร้านค้าขายกัญชาเป็นเรื่องปกติ

ตัวผลิตภัณฑ์ของกัญชาที่ดูไม่เป็นอันตรายจากภาพลักษณ์เดิม เมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบ มีบางส่วนที่ค่า THC ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ทางประสาท เกินมาตรฐาน สิ่งนี้นำมาสู่ความกังวลว่าการปลดล็อกกัญชาจะควบคุมยากขึ้น และในความเป็นจริงสินค้าที่มีส่วนของสารสกัดกัญชาในตลาดมีจำนวนมากกว่าที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. ด้วย 

“กัญชา” สู่พืชเศรษฐกิจหมื่นล้าน 

อย. ได้คาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจ การปลูกพืชกัญชา จากการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2564 มูลค่า 600 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าอีก 5 ปี ต้องมาในปี 2569 มูลค่าจากอุตสาหกรรมกัญชาจะสูงถึง 15,770 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 126% 

ปัจจุบันมีความพยายามกำหนดราคากลางของกัญชา นี่คือราคาในช่วงกัญชายังเป็นยาเสพติด 

  • ดอกกัญชาแห้งอัดแท่ง กิโลกรัมละ 10,000 – 20,000 บาท 
  • ใบกัญชาสด กิโลกรัมละ 5,900 บาท
  • ใบกัญชาแห้ง 100 กรัม 2,200 บาท 
  • รากกัญชา 100 กรัม 2,000 บาท  

ปัจจุบันมีร่าง ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ที่เสนอเข้าสภาอยู่ทั้งหมด 3 ร่าง คือ ร่างของพรรคภูมิใจไทย ร่างของ อย. และ ร่างของภาคประชาชน โดยร่างของ อย. มีการกำหนดควบคุมกัญชาไว้ทั้ง 3 ช่วงการผลิต 

1. ต้นน้ำ

  • ปลูกแบบครัวเรือน หรือแพทย์แผนไทย = จดแจ้งภายในจังหวัด
  • ปลูกเชิงอุตสาหกรรม = ขอใบอนุญาต มีอายุ 3 ปี จ่ายค่าธรรมเนียม 50,000 บาท 

2. กลางน้ำ

  • แปรรูปสกัดสาร THC, CBD = ขอใบอนุญาต มีอายุ 3 ปี จ่ายค่าธรรมเนียม 50,000 บาท

3. ปลายน้ำ 

  • ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากกัญชา = ขึ้นทะเบียน อย. 

เกษตรกรเข้มแข็ง ตัดตอนการผูกขาด

รศ.พญ.รัศมน มองว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เขียนอนุญาตให้มีเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม จะกลายเป็นการเอื้อให้เกิดการผูกขาด และสุดท้ายอาจกลายเป็นเอกชนรายใหญ่ที่เข้ามาฮุบวิสาหกิจชุมชนหรือไม่

ขณะที่ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตว่าโครงสร้างที่รัฐออกแบบไว้เวลานี้ ยังไม่เอื้อต่อเกษตรกรรายย่อยให้สู้กับกลุ่มทุนได้ โดยแนะให้เร่งศึกษาแนวทาง หวั่นเกิดปัญหาซ้ำรอยพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่สุดท้าย เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ และรัฐต้องเสียงบประมาณชดเชย 

หนึ่งในข้อเสนอคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจชุมชน ปลูกและแปรรูปได้เอง เพื่อตัดตอนการผูกขาดโดยคนกลาง แต่รัฐต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมองค์ความรู้ เพื่อให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกันก็ท้าทายอยู่พอสมควร หากปลูกได้เสรี กัญชาจะถูกจำกัดการใช้เพียงเฉพาะทางการแพทย์ได้หรือไม่ เพราะถ้าดูตามร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ทางเครือข่ายนักวิชาการด้านการเฝ้าระวังด้านนโยบาย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ก็พบช่องโหว่หรือการไม่ควบคุมสาร THC ไม่ให้เกิน 0.2% อีกทั้งยังเปิดช่องให้ใช้ในเชิงสันทนาการได้ ซึ่งแพทยสภาออกมาคัดค้านเรื่องนี้อย่างชัดเจน และขอให้ชะลอร่างกฎหมายกัญชาออกไปก่อน 

เพราะฉะนั้นนอกจากความกังวลเรื่องการผูกขาดการปลูกแล้ว การใช้กัญชา เพื่อสันทนาการ ก็ยังคงมีข้อถกเถียง และเป็นอีกข้อกังวลของนโยบายกัญชาเสรี


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS