หยุด! สุญญากาศกัญชา

“การจัดการ อุดช่องโหว่ ไม่เล่นการเมือง” ทางออก? สุญญากาศกัญชา

หลังสภาผู้แทนราษฎร มีมติถอนร่าง พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ตั้งขึ้นนำกลับไปทบทวน และแก้ไข เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ ก่อนเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 อีกครั้ง ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า เหตุใดกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบในวาระที่ 1 จึงถูกถอนออกไป ทำให้ภาวะสุญญากาศกัญชาต้องลากยาวโดยไร้กฎหมายควบคุม แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะยืนยันถึงประกาศกระทรวงฯ ที่เข้ามาบังคับใช้ แต่ยังสร้างความห่วงกังวลถึงสถานการณ์ดังกล่าว

The Active รวบรวมความเห็นของหนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ และอาจารย์แพทย์ด้านระบบทางเดินหายใจ วิเคราะห์ในประเด็นดังกล่าว เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และการควบคุมกัญชาในปัจจุบัน และหากจะมีกฎหมายในอนาคตควรอุดช่องว่าง ช่องโหว่ เพื่อประโยชน์ของคนในสังคมทุกคนได้อย่างไร

“แพทย์” ห่วงการจัดการ มากกว่าตัวกัญชา เมื่อก้าวเท้าออกสู่สาธารณะ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์  เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจ และวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ในทางการแพทย์มีความห่วงกังวลถึงภาวะสุญญากาศกัญชา คล้ายๆ กัน เมื่อไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือไปดำเนินการควบคุม ถ้าเรื่องนี้ทอดเวลายาวนานออกไปจะมีปัญหา ในปัจจุบันเป็นโอกาสทองของกลุ่มผลประโยชน์ใหญ่น้อย ที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ

“ผมไม่ได้มองว่ากัญชาเลวร้าย แต่ผมมองว่ากระบวนการบริหารจัดการในประเทศไทยเลวร้าย ผมเป็นหมอ รู้จักกัญชาตั้งแต่เรียนมา รู้ว่ามีทั้งคุณ และโทษ ยิ่งในระยะ 4 – 5 ปีมานี้ เราเห็นประโยชน์ในทางการแพทย์มาก แต่ผมกลัวการใช้นอกเหนือทางการแพทย์ ที่เกินเลยขอบเขต และขาดการควบคุมเท่านั้น…”

นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า โดยภาพรวมนั้นเห็นด้วยในหลักการของร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่ถูกถอนออกไป ว่าควรมีการจัดระเบียบกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ใช้เพื่อสุขภาพ และความเชื่อส่วนบุคคล แต่ตัวกฎหมายจะอุดช่องโหว่ ไม่ให้นำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด และเกิดโทษต่อสุขภาพได้อย่างไร การปลูกใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ไม่ว่าจะใช้เรื่องอะไร ที่เป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล ทางการแพทย์ไม่ได้มีปัญหา แต่จะเกิดปัญหาเมื่อบางที่ไม่ได้ปลูก แต่อยากนำมาใช้

“กัญชาไม่ควรทำโดยเสรีอย่างในปัจจุบัน” ที่การซื้อ ขาย จำหน่าย แจกจ่าย และโฆษณาเป็นไปโดยไร้ขอบเขต เพราะ เมื่อกัญชาก้าวข้ามออกมาจากครัวเรือน แต่เป็นการแสวงหากัญชาเพื่อบริโภค โดยไม่ได้ปลูกเอง จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาต่อสังคม เพราะ จะมีเด็ก เยาวชน และบุคคลอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการบริโภคในรูปแบบอื่นด้วย เช่น การผสมในเครื่องดื่ม อาหาร จะควบคุมอย่างไรให้ปลอดภัย นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

“ต้องมีการระบุให้ชัดเจน ถึงปริมาณที่ไม่เกิดอันตราย เราจะควบคุมให้อยู่ในร่องในรอยได้อย่างไร หากเป็นไปไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ แล้วจะใช้ในทางนันทนาการ หรือความเชื่อด้านสุขภาพส่วนบุคคล ควรปลูกเองในจำนวนที่กำหนด หรือถ้าจะซื้อต้องทำโดยเปิดเผยและซื้อจากแหล่งที่ถูกต้องและควบคุมได้…”

แม้ร่าง กมธ. ไม่สมบูรณ์ 100% แต่ ส.ส. ควรอุดช่องโหว่ ไม่ใช่เล่นการเมือง

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย หนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เปิดเผยว่า การที่มติ ส.ส. ให้นำร่างกฎหมายนี้กลับไปทบทวน มองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกเหนือจากเรื่อง “การเมือง” เพราะการประชุมของ กมธ. 19 นัด การทำหน้าที่ของตัวแทนพรรค ไม่ได้โต้แย้ง หรือแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับกฎหมายนี้เลย ว่าไม่ดีอย่างไร แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ใหญ่ กลับให้ถอนออกไป ทั้งที่ไม่เคยมีสัญญาณนี้มาก่อน

“ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ถ้ากฎหมายมันเลวร้ายถึงขนาดต้องถอนร่าง ก็ต้องส่งสัญญาณกันมาก่อน แต่ไม่มีพฤติกรรมของ ส.ส. ที่เป็นตัวแทนใน กมธ. เลย เรายืนยันว่า กมธ. ทำกฎหมายนี้อย่างรัดกุม แต่ไม่ใช่ 100% แน่นอน เราจึงต้องการความเห็น ส.ส. ให้ว่ากันรายมาตรา ตรงไหนที่ยังไม่รอบคอบ ขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือมีข้อเท็จจริงอื่นใดอีก … ต้องว่ากันในสภา”

ประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า การออกกฎหมาย เพื่อทำให้เป็นกัญชาเสรี จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ เพราะ มันเสรีตั้งแต่ตอนนี้แล้ว ถ้ามีกฎหมายออกมาจะเป็นกัญชาควบคุมทันที ส่วนข้อกังวลที่เกรงว่าจะเกิดการใช้ในทางนันทนาการอย่างแพร่หลายนั้น ตนพยายามอ่านกฎหมายอย่างถี่ถ้วน “ไม่มีส่วนไหน ที่ระบุให้ใช้ในทางนันทนาการได้” มีหมวดเดียวเท่านั้น ที่ห้ามใช้ในที่สาธารณะ แล้วระบุให้พื้นที่เหล่านั้น เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ การประกาศเพิ่มพื้นที่สูบกัญชานี้เอง ที่น่าจะเกิดการตีความได้

ในชั้น กมธ. ได้มีการนำกฎหมายที่เกี่ยวกับยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเทียบเคียง เพราะ กฎหมายกัญชามาตรฐานต้องไม่อ่อนไปกว่านั้น โดยมีตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วน มาพิจารณาให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น การไม่มีกฎหมายฉบับนี้ ทำให้สังคมไร้ทิศทาง ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ทั้งรัฐ และประชาชน

“มันเป็นเรื่องการวางระบบ ตั้งแต่การปลูก จนกลายไปเป็นสินค้า ต้องมีกฎหมายคุมทั้งหมด เราไม่ได้พูดแต่การสูบ การใช้อย่างเดียว มีเรื่องอื่นที่ไม่ใช่การแพทย์ด้วย ที่ต้องคุมการผลิต การขาย กระบวนการคุ้มครองผู้บริโภค ทุกขั้นตอนต้องมีใบอนุญาต ไม่มีใครที่สามารถทำได้โดยเสรี และขอย้ำว่าประกาศกระทรวงอย่างเดียว ไม่ครอบคลุม และไม่สามารถบังคับใช้จริงได้…”

ผลกระทบ “เด็ก – เยาวชน” ขาดหลักฐาน ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจริง

ส่วนผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน นพ.นิธิพัฒน์ เห็นว่า โดยหลักการแล้ว กฎหมายที่ออกมาควรเป็นไปเพื่อความอยู่ดี กินดี และความสงบของประชาชน รวมถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทุกคน ส่วนตัวสนับสนุนว่าควรมีกฎหมายแม่บท ให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้านอย่างปลอดภัย เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อคนที่อาจถูกดึงเข้าไปในวังวนของการใช้กัญชา โดยไม่เจตนา หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่าง เด็ก และเยาวชน

“กฎหมายในไทย ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ ความพยายามออกแบบกฎหมายให้รัดกุม ปิดจุดอ่อนสำหรับคนที่คิดจะนำไปใช้ในผลประโยชน์ตัวเองเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ จังหวะเวลาไม่ได้ สิ่งพวกนี้ควรถูกออกแบบก่อนการประกาศให้อยู่ในภาวะสุญญากาศ ซึ่งตอนนี้สร้างปัญหาให้มากกว่าเสียด้วยซ้ำ…”

นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า ได้ติดตามรายงานทางการแพทย์ ของประเทศนิวซีแลนด์ แคนาดา หรือบางรัฐ ในสหรัฐอเมริกา ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาในกิจกรรมต่างๆ ได้ เมื่อเกิดปัญหาที่เด็ก หรือบุคคลทั่วไปได้รับอาหาร และขนมที่มีส่วนผสมของกัญชาโดยไม่ทราบ เกิดพิษทางการแพทย์ ซึ่งตรงนี้ต้องระวัง เพราะแม้เราจะเข้าใจอยู่เองว่า จำนวนของผู้ได้รับผลกระทบ จะมีสัดส่วนสูงขึ้นตามการใช้งาน แต่เราสามารถควบคุมได้

“ถ้าถามแพทย์ ก็กังวลทั้งนั้น ที่ต้องเจอคนไข้ประเภทนี้ ทั้ง กุมารแพทย์ จิตเวช หรือระบบประสาท ที่เขาได้รับพิษจากกัญชา ทั้งที่ตั้งใจ และไม่ได้ตั้งใจ แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ทีเดียว เพราะ เรายังให้คนสูบบุหรี่ และดื่มสุรา ภายใต้การควบคุมได้ แต่จะทำอย่างไรให้มั่นใจว่ากัญชาที่เขาสูบ ไม่ไปรบกวนคนอื่น และก่ออันตรายต่อร่างกาย … หน้าที่แพทย์คงต้องใส่ความรู้ให้ประชาชนมากขึ้น ว่าจะมีผลระยะยาวอย่างไร…”

จากรายงานทางการแพทย์ พบว่า คนที่สูบกัญชานั้น ไม่ได้สูบกัญชาเดี่ยวๆ  แต่จะมีสูบบุหรี่ด้วย ผลศึกษาของผู้ป่วยที่สูบตั้งแต่อายุ 18 ปี ยาวนานถึง 20 ปี ไม่ได้มีผลชัดเจนเท่าการสูบบุหรี่เดี่ยวๆ อย่างน้อยผลการศึกษาในผู้ใหญ่พบว่า ไม่ได้มีผลกระทบต่อร่างกายชัดเจนเท่าบุหรี่ แต่ในเด็ก หรือวัยรุ่น เรายังไม่รู้ว่าหากบริโภคในระยะยาว จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร งานวิจัยไม่น่าจะมีเพียงพอ ที่จะยืนยันว่าปลอดภัย นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

สุญญากาศ ไร้การควบคุม นำเข้าดอกกัญชาเกลื่อน เสี่ยงอันตราย

ประสิทธิ์ชัย กล่าวว่า ในชั้น กมธ. มีความกังวลในประเด็นเดียวกันกับวงการแพทย์ โดยข้อกำหนดของ กมธ. ใครที่จะปลูกกัญชา ต้องมีใบอนุญาต รวมถึงการซื้อ ขาย และผลิต ถ้ากฎหมายออกมา จะไม่สามารถโฆษณาดอกกัญชาได้ และจะไม่สามารถวางขายผ่านตู้สินค้าได้เลย กำหนดถึงขั้นต้องจำหน่ายห่างจากสถานที่เกินกี่กิโลเมตร มาตรการเหล่านี้ค่อนข้างรอบคอบพอสมควรแล้ว

“ดอกกัญชาตอนนี้นำเข้ามาเต็มไปหมดเลย แล้วปัญหาอื่นจะตามมา เรื่องคุณภาพ การผสมให้อันตราย หรือกัญชาอัดแท่งที่มันไม่ใช่กัญชาจริงๆ ใส่อย่างอื่นเต็มไปหมด ถ้าเราไม่มีกฎหมาย เราจะคุมแหล่งผลิตไม่ได้ เพราะ เรากำหนดว่าจะปลูกได้ ต้องมีแผนการปลูก แผนการตลาด รายงานทุก 3 เดือน จนผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นพืชเสรีเลย เพราะ มันคุ้มเข้มอยู่มาก…”

ส่วนตัวอยากให้สังคมได้ดูมาตรการที่ กมธ. เขียน ถ้าหากยังไม่พอใจ คิดว่าสังคมช่วยกันได้ เพื่อความปลอดภัยของเราทุกคน และเราจะได้ใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างเต็มประสิทธิภาพจริงๆ ซึ่งจะส่งผลต่อด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางยาของประชาชน ซึ่งสำคัญอย่างมาก หากกัญชาต้องกลับไปใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะ ประชาชนสามารถเรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากกัญชาได้ กัญชาเป็นความมั่นคงทางยา ไม่ใช่วิกฤตสำคัญในอนาคต สิ่งที่เลวร้าย คือ ณ วันนี้ เพราะ มันเละที่สุดในโลก ตั้งแต่ 9 มิ.ย. กัญชาก่อวิกฤตอะไรให้กับประเทศนี้ ประสิทธิ์ชัยกล่าว

ในขณะที่ นพ.นิธิพัฒน์ ปิดท้ายว่าในมุมมองของแพทย์ เป็นห่วงเรื่องการควบคุมการใช้ นอกจากวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้สร้างผลกระทบต่อส่วนรวม และไม่ได้เป็นการสร้างผลประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มด้วย ส่วนตัวคิดว่า ที่สังคมยังเกิดความกลัว และกังวล เพราะการสื่อสารต่อสังคมโดยรวม ระบบการทำงานของประเทศไทย เหมือนอยู่ในที่ที่เราไม่เห็น แล้วอยู่ดีๆ มาเห็นทีเดียว แล้วพบปัญหา ก็ไม่สามารถช่วยกันแก้ไขได้ทัน มันจึงควรเกิดความร่วมมือตั้งแต่แรก และทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เท่าเทียมกัน

“ปัจจุบันสังคมเป็นสังคมข่าวสาร เราควรตัดสินปรากฎการณ์ ด้วยเหตุผล และข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความกลัว แต่วันนี้สังคมภายนอกยังไม่รู้ วงการการแพทย์ยังไม่เห็นข้อมูลที่ฝ่ายการเมืองยืนยันชัดเจน เราควรเปิดโอกาสให้สังคมได้ศึกษาทุกฝ่าย และได้ตัดสิน มัวทำให้เป็นดินแดนลึกลับ จึงทำให้คนกลัว และตั้งกำแพงกันไว้ เพราะ เขาไม่มั่นใจในข้อมูล…”

ในส่วนของ กมธ. ประสิทธิ์ชัย ยืนยันว่า ในเดือน พ.ย. เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาฯ จะมีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา เข้าไปใหม่ ตอนนี้มีเวลา 1 เดือนที่จะทำความเข้าใจ ว่าข้อมูลคืออะไร จะมีการส่งหนังสือไปพรรคการเมือง เอาความเห็นพรรคที่กังวลมาปรับแก้ อยากวิงวอนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน ถ้าไม่เอาจริงๆ วาระ 3 พวกท่านก็มีสิทธิไม่รับร่าง อีกทั้งยังวิงวอนไปยังสังคม ช่วยทำความเข้าใจกัญชาในข้อเท็จจริง ถ้าหวั่นกลัว การเมืองจะใช้เรื่องนี้เป็นประโยชน์ ถ้าเราใช้ความกลัวกำหนดกติกาของสังคม… นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ผิดพลาด

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้