“เยาวชน” เหยื่อสุญญากาศกัญชาเสรี

ยิ่งกัญชาเสรีอยู่ในภาวะสุญญากาศทางกฏหมายนานเท่าไหร่ 
ยิ่งกลายเป็นหลุมดำของกลุ่มเยาวชน ?

แม้ปัจจุบันมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับที่ควบคุมกัญชา ก็คือประกาศห้ามสูบในที่สาธารณะ และประกาศห้ามจำหน่ายช่อดอกกัญชาแก่เยาวชน และเข้มงวดกับกลุ่มร้านที่ต้องขอใบอนุญาตถูกต้องตามกฏหมาย แต่มาตรการเหล่านี้ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมการเข้าถึงกัญชาโดยเฉพาะกับกลุ่มเยาวชนได้มากมัก  

ภาวะว่างเว้นจากกฎหมายควบคุมกัญชา จะยาวนานไปถึงเมื่อไหร่… ก็คงต้องดูที่การพิจารณาร่างกฏหมายของสภาผู้แทนราษฎรและซึ่งก็คาดว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ น่าจะพิจารณาไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้จากกระแสข่าวการยุบสภาที่ใกล้เข้ามาทุกที  

ความคืบหน้าล่าสุดของการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา คือเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2565 สภาผู้แทนราษฎร มีมติตัดมาตรา 3 ใน ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่มีเนื้อหาระบุว่า กัญชา-กัญชง ไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดออกไป ขณะที่การพิจารณาร่างกฎหมายทั้งฉบับถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากจำนวนผู้อภิปรายมีจำนวนมาก และติดปัญหาเรื่ององค์ประชุม 

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ถูกเสนอโดยพรรคภูมิใจไทย มาตั้งแต่ 27 ม.ค. 2565 สภาฯ มีมติรับหลักการ 8 มิ.ย.2565 เสียงข้างมากในสภา เห็นชอบมากกว่า 273 เสียง ในวาระแรก แต่เมื่อมาถึงวาระที่ 2 กลับถูกปัดตกจาก ส.ส.ทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย 

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก หลังวันหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2566 ระหว่างการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ สภาก็ล่มอีกครั้ง เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งงดการประชุมสภาในวันพุธที่ 11 ม.ค. 2566 ซึ่งจะมีวาระการพิจารณาร่างกฎหมายด้วยเหตุที่มีการประชุมร่วมรัฐสภา 

ขณะที่เวลานี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ไปได้เพียง 18 มาตรา จากทั้งหมด 95 มาตราเท่านั้น พร้อมกับถูกตั้งข้อสังเกตจากพรรคเพื่อไทยว่า เป็นร่างกฎหมายที่เอื้อการเมือง มีผลประโยชน์ทับซ้อนทางด้านธุรกิจ 

สิ่งนี้ส่งสัญญาณชัดเจนว่าในสมัยของรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา การจะผลักดันกฎหมายควบคุมการผลิต การใช้ การสกัดกัญชาทั้งระบบอาจ ไม่สำเร็จ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้เวลาพิจารณาไปแล้ว 3 ครั้ง แต่ยังไปไม่ถึงครึ่งทาง เป็นผลให้ขยายเวลา สุญญากาศกัญชาเสรีลากยาวออกไปอีก 1 ปี เป็นอย่างน้อย

เสียงสะท้อนเยาวชนผู้เสพกัญชา

หนึ่งในผลกระทบที่น่ากังวลที่สุดในช่วงสุญญากาศกัญชาก็คือ  จำนวนเยาวชน ที่เข้าถึงกัญชาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกับวัยรุ่นอายุ 18-21 ปี The Active ได้พูดคุยกับตัวแทนเยาวชน ซึ่งตอนนี้เป็นรุ่นพี่ของกลุ่มเด็กวัยรุ่นในชุมชน จ.กาฬสินธุ์

ชายวัย 21 คนนี้ยอมรับว่าเริ่มสูบกัญชาตั้งแต่อายุ 16 ปี จากการชักชวนของเพื่อน ทุกวันนี้เขายังสูบกัญชาอยู่ เขาบอกว่าหลังจากปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเมื่อ 9 มิ.ย. 2565 มีกลุ่มเยาวชนคนอื่น ๆ มาร่วมสูบเพิ่มมากขึ้น

แม้จะสูบกัญชามาตั้งแต่เรียนปวช.ชั้นปีที่ 1 แต่วันนี้ก็จบการศึกษาตามหลักสูตรในสายอาชีพ เขาเชื่อว่าการสูบกัญชาไม่ทำให้เกิดการเสพติด เมื่อเทียบกับสารเสพติดชนิดอื่น ๆ ที่เคยลองสูบมาทั้งบุหรี่ ยาบ้า ยาไอซ์ 

เขายังบอกอีกว่า เดิมหากต้องการสูบกัญชา เขาจะหาซื้อแบบแบ่งขายในราคา 100-200 บาทต่อครั้ง ซึ่งสามารถสูบได้ 1 วัน แต่ปัจจุบันหลังจากการปลดล็อกก็หาซื้อง่ายขึ้น ราคาต่ำลงและสามารถปลูกได้เอง 

งานวิจัย ชี้ เยาวชนสูบกัญชาเพิ่ม 10 เท่า หลังปลดล็อก 

เสียงสะท้อนจากเยาวชนข้างต้น ก็พอจะทำให้เห็นว่ากลุ่มเยาวชนเข้าถึงกัญชาได้ง่ายขึ้น และพวกเขาก็ใช้ในเชิงนันทนาการเป็นหลัก สอดคล้องกับผลวิจัยของ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจผลกระทบแนวทางการแก้ไขปัญหาสารเสพติดจากผู้เชี่ยวชาญ จากการเก็บข้อมูลสำรวจ ทัศนคติและพฤติกรรมการใช้สารเสพติด จากกรณีศึกษาประชาชนอายุ 18 – 65 ปี ใน 20 จังหวัด ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2565  ซึ่งจัดทำร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 5,630 คน 

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดังกล่าว พบว่า การใช้กัญชาแบบสูบเพื่อนันทนาการสูงขึ้นในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2565 การใช้กัญชาแบบสูบในเด็กและเยาวชนไทยอายุ 18-19 ปี สูงขึ้น 10 เท่า จาก 1-2% ในปี 2563 เป็น 9.7% ในปี 2565 จึงมีข้อแนะนำ ว่า ควรใช้กฎหมายเข้าควบคุมสารเสพติดโดยเร่งด่วน โดยเป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้ ได้จริงในพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อบรรเทาผลกระทบ ควรติดตามผลกระทบทางกายและจิตที่เกิดจากการใช้สารเสพติดที่เพิ่มมากขึ้นของประชากรไทยในช่วงปีที่ผ่านมาด้วย

ถ้าลองเปรียบเทียบกันดูบ้านเรามีสารเสพติดหลายตัวไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ใบกระท่อม และยาบ้า เป็นต้น ถ้าเทียบกันแล้วกัญชามีแนวโน้มเพิ่มผู้ใช้สูงมากกว่ายาเสพติดตัวอื่นๆ ข้อมูลชุดนี้เป็นข้อมูลชุดที่ไม่ได้จำแนกกลุ่มอายุเป็นการสำรวจภาพรวมตั้งแต่อายุ 18 ถึง 65 ปี 

  • คนไทย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันมาตลอด 4 ปี คืออยู่ที่ 40-50 % 
  • ส่วนบุหรี่มีสัดส่วนผู้สูบอยู่ที่ 28-25 % ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาก็ถือว่าไม่มีความแตกต่างมากเท่าไหร่
  • ขณะที่ใบกระท่อมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากไม่ถึง 1% ใน ปี 2562 มาเป็น 7% ในปีที่ผ่านมา
  • ส่วนยาบ้าถือว่าจำนวนคงที่ อยู่ที่ระดับ 0.1% ตลอดสี่ปี  
  • แต่แนวโน้มที่เห็นได้ชัดคือ “กัญชา” ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับสารเสพย์ติดชนิดอื่น ๆ  กราฟพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเคยมีสัดส่วนผู้ใช้อยู่ที่ 2% เพิ่มขึ้นมา 24.9% และในจำนวนผู้ใช้กลุ่มนี้เป็นเยาวชน อายุ 18-19 ปี ถึง 9.7% 

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขเยาวชนอายุ 18-19 ปี จำนวน 9.7% นี่เป็นตัวเลขที่ปรากฏในงานวิจัยของศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการ จากการเก็บกลุ่มตัวอย่าง 5,600 กว่าคน และเป็นแนวโน้มให้เห็นถึงสถานการณ์ แต่ยังไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด 

แต่ถ้าเอาตัวเลขนี้มาคำนวณกับจำนวนเยาวชนอายุ 18-19 ปีที่ ปัจจุบันมีอยู่ราว 1,500,000 คน หมายความว่า 9% จะ เท่ากับ 140,000 คน แล้วถ้าเป็นไปตามงานวิจัยที่บอกถึงโอกาสที่คนที่สูบจะติดกัญชา และต้องใช้เป็นประจำจะมีถึง 8% ก็หมายความว่าอาจจะมีเยาวชนที่ติดกัญชาอยู่ตอนนี้ 11,000 คน 

ตัวเลขประมาณการเหล่านี้ทำให้นักวิชาการและจิตแพทย์เป็นกังวลถ้าหากเยาวชน แสนกว่าคนที่อาจจะมีโอกาสติดกัญชาในจำนวนหลักหมื่นคน และอาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในปีต่อ ๆ ไป หากยังอยู่ในภาวะสุญญากาศทางกฎหมายกัญชา ก็อาจจะทำให้เราต้องเสียเสียทรัพยากรมนุษย์ไปท่ามกลางสังคมสูงวัย ที่ต้องมีเยาวชนที่มีคุณภาพ เติบโตขึ้นมาทดแทน 

สธ.โต้ เยาวชนใช้กัญชาลดลง

แต่สวนทางกับข้อมูลอีกด้านของกระทรวงสาธารณสุข ที่อ้างอิงข้อมูลการบำบัดรักษายาเสพติดทั้งประเทศ (ข้อมูล บสต.) ปี 2562 มีผู้ที่เสพกัญชาจนต้องเข้ารับการบำบัด 6.89%   ปี 2563 อยู่ที่ 4.85%  ปี 2564 อยู่ที่ 4.28% และปี 2565 อยู่ที่ 3.85%  จะเห็นว่ามีแนวโน้มลดลงตามลำดับ ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายกังวลใจ 

ขณะที่ปัจจุบันมีเครื่องมือในการควบคุมกัญชา ตามประกาศกระทรวงและประกาศของหน่วยงานต่างๆ ถ้ายังจำกันได้ย้อนไปในช่วงที่ปลดล็อกกัญชาใหม่ ๆ สถานศึกษาหลายแห่งก็ออกประกาศห้ามนำกัญชาเข้ามาในโรงเรียนมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่องค์กรต่าง ๆ  และยังตามมาด้วยแนวทางในการใช้กัญชาในอาหารในปริมาณที่ปลอดภัย 

แต่ประกาศกระทรวงที่เป็นการบังคับ และมีโทษทางกฎหมายมีสองฉบับก็คือประกาศห้ามสูบในที่สาธารณะ และประกาศให้เป็นสมุนไพรควบคุมโดยเฉพาะควบคุมช่อดอก 

ปฎิบัติการกวาดล้างช่อดอกกัญชาของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและตำรวจตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมมาจนถึงปัจจุบัน เป็นหนึ่งในความพยายามในการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม กัญชา ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 24 พ.ย 2565 โดยผู้ที่ถูกจับดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็น ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่มีใบอนุญาตและขายบนรถเร่ แผงลอย ในตรอกซอยที่เป็นแหล่งสถานบันเทิง 

ขณะที่ อรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมการปลูกกัญชา ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจาก ประกาศสมุนไพรควบคุมยอดสั่งซื้อจากรายย่อยลดลง พร้อมกับยืนยันว่าที่ผ่านมา จำหน่ายกัญชาให้กับเฉพาะผู้ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น เธอมองว่ากัญชาเสรีถูกมองในแง่ลบ เนื่องจากมีการนำเข้าช่อดอกกัญชาแบบใต้ดินผิดกฎหมาย จำนวนมาก ทำให้เยาวชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าปัจจุบันมีผู้ขอใบอนุญาตจำหน่ายกัญชาจำนวน 1,903 รายใบอนุญาตปลูกกัญชา 881 รายและใบอนุญาตแปรรูปสกัดมีเพียง 41 รายเท่านั้น 

ด้าน ไพศาล ปัณฑุกำพล สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดมองว่า ประกาศกระทรวงทั้งสองฉบับที่มีอยู่ ยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมกัญชาในช่วงสุญญากาศที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติมารองรับ ซึ่งก็คาดว่าไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้

กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดในช่วงสุญญากาศก็คือ เด็กและเยาวชนที่จะเข้าถึงกัญชาง่ายขึ้น จึงมีเพียงข้อเสนอเดียวคือขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเซ็นประกาศให้ช่อดอกกัญชา กลับไปขึ้นบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5  เช่นเดิมจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติรองรับ

สวนทางกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกัญชา ที่ไม่เห็นด้วยกับการนำช่อดอกกลับไปเป็นยาเสพติด เพราะจะกระทบกับภาคธุรกิจที่เดินหน้าไปแล้ว ซึ่งข้อเสนอของผู้ประกอบการ ต้องการผลักดันให้มีร่างพระราชบัญญัติกัญชาโดยเร็วที่สุดซึ่งก็ยังต้องใช้เวลาจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ 

ขณะที่ข้อเสนอให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขเซ็นประกาศดึงช่อดอกกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แทบไม่มีความเป็นไปได้เนื่องจากเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่ผลักดันมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งครั้งก่อน 

แต่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่ายิ่งกัญชาเสรีอยู่ในภาวะสุญญากาศ มากเท่าไหร่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือเด็กและเยาวชน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS