มอง คลองเตย ผ่านสารคดี “คลองเตย Isolated Community” | อิสระ ฮาตะ

“อิสระ ฮาตะ” ชื่อที่หลายคนคุ้นชินในบทบาทของการเป็นยูทูปเบอร์ จากช่อง รับทราบ โปรดักชั่น (RUBSARB production) ที่นำเสนอเนื้อหาแนววาไรตี้ เน้นสร้างเสียงหัวเราะ พร้อม ๆ กับการสอดแทรกสาระ

อีกมุมหนึ่ง “อิสระ” ก็ถือได้ว่าเป็นคนที่เติบโตมาในคลองเตย เพราะเป็นลูกชายของ “ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป ที่ดูแลผู้ยากไร้ในชุมชนแออัดคลองเตย มาอย่างยาวนาน

The Active มีโอกาสได้พูดคุยกับอิสระ หลังเขาชมสารคดี “คลองเตย Isolated Community” เพื่อชวนคิดต่อยอด ถึงมุมมองของคนรุ่นใหม่ ต่อปัญหาโควิด-19 ของคลองเตย

เมื่อคนที่เติบโตมาพร้อม ๆ กับคลองเตย ได้ดูสารคดี “คลองเตย Isolated Community”

ผมรู้สึกว่าสารคดีช่วยให้เห็นที่มาที่ไปถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในคลองเตย ว่าเป็นอย่างไร นำไปสู่อะไร แล้วอะไรเป็นแรงผลักดันให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาลงมือแก้ปัญหากันเอง จนก่อให้เกิดต้นแบบกับพื้นที่อื่น ๆ เพราะคนเราเมื่อเผชิญปัญหา เขาก็จะแสดงศักยภาพออกมา เนื้อหาตรงนี้ช่วยให้เห็นถึงศักยภาพของคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม ตั้งแต่ผู้นำชุมชน ไปจนถึงองค์กรที่ดูแลในพื้นที่ตรงนั้น หรือกระทั่ง วัด ทุกคนมาช่วยกันหมดเลย เป็นเนื้อหาที่สะท้อนออกมาผ่านตัวสารคดี

แต่ถ้ามองตามความรู้สึกของวัยรุ่น การนำเสนอของสารคดี ออกจะนุ่มนวลไปหน่อย เพราะเอาเข้าจริง ตัวสารคดีก็สะท้อนเนื้อหาที่ค่อนข้างแรง เพราะว่า โอ้โห! คุณยายคนแรกก็เสียชีวิต แล้วเราก็เห็นเลยว่าในช่วงแรก ไม่ได้มีการเข้ามากระทำการใด ๆ (Take Action) จากหน่วยงานภาครัฐเลย จนต้องลุกขึ้นมาทำเอง และแม้ไปเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตอนจะเปิดศูนย์พักคอยที่วัดสะพาน จึงได้เห็นภาพของทางภาครัฐ และผู้ว่าฯ กทม. ลงมา

ตอนนี้คลองเตย เปลี่ยนแปลงไปจากในสารคดีแค่ไหน?

มันก็ยังทรง ๆ อยู่ พอมีศูนย์ Community Isolation ของวัดสะพาน ศูนย์ฯ ก็เต็ม แล้วเราก็เจอปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีก เช่น เรื่องของการต้องหยุดงาน ซึ่งตัวสารคดีก็พูดถึง ที่คนจำนวนมากต้องเลือกงาน เลือกการมีอาหารกินก่อน มากกว่ากลัวติดโควิด-19 จนบางคนต้องโกหกนายจ้าง ทำให้ปัญหามันไม่สิ้นสุดสักที ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องสนับสนุน หากขาดการ สนับสนุนก็จะเป็นปัญหาคาราคาซัง ไหนจะปัญหาที่ในสารคดีก็พูดถึง คือเรื่องแรงงานข้ามชาติ ซึ่งชุมชนและตัวคุณแม่ผมเอง ก็เล็งเห็นแล้วว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก แล้วขาดการเหลียวแล ซึ่งเขาก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในคลองเตยเช่นกัน

คลองเตยกับ โควิด-19 ระลอก 3

มีความกังวลมาตั้งแต่ระลอก 1 – 2 ว่าหากเกิดการระบาดในชุมชน มันจะฉุดไม่อยู่ เพราะจากสภาพที่อยู่อาศัยมันเห็นชัด แต่ก็รอดมาได้ ทุกคนก็อุ่นใจ จนมาเกิดระลอกที่ 3 ที่สถานการณ์มันหนัก ผู้ป่วยเคสสีเหลือง สีแดง เพิ่มมากขึ้นเกินกว่าที่จะตั้งตัวทัน สิ่งที่ได้จากระลอก 1-2 ก็มีแค่เรื่องของการบริหารจัดการ กระจายถุงยังชีพ และระบบงานที่องค์กรต่าง ๆ แบ่งกันไว้ เช่น คลองเตยดีจัง มูลนิธิดวงประทีป เช่น มูลนิธิดวงประทีปก็จะดูแลเรื่องอาหารทั้งหมด เป็นต้น

มองบทบาทองค์กรต่าง ๆ และชุมชนคลองเตยอย่างไร

สำหรับคลองเตย ต้องบอกว่า มันเป็นพื้นที่ที่ถูกปล่อยให้เป็นปัญหาคาราคาซังมานานใช่ไหม แล้วพอเกิดปัญหาระดับโลกที่ซ้ำเติมปัญหาเดิมเข้าไปอีก ผมเข้าใจแหละว่ารัฐอย่างเดียวเอาไม่อยู่อยู่แล้ว เพราะลำพังปัญหาเดิมรัฐก็ไม่ได้เหลียวแลเท่าที่ควร พอเกิดโควิด-19 คำว่าทุกคนช่วยกันมันจึงเกิดขึ้นได้เลยในคลองเตย เราอยู่กับปัญหามาอยู่แล้ว ถ้าปล่อยให้รุนแรงกว่านี้เราแย่แล้ว ทุกคนก็ต้องช่วยกัน ทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้

คิดว่าอะไรเป็นต้นทุนสำคัญของคลองเตย

ผมมองเป็น 2 ประเด็น

1. คือคนคลองเตยหลังติดฝา แล้วรู้สึกว่าการจะต้องทำตามกฎหมายไปซะทุกอย่าง แล้วกฎหมายมาบล็อคทุกอย่าง เป็นสิ่งที่เขาต่อสู้ (Fight) มาตลอดชีวิตอยู่แล้ว เพราะแม้แต่เรื่องที่อยู่อาศัย ก็ถูกทางกฎหมายบอกว่า ผิด ๆๆๆ มาตลอด แล้วพวกเขาก็สู้มาตลอด เพราะฉะนั้น เขารู้กันอยู่แล้วว่าการทำเพื่อคนในพื้นที่ตรงนั้น ไม่มีอะไรจะต้องกลัว ก็ลุยเลย

2. การร่วมมือกันของประชาสังคมในพื้นที่ เพราะมีปัญหาอื่น ๆ มาก่อนแล้ว เครือข่ายและความเข้มแข็งของชุมชน จึงมีมากกว่าเพราะต้องสู้ในเรื่องอื่น ๆ มาด้วยกันก่อนหน้านี้ ประกอบกับองค์กรที่ทำงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้เวลาเกิดอะไรขึ้นสามารถเชื่อมต่อ (Connect) กันได้ คุยกันไม่นาน เพื่อระดมไอเดีย

จึงน่าจะต่างกับที่อื่น ๆ ที่ไม่ได้มี 2 ส่วนนี้ประกอบกัน

ต่อยอดอย่างไรในสถานการณ์โควิด-19

นอกจากบทบาทของชุมชน จริง ๆ มีต้นแบบ (Model) ที่น่าสนใจของภาคเอกชน ซึ่งเป็นธุรกิจค้าส่ง ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ตั้งแต่การอุดหนุนร้านอาหารขนาดเล็กส่งมาให้ชุมชน ยังมีการเปิดรับสมัครคนงานในพื้นที่คลองเตย ซึ่งก่อนเริ่มงานก็ต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และมีการจัดที่พักให้ ในลักษณะบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble & Seal) ซึ่งช่วยให้คนในคลองเตยได้ทำงาน ผมคิดว่าเป็นโครงการที่ตอบโจทย์คนคลองเตย เพราะคนคลองเตยต้องการงาน ไม่ได้อยากอยู่เฉย และพร้อมจะให้ความร่วมมือ แต่สภาพที่พวกเขาพบเจออยู่ อาจบังคับให้ไม่สามารถร่วมมือได้ ฉะนั้นการให้งานมาคนคลองเตยยินดีทำ

คนคลองเตย เป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพในด้านแรงงานคนหนึ่ง ถ้ามีโอกาสอื่น ๆ ในด้านการศึกษา จะยิ่งช่วยทำให้เป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ได้ ที่เป็นอย่างทุกวันนี้เพราะว่าไม่มีทางเลือกเฉย ๆ แต่เรามีความภูมิใจ และมีความเป็นมนุษย์เท่ากับคนอื่น

ปัญหาทำให้เกิดทางออกใหม่ ๆ ?

อีก Model ที่ผมมองว่า หากทำไว้ตั้งแต่แรกจะช่วยให้การแก้ปัญหารวดเร็วกว่านี้ คือเตรียมความพร้อมไว้ก่อน ในช่วงที่ภาครัฐสามารถถ่ายทอดความรู้ได้ เช่น การทำ Home Isolation ต้องทำอย่างไร ควรต้องจัดอบรมให้อาสาสมัครต่าง ๆ อย่าหวงความรู้ไว้เฉพาะแค่บุคลากรทางการแพทย์ แต่นำคนเหล่านั้นที่มีไม่พอจะสู้กับโควิด-19 มาเป็นครู แล้วถ่ายทอดให้กับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ก็คิดว่าเป็นแนวทางที่จะได้ผล เพราะมีอยู่โปรเจกต์หนึ่งที่ผมได้ร่วมงานกับมูลนิธิกระจกเงา แล้วจะต้องโทรไปตามเคสต่าง ๆ ที่รับเรื่องต่อมาจากทางหมายเลย 1330 ของ สปสช. ซึ่งทำงานกันในรูปแบบอาสาสมัคร เมื่อหาอาสาสมัครมาได้แล้ว เราเวิร์กช็อปกันแค่วันเดียว ว่าต้องทำอย่างไร แล้วก็ใช้เทคโนโลยีมาช่วย ผมใช้ Discord (โปรแกรมการสนทนา) เปิดห้องทำงาน หลังจากนั้นแต่ละคนก็เอาโทรศัพท์กลับบ้านไป ก็สามารถช่วยเคลียร์เคสได้หมด  มันช่วยลดปัญหาเรื่องคู่สาย

ที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะในสภาวะที่เป็นปัญหาระดับประเทศอย่างนี้ ผมว่าภาคประชาชนทุกคนพร้อมจะช่วยเหลือรัฐอยู่แล้ว แต่รัฐได้จัดการตรงนี้อย่างไร สมมติว่าถ้าผ่านรอบนี้ไปได้ ผมคิดว่าทุกคนควรมีความรู้เท่ากัน ว่าทำ Home Isolation อย่างไร ความรู้ด้านการแพทย์เฉพาะตรงนี้ มันสามารถอบรมคนทั่วไปให้รับมือได้

เพราะยังไม่รู้ว่าจะต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกนานเท่าไร?

ขอพูดถึงการจัดการ 1 ปี ที่ผ่านมาก่อน เหมือนจะมีแผ่วไปช่วงหนึ่ง ถ้าหากมีการเตรียมการ กรณีที่เลวร้าย โรงพยาบาลล้น เตียงทุกอย่างเต็ม เราจะจัดการอย่างไรเพื่อ Home Isolation ถ้าเรามีการเตรียมการให้ความรู้ประชาชนไว้ตั้งแต่ตอนนั้น และเตรียมอาสาสมัครต่าง ๆ เหมือนเป็นกองกำลังสำรองไว้ หนึ่งมันก็จะช่วยลดภาระของหมอได้ สองคือลดความตื่นตระหนก (Panic) ของประชาชน เพราะว่าประชาชนหลายคนที่ผมรับเคสมา เขาพยายามจะหาเตียงอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่เป็นสีเขียว แต่ถ้ามีความรู้เหล่านี้ เขาก็อยู่ที่บ้านได้ไม่ต้องไปไหนเลย

รัฐต้องเชื่อใจประชาชน?

ถ้ารัฐวางใจ ประชาชนก็มีศักยภาพและพร้อมช่วย แต่ถ้าต้องการเสริมความมั่นใจของภาครัฐอีก ก็คือการอบรมให้กับประชาชน ผมว่ามันช่วยได้ เพราะในภาวะแบบนี้การมาขอความช่วยเหลือ ผมว่าทุกคนเข้าใจได้ แล้วสิ่งที่ภาครัฐพูดตลอดว่าทุกคนต้องช่วยกัน ก็คือนี่แหละ ทุกคนพร้อมช่วย ส่วนหน้าที่ใครที่ต้องรับผิดก็ว่ากันไป แต่ส่วนนี้มันบริหารจัดการกันได้ ขอความช่วยเหลือกันได้

“คลองเตย Isolated Community”

ขอเชิญชวนทุกคนดูสารคดีชุดนี้ เพราะจะได้เห็นภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นในคลองเตย แบบคัดมาเน้น ๆ เลย แล้วก็ดูง่าย ดูเพลิน ๆ แต่ถ้าดูให้ลึก ๆ เราจะเห็นความหนักหน่วงของปัญหาในนั้น และยังเป็นตัวอย่างด้วยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในคลองเตย ถูกนำมาเป็นต้นแบบได้อย่างไร เพราะมันมีปัญหาเหล่านี้อยู่นี้แหละ ถึงผลักดันให้ผู้อยู่อาศัย หรือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นี้ เขาต้องเอาตัวรอด และช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างไร ตั้งแต่ช่วยเหลือกันเอง เพื่อนบ้าน ชุมชน จนไปถึงการดึงภาครัฐลงมาช่วย และหันมาดูเรา จนกลายเป็น Model ที่ขยายไปพื้นที่อื่น ๆ มันเป็นอย่างไร

Author

Alternative Text
AUTHOR

ณัฐพล พลารชุน