ชีวิต รายได้ และ ความหวัง : เสียงสะท้อนจากรอบ ‘สวนลุมพินี’

หลายคนคงรู้จักสวนลุมพินี ในนามของสวนสาธารณะใจกลางกรุง ที่เป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนย่อนใจของผู้คนทั่วไป ซึ่งการเป็นพื้นที่รองรับคนจำนวนมาก ทำให้พื้นที่รอบบริเวณสวนลุมพินีต้องขับเคลื่อนด้วยหลากหลายชีวิต อย่างที่ทราบกันว่าถนนย่านนั้นมีสิ่งปลูกสร้างมากมายเกิดขึ้น เช่น โรงแรม คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า รวมถึงเป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญหลายแห่ง ภาพความหลากหลายในพื้นที่นี้มีทั้งอาชีพพนักงานออฟฟิศ พ่อค้าแม่ค้า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในย่านนั้น

The Active ชวนฟังเสียงชีวิตรอบสวนลุมพินี ซึ่งทุก ๆ วันพวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่ใกล้สวนลุมพินี ได้ซึมซับบรรยากาศและการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่โดยตรง ซึ่งแต่ละคนก็มีมุมมองต่อบริบทของพื้นที่ต่างกันไป ทั้งแหล่งสร้างรายได้และความหวังของพวกเขา

‘พื้นที่ความหวัง’ ของหาบเร่แผงลอย

ด้านหนึ่งของรั้วสวนลุมพินีเต็มไปด้วยร้านอาหารริมทาง เท่าที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นข้าวราดแกง และร้านเครื่องดื่ม บนฟุตพาทแคบ ๆ มีผู้คนผลัดเปลี่ยนกันมาซื้ออาหารอย่างต่อเนื่อง บ้างก็นั่งกินโต๊ะข้างร้าน ซึ่งแต่ละร้านก็ถูกจำกัดพื้นที่ให้ตั้งไม่เกิน 3 โต๊ะเท่านั้น

เมื่อลองพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าตามร้านต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่ติด ๆ กันหลายร้าน บางร้านขายที่นี่มานานเกือบ 20 ปี บางร้านเพิ่งย้ายมาจากถนนอังรีดูนังต์ เนื่องจากการจัดระเบียบทางเท้าของกรุงเทพมหานคร การย้ายร้านมาที่นี่ทำให้บางร้านต้องปรับตัว และเหมือนกับต้องตั้งหลักใหม่ในสถานที่ใหม่ ลูกค้าใหม่ ซึ่งถือเป็นความยากของพ่อค้าแม่ค้า

หาบเร่แผงลอยโดยรอบของสวนลุมพินี ทางกรุงเทพมหานคร จัดให้เป็นจุดผ่อนผัน ซึ่งต้องทำตามกฎระเบียบ การจำกัดพื้นที่การตั้งร้านเพื่อไม่ให้กีดขวางทางเท้า การจำกัดจำนวนการตั้งโต๊ะ ซึ่งทุกร้านต้องลงทะเบียนกับทางเขต และจ่ายค่าบำรุงรายเดือน และแต่ละร้านก็จะเสียค่าบำรุงไม่เท่ากัน

ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านอาหารริมทางที่นี่จะเป็นคนที่ทำงานไซต์ก่อสร้างในย่านนั้น คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ พนักงานขับรถส่งอาหาร พนักงานออฟฟิศ เป็นต้น ซึ่งพวกเขาเลือกที่จะฝากท้องมื้อกลางวันที่นี่ โดยลูกค้าส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ‘ราคาไม่แพง’ และ ‘ให้เยอะ’ นอกจากนี้ยังมีให้เลือกหลากหลาย สังเกตได้จากร้านที่เป็นบุฟเฟ่ต์จะมีคนมุงเยอะมาก เจ้าของร้านข้าวแกงบุฟเฟ่ต์ถึงกับบอกว่าบางวันขายไม่พอ ต้องทำเพิ่ม

ไม่เพียงแต่ร้านอาหารข้างรั้วสวนลุมพินี เมื่อเดินเรื่อย ๆ ไปทางประตูท้ายสุดของสวน พบว่ายังมีรถเข็นและหาบเร่แผงลอยหลายเจ้า ที่เดินขายอยู่บริเวณนั้น เพราะไม่สามารถปักหลักตั้งขายตามจุดประจำได้ จึงใช้วิธีเข็นรถเข็นไปมา เผื่อมีลูกค้าสนใจอยากซื้อ โดยมีทั้ง รถเข็นขายผลไม้ ไอศกรีม และเครื่องดื่ม

ประไพพัทธ์ บุตตะคาม เป็นหนึ่งในแม่ค้าที่ขายของบริเวณสวนลุมพินี เธอขายเครื่องดื่มและอาหารปลาให้กับนักท่องเที่ยว และผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา ส่วนตัว ประไพพัทธ์ เช่าแฟลตอาศัยอยู่ในชุมชนบ่อนไก่ ช่วงสายของวัน เธอจะเข็นรถเข็นออกมาขายประตูด้านหลังของสวนลุมพินี

เธอเล่าว่าเคยขายของอยู่บริเวณหน้าประตูสวนลุมพินี แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประตูสวนลุมพินีต้องปิดลง เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว พื้นที่ทำมาหากินของเธอก็ตต้องเปลี่ยนไป เมื่อไม่สามารถขายของหน้าสวนลุมพินีได้อีก เธอต้องคิดวิธีการขายใหม่ จากการนั่งขายของด้านหน้าประตู ต้องเปลี่ยนมาเป็นการเข็นรถเข็นไปมาใกล้สวนแทน ซึ่งเพิ่งเริ่มขายเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้

เมื่อถามถึงปัญหาของพื้นที่ขายของ เนื่องจากบริเวณนั้นใกล้กับฟุตพาทและประตูเข้าสวน เธอบอกว่าเมื่อก่อนเจอปัญหาเรื่องเทศกิจห้ามขายบ่อย ๆ แต่ตอนนี้ก็เริ่มไม่มีแล้ว มองว่าอาจเป็นการผ่อนผันให้กับแม่ค้าพ่อค้าบริเวณนั้น

“ช่วงที่ประตูสวนลุมฯ ปิด ก็ไม่ได้ขายของ เพราะไม่มีเงินลงทุน เลยไม่สามารถไปซื้อขายอะไรได้ ต้องรอประตูสวนลุมฯ เปิด ถึงจะมีที่ให้ขายของ”

สวนลุมพินีแห่งนี้ อาจเป็นเหมือนความหวังของ ประไพพัทธ์ ในการสร้างรายได้ให้กับครอบครัว เพราะเธอต้องเป็นคนหาค่าใช้จ่ายให้คนในบ้าน และดูแลพ่อแม่ไปด้วย ส่วนลูกก็จะช่วยจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ให้ รายได้หลักของเธอในตอนนี้จึงมาจากผู้คนที่เข้ามาใช้สวนลุมพินี และผู้คนที่สัญจรผ่านถนนสายนี้

ไม่ห่างกันมากว่าที่จุดศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่อย่าง วัน แบงค็อก (One Bangkok) ตรงหัวมุมถนนวิทยุและพระราม 4 กำลังก่อสร้าง กำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ประไพพัทธ์ มองดูโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ แล้วอดนึกไม่ได้ว่าสักวันหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเธอ แม้ตอนนี้จะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม อีกทั้งยังมีเรื่องการเวนคืนที่ดินชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนวัดพระเจน และชุมชนโปโล ซึ่งเธอก็เข้าใจว่าอาจเกิดขึ้นจริง และต้องกระทบต่อคนในชุมชนหลายพันชีวิต

เธอบอกว่าพื้นที่ส่วนนั้นจะสร้างออกมาเป็นคอนโดฯ “ศูนย์รวมของคนมีตังค์” เคยมีคนบอกกับเธอว่าถ้าตึกนี้สร้างเสร็จ พ่อค้าแม่ค้า แถวนี้ก็จะขายของไม่ได้ แต่ส่วนตัวมองว่าอนาคตยังไม่แน่นอนว่าจะเป็นแบบนั้นจริงมากน้อยแค่ไหน

“ตอนนี้ยังไม่เห็นผลกระทบ เพราะว่าตึกนี้ยังไม่เสร็จ แต่ถ้าเขาไม่มายุ่งกับเรา เราก็ไม่ยุ่งกับเขา”

ประไพพัทธ์ เป็นเพียงตัวอย่างเสียงของผู้ที่ค้าขายบริเวณสวนลุมพินี ที่หวังว่าพื้นที่สาธารณะแห่งนี้จะให้รายได้ไม่มากก็น้อย แต่สิ่งสำคัญคือขอให้ได้มีพื้นที่ทำมาหากิน และต้องปรับเปลี่ยนวิถีการค้าขายไปกับสภาพแวดล้อม และกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลง

ขอเพียงพื้นที่พักพิง

สำหรับบางคนสวนลุมพินีอาจเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการพักพิง และที่หลบหลีกจากความวุ่นวายตามท้องถนน สังเกตเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักผ่อนในสวนสาธารณะแห่งนี้ แต่รวมไปถึงกลุ่มคนไร้บ้านจำนวนไม่น้อยอีกด้วย

อาจเป็นภาพชินตาของสังคมไทยที่จะเห็นคนไร้บ้านนอนพักตามฟุตบาทริมทาง ใต้สะพานลอย หรือใต้อาคารต่าง ๆ ซึ่งสวนลุมพินีก็เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่กลุ่มคนไร้บ้านเลือกเข้ามาพักพิงชั่วคราว จากการลงสำรวจสวนลุมพินี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแทบจะทุกมุมของสวนเราจะเห็นคนไร้บ้าน แต่การพักผ่อนของพวกเขาก็ไม่ได้สร้างการรบกวนต่อผู้อื่นแต่อย่างใด

The Active ได้พูดคุยกับ ลุงแดง วัย 66 ปีอดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยหนุ่ม ๆ ทั้งเคยทำงานโรงงานและขายของตามตลาด แต่ปัจจุบัน ลุงแดง ไม่ได้มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง จึงต้องอาศัยการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อหาที่พักพิง ลุงแดงใช้พื้นที่สวนลุมพินีไว้เป็นที่นอนพักผ่อนย่อนใจ อีกทั้งอาศัยการซื้ออาหารกับร้านบริเวณนั้น ด้วยความที่ลุงแดงมาที่สวนลุมพินีบ่อย ทำให้รู้จักและคุ้นเคยกับแม่ค้าขายเครื่องดื่มหน้าประตูทางเข้าสวน

แม้บางคนอาจมองว่าลุงแดงไร้บ้าน ต้องเดินทางไปนอนใต้ตึกต่าง ๆ แต่ลุงแดงก็ไม่อยากนิยามตัวเองว่าเป็นคนจรจัดหรือคนเร่ร่อน เพราะไม่เคยขอเงินจากใคร มีแต่การขายของแลกเงินเท่านั้นที่ทำได้ แต่ก็มีบางครั้งที่นั่ง ๆ อยู่แล้วมีคนสงสารและช่วยเหลือด้วยเงินหรืออาหาร ลุงแดงก็ทำได้เพียงขอบคุณน้ำใจจากคนที่ให้มา

“เขามองลุงว่าเป็นคนเร่ร่อนอยู่แล้ว เพราะก็จะแบกเป้ไปเรื่อย ๆ นั่งอยู่ตามป้ายรถเมล์ ตามสวนสาธารณะ ตามข้างเซเว่น ได้เงิน ได้ข้าว อยู่เรื่อย เขาก็มองเราเป็นคนเร่ร่อน”

ลุงแดงบอกว่าพื้นที่แห่งนี้มีคนไร้บ้านจำนวนไม่น้อยที่ต้องอาศัยสวนลุมพินีเป็นที่พักพิง นอนพัก ก่อนจะเดินออกไปเมื่อถึงเวลาสวนปิด

สิ่งหนึ่งที่ลุงแดงเล่าให้ฟังคือคนไร้บ้านส่วนใหญ่ที่เข้ามานอนในสวนลุมพินีมักจะเป็นคนแก่ ซึ่งก็ไม่ค่อยได้ข้องเกี่ยวกันเท่าไหร่ แต่จะอยู่ใครอยู่มันมากกว่า พอถึงเวลาสวนปิดก็แยกย้ายตามเส้นทางของตัวเอง ส่วนตัวลุงแดงจะเดินทางด้วยรถโดยสารอย่างรถเมล์ นั่งไปทั่วกรุงเทพฯ เปลี่ยนที่ไปเรื่อย ๆ

เมื่อถามถึงการเยียวยาที่ได้จากรัฐ ลุงแดงก็ไม่รอช้าที่จะหยิบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ดู ซึ่งบัตรนี้จะใช้จ่ายทั้งค่ารถไฟ รถเมล์ นอกจากนี้ยังได้เงินเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุในแต่ละเดือน ซึ่งลุงแดงบอกว่าเงิน 600 บาท ต่อเดือนไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายเลย ถ้าให้ใช้เงินนี้ซื้ออาหารตลอดทั้งเดือนก็ไม่มีทางพอ

“ลำบาก คนไม่มีกิน อดมื้อกินมื้อ บางคนก็ต้องไปควักหาขยะ เพื่อเอาขยะไปขาย” ลุงแดงพูดถึงคนส่วนใหญ่ผู้สูงอายุที่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน  

“ชีวิตมันไม่เสมอภาค แต่ละคนเกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนเกิดมาจน อนาคตเราจะดี ๆ เหมือนเขามันเป็นไม่ได้”

คำพูดนี้ของลุงแดงอาจสะท้อนความผิดหวังที่รัฐบาลไม่สามารถช่วยประชาชนให้ลืมตาอ้าปากได้อย่างทั่วถึง คงมีคนสูงอายุจำนวนไม่น้อยที่เลือกเส้นทางแบบนี้ โดยการออกเดินทางลำพังเพื่อหาที่พักพิงชั่วคราว พื้นที่สวนลุมพินีก็เป็นหนึ่งในนั้น

การเลี้ยงชีพของสูงวัยรอบสวนลุมพินี

เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ เราก็เห็นภาพของผู้สูงอายุที่ต้องออกมาทำงานมากขึ้น ต่างคนต่างก็ให้เหตุผลที่ต้องออกมาทำงานหาเลี้ยงชีพต่างกัน บางคนก็ยังหยุดทำงานไม่ได้ เพราะไม่มีเงินมากพอสำหรับการยังชีพในวัยเกษียณ บางคนเพียงแค่ต้องการทำงานเพื่อคลายเหงา แก้เบื่อ ซึ่งภาพการทำงานของสูงวัยรอบสวนลุมฯ ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าแม่ค้า หรือขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ตัวอย่างเสียงของสูงวัยรอบสวนลุมพินี อย่าง เพชร วัย 62 ปี อาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พื้นเพเป็นคนอำเภอสีคิ้ว จ.นครราชศรีมา เริ่มประกอบอาชีพนี้ตั้งแต่ปลดประจำการเกณฑ์ทหาร จนถึงตอนนี้เป็นเวลาเกือบ 40 ปี และเลือกที่จะปักหลักรอรับลูกค้าที่บริเวณใกล้รั้วสวนลุมพินี

เมื่อถามถึงความคล่องตัวของรายได้ของอาชีพนี้ เขาเล่าว่า หลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 รายได้ก็ดีขึ้น แต่เมื่อมองย้อนไปในช่วงโควิด-19 ระบาด การขับมอไซค์รับจ้างก็ได้ผลกระทบไม่น้อย แต่ก็เลือกที่จะไม่หยุดรับผู้โดยสาร แม้รายได้จะน้อยลง ได้เฉลี่ยวันละ 100 บาท พอได้เป็นค่าอาหารหรือค่าน้ำมัน แต่ในวัย 62 ปี เขาไม่เพียงทำอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ยังรับส่งเอกสารให้กับออฟฟิศแถวนั้นด้วย เพื่อเป็นรายได้เสริมให้ในแต่ละวัน

ทุกกลางวันเขาเลือกที่จะฝากท้องกับร้านอาหารริมทางบริเวณข้างรั้วสวนลุมพินี เพราะตอบโจทย์สำหรับชีวิตคนหาเช้ากินค่ำหลาย ๆ คน ถ้าไม่มีร้านริมทางเหล่านี้ก็คงหาร้านอาหารลำบาก พื้นที่ตรงนี้จึงเหมาะและสะดวกที่จะซื้ออาหาร

“คนทำงานหาเช้ากินค่ำ จะไปหากินในร้านอาหารก็คงสู้แบบนี้ไม่ได้ แบบนี้มันเหมือนเป็นค่าเฟ่ของพวกเขา”

‘ค่าเฟ่’ ที่มีอาหารหลากหลายและตอบโจทย์ใช้แรงงาน ความอิ่มท้องของผู้คนรอบสวนลุมพินี ก็คงต้องฝากไว้กับร้านอาหารริมทางเหล่านี้

แม้จะอยู่บนถนนเส้นเศรษฐกิจและจุดศูนย์รวมความเจริญ ในมุมของอาชีพนี้ เขาบอกว่าไม่เคยหวั่นใจเรื่องการทำมาหากิน เพราะคิดว่าทุกคนต่างมีชีวิตเป็นของตัวเอง ถ้าเราไม่ก้าวก่ายวิถีชีวิตของคนอื่นก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ตาม

ถัดมาไม่ไกลจากสวนลุมพินี บริเวณฝั่งศาลาแดง สุรัช เสถียรมงคล ชายวัยเกษียณ อายุ 65 ปี อดีตพนักงานบริษัทเอกชน มีอีกอาชีพคือพ่อค้าขายเสื้อฮาวายใกล้สถานีศาลาแดง เขาขายมา 20 ปีแล้ว แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงของหาบเร่แผงลอยหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่บรรยากาศซบเซาลงมาก เขาบอกด้วยน้ำเสียงหนักใจว่าผ่านมา 3 วันก็ยังขายเสื้อไม่ได้สักตัว ซ้ำยังต้องจ่ายค่าบำรุงให้กับเทศกิจเดือนละ 500 บาท

เขาเล่าว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนบริเวณศาลาแดงนี้ มีร้านค้ากว่า 300 ร้านตั้งอยู่ แต่ตอนนี้กลับว่างเปล่าเหลือเพียงไม่กี่ร้าน ซึ่งร้านของ สุรัชก็เป็นหนึ่งในนั้น และร้านค้ายิ่งลดหายไปหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับการจัดระเบียบทางเท้าที่เคร่งครัดขึ้น

“ก็เหลือแต่คนแก่ ๆ ไม่กี่เจ้า เห็นไหม เดินมามีแต่คนแก่”

ซึ่งก็เป็นไปตามคำที่เขาบอกจริง ๆ เพราะเมื่อข้ามมายังศาลาแดง พ่อค้าแม่ค้าก็เริ่มมีแต่ผู้สูงอายุ สลับไปกับคนพิการที่นั่งขายของบนทางเท้า อาจเป็นสิ่งที่เตือนว่าสังคมไทยมีระบบการดูแลกลุ่มคนเหล่านี้มากพอหรือไม่

มีครั้งหนึ่งที่เขาเคยพูดคุยกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อครั้งเดินสำรวจมาที่ย่านศาลาแดง เขาพูดกับ ชัชชาติ ว่า “ผมจะเอาที่ไหนเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ค่าใช้จ่ายก็มี หากินไปวัน ๆ”

ซึ่ง ชัชชาติ ก็บอกว่า ให้เป็นจุดผ่อนผันได้ แต่ต้องทำตามระเบียบ ซึ่งจากที่สุรัชตั้งราวเสื้อผ้าได้ 5 ราว 300 กว่าตัว ต้องลดลงมาเหลือ 2 ราว จากเมื่อก่อนที่เคยขายได้วันละหลักหมื่น ซึ่งก็มีเสื้อมาขายเยอะกว่านี้หลายเท่า วางราวเสื้อผ้าได้ยาวกว่านี้ แต่ก็ต้องยอมรับและปรับเปลี่ยนการขายตามสถานการณ์และกฎระเบียบ

“อะลุ่มอล่วยกันบ้าง รุ่นนี้จะให้ไปทำอะไร ใครจะรับทำงาน ถ้าไม่ได้ขายของก็อดตาย”

เสียงนี้จึงสะท้อนได้ว่าพื้นที่ศาลาแดงที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยมีราคาแพง ร้านค้าเซ้งต่อกันหลักแสน เป็นทำเลที่คนอยากมาขายของ แต่ปัจจุบันกลับเหลือแต่เพียงความเงียบเหงาอย่างที่สุรัชเองก็ไม่เคยเจอมาก่อน…

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสียงชีวิตรอบสวนลุมพินี ที่กำลังขับเคลื่อนชีวิตบนถนนราคาแพง แม้รายได้ของพวกเขาจะไม่ได้มีราคาแพงเท่า แต่พื้นที่รอบสวนลุมพินีก็เป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงชีพ แม้วัยจะเข้าสู่ความร่วงโรยแล้วก็ตาม แต่ยังไงชีวิตก็ต้องไปต่อในยุคที่โลกกำลังผันผวน และเปลี่ยนแปลงไปตามข้อกำหนดใหม่ของสังคม


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี