สำรวจพื้นที่รอบสวนลุมฯ ซอกหลืบของความเหลื่อมล้ำ

สวนลุมพินี เป็นสวนสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ เปิดให้บริการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2468 ปัจจุบันเป็นพื้นที่สาธารณะรองรับคนที่มาพักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกายวันละกว่าหมื่นคน  

จุดเด่นสำคัญของพื้นที่สีเขียวขนาด 360 ไร่ ใจกลางกรุงแห่งนี้  คือทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นศูนย์กลางของย่านธุรกิจและความเจริญ รายล้อมไปด้วยตึกสูงระฟ้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรมหรู และสาธารณูปโภคครบครัน จนทำให้ที่ดินละแวกนี้กลายเป็นที่ดินที่แพงที่สุดในประเทศ  และถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของคนมีฐานะ

แต่อีกด้านหนึ่งในพื้นที่ละแวกนี้ก็ยังมีบางซอกหลืบที่ยังคนมีรายได้น้อย ที่ต้องดิ้นรนหางานทำเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงกว่าพื้นที่อื่น หากลงไปสำรวจในพื้นที่ก็จะพบ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่่สะท้อนออกมาในหลายมิติ ทั้ง ชุมชนแออัด ที่ซุกตัวอยู่ไม่ไกลจากย่านอาคารสูง หาบเร่ แผงลอยที่กระจายตัวอยู่ไม่ไกลจากภัตคาร ร้านอาหารระดับพรีเมียม และอื่น ๆ อีกมากมาย

นับวันความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่รอบสวนลุมพินี ผลักให้คนตัวเล็กตัวน้อยที่อาศัยอยู่ใจกลางเมือง ห่างไกลจากโอกาสในการเข้าถึงสาธารณูปโภค แหล่งงาน แหล่งรายได้ อย่างที่ควรจะเป็น จนหลายฝ่ายเริ่มหันมาวางแผนช่วยกันพัฒนาแบบคู่ขนาน ทั้งให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่เมกะโปรเจ็กต์เดินหน้าไปไปพร้อมกับที่ร้านค้าข้างทางขนาดเล็กอยู่ได้อย่างเกื้อหนุนกันในพื้นที่

ทางกายภาพพื้นย่านนี้เป็นทำเลทองของนักลงทุน ด้วยราคาที่ดินที่ติดอันดับสูงสุดในประเทศ ไล่มาตั้งแต่ถนนวิทยุ ราชดำริ สีลม สาทรเหนือ เพลินจิต ดวงพิทักษ์ ซึ่งราคาประเมินอยู่ที่ตารางวาละประมาณ 1 ล้านบาท หรือถัดมาแถวย่าน ถนนสารสิน พระราม 4 อังรีดูนังต์ พญาไท นราธิวาสฯ ซึ่งราคาลดหลั่นลงมาอยู่ที่ประมาณตารางวาละ 4-7 แสนบาท

ตอกย้ำความเป็นย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจและความเจริญ สะท้อนผ่านแลนด์มาร์กสำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าทั้ง เซ็นทรัลเวิลด์ สยามสแควร์ สยามพารากอน เซ็นทรัลเอ็มบาสซี เซ็นทรัลชิดลม โรงแรมห้าดาว ฯลฯ ที่ถือเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ยังไม่รวมกับอีก 2 เมกะโปรเจ็กต์ ทั้ง วัน แบงค็อก ซึ่งรวมเอาโรงแรม ที่อยู่อาศัย ร้านค้า ห้องประชุม สำนักงาน เข้ามาไว้ด้วยกัน โดยมีงบลงทุนก้อนใหญ่กว่า 1.2 แสนล้านบาท และ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค อภิโปรเจ็กต์มิกซ์ยูสมูลค่ากว่า 4.6 หมื่นล้านบาท ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจย่านนี้ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ความเจริญที่ตามมากับราคาที่ดินที่ถีบตัวสูงขึ้น ทำให้หลายคนต้องปรับตัว ทั้งการใช้ชีวิต และการสร้างที่อยู่อาศัย โดยจะเห็นการกระจุกตัวที่หนาแน่นในพื้นที่เขตเมือง เกิดการรวมตัวเป็นชุมชนที่หนาแน่น แทนที่จะไปอยู่แบบกระจายตัวเหมือนในพื้นที่ชานเมือง

หากมองพื้นที่รอบสวนลุมพินีเป็นรายเขตจะครอบคลุม 8 แขวงใน 7 เขต ได้แก่ แขวงคลองเตย แขวงสีลม แขวงปทุมวัน แขวงลุมพินี แขวงมักกะสัน แขวงคลองเตยเหนือ และแขวงทุ่งมหาเมฆ รวมพื้นที่ 48 ตร.กม. มีจำนวนที่อยู่อาศัย จำนวนบ้าน 256,728 หลัง มีประชากรรวม 289,209 คน แบ่งเป็น ชาย 136,353 คน หญิง 152,85 คน คิดเป็นความหนาแน่นประมาณ 6,006 คน/ตร.กม.

โดยหากพิจารณาเป็นรายเขตจะพบว่า เขตที่มีประชากรหนานแน่นมาที่สุดคือ ราชเทวี มีประชากร 67,735 คน มีพื้นที่ 7.126 ตร.กม. มีจำนวนบ้าน 54,612 หลัง คำนวณเป็นความหนาแน่น 9,505 คน/ตร.กม. ตามมาด้วยเขตบางรัก มีประชากร 45,015 คน มีพื้นที่ 5.536 ตร.กม. จำนวนบ้าน 32,664 หลัง คำนวณเป็นความหนาแน่น 8,131 คน/ตร.กม.

เขตสาทร มีประชากร 73,987 คน ,มีพื้นที่ 9.326 ตร.กม. มีจำนวนบ้าน 43,840 หลัง คำนวณเป็นความหนาแน่น 7,933 คน/ตร.กม. เขตคลองเตย มีประชากร 91,636 คน มีพื้นที่ 12.994 ตร.กม. มีจำนวนบ้าน 78,678 หลัง คำนวณเป็นความหนาแน่น 7,052 คน/ตร.กม. เขตวัฒนา มีประชากรรวม 81,382 คน มีจำนวนบ้าน 82,927 หลัง มีพื้นที่ 12.57 ตร.กม. คำนวณเป็นความหนาแน่น 6,477 คน/ตร.กม.

จากข้อมูลของ สำนักงานการพัฒนาชุมชน สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2565 จะพบว่ามีชุมชนแออัดจำนวนมากที่อยู่ในเขตพื้นที่เมืองที่เป็นย่านหรูหรา โดยในเขตรอบสวนลุมพินี มีชุมชน รวม 136 ชุมชน เป็นชุมชน แออัดถึง 65 ชุมชน ชุมชนเมือง 50 ชุมชน และอาคารสูง 15 ชุมชน

ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือเขตวัฒนาที่เป็นพื้นที่ใจกลางเมือง มีอาคารสูง 6 ชุมชน ชุมชนเมือง 11 ชุมชน แต่มีชุมชนแออัดถึง 22 แห่ง เขตปทุมวัน มีชุมชนแออัด 18 แห่ง ขณะที่มีุมชนอาคารสูงเพียง 7 แห่ง เขตยานนาวามีชุมชนแออัดถึง 14 ชุมชน และ เขตราชเทวีมีชุมชนแออัด 12 แห่ง

โดย ระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยชุมชนและกรรมการชุมชน พ.ศ. 2564 ระบุ ถึงประเภทชุมชนไว้ดังนี้  ชุมชนแออัด  คือ ชุมชนที่มีลักษณะบ้านเรือนหนาแน่น ประชาชนอยู่อย่างแออัด  ชุมชนเมือง  คือ ชุมชนที่มีลักษณะของบ้านเรือน อยู่รวมกันค่อนข้างหนาแน่น แต่ไม่แออัด มีสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการคมนาคมสะดวก  ชุมชนชานเมือง คือ  ชุมชนที่มีพื้นที่ด้านเกษตรกรรม และชุมชนที่มีบ้านเรือนอยู่รวมกัน ชุมชนอาคารสูง คือ ชุมชนที่มีสภาพเป็นแฟลต คอนโดมิเนียม อะพาร์ตเมนต์ หรืออาคารอย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน  ชุมชนรูปแบบพิเศษ คือ ชุมชนที่นอกเหนือจากสี่ประเภทดังกล่าวข้างต้น

การเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในพื้นที่ นำมาสู่การก่อสร้างอาคารตึกสูงมากมาย แรงงานจำนวนมากต้องเข้ามาปักหลักอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในแคมป์คนงานเป็นเวลานาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่ค่าครองชีพค่อนข้างสูง โดยข้อมูลปี 2564 พบว่าในพื้นที่มีคนงานที่อยู่รวมถึง 11,195 คน เป็นคนไทย 3,589 คน ต่างด้าว 7,606 คน

โดยเขตที่มีแคมป์คนงานมากที่สุดคือ เขตปทุมวันที่มี 5 แคมป์ มีคนงานถึง 4,018 คน เขตราชเทวี 12 แคมป์ 2,233 คน เขต บางรัก มี 28 แคมป์ แรงงาน 1,987 คน เขตยานนาวา 12 แคมป์ 1,435 คน แขตวัฒนา 15 แคมป์ 1,429 คน

ท่ามกลางร้านค้า ห้างสรรพสินค้ามากมายในพื้นที่ แหล่งอาหารองคนจนเมืองในย่านนี้หนีไม่พ้น หาบเร่แผงลอย ซึ่งแฝงตัวอยู่ในพื้นที่ใกล้กับชุมชน และแคมป์คนงานก่อสร้าง ที่ช่วยทำให้ลดค่าใช้จ่ายในแต่ละมื้อได้อยู่พอสมควร อีกด้านหนึ่งก็ยังเป็นช่องทางทำมาหากินให้คนที่ไม่มีที่ทางเปิดร้านค้าขายของ พอได้หาทำเลตั้งรถเข็นขายของสร้างรายได้ แม้บางจุดอาจจะมีข้อจำกัดเรื่องการจัดระเบียบจากกรุงเทพมหานคร

แต่หากพิจารณาจากข้อมูลที่จัดเก็บของ กทม. ก็จะพบว่าบางพื้นที่มีจุดผ่อนผันให้ขายหาบเร่ แผงลอย ที่ไม่ตอบโจทย์กับการค้าขาย หรือบางพื้นที่มีการลักลอบขายของในพื้นที่ห้ามขายแบบไม่มีทางเลือกมากนัก กลายเป็นปัญหาที่ต้องทำให้เกิดความสมดุลทั้งเรื่องปากท้องและความระเบียบเรียบร้อย

จากการสำรวจหาบเร่ในช่วงปี 2565 ในกรุงเทพฯ 7,996 แห่ง หากพิจารณาเฉพาะในพื้นที่รอบสวนลุมพินี มีหาบเร่ 1,694 ราย โดย เขตวัฒนาจะมีหาบเร่น้อยที่สุด คือ 74 ราย และเขตที่มีหาบเร่มากที่สุดคือ ราชเทวี 573 ราย ขณะที่ เขตปทุมวัน 139 ราย เช่น ถนนสารสิน 56 ราย ถนนหลังสวน 13 ราย หน้าอาคารโรเล็กซ์ 20 ราย

ปัจจุบันทางกทม. มีความพยายามเข้ามาจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ทั้งในแง่ของการจัดระเบียบ และในแง่ของการเพิ่มพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้ามาขายของในจุดที่กำหนด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ใจกลางเมือง ที่การแก้ไขปัญหาจะต้องทำให้การพัฒนาในพื้นที่เดินหน้าไปแบบคู่ขนานทั้งธุรกิจยักษ์ใหญ่ และหาบเร่ข้างทาง เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันในพื้นที่ได้อย่างสมดุล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active