ความรู้สึกร่วมเมื่อก้าวสู่สนามความยากจน

หากไม่สามารถห้ามความรู้สึกได้ นักวิจัยควรอยู่ตรงไหนของสนามความยากจน

เมื่อพูดถึงสนามความยากจน หลายคนคงนึกถึงพื้นที่ที่มีความทุรกันดาร ผู้คนในพื้นที่มีรายได้น้อย หรือนึกถึงภาพของการทำการเกษตรที่แห้งแล้งจนไม่เกิดผลผลิต แน่นอนว่าประเทศไทยมีสนามลักษณะนี้ให้นักวิจัยได้ลงพื้นที่ศึกษาหลายพื้นที่ ซึ่งประเด็นความยากจนเป็นประเด็นหลักที่ไม่เคยหายไปจากสังคม

บางงานวิจัยใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ผลสรุปของพื้นที่นั้น ๆ นักวิจัยเป็นปัจเจกบุคคลที่เลือกนำตัวเองไปลงสนาม พวกเขาต้องยอมรับและปรับตัวกับสิ่งที่พบเจอ นักวิจัยหลายคนเมื่อลงพื้นที่ไปแล้วได้ใช้เวลากับสนามก็อาจเกิดความรู้สึกร่วมกับสนามความยากจน จนเกิดความรู้สึกร่วมทุกข์และไม่สามารถต้านความรู้สึกนี้ได้เลย…

นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาหลายคนที่มีประสบการณ์จากสนามความยากจน ได้พบเจอและเรียนรู้ถึงการมีอยู่ของตำแหน่งแห่งที่ของนักวิจัย โดยประเด็นสำคัญที่มีการหยิบมาพูดถึงก็คือ ‘ความรู้สึกร่วม (empathy)’ ของเหล่านักวิจัย ‘นิยามความยากจน’ และ ‘วิธีวิทยาการศึกษากลุ่มคนยากจนในสังคมไทย’ ซึ่งเหล่านี้ทำให้เกิดมุมมองที่ว่า “ไม่มีทางเลยที่ความยากจนจะหมดไป”

The Active ชวนอ่านมุมมองของนักวิจัยในสนามความยากจน ที่ต้องแบกรับความรู้สึกร่วม ความคาดหวัง และความทุกข์ยาก ‘เมื่อคนนอกต้องทำความเข้าใจชีวิตของคนใน’

สนามความยากจนจะไม่หายไปจากสังคม

          “ความยากจนจะไม่หายไปจากสังคม ตราบใดที่โครงสร้างสังคมไม่มีความเท่าเทียมกัน”

กนกวรรณ มะโนรมย์

รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกกับ The Active ว่า ความยากจนจะไม่สูญหายไป ถ้าสังคมโดยรวมเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใช้อำนาจความรู้ การเมือง และเศรษฐกิจ การมีทุนมากมายเช่นนี้ไม่สามารถทำให้ประเด็นความยากจนหายไป และอาจจะมีกลุ่มคนยากจนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ไม่ใช่คนจนในชนบทเท่านั้น แต่เป็น ‘คนจนเมือง’ ด้วย แม้กระทั่งกลุ่มคนจนในเมืองก็จะเป็นคนจนหน้าใหม่เช่นกัน

‘ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการผันผวนอะไรบางอย่าง’ เช่น การเกิดขึ้นของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ภัยแล้ง น้ำท่วม การผันผวนเหล่านี้ก็ส่งผลให้เกิดความหมายของคนจนในอีกแบบหนึ่งได้

เมื่อความยากจนไม่เคยหายไปจากสังคม นักวิชาการยิ่งเริ่มตั้งคำถามใหม่ ๆ ในสนามความจนที่ไม่มีท่าทีจะหมดไป

“ความจนหน้าตาเป็นอย่างไร ภายใต้สังคมที่มีความผันผวน ซับซ้อน และมีโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน”

รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์

กนกวรรณ ยกตัวอย่างคำถามแนวใหม่ที่เกิดขึ้นต่อสนามความจน ทั้งการศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มคนจน การต่อสู้และต่อรองกับรัฐ รวมถึงการเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐ พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบนโยบายความยากจนด้วยหรือไม่ เพื่อแสดงสิทธิของคนกลุ่มนี้ออกไปสู่สังคม แม้แต่ตัวของนักวิจัยเองก็ต้องตั้งคำถามว่าตัวเองอยู่ในจุดในของสนามความจน

“ถ้ายกคำว่านักวิจัยออก เราก็เป็นปุถุชนคนหนึ่ง” ที่ต้องเข้าไปรับรู้เรื่องราวความลำบากแสนสาหัสของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แล้วตัวนักวิจัยเองคิดอย่างไรกับภาพที่เห็นข้างหน้า…

ขีดจำกัดของความรู้สึกร่วม

“เราบอกว่าเรามีความรู้สึกร่วมกับเขา แต่จริง ๆ แล้วเราเข้าใจความรู้สึกเขาจริงไหม อยู่ในระดับเดียวกันไหม”

ผศ.ฐานิดา บุญวรรโณ

ผศ.ฐานิดา บุญวรรโณ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มองว่า ‘นักมานุษยวิทยารู้สึกต่อภาคสนามต่างกัน’ บางคนรู้สึกร่วมหนักมาก บางคนไม่รู้สึกอะไรเลย

ความรู้สึกร่วมไม่ได้กลืนกินตัวตนของนักวิจัยไปทั้งหมด แม้จะเข้าไปในสนามเดียวกัน แต่ทุกคนก็มีที่มาไม่เหมือนกัน ผ่านประสบการณ์ชีวิตไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้นักมานุษยวิทยาแต่ละคนมี ความรู้สึกร่วม หรือ empathy ที่ไม่เหมือนกัน ฐานิดา ยังมองว่า ความเป็นคนในและคนนอกยังคงเป็นเส้นบาง ๆ ในการเชื่อมโยงนักวิจัยกับผู้คนในสนาม ดังนั้น ก้าวแรกคือต้องก้าวเข้าไปหาโลกของพวกเขา เพื่อเข้าใจสถานภาพว่าความจนคืออะไร

‘ผิดไหมถ้านักวิจัยจะร่วมรู้สึกในสนาม และความสงสารจะไปลดคุณค่าของผู้คนในสนามไหม’ บทบาทของนักมานุษยวิทยา คือ การเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้คนและทำความเข้าใจสนามที่ศึกษาอยู่ ซึ่งการที่พยายามทำความเข้าใจคนในก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องร่วมรู้สึก

“พูดง่าย ๆ ก็คือ ความร่วมรู้สึกคือสิ่งจำเป็นในการทำงานภาคสนาม เพราะเป็นเหมือนสะพานให้นักมานุษยวิทยาได้เข้าไปยังพื้นที่ทางอารมณ์ของคนที่เราศึกษา”

ผศ.ฐานิดา บุญวรรโณ

ในมุมนี้ กนกวรรณ บอกว่าเธอมีความรู้สึก ‘แปลกแยกในตัวเอง’ และมีสองประเด็นที่เกิดขึ้นในระหว่างลงสนาม เธอได้เล่าว่าในวัยเด็กของเธอมาจากครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะ อยู่กินท่ามกลางทรัพยากรที่มีจำกัด อาศัยอยู่ภายใต้สังคมเล็ก ๆ ที่มีข้อจำกัด ซึ่งในตอนนั้นก็คิดไม่ออกว่าจะหลุดจากความยากจนอย่างไร…

ในจุดนี้จึงทำให้เข้าใจว่าคนจนกำลังคิดอะไร พวกเขาคาดหวังอะไร เมื่อได้ก้าวมาเป็นนักวิจัยสนามความจน ภาพของสนามจึงทำให้ประสบการณ์เดิมที่มียิ่งกระจ่างชัดขึ้นมาในวันที่เธอก้าวผ่านความจนมาแล้ว แต่เมื่อได้มาศึกษาสนามความจนในปัจจุบันก็ไม่ต่างกันมากนัก เพราะ “การทะลุเพดานความยากจนช่างเป็นไปด้วยความยุ่งยากเหลือเกิน” ต้องมีทรัพยากรบางอย่างที่ทำให้หลุดออกจากความยากจน กนกวรรณ มองจากมุมที่เธอเคยผ่านความประสบการณ์ความยากจนมาก่อน

ประเด็นที่สองในฐานะที่กลายเป็นชนชั้นกลาง มีสถานะทางสังคมที่ดีขึ้น มีอำนาจทางสังคมที่จะพูด เขียน และคิดอะไรได้อย่างอิสระ ข้อจำกัดก็ลดลงกว่าเมื่อครั้งยังอยู่ในสถานะที่ไม่รู้ว่าจะดึงตัวเองออกมาจากความจนอย่างไร ‘การศึกษา’ เป็นช่องทางที่ทำให้เธอนำตัวเองออกจากความจน

รศ.กนกวรรณ ยังย้ำว่าการหลุดออกจากความยากจนนั้นไม่ใช้เรื่องง่าย แม้ยุคสมัยการเปลี่ยนไปก็ตาม พวกเขาไม่ได้ต่างไป แต่เป็นตัวเธอเองต่างหากที่เปลี่ยนไป

การจะขยับเรื่องการศึกษาให้แต่ละระดับชั้น จากประถมไปมัธยม จากไปมัธยมไปมหาวิทยาลัย ยังคงเป็นเรื่องยากเหมือนเดิม เมื่อเธอได้ลงสนามไปศึกษา และยากกว่าในอดีตเพราะความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้นมากขึ้นกว่าเดิม

คนที่มีอำนาจในการใช้ทรัพยากรมากกว่าคนในพื้นที่ มีอำนาจมากกว่าสมัยอดีต อย่างเช่นกลุ่มทุนที่เข้ามาใช้ทรัพยากรที่ดิน เช่น การสร้างอุตสาหกรรม เหมืองหิน เขื่อน ส่งผลกระทบให้คนในท้องถิ่นไม่สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ การจะนำทรัพยากรมาดัดแปลงเป็นสินค้ายิ่งทำยากขึ้น เนื่องจากการเข้ามาของทุนเหล่านี้แย่งชิงทรัพยากรไป

เหมือนว่าการลงสนามยิ่งทำให้นักวิจัยเห็นภาพของความยากจนชัดเจนขึ้น ประกอบกับประสบการณ์ที่เคยพบเจอ อาจยิ่งทำให้ความรู้สึกของนักวิจัยเพิ่มพูนขึ้น แต่การได้เห็นความทุกข์ในสนามความจนก็คงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความบั่นทอนทางจิตใจไม่น้อย

แบกรับความทุกข์จากสนามความจน

“บ่อยครั้งที่ร้องไห้ในพื้นที่”

กนกวรรณ ได้เล่าประสบการณ์ความรู้สึกร่วมที่เธอได้รับจากสนามความจน ว่าเกิดความรู้สึก ‘หดหู่’ ระหว่างดำเนินโครงการวิจัย ก็จะมีการแลกเปลี่ยนกับทีมวิจัยอยู่เสมอเกี่ยวกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่อสนาม

ความร่วมรู้สึกและความรู้สึกสงสารมีผลกระทบต่อตัวนักวิจัยอย่างปฏิเสธไม่ได้ การช่วยเหลือจึงเกิดขึ้นโดยการมอบสิ่งของ ทั้งอาหาร อุปกรณ์การทำงาน อุปกรณ์การศึกษา เป็นต้น เพราะบางครั้งอุปกรณ์ที่มอบให้ก็สามารถสร้างอาชีพให้พวกเขาได้ เช่น เตารีด หม้อหุงข้าว นอกจากนี้ยังมีการติดต่อหน่วยงานอย่างนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาช่วยเหลือ หรือการเปิดรับบริจาค สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า เป็นเรื่องยากที่นักวิจัยจะไม่รู้สึกร่วมกับสนาม เพราะการจะเข้าใจความยากจนนั้น ต้องอาศัยประสบการณ์ร่วม อีกทั้งการมองเห็นสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของสนามความจนก็ส่งผลให้เกิดความทุกข์ต่อนักวิจัยบ่อยครั้ง ซึ่งก็จะเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในหัว เมื่อนึกถึงก็จะเห็นภาพเหล่านั้นเสมอ

ด้าน ผศ.ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ ภาควิชานวัตกรรมการพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การทำงานในสนามความจนเรามักถูกตั้งคำถามและตั้งความคาดหวังอยู่เสมอ ว่าเราจะช่วยกลุ่มคนเปราะบางได้ สนามลักษณะนี้จึงเป็นความท้าทายมากสำหรับนักวิจัยว่าเราจะนำความรู้สื่อสารต่อผู้คนในสนามกับผู้คนภายนอกได้อย่างไรบ้าง นักวิจัยจึงค้นหาตลอดว่าตัวตนของนักวิจัยอยู่ตรงไหน และจะเชื่อมต่อสิ่งที่เข้าไปศึกษาอย่างไร

ปิ่นวดี ยังเน้นว่า เวลาเข้าไปในสนามของการวิจัย จะยึดถือสิ่งที่เป็นตัวเองอยู่เสมอ ก็คือการไปในฐานะคนนอก ต้องชี้แจงให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เขาคาดหวังกับนักวิจัยมากกว่าระดับที่ควรจะเป็น เมื่อเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจในการให้ข้อมูล นักวิจัยก็ควรคำนึงถึงตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง ต้องมีการกลับมาทบทวนกับผู้ช่วยวิจัยว่าสิ่งที่เราเขียนนั้นสะท้อนกับสิ่งที่แหล่งข้อมูลพูดจริงไหม

เมื่ออยู่ในสนามนักวิจัยวางตำแหน่งของตัวเองไว้หลากหลาย ทั้ง ‘ผู้มีสถานะที่แตกต่าง’ ‘ผู้เป็นเพื่อนมนุษย์’ เมื่อนักวิจัยมองถึงความเป็นเพื่อนมนุษย์ ก็คงหนีไม่พ้นที่จะมอบบางอย่างให้ผู้คนในสนามความยากจนที่ต้องประสบพบเจอ หรือแนะนำการสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่

ส่วนบางมุมมองของคนภายนอกที่มีต่อสนามความยากจน อาจมองคนกลุ่มนี้เป็นคนจนขี้เกียจ ดักดาน ขาดความรู้ คนจนต้องอยู่อย่างพอมีพอกิน เหล่านี้คือชุดความรู้ที่ซับซ้อนมาก ปิ่นวดี มองว่า ต้องทำให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มันซับซ้อนมากกว่าที่หลายคนมอง ไม่ใช่จนเพราะแค่เรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา ที่อยู่อาศัย แต่ความจนมีองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง ทั้งชุดความรู้ ชุดความคิด และการสร้างโอกาสทางสังคม

แม้ต้องแบกรับความทุกข์จากสนามความยากจน แต่ กนกวรรณ ก็มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้มุมมองที่มีต่อสนามความยากจนเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเชื่อว่าคนจนก็มีอำนาจ ไม่ควรนิยามคนจนในรูปแบบเดิมว่าเป็นคนจนต้องอยู่แบบ ‘เรียบง่าย’ ควรนิยามคนจนในความหมายใหม่ว่าคนจนก็สามารถต่อรองได้ สามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายการพัฒนา

ส่วนคนจนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม คนที่ไม่เคยจนก็กลายเป็นคนจนเนื่องจากทรัพยากรถูกแย่งชิงไปจากชุมชน ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม ที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน ส่งผลให้ชุมชนต้องย้ายถิ่นฐาน น้ำท่วมที่ดินไร่นาเป็นเวลานานก็ทำให้กลายเป็นคนจนได้นี่สุด เนื่องจากสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร

          “ภายใต้สังคมที่ไม่แน่นอน และไม่เท่าเทียม ความยากจนก็จะซับซ้อนขึ้น ไม่ใช่เฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ”

รศ.กนกวรรณ มะโนรมย์

มีแนวโน้มว่าคนจนเริ่มลุกขึ้นตั้งคำถามกับโครงการพัฒนามากขึ้น… ซึ่งโครงการพัฒนานั้นเกิดมาจากรัฐและโครงการของรัฐที่เอื้อให้ต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในการลงทุน

ถึงแม้รัฐจะเชื่อว่าการลงทุนขนาดใหญ่นี้จะช่วยขยายผลประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงาน แรงงานมีงานทำ ลูกหลานของแรงงานได้รับการศึกษา รัฐเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาความยากจนได้ กนกวรรณ มองว่าประเด็นนี้อาจไม่เกิดขึ้นจริงเสมอไป อย่างมากคนจนก็กลายเป็นแรงงานชั่วคราวเมื่อโครงการก่อสร้างต่าง ๆ เริ่มเข้าไปในชุมชน แต่ในระยะยาวนั้นไม่สามารถเกิดความยั่งยืนได้

“ทำไมคนยากจนถึงยังดำรงอยู่แบบนี้ ทั้ง ๆ ที่มีโครงการพัฒนามากมายเกิดขึ้น” กนกวรรณ ยังคงตั้งคำถามกับสนามความจนที่เธอพบเจอมาตลอดของการทำงานวิจัย

และเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงเกิดคำถามแบบนี้เช่นกัน เมื่อมองภาพอนาคตว่าสนามความยากจนไม่มีทางหายไป เพราะเป็นปัญหาที่ฝังลึกในทุกสังคม เพียงแต่สังคมจะทำอย่างไรเพื่อช่วยบรรเทาความยากจน ไม่ให้เกิดสนามความยากจนเพิ่มขึ้นอีก และเชื่อว่านักวิจัยสนามความยากจนก็คงอยากเห็นภาพนี้เกิดขึ้น

หมายเหตุ เนื้อหาบางส่วนเรียบเรียงจากการประชุมวิชาการ มานุษยวิทยา 66 ห้วข้อ "ชีวิตภาคสนาม (life, ethnographically!)" หัวข้อ “ภาคสนามในประเด็นความยากจน” ที่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี