ขายถาวรในพื้นที่ชั่วคราว…ยกระดับคุณภาพชีวิต “หาบเร่แผงลอย”

“หาบเร่แผงลอย” บนทางเท้าหรือพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะคนซื้อ คนขาย คนสัญจร เห็นตรงกันว่าการค้าขายแบบนี้ ทำให้การเดินบนทางเท้าไม่สะดวก ไม่สะอาดตา

แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นที่จะกล่าวถึง เพราะยังมีความจริงอีกหลายแง่มุมที่น่าทำความเข้าใจ โดยเฉพาะ การค้าขายริมถนน ที่ดูเหมือนเป็นวิถีชีวิตหนึ่งของสังคมไทย ไม่นับว่าเป็นความสามารถในการเอาตัวรอดและการปรับตัวของคนกลุ่มหนึ่ง ในโลกที่ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“ทำเล” คือหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการทำการค้า หาบเร่แผงลอยก็ใช้กลยุทธ์นี้เช่นเดียวกัน พวกเขามองหาพื้นที่สาธารณะที่มีคนเดินพลุกพล่าน มีความต้องการอาหารง่าย ๆ สะดวกพร้อมกิน ราคาไม่แพง เมื่อมีกลุ่มลูกค้า ก็ย่อมมีผู้ค้า ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด การจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าและพื้นที่สาธารณะทุกยุคทุกสมัย แม้จะดำเนินการอย่างเต็มที่ หรือใช้กฎหมายเข้มงวดแบบไม่เคยเป็นมาก่อนอย่างในยุค คสช. แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่สำเร็จทั้งหมด ท้ายที่สุดมักจะเห็นผู้ค้ากลับมาขายในจุดเดิม ๆ ยอมจ่ายค่าปรับหลักร้อยหลักพัน เพื่อแลกกับ “ทำเลทอง”

หลายคนตั้งคำถาม ทำไมผู้ค้าเหล่านี้จึงดื้อด้าน ทำผิดกฎหมาย? เช่นเดียวกัน ทำไมลูกค้าจึงยังสนับสนุน? หากรู้ว่านี่คือการส่งเสริมคนที่กำลังรุกที่สาธาณะ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนคนสัญจร

เพราะปัญหานี้มีเรื่องปากท้องความอยู่รอดเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะคนขายหรือคนซื้อนั่นเอง!

หาบเร่แผงลอย

ทุนน้อย ทักษะไม่มาก อาจถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้แรงงานอพยพเข้ามาในเมืองหลวง และไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในระบบ เลือกประกอบอาชีพนี้ อย่าง พ่อของปูแป้น หนึ่งในตัวเดินเรื่องจากสารคดีคนจนเมือง ซีซัน 3 ตอน ”ความฝันของปูแป้น” เขาเล่าว่าเมื่อเข้ามาเมืองหลวงก็ยึดอาชีพพ่อค้าส้มตำข้างสวนสาธารณะลุมพินีเป็นพื้นที่ค้าขาย ในอดีตเคยทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ วันละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท แต่เมื่อถูกไล่ที่ สูญเสียพื้นที่ทำมาหากิน เปลี่ยนที่ขายไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้ไม่มีลูกค้าขาประจำ ทุนก็หายกำไรก็หด ความจริงของคนทำอาชีพนี้อีกอย่าง คือ ต้องทำงานทุกวัน เพราะหากหยุดเมื่อไหร่ เท่ากับว่าวันนั้นเขาย่อมสูญเสียรายได้ทันที

“ไม่ถึงกับรวย พอได้ใช้ ไม่ลำบากขนาดนี้ แต่เดี๋ยวนี้ โอ้โห เหนื่อยเหมือนกัน 5- 6 ปีแล้ว ที่ทำแบบนี้มาเรื่อย ทำงานทั้งอาทิตย์ 7 วันเลย ทำยังไงก็ไม่พอกิน (หัวเราะ)”

เขาตื่นตั้งแต่ตี 4 ครึ่งทุกวัน เตรียมของขายให้ทันกับมื้อเช้าของคนงานก่อสร้าง และยังมีร้านคล้าย ๆ กันอีกฟากของถนนพระรามที่ 4 ซึ่งภรรยาและปูแป้นลูกสาวของเขา รับหน้าที่เป็นคนขายประจำ ซึ่งทั้งสองร้านตั้งอยู่ในจุดที่ไม่อนุญาตให้ขายได้ และพวกเขาเข้าใจดีว่ากำลังทำผิดกฎหมาย

“ตามจริงมันก็ผิด แต่ทำไงได้ มันไม่มีที่ให้เราขายดี ๆ เราก็ต้องมาแอบขายอย่างนี้ เวลาเทศกิจมา เราก็ต้องหลบ มันไม่แน่นอน บางวันก็ขายดี บางวันก็ขายไม่ดี บางคนมาเยอะก็ซื้อเยอะ ไม่มีคนก็ขายไม่ได้”

หาบเร่แผงลอย

การไม่มีที่ค้าขายที่มั่นคง จึงไม่อาจหวังว่าจะมีรายรับที่มั่นคงได้ และหากเกิดเรื่องไม่คาดคิดกับชีวิต เช่น การเจ็บป่วยกะทันหัน ย่อมกระทบเงินทุนหมุนเวียน และความไม่มั่นคงของอาชีพนี้ ยากที่จะเข้าหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงิน ท้ายที่สุดจำยอมกู้เงินนอกระบบ กู้ง่ายไม่มีหลักฐานค้ำประกัน แต่ดอกเบี้ยสูง

รู้ทั้งรู้ แต่เพราะทางเลือกไม่มาก…

มีงานวิจัยในไทยที่ศึกษานโยบายของเจ้าหน้าที่ในการจัดระเบียบการค้าทางเท้าไว้มากมาย ข้อค้นพบหลายชิ้นระบุตรงกันว่า ความสำเร็จในระดับปฏิบัตินั้นยาก ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย เช่น พรรณิลัย นิติโรจน์ ทำการวิจัยเกี่ยวกับการนำนโยบายจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานครไปปฏิบัติ พบว่า การชี้วัดความสำเร็จขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความสอดคล้องกับสภาพปัญหา ความชัดเจนของเป้าหมาย ความเพียงพอของทรัพยากร เจ้าหน้าที่เทศกิจ หรือแม้แต่ความรู้ ความสามารถ ความต้ังใจ การปรับตัว ของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ผู้ค้า ผู้ซื้อและผู้ใช้ทางเท้า แต่ในมิติความจริงของชีวิตที่พยายามดิ้นรนเอาตัวรอดในเมือง อาจไม่ได้ถูกอธิบายไว้มากนัก

แต่เมื่อถามเรื่องนี้กับภาคส่วนนโยบาย อย่างกรุงเทพมหานคร ก็ใช่ว่าจะไม่เข้าใจแง่มุมนี้ เห็นได้จากนโยบายล่าสุดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่จะเดินหน้าสานต่อการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย เน้นทำสามเรื่องควบคู่ คือ การจัดหาเงินทุน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ, การบริหารจัดการ และการจัดหาพื้นที่เช่าราคาประหยัด สำหรับพื้นที่ถาวร

จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่าเวลานี้ สำนักงานเขตกำลังเร่งสำรวจกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าสรุปแล้วมีกลุ่มคนเหล่านี้มากแค่ไหน คาดว่ากลางเดือนพฤศจิกายน 2565 จะสามารถเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวได้ แต่หากอ้างอิงข้อมูลเดิมจากธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า มีหาบเร่แผงลอย 569,039 ราย ผู้ค้าในจุดผ่อนผัน 50,000-60,000 คน ไม่อยู่ในจุดผ่อนผัน 120,000 คน ขณะที่จุดผ่อนผันที่ถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้ มีการเสนอให้เพิ่มเข้ามาเหมือนเดิมอีก 99 จุดผ่อนผัน แต่ว่าจะได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของตำรวจนครบาล และความจริงแล้วยังมีความต้องการพื้นที่จุดผ่อนผันที่มากกว่านี้ 

หาบเร่แผงลอย

นอกจากพื้นที่สาธารณะะและทางเท้าแล้ว การหาพื้นที่ถาวรให้กับผู้ค้าเป็นอีกมาตรการที่จะใช้ควบคู่กัน โดยใช้พื้นที่ราชการและเอกชน แต่จะมีค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น แต่จากการพูดคุยกลุ่มผู้ค้าบางส่วนเห็นว่าประเด็นนี้ยังพอรับได้ เพียงแต่ต้องชัดเจนในทางนโยบายระยะยาวและเป็นทำเลที่มีลูกค้าจริง

“ที่ผ่านมา บางที่มีการเรียกเก็บค่าเช่าเพิ่มขึ้นหลังจากผ่านไป 1-2 ปี บางที่ก็ไม่มีลูกค้า ซึ่งมีแค่ช่วงแรก ๆ การหาพื้นที่รองรับถาวรจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย”

ส่วนเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับสถาบันการเงินของรัฐ ยังอยู่ระหว่างการหารือและยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากสถาบันการเงินเห็นว่าผู้ค้าหาบเร่แผงลอยมีความไม่มั่นคงในอาชีพ รายได้ และมีความเสี่ยงหากปล่อยกู้ จึงเสนอให้มีการต่อสัญญาทะเบียนการค้าให้กับผู้ค้าจากเดิม 1 ปี เป็น 2 ปี เป็นหลักประกัน แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทางสถาบันการเงินยังคงกังวล

“ผู้ค้าที่อยู่ในจุดที่อนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย จะเสียค่าธรรมเนียมรายปี 500 บาท แล้วสำนักงานเขตจะออกใบทะเบียนการค้าให้ แต่เป็นเพียงสัญญารายปี ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ แต่เราเสนอให้ขยายเป็น 2-3 ปี ให้มีความมั่นคงขึ้น แต่จะได้หรือไม่ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ กทม. แต่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อนุญาตใช้พื้นที่”

การบริหารจัดการเรื่องนี้ ยังจำเป็นที่จะต้องฟังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีตัวแทนจากทุกฝ่ายทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้สัญจร รวมถึงสื่อมวลชน เป็นความตั้งใจในส่วนนโยบายที่หวังจะทำให้หาบเร่แผงลอย “ขายได้อย่างถาวร ในพื้นที่ชั่วคราว” 

และหากทำได้จริง นี่จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้พวกเขามีความมั่นคงในอาชีพ รายได้ เป็นการกระจายโอกาสให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส