โอกาสหาบเร่แผงลอย โอกาสเมือง  ?

การฟื้นหาบเร่แผงลอย ไม่เพียงสร้างโอกาสด้านอาชีพและรายได้ให้ผู้ค้า แต่ยังช่วยลดค่าครองชีพกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และมนุษย์เงินเดือน  

ถนนข้าวสารเป็นหนึ่งในพื้นที่ ได้รับการผ่อนผันทางการค้า ช่วงเย็นพื้นที่สองฝั่งถนน เต็มไปด้วยร้านค้าหาบเร่แผงลอย ทั้งขายอาหาร สินค้าและบริการต่างๆ  ไม่ใช่แค่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติที่แวะเวียนเข้ามา แต่ผู้บริโภคทั่วไป ยังมาจับจ่ายซื้อข้าวของเป็นประจำ 

จากการพูดคุยกับกลุ่มลูกค้าชาวไทย ที่อาศัยอยู่ในระแวกนี้ บอกว่ามาซื้ออาหารที่นี่บ่อย เพราะอาหารค่อนข้างหลากหลาย ราคาก็เข้าถึงได้ อย่างลูกชิ้นที่เขาซื้อวันนี้ก็แค่ 30 บาทเท่านั้น 

“มาประจำครับ  ซื้อของกินเป็นส่วนใหญ่ ราคาที่นี่พอรับได้ ถือว่าไม่แพงนะสำหรับย่านท่องเที่ยว มีพื้นที่ให้ค้าขายกันเยอะแบบนี้ดี อาหารตามสั่งก็เริ่มต้นที่ 30-40 บาท ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในยุคที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวครับ“ 

ผู้บริโภค ที่ซื้อสินค้าในถนนข้าวสาร

สอดคล้องกับข้อมูลและความเห็นของ สุนทร ตันมันทอง นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การส่งเสริมการค้ากลุ่มหาบเร่แผงลอยขึ้นมา จะส่งผลดีต่อฐานะทางเศรษกิจของผู้คนอย่างน้อยสองกลุ่มในเมือง ซึ่งจะส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำด้วย

โดยกลุ่มแรกก็คือ กลุ่มผู้ค้าเอง ซึ่งผู้ค้าหาบเร่แผงลอยส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ไม่มีหลักประกันทางสังคม ซึ่งจริงๆแล้วการค้าหาบเร่แผงลอย  คือสิทธิการค้าบนทำเลทอง ที่แทบไม่มีค่าเช่าเลย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้อย่างมาก 

“ถ้าเราจะได้ยินถ้าผู้ค้าถูกเรียกรับผลประโยชน์อื่นๆ เขาก็พร้อมที่จะจ่าย เพราะว่ามันอาจจะคุ้มอยู่ดีเมื่อได้ขายในพื้นที่ตรงนั้นได้ นี่คือพื้นที่ทางเศรษฐกิจ ถ้าเขาทำได้ดีฐานะทางเศรษฐกิจของพวกเขา และครอบครัวก็จะดีขึ้นอันนี้เป็นในเรื่องเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำกับคนกลุ่มนี้“ 

สุนทร ตันมันทอง  นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( TDRI )

อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นหาบเร่แผงลอย ก็คือผู้บริโภค กลุ่มที่ซื้อของ ซื้ออาหาร จากหาบเร่แผงลอยเป็นประจำ มีงานศึกษาที่ประเมินและประมาณการว่า ถ้า กทม. ไม่มีสตรีทฟู้ด จะทำให้ค่าครองชีพกลุ่มที่เป็นผู้บริโภคหลักกลุ่มนี้ สูงขึ้นถึง 300-400 บาท ต่อเดือน  เพราะฉะนั้นถ้าฟื้นหาบเร่แผงลอย คือช่องทางสำคัญช่องทางหนึ่งในการช่วยลดค่าครองชีพของคนกลุ่มหนึ่ง 

“จากงานสำรวจที่ผ่านมา ลูกค้าหลักของกลุ่มหาบเร่แผงลอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีทฟู้ด คือกลุ่มคนทำงานทั่วไป โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน คนที่มีรายได้ 20,000-30,000 หมื่นบาท และกลุ่มนี้ ก็เป็นลูกค้าหาบเร่แผงลอยเหมือนกัน ดังนั้นถ้าฟื้นหาบเร่แผงลอย ก็จะเป็นการลดค่าครองชีพได้“ 

สุนทร ตันมันทอง นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ความเป็นระเบียบเรียบร้อยบนทางเท้า  ต้องมาพร้อมกับโอกาสทางเศรษฐกิจของคนระดับล่างในสังคม

ที่ผ่านมา นโยบายหาบเร่แผงลอย มุ่งเน้นไปที่การจัดระบียบทางเท้า และยกเลิกจุดผ่อนผันหาบเร่แผงลอยข้อมูลจาก Rocket Media Lab พบว่า การยกเลิกจุดผ่อนผันเริ่มต้นในปี 2551-2559 ในยุคของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร  ตามมาด้วยการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ในยุค ผู้ว่าฯอัศวิน ขวัญเมือง ในช่วงราวปี 2559-2565  ทำให้ร้านอาหาร รถเข็นริมทางใน กทม. แทบจะหายวับไปกับตากระทบหาบเร่แผงลอยอย่างมาก เพราะถ้าลองเทียบกันให้ชัดๆ จะพบว่าในช่วงปี 57 จนถึงปี 63 ทั้งร้านอาหาร, ซุเปอร์มาร์เก็ต, มินิมาร์ท, ตลาด ล้วนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น  ตรงกันข้าม กับหาบเร่แผงลอย ที่ลดลงอย่างน่าใจหาย 

เพราะจากปี2557 เคยมีหาบเร่แผงลอย อยู่ 7,085 แผง ลดเหลือเพียง 472 แผง ในปี 2563 หรือ หายไปถึง 93 %

พัชร เฉลิมทิวากร ผู้ค้าในย่านคลองถม ที่ถูกยกเลิกฟื้นที่ค้าขายหาบเร่แผงลอย รอบ ๆ คลองถมเซ็นเตอร์ ถนนมหาจักร  กทม. บอกว่า การจัดระเบียบยกเลิกจุดค้าขายในปี2557 ส่งผลกระทบต่อผู้ค้าที่นั่นราว ๆ 3,000 คน ที่ไม่มีพื้นที่ค้าขายทำกิน เดือดร้อนหนัก 

“เราพยายามช่วยเหลือตัวเอง ต้องไปเช่าที่เอกชนขายของ ค่าเช่าที่ก็แพง แถมลูกค้าก็ไม่มาซื้อกันเหมือนแต่ก่อนเพราะพอผู้ค้ากระจัดกระจายกัน ทำให้ลูกค้าเขาไม่มา รายได้ผมก็ลดลง จะจ่ายค่าเช่าก็แทบไม่พอ เจ๊งไปหลายรายแล้วลำบากมาก อยากให้มีการทบทวนจุดผ่อนผัน ฟื้นชีวิตคลองถม เป็นรูปแบบถนนคนเดิน 1 วันต่อสัปดาห์ก็ยังดี มาจัดรูปแบบร่วมกัน ที่ไม่กระทบการจราจรและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง “ 

พัชร เฉลิมทิวากร ผู้ค้าในย่านคลองถม

ด้าน ประพจน์ มีเจริญ เจ้าของร้านถักผมที่ถนนข้าวสาร เขาบอกว่า ปี 2561 ช่วงที่ถนนข้าวสารถูกจัดระเบียบใหม่ ๆ ไม่มีความชัดเจน ส่งผลกระทบต่อพื้นที่หากินของเขา ตอนนั้นชีวิตล้มไม่เป็นท่า จนต้องกลับไปหางานทำที่บ้านเกิด ทั้งทำนา รับจ้างก่อสร้าง ได้วันละ 300-400 บาท บางวันก็ไม่มีงาน 

ยังดีพื้นที่ถนนข้าวสาร ได้รับการผ่อนผันให้ค้าขายได้มากขึ้น ชีวิตจึงยังเดินต่อได้ แม้ในภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่ แต่ก็มีรายได้เล็กน้อย พอเลี้ยงปากท้อง ค่าเช่าห้อง และใช้จ่ายในครอบครัว 

“2 คนกับภรรยา ก็ได้เดือนนึงประมาณ 5-6 หมื่นครับ ได้เป็นค่าเล่าเรียนลูก ส่งกลับไปให้ทางบ้านที่ต่างจังหวัด 2 ครอบครัว และเป็นค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารที่นี่ครับ ถ้าไม่มีที่ค้าขายเปิดร้านที่นี่แย่ ๆ แน่ ๆ ครับ “ 

ประพจน์ มีเจริญ เจ้าของร้านถักผมที่ถนนข้าวสาร

การรวมกลุ่มของผู้ค้าถนนข้าวสาร ที่มีส่วนร่วมออกแบบพัฒนา คือจุดแข็งที่ ญาดา พรเพชรรัมภา ประธานชมรมหาบเร่แผงลอย กทม. เชื่อว่า ทำให้พื้นที่แห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวา แต่ยอมรับว่า การรวมตัวแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ กับทุกพื้นที่  ทั้งยังมีข้อจำกัดจากขั้นตอน กระบวนการพิจาณาจุดผ่อนผัน และ การหาพื้นที่ค้าขายถาวรทดแทน ให้กับผู้ค้าที่ล่าช้า จึงอยากให้ กทม. และผู้บริหารท้องถิ่นทั่วประเทศ เร่งฟื้นชีวิตให้กับกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย  

“อย่างที่ข้าวสาร โชคดีว่าพี่รวมตัวกันตั้งเป็นชมรม พอมีการจัดระเบียบในปี 2561 ก็เอาข้อมูลต่างๆที่เราทำร่วมกัน พัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว ดูแลนักท่องเที่ยว ไม่ว่าขยะต่างๆ  ผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯตอนนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ เลยปล่อยให้ข้าวสารเป็นจุดผ่อนผัน แต่กระบวนการจุดผ่อนผันใช้เวลานานถึง 3 ปี เพราะไม่ใช่แค่ กทม.นะ พอผ่านกทม.เสร็จ ต้องไปดูว่า บชน.จะตั้งกรรมการเมื่อไหร่ แล้วถ้าพื้นที่ตรงนั้นมีผลประโยชน์ส่วนได้เสียมากมายการตั้งกรรมการก็จะล่าช้าไปอีก เพราะฉะนั้นอุปสรรคมันมีหลายขั้นตอน ในเมื่อกทม. จะเดินหน้านโยบายให้เกิดจุดผ่อนผัน ก็อยากให้ประสานงาน บชน.ให้เบ็ดเสร็จ“ 

ญาดา พรเพชรรัมภา ประธานชมรมหาบเร่แผงลอย กทม.
ญาดา พรเพชรรัมภา ประธานชมรมหาบเร่แผงลอย กทม.

​ปัญหาหาบเร่แผงลอย มีหลายโจทย์ที่ต้องแก้ ซึ่งนักวิชาการ TDRI มองว่า ทางออก ไม่ใช่แค่การสนับสนุนงบฯ แต่ต้องเน้นการจัดการ และทบทวนนโยบายที่เป็นข้อจำกัด 

ในระยะสั้น สำคัญคือ 1. การเตรียมเรื่องข้อมูลก่อน ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย หรือการค้าหาบเร่แผงลอย เพราะถือว่าเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ  เขาไม่มีนายจ้าง ข้อมูลต่างๆ ข้อมูลรายได้ จะค่อนข้างมีจำกัดมาก และข้อมูลรายได้ข้อมูลผู้ค้ามีความสำคัญในการกำหนดเป้าหมายช่วยเหลือ ที่จะสามารถระบุได้ว่า ผู้ค้าคนไหนคือผู้ค้าที่มีรายได้น้อย แล้วสมควรได้รับสิทธิ์ในการค้าในพื้นที่ทางเท้า หรือพื้นที่ถาวรที่กทม.จะจัดให้  จึงต้องจัดเตรียมข้อมูลก่อน เพื่อกำหนดนโยบายที่ตรงตามเป้าหมาย  

2.ถ้ายังอยากอยู่ในที่ทางเท้า ที่เป็นที่สาธารณะ แต่อาจยังไม่ได้รับความไว้ใจมากนัก ทั้งจากชุมชนกับพื้นที่ รวมถึงตำรวจ ควรเปิดการทดลองทำการค้าชั่วคราวเพื่อเก็บข้อมูล เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถประเมินได้จริงๆว่า ถ้าจะเปิดแบบนี้ ผู้ค้าจัดแผงค้าแบบนี้ ผลกระทบต่อการจราจรจะเป็นแบบไหน คนที่อยู่แถวนั้นก็จะได้เห็นข้อมูลจริงๆ สภาพจริง ๆ ว่า ถ้าเปิดแบบนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเขาจะเป็นยังไง และเป็นโอกาสให้ผู้ค้าเองก็ต้องปรับตัว ปรับพฤติกรรมสนองตอบทั้ง คนใช้อื่น ๆ รวมถึงไม่กีดขวางจราจร

3. เสนอให้เพิ่มมาตรการด้านแรงงาน จูงใจ เช่นทำเป็นระบบแต้ม เก็บแต้มพฤติกรรมของผู้ค้า ไปเชื่อมโยงตอนที่ต่ออายุใบอนุญาตการค้า ซึ่งตรงนี้สำคัญมากผู้ค้าทุกคนอยากต่ออายุ ถ้าเขารู้ว่า ถ้าเขาจัดแผงค้าได้ดี สะอาดเรียบร้อย ไม่กีดขวางทางเท้า สุดท้ายเค้าจะได้รับรางวัลก็คือ เขาจะได้ค้าขายต่อ อันนี้ก็เป็นแรงจูงใจที่จะทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งจะตอบโจทย์กับผู้ใช้ทางเท้าอื่น ๆ ด้วย  

4. ในกรณีถ้าขายในพื้นที่ทางเท้าไม่ได้จริงๆ ตรงนี้อาจจะมีเรื่องการใช้งบประมาณมาเกี่ยวข้อง เพราะอาจจะต้องจัดหาพื้นที่ถาวรให้ ซึ่งยังไงเสีย พื้นที่ถาวรก็ดีกว่าพื้นที่ทางเท้าในแง่ความเป็นระเบียบร้อย เพราะว่าพื้นที่ทางเท้า ต้องตั้งต้องเก็บต้องล้างทุกวัน พื้นที่ถาวรก็คืออยู่ตรงนั้น การออกแบบสาธารณูปโภค สุขอนามัยย่อมดีกว่า พื้นที่ชั่วคราวที่อยู่บนทางเท้าแน่นอน แต่ว่าโจทย์พื้นที่ถาวร ก็มีโจทย์แตกต่างจากโจทย์ของพื้นที่ทางเท้า ก็คือ “ทำเลต้องดี  ผู้ค้าอยู่ได้“ และต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนการหาพื้นที่ทดแทนตอนจัดระเบียบย้ายผู้ค้า ปรากฎหลายพื้นที่ทำเลไม่ดีเช่นเดิม ผู้ซื้อไม่ตามไปซื้อ   แต่อย่างที่บอกว่าทำเลดี ค่าเช่าที่ก็แพง ส่วนนี้ระยะแรก กทม.อาจต้องใช้งบประมาณเข้ามาดูแลช่วยเหลือ ค่าเช่าในระยะแรก เช่นโมเดลของสิงคโปร์ 

“ถ้าเราดูโมเดลจากต่างประเทศ โดยยุคเริ่มต้นที่สิงคโปร์จัดระเบียบทางเท้าและเอาผู้ค้าเข้าสู่สถานที่ถาวร เขาเลือกใช้วิธีการอุดหนุน แต่ไม่ใช่วิธีการอุดหนุนแบบไร้ขอบเขต เขาส่งสัญญานกับผู้ค้าแต่ต้นว่าเขาอุดหนุนแต่ต้นก็ได้ แต่ภายใน 3 ปี ผู้ค้าต้องเติบโต แล้วจ่ายค่าเช่าในอัตตราปกติตามกลไกตลาดในพื้นที่นั้น ๆ โจทย์การหาสถานที่ค้าขายถาวร เราก็ได้เห็นตัวอย่างจากต่างประเทศว่า เขาเลือกใช้วิธีการอุดหนุน แต่การปรับใช้โมเดล ที่สำเร็จในต่างประเทศ เราคงไม่สามารถยกมาได้ทั้งหมด เพราะว่าเรื่องหาบเร่แผงลอย มีบริบทเชิงพื้นที่ยังไม่นับเรื่องกฎระเบียบแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ขีดความสามารถแต่ละรัฐบาลท้องถิ่นที่ค่อนข้างแตกต่างกัน แต่ว่าตรงนี้ก็เป็นโมเดลที่น่าสนใจ ”

สุนทร ตันมันทอง  นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( TDRI )
สุนทร ตันมันทอง  นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( TDRI )

หาบเร่แผงลอย ที่หายไป กระทบต่อผู้คนจำนวนมาก ไม่แปลกที่ความหวังการแก้ปัญหา ถูกเชื่อมโยงกับการพิจารณางบประมาณกทม.รอบนี้  ในฐานะ ส.ก.เขตบางรัก ก็ไม่ปฏิเสธว่านี่คือเรื่องเร่งด่วน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดโดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างการจัดหาพื้นที่ค้าขายแห่งใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันผลักดันให้มีการสนับสนุนงบประมาณส่วนนี้ 

“พื้นที่แต่ละพื้นที่ราคาก็จะสูง เพราะฉะนั้นถ้าเราจะไปขอพื้นที่ให้เขาช่วยจัดสรร ทางรัฐก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนสัญญาที่สร้างแรงจูงใจพอสมควร งบประมาณที่ถูกนำมาช่วยในส่วนนี้ ดูแล้วไม่พอ ไหนจะเป็นค่าดูแลรักษาความสะอาด ไหนจะเป็นค่าออกค่าเช่า ผมว่าไม่พอแน่นอน  ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทางสก.พรรคเพื่อไทยทุกคนต้องช่วยกันผลักดันกับทางสภา กทม.เพื่อให้มีงบประมาณมาดูแลจัดการส่วนนี้“ 

วิพุธ ศรีวะอุไร  ส.ก.เขตบางรัก พรรคเพื่อไทย 

อีกส่วนหนึ่งที่ต้องทำและต้องใช้งบประมาณมาสนับสนุนบ้าง คือการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ค้า หรือว่าสนับสนุนส่งเสริมให้เปลี่ยนไปทำงานในระบบที่อยู่ในเศรษฐกิจอื่นๆ  เพื่อที่เขาจะได้ยกระดับ ทั้งรายได้ หรือว่าฐานะ อาชีพต่าง ๆ ไปได้ เพราะแน่นอนว่าต้องมีผู้ค้าหลายคนอยากเป็นผู้ค้าหาบเร่แผงลอยต่อไป  แต่คิดว่าน่าจะมีกลุ่มหนึ่งที่น่าจะช่วยเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถได้ ซึ่งถ้าเราสำรวจความต้องการของเขาที่ต้องการพัฒนาทักษะอะไร แล้วนำเสนอในทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการในอนาคต หรือว่าธุรกิจในอนาคต และจริง ๆ กทม.ก็สามารถจัดหลักสูตรต่าง ๆ มาตอบสนองผู้ค้ากลุ่มนี้ได้ เพื่อหวังว่าวันหนึ่ง ถ้าเขาฐานะดีขึ้น เขาจะกลับเข้าไปสู่เศรษฐกิจในระบบ มีธุรกิจเป็นของตัวเอง มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง ทำอาชีพอื่นได้

การสร้างสมดุลให้กับการแก้ไขปัญหาจึงต้อง นึกถึงทุกมิติ ทั้งในมุมผู้ค้า และการเข้าถึงแหล่งอาหารราคาย่อมเยาของกลุ่มคนรายได้น้อย ขณะที่ กทม.คงต้องมองเรื่องความสะอาด ปลอดภัย เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่อีกมุมก็ต้องไม่ลืมกลุ่มผู้ใช้ทางเท้าด้วย  

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ