ย้อนบทเรียนการชุมนุม สู่เสรีภาพสื่อไทย ก้าวต่ออย่างไรในยุครัฐบาลสลายขั้ว?

สืบเนื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนยิงกระสุนยางใส่สื่อจนบาดเจ็บ จากเหตุสลายการชุมนุม “กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022” เมื่อเดือน ก.ค. ปี 2564 ล่าสุด คำพิพากษาของศาลแพ่งตัดสินให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชดเชยค่าเสียหายให้สื่อ ถือเป็นการกระทำที่ปราศจากความระมัดระวัง แต่ไม่ถือเป็นเจตนามุ่งร้ายสร้างความหวาดกลัว และลิดรอนเสรีภาพของสื่อ

แม้คำสั่งตัดสินของศาลจะทำให้เห็นแนวโน้มของเสรีภาพสื่อที่ได้รับการคุ้มครองมากยิ่งขึ้น แต่คำตัดสินนี้เป็นเพียงการชดเชยทางแพ่ง ยังไม่มีความคืบหน้าทางอาญาในระบบยุติธรรมไทยที่เกี่ยวข้องกับคดีการปราบปรามการชุมนุมซึ่งเป็นความรุนแรงโดยรัฐ นอกจากนี้ ยังไม่มีกระบวนการแก้ไขผิดให้เป็นถูก เช่น การแก้ไขมาตรฐานการปราบปรามการชุมนุมตามหลักสากล กฎหมายที่ควรจะเป็นเกราะคุ้มภัยให้กับเสรีภาพสื่อกลับไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประชาไท ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน องค์กรเพื่อเสรีภาพสื่อ และผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย จัดเวทีสาธารณะ “สื่อพลิกผันในสถานการณ์พลิกขั้ว” มองบทบาทสื่อมวลชนไทย และเฝ้าระวังระดับเสรีภาพสื่อไทย การลิดรอนสิทธิเหล่านี้มีมากกว่าการใช้ความรุนแรงปราบปราม หรือการใช้กฎหมายควบคุม แต่ยังรวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีในการแทรกแซง ดักฟัง อย่าง Spyware ซึ่งเป็นภัยคุกคามของโลกสมัยใหม่ที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องให้ความชัดเจน

The Active ชวนสำรวจสถานการณ์เสรีภาพสื่อที่สะท้อนถึงเสรีภาพประชาชน และข้อเสนอต่อรัฐบาลสลายขั้วที่สังคมหวังว่าจะเปิดกว้างทุกข้อถกเถียงเรียกร้องในสังคมให้สามารถพูดคุยกันได้อย่างเสรี ดังเช่นที่สังคมประชาธิปไตยควรจะเป็น

สื่อในการรายงานสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง (พ.ศ. 2557-2565)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรรษาสิริ กุหลาบ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการชุมนุมมักมีสาเหตุมาจากการเจรจาและต่อรองในข้อเรียกร้องที่ไม่สำเร็จ ร่วมกับเหตุการชุมนุมที่ยืดเยื้อ ตลอดจนการใช้กฎหมายควบคุมเสรีภาพประชาชนโดยรัฐ ทำให้ประชาชนไม่อาจส่งข้อเรียกร้องได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดเหตุบานปลาย ทั้งความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐและฝั่งอื่น ๆ ทำให้การทำงานของสื่อค่อนข้างเสี่ยงอันตราย

พรรษาสิริ เผยว่า แม้ว่าจะมีสื่อบาดเจ็บหรือเสียชีวิต (กรณีสื่อเสียชีวิตในเหตุสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.) กลับพบว่ามีหลายคำพิพากษาที่พิจารณามาถึงสิ้นสุดแล้ว ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าเหตุความรุนแรงมาจากฝ่ายใด ทำให้เป็นเรื่องที่น่ากังวลว่า ในเหตุการชุมนุมที่รุนแรงและสูญเสียขนาดนี้ ระบบยุติธรรมไทยกลับไม่สามารถชี้ข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัดได้ สื่อไทยก็ยังคงทำงานบนความเสี่ยงต่อไป

พรรษาสิริ ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับผลกระทบต่อสื่อมวลชนในการรายงานการชุมนุมไว้ 3 ข้อ คือ 

1) ขาดบันทึกเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงและการปิดกั้นเสรีภาพสื่ออย่างเป็นทางการและเป็นระบบ ทำให้ไม่เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

2) ความพยายามที่จะตรวจสอบการใช้ความรุนแรงต่อสื่อมวลชน มักไม่นำไปสู่ข้อสรุปที่กระจ่าง หรือนำไปสู่การดำเนินการสอบสวนต่อของภาครัฐ เอื้อให้เกิดวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล

3) อุตสาหกรรมสื่อมวลชนขาดการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ทำให้สื่อส่วนใหญ่ต้องทำงานโดยขาดการคุ้มครองที่รัดกุมเมื่อเกิดเหตุเสี่ยงภัย

จุฑารัตน์ กุลตัณกิจจา ผู้ช่วยวิจัย โครงการวิจัยการรายงานข่าวการประท้วง: บทบาทของสื่อมวลชนไทยในการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมือง ระบุว่า ในปี 2563 – 2564 (ช่วงการชุมนุมกลุ่มราษฎร) มีเหตุชุมนุมมากกว่า 1,000 ครั้ง ทำให้นักข่าวต้องเสี่ยงภัยมากขึ้น และทางกองบรรณาธิการก็รู้สึกได้ถึงกลิ่นความรุนแรง จึงมีการฝึกอบรมให้สื่อเข้าใจถึงปัจจัยของความรุนแรง และจะรับมือปัจจัยเหล่านั้นให้บรรเทาลงได้อย่างไร 

จุฑารัตน์ ชี้แจงว่า เมื่อลองมองภาพตัวละครในการชุมนุม ก็พบว่าคนกลางที่จะช่วยประนีประนอมไม่ค่อยมีแล้ว และสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนจะพอบอกได้ว่าความรุนแรงจะนำไปสู่ระดับใด เช่น หากเป็นตำรวจชุดกากีปกติ จะมีความใกล้ชิดกับประชาชน รู้วิธีเกลี้ยกล่อม เจรจาสันติได้ แต่ถ้าหากตอนนั้นเป็นตำรวจ คฝ. จะพอคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จะนำไปสู่การปราบปรามที่รุนแรงขึ้น 

เสรีภาพและสวัสดิภาพสื่อและการร่วมเฝ้าระวังภัย

ธีรนัย จารุวัสตร์ ผู้ประสานงานประจำประเทศไทย โครงการเฝ้าระวังเสรีภาพสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (PFMSea) ได้เปิดตัว “โครงการเฝ้าระวังเสรีภาพสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Press Freedom Monitoring in Southeast Asia หรือ PFMSea) เพื่อติดตามกรณีการคุกคามสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ทั่วภูมิภาค ผ่านทางเว็บไซต์ https://pfmsea.org/ โดยตอนนี้มีสมัชชาองค์กรวิชาชีพสื่อจากประเทศอินโดนีเซีย ติมอร์-เลสเต กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ขณะที่ประเทศไทยมีสำนักข่าวประชาไทเข้าร่วม

ธีรนัย เผยว่าเว็บไซต์ดังกล่าวจะมีการรวบรวมเหตุคุกคามสื่อจากประเทศเครือข่าย และได้สรุปเหตุคุกคามที่เกิดขึ้นช่วง ธ.ค. 2565 – ก.ย. 2566 แบ่งตามรูปแบบความรุนแรง 5 ประเภท ดังนี้ 

ประเภทที่ 1: ทำร้ายคุกคามต่อร่างกายและทรัพย์สิน (8 กรณี)

23 ม.ค. 66 นักข่าวเนชั่นที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ถูกคุกคาม

23 ม.ค. 66 บก. ข่าวถูกตีศรีษะบาดเจ็บสาหัสที่เพชรบูรณ์

27 ก.พ. 66 ผู้สื่อข่าวภูมิภาค 2 คนถูกล้อมรถ-ล็อกคอที่เพชรบุรี

13 เม.ย. 66 บล็อกเกอร์ชาวเวียดนามถูกลักพาตัวที่กรุงเทพ

เม.ย. – พ.ค. 66 ช่างภาพข่าวถูกตำรวจคุกคามอย่างต่อเนื่อง

31 พ.ค. 66 นักข่าวอมรินทร์ทีวีถูกกักตัวในสำนักสงฆ์

18 ก.ค. 66 บุคคลลึกลับขู่ฆ่า บก. ข่าวหุ้นและครอบครัว

19 ก.ค. 66 บก. ข่าวหุ้นถูกบุคคลลึกลับปาระเบิดที่บ้านพัก

ประเภทที่ 2: คุกคามทางวาจา หรือใช้วาทกรรมด้อยค่า (7 กรณี)

9 ก.พ. 66 ผบช. สตม. ใช้คำไม่เหมาะสมกับนักข่าวหญิง

15 มี.ค. 66 สว. อุปกิต ตั้งคำถามความเป็นกลางของนักข่าว

28 พ.ค. 66 ผู้ชุมนุมที่พรรถเพื่อไทยเรียกผู้สื่อข่าวว่า “แยมส้ม”

2 ก.ค. 66 แกนนำ ศปปส. เข้าประชิดตัวนักข่าว “ข่าวสด”

15 ส.ค. 66 ชูวิทย์ เรียกนักข่าวเครือผู้จัดการว่า “ลูกกระจ๊อก”

7 ส.ค. 66 แกนนำกลุ่มทะลุวังไล่นักข่าวออกนอกพื้นที่

11 ก.ย. 66 ตำรวจยศ ‘พ.ต.อ.’ ขู่ยิงนักข่าวอมรินทร์ทีวี

ประเภทที่ 3: ดำเนินคดีทางกฎหมาย หรือขู่ดำเนินคดี (11 กรณี)

24 ธ.ค. 65 รัฐบาลขู่ดำเนินคดีข่าวปลอมกรณี “องค์ภา”

7 ก.พ. 66 เพจลบโพสต์สื่อเสียชีวิตในที่ทำงาน หลังโดนขู่ฟ้อ

20 ก.พ. 66 สว. อุปกิตฟ้องหมิ่นประมาท “หมาแก่-แมวสาว”

27 ก.พ. 66 กอ.รมน. แจ้งความ 2 นักข่าว “วาร์ตานี”

3 มี.ค. 66 แอดมินเพจ “ขุนแผนแสนสะท้าน” โดนจับคดี 112

3 พ.ค. 66 ฐปนีย์ เผยถูก สส. ไม่ระบุชื่อ ฟ้องหมิ่นประมาท

11 พ.ค. 66 กกต.ขู่ดำเนินคดี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์กับบก.เนชั่น

11 พ.ค. 66 กกต.ขู่ดำเนินคดี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์กับ Workpoint TV

14 พ.ค. 66 กกต.ขู่ดำเนินคดี พร..บ. คอมพิวเตอร์กับ The Matter

29 มิ.ย. 66 มทบ. 33 แจ้งความสำนักข่าว Lanner ข้อหา 116

22 ส.ค. 66 ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ ฟ้องหมิ่นประมาท บก. ประชาไท

ประเภทที่ 4: ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (1 กรณี)

30 พ.ค. 66 ทรูวิชั่นส์บล็อกสัญญาณช่องข่าวต่างชาติ

ประเภทที่ 5: ผลกระทบรูปแบบอื่น ๆ (2 กรณี)

4 ก.พ. 66 พนง. TNN เสียชีวิต หลังทำงานหนักหลายวัน

6 เม.ย. 66 The People ปิดเว็บ 7 วัน จากกรณีรางวัลแบม-ตะวัน

จากสถิติที่ค้นพบ ธีรนัย เผยว่า รูปแบบการคุกคามอย่างการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารอย่างที่ในอดีตเคยมีการปิดโรงพิมพ์ หรือบุกปิดสถานี มักไม่ค่อยพบแล้วในปัจจุบัน แต่จะเน้นหนักไปที่การคุกคามโดยการขู่ใช้กฎหมายเพื่อปิดปากมากขึ้น โดยธีรนัยเผยข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ในแต่ละสายอาชีพของวงการสื่อว่ามีการประสบกับเหตุคุกคามที่แตกต่างกัน เช่น สื่อออนไลน์ในต่างจังหวัดจะถูกดำเนินคดีในลักษณะ SLAPP (การฟ้องปิดปาก), นักข่าวภาคสนามจะถูกตำหนิและกล่าวให้ร้ายจากทุกฝ่าย และสุดท้าย สื่อทุกประเภทล้วนเสี่ยงต่อการขึ้นโรงขึ้นศาล

การสอดส่องออนไลน์ และความคืบหน้าคดีเพกาซัส

ความล้ำหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ได้สร้างช่องทางการคุกคามพลเรือนด้วยเทคโนโลยีสปายแวร์ อย่าง ‘เพกาซัส’ ซึ่งสามารถสอดแนมในโลกออนไลน์ และมักถูกใช้โดยรัฐหรือหน่วยงานภายในเพื่อล้วงเอาข้อมูล ที่อยู่ ตำแหน่ง รหัสภายในเครื่อง ตลอดจนสามารถเปิดกล้อง หรือดักฟังเพื่อนสอดแนม 

รัชพงศ์ แจ่มจิรชัยกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย iLaw เปิดเผยว่า มีคนไทยอย่างน้อย 35 คน ถูกสปายแวร์เจาะมาที่โทรศัพท์โดยตรง ในกลุ่มคนเหล่านี้ มีทั้งนักวิชาการ นักสิทธิฯ นักกิจกรรม ตลอดจนนักการเมืองฝ่ายค้าน แต่ยังไม่พบนักข่าวถูกตกเป็นเหยื่อ แต่มีนักไลฟ์ตามเพจของนักกิจกรรมที่ถูกคุกคามด้วย 

ความยากของการติดตามและฟ้องร้องคดีความอาชญากรรมดิจิทัลคือ การไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ และไม่ทราบหน่วยงานใดเป็นผู้สั่งการ ซึ่งบรรดาผู้เสียหายจากคดีเพกาซัสร่วมกันฟ้องคดีแพ่งกับศาลแพ่ง ต่อบริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย แต่ทางศาลไม่รับฟ้องเพราะเหตุทางเทคนิค จึงต้องแยกฟ้อง ล่าสุดคดีมีความคืบหน้า เมื่อ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา หมายศาลแพ่งได้ส่งไปถึงที่บริษัท NSO Group ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสปายแวร์ที่อิสราเอล ซึ่งต้องเดินทางให้การที่ศาลไทย 

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองไทย ในเหตุที่เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิพลเรือน แต่ศาลไม่รับฟ้อง และชี้ว่าเป็นคดีศาลยุติธรรม โดยสรุปแล้วทั้ง 2 คดียังไม่มีความคืบหน้าในเชิงเนื้อหา ยังไม่มีกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ว่าใครเป็นคนทำ และทำกับบรรดานักกิจกรรมจริงหรือไม่

รัชพงศ์ ชี้ว่า คดีคุกคามไซเบอร์เช่นนี้ เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นประตูไปสู่การละเมิดสิทธิอื่น ๆ เช่น สิทธิเสรีภาพแสดงออก สิทธิการชุมนุม สิทธิเสรีภาพสื่อ ตลอดจนสิทธิร่างกาย เพราะรัฐสามารถล่วงรู้ได้ทุกฝีเก้า และจะคุกคามในขั้นไหน อย่างไรก็ได้ อิทธิพลของการสอดแนมทำให้เกิด Chilling Effect หรือบรรยากาศของความกลัวในสังคม ทำให้สื่อเลือกที่จะเซนเซอร์ตัวเองเพราะกลัวข้อมูลภายในรั่วไหล รัชพงศ์ ย้ำว่า แค่มีการรายงานว่าพบการใช้สปายแวร์ในสังคมไทย ก็เป็นภัยต่อสังคมอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ได้ความกระจ่างจากรัฐบาลในชุดก่อนต่อกรณีดังกล่าว


เสรีภาพสื่อจะดีได้ รัฐบาลใหม่ต้องหนุนเสรีภาพประชาชน

ด้านธีรนัย ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากคนสื่อได้รับความเสี่ยงในการรายงานข่าวมาอย่างยาวนาน ควรมีการยกระดับความปลอดภัยให้คนทำงานภาคสนามได้แล้ว, ควรมีผู้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย สำหรับสื่อมวลชนโดยเฉพาะ, องค์กรวิชาชีพสื่อต้องเป็นปากเสียงแทนสื่อและคุ้มครองสื่อให้หนักแน่นกว่านี้, ปฏิรูปกระบวนการศาลเพื่อลดปัญหาการฟ้องปิดปาก และที่สำคัญคือรัฐบาลใหม่ต้องสร้างสัญญาณที่ดีด้านเสรีภาพสื่อ โดยเชื่อว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่เหล้าใหม่ในขวดเก่าเสียทีเดียว ผู้นำของรัฐบาลจะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการแก้ไขปัญหาเสรีภาพสื่อ

“เวลามีนักข่าวหรือคนทำงานสื่อถูกโจมตี เราไม่รู้ว่าวันต่อมาอาจจะเป็นเราก็ได้ ถ้าหากองค์กรวิชาชีพสื่อเงียบ ไม่ออกมาผลักดัน ไม่ออกมาชี้แจงว่าทำอย่างนี้ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ตามมาคือการพ้นผิดลอยนวล ภาครัฐหรือคนที่ไม่ประสงค์ดีเขาจะรู้สึกว่าเขาสามารถจัดการกับสื่อก็ได้โดยที่ไม่ต้องถูกวิจารณ์ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่ควรเกิดขึ้น”

ธีรนัย จารุวัสตร์

เช่นเดียวกันกับ พรรษาสิริ ชี้ว่า ก่อนที่จะไปถึงการพัฒนาเสรีภาพสื่อ ต้องคำนึงถึงเสรีภาพประชาชนก่อน เพราะสื่อได้หยืบยืมเอาสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาใช้ในการรายงานข่าว หากสังคมไร้เสรีภาพ สื่อก็ไร้อิสรภาพตามไปด้วย ดังนั้น อย่างแรกสุด รัฐบาลควรแสดงสัญญาณง่าย ๆ โดยเริ่มจากการรับฟังเสียงจากภาคประชาชน เช่น ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งได้ว่ารัฐบาลจะเอื้อเสรีภาพให้กับมวลชนในการแก้ไขกฎหมายสำคัญได้แค่ไหน 

อย่างที่สองคือหยุดสร้างความหวาดกลัวในสังคม เพราะเมื่อสังคมมีการถกเถียงประเด็นแหลมคมอย่างการปฏิรูปสถาบัน ก็จะนำไปสู่การใช้ทุกมาตรการทางกฎหมายปิดกั้นเสรีภาพ กรณี ทนายอานนท์ที่เพิ่งถูกศาลตัดสินจำคุกในคดี 112 ก็เป็นตัวอย่างของการใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลรับฟังเสียง เปิดกว้างต่อเสรีภาพ ก็ควรทำให้รัฐบาลใหม่ควรพิจารณาได้แล้วว่าสังคมควรได้พูดคุยเรื่องประเด็นกฎหมาย 112 อย่างเปิดเผยได้เสียที 

“ส่วนตัวคิดว่าสัญญาณที่ดีที่สุดของรัฐบาลที่จะบอกว่า ตัวเองรับประกันเสรีภาพสื่อและเสรีภาพประชาชน อย่างน้อยออกมาบอกว่าคุณจะทำยังไงต่อกับการลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ และมันจะเป็นการรับประกันว่าคุณเห็นเสียงของประชาชนว่ามันมีคุณค่าแค่ไหน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกตกทอดของการรัฐประหาร และการปิดกั้นสิทธิชุมนุมต่าง ๆ”

ผศ. พรรษาสิริ กุหลาบ

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง