รัฐบาล 10 เดือน! เศรษฐกิจ ตัวประกัน ดันรัฐบาลข้ามขั้ว

ชั่งน้ำหนัก คุ้มเสี่ยงแค่ไหน?
เมื่อ “เศรษฐกิจ” กำลังถูกใช้เป็นตัวประกัน เร่งดันรัฐบาลข้ามขั้ว

“เราอาจไม่ได้ทางออกที่ต้องการ แต่เป็น ทางออกที่เลวน้อยที่สุด เพราะในแง่ของการเมือง เป็นเรื่องของความเป็นไปได้ The Art of the Possible จะจบอย่างไร ให้ดูที่ ความเป็นไปได้…”

รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มองการเมืองไทยและหลายประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญกับปัญหา รัฐธรรมนูญผิดปกติ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า แม้หลายประเทศเจอทางตันเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ผิดปกติ แต่สำหรับประเทศไทย หากจะกล่าวถึงความผิดปกติของรัฐธรรมนูญและความชอบธรรม อาจกลายเป็นเรื่องที่สังคมเถียงกันไม่จบ เพราะแม้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 จะกำหนดตัวแทนตัดสินโหวตนายกรัฐมนตรี 250 เสียง หรือ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ผ่านการลงประชามติ เท่ากับว่าเรายอมรับรัฐธรรมนูญและความชอบธรรมก็ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ส่วนข้อเสนอ รัฐบาลรอได้ 10 เดือน รอให้ สว. หมดอายุไปก่อนแล้วค่อยโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่ ถือว่าเป็นไปได้ยาก นอกจากปัจจัยแทรกแซงทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ยังถูกใช้เป็นตัวประกันเพื่อเร่งผลักดันรัฐบาลที่อาจจะไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชน

หากวิเคราะห์จากตัวเลขการลงทุนทางเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ยืนยันว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ได้น่าวิตก หากไทยยังไม่มีรัฐบาล และในหลายประเทศทั่วโลกไม่ได้รู้สึกได้รับผลกระทบ แม้จะมีเพียงรัฐบาลรักษาการ

“ความผิดปกติของรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง เกิดขึ้นหลายประเทศทั่วโลก เป็นเหตุผลที่ทำให้ตั้งรัฐบาลล่าช้า…สำหรับไทย ไม่ได้มีปัญหาแค่เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่กำลังใช้ เศรษฐกิจ เป็นตัวประกันต่อรองการเมืองด้วย”

รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

รัฐบาล 10 เดือน! เปิดตัวเลขกระทบเศรษฐกิจจริง แต่ไม่มีน้ำหนักพอ เร่งผลักดันรัฐบาล

บางประเทศที่จัดตั้งรัฐบาลล่าช้า เช่น สเปน ใช้เวลานาน 6-7 เดือน แต่ประชาชนกลับไม่รู้สึกว่าขาดรัฐบาล เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากสัดส่วนของภาคเอกชน การส่งออก มีเพียงส่วนน้อย หรือประมาณ 5% เท่านั้นที่เป็นการลงทุนจากงบประมาณของภาครัฐ การมีรัฐบาลรักษาการที่ยาวนาน จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนในสเปนมากขนาดนั้น

รศ.สมชาย อธิบายว่า GDP ของไทยมาจากการส่งออกสูงถึง 50% การท่องเที่ยว 20% การลงทุนภาครัฐมีเพียง 5% ส่งผลให้การลากยาวของรัฐบาลกระทบต่อ GDP 1-1.5% เท่านั้น หรืออธิบายได้ว่า เศรษฐกิจจะเติบโต หรือ หดตัวจากเดิม 1-1.5% หลังการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จแล้ว ประกอบกับสถานการณ์ของไทยไม่ได้อยู่ในสถานการณ์พิเศษ อย่างช่วงโควิด-19 ก็ยิ่งกระทบน้อย หากยังไม่มีรัฐบาล เพราะยังไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“สเปน มีรัฐบาลรักษาการ 6-7 เดือน แต่เศรษฐกิจถูกกระตุ้นโดยภาคเอกชน ทำให้ คนไม่รู้สึกเลยว่า ไม่มีรัฐบาล…ส่วน GDP ของไทยมาจาก การส่งออกถึง 50% การท่องเที่ยว 20% มีเพียง 5% ที่เป็นการลงทุนภาครัฐ หากการจัดตั้งรัฐบาลลากยาวไปถึงพฤษภาคมปีหน้า อาจส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวช้า กระทบราว GDP 1-1.5% “

รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

หากไทยต้องรอการจัดตั้งรัฐบาลนานไปอีก 10 เดือน เราจะต้องอยู่กับรัฐบาลรักษาการที่มีอำนาจไม่เต็มที่ เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 169 คณะรัฐมนตรีรักษาการ จะอยู่ยาวได้ ไปจนกว่าจะมีการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แม้อยู่ได้ยาว แต่มีหลายข้อห้าม ที่รัฐบาลรักษาการทำไม่ได้ เช่น

  • ห้ามอนุมัติงานหรือโครงการ ที่ก่อภาระผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ยกเว้นกรณีที่กำหนดไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่แล้ว
  • ห้ามการแต่งตั้งโยกย้ายหรือถอดถอนบุคลากรของรัฐ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน
  • ห้ามอนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน
  • ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐที่อาจมีผลในการเลือกตั้ง

โดยมีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลายมิติ ทั้งในแง่ของ เศรษฐกิจ และ ความขัดแย้งในสังคมที่อาจจะขยายตัวมากขึ้น เพราะแค่คำถามว่า ควรรอ หรือ ไม่รออีก 10 เดือน ก็เห็นต่างหลากหลายกันแล้ว หากเวลาเนิ่นนานออกไป จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งในสังคมหรือไม่ ถ้าขัดแย้งกันมากขึ้น จะลามไปถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการกระทบกระทั่ง หรือ ความรุนแรง และสุดท้าย เมื่อคนรู้สึกว่า เลือกตั้งไปแล้ว ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ออกมาใช้สิทธิ์กัน การเมืองวนกลับมาที่เดิม กระทบกับความเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง รวมไปถึง องค์กรอิสระ ฯลฯ

รอรัฐบาล 10 เดือน! เสี่ยงถูกแทรกแซงทางการเมือง

รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า สูตรรัฐบาล 10 เดือนมีความเสี่ยง เพราะในความเป็นจริงทางการเมือง ไม่ได้มีแค่ปัจจัย สว. หมดอายุตามบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยแทรกซ้อน ที่อาจนำไปสู่ การยุบพรรคก้าวไกล หากมีผู้ร้องเรียนเกิดขึ้นหลังจากนี้ หรือแม้แต่การตีความการทำหน้าที่ สว. หลังจาก 10 เดือน ก็ยังมีการตีความที่แตกต่างกันว่า ควรจะให้ทำหน้าที่โหวตนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่ การเมืองเวลานี้จึงไม่มีอะไรการันตีได้ว่าเราจะได้นายกรัฐมนตรีที่อยากจะเห็นจริง ๆ หรือไม่ และหากจะมองความเป็นไปได้มากที่สุด หลังจากการมีเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มีโอกาสที่จะเกิดรัฐบาลข้ามขั้ว หรือรัฐบาลเสียงข้างน้อย จัดตั้งรัฐบาลแข่ง หากการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเพื่อไทยเป็นแกนนำ ยังไม่สามารถปิดดีลได้

ด้าน รศ.สมชาย คาดการณ์ว่า การจัดตั้งรัฐบาลของไทยน่าจะไม่ลากยาวไปถึง 10 เดือน เพราะไม่เพียงแค่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองเท่านั้น แต่ไทยเองก็มีทางเลือกไม่มากนัก ในการจัดตั้งรัฐบาล

  • ทางเลือกแรก ก้าวไกลชอบธรรม แต่คะแนนในสภาฯ ไม่เพียงพอ
  • เพื่อไทย มีโอกาสสูงที่ สว. จะเห็นด้วย แต่มีข้อแม้ต้องไม่มี ก้าวไกล จึงเสี่ยงข้ามขั้ว
  • เสียงข้างน้อย รัฐบาล 188 เสียง จะมีปัญหาเพราะไม่มีเสียงข้างมาก
  • ทางเลือก นายกคนนอกฯ
  • ทางเลือก ลากยาว 10 เดือน เพื่อให้หมดอายุ สว. ตาม มาตรา 272

โดย รศ.สมชาย ย้ำว่า เราอาจจะไม่ได้มีทางออกที่เราต้องการ แต่เป็นทางออกที่ “เลวน้อยที่สุด” เพราะในแง่ของการเมืองต้องยอมรับว่า การเมืองเป็นเรื่องของความเป็นไปได้ The Art of the Possible จบลงอย่างไรเป็นให้ดูที่ความเป็นไปได้ ไม่ใช่ความต้องการว่าจะจบลงอย่างไร

“เราอาจไม่ได้ทางออกที่ต้องการ แต่เป็นทางออกที่เลวน้อยที่สุด เพราะในแง่ของการเมือง เป็นเรื่องของความเป็นไปได้ The Art of the Possible จะจบอย่างไรให้ดูที่ ความเป็นไปได้…”

รศ. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

รัฐบาล 10 เดือน จากเสียงคนรอได้

สัญญาณนี้เริ่มมาจาก กัณวีร์ สืบแสง สส. บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า สมการใหม่ที่ขอนำเสนอครับ รอ 10 เดือน หรือ เจ็บอีกหลายปี ทำไมพรรคฝั่งประชาธิปไตยต้องเล่นตามเกมฝั่งอำนาจนิยมตลอดเวลา การรออีก 10 เดือน ให้ สว. ระเหิด เอาแค่เสียง สส. มาเลือกนายกฯ มันอาจจะเจ็บบ้างที่มีรัฐบาลรักษาการ 10 เดือน แต่คำนวณผลลัพธ์แล้วเราอาจไม่จบอีกหลายสิบปี หากให้อำนาจนิยมได้กุมอำนาจต่อ

พ.ต.ต. ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ สส. ก้าวไกล ระบุถึงกรณีถ้านายกรัฐมนตรีมาจากพรรคอันดับ 3 คือ อนุทิน ชาญวีรกูล โดยบอกว่า 10 เดือนก็มีประโยชน์กว่า ถ้าเทียบระหว่าง รัฐบาลอนุทิน เป็นรัฐมนตรีแบบรักษาการ กับรัฐบาลอนุทิน เป็นรัฐมนตรีแบบมีอำนาจเต็ม โดยตั้งคำถามในทำนองว่า แบบไหนเป็นพิษต่อประเทศ และประชาชนมากกว่า

รอไปอีก 10 เดือน ต้องถือว่า เป็นประเด็นที่โลกออนไลน์ มีทั้งเห็นด้วยเห็นต่าง มีหลายสำนักข่าวออนไลน์ ทำโพลสำรวจ ส่วนใหญ่เท่าที่แชร์กันอยู่บอกว่ารอได้ และไม่เหมาะสมที่พรรคเพื่อไทยเชิญ 5 พรรคขั้วตรงข้ามมาเจรจา รวมถึงภาคประชาชนบางส่วนอย่าง กลุ่มขบวนการเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ 8 พรรคร่วมจับมือกันให้แน่น เป็นเหมือนข้าวต้มมัด และขอให้รออีก 10 เดือน ให้ สว. หมดวาระ เพื่อปิดสวิตช์ สว. ไม่ต้องร่วมเป็นสมการโหวตนายกรัฐมนตรี

ขณะที่อีกกระแสก็ออกมาแสดงความกังวล โดยตั้งข้อสังเกตว่า การไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยให้รัฐบาลรักษาการยาวนานไปถึง 10 เดือน ต้องแลกกับอะไรบ้าง เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็จะถูกจำกัดอำนาจไว้ การทำงาน ก็ทำได้ไม่เต็มที่ ย่อมส่งผลกระทบทั้งต่อความเชื่อมั่น เศรษฐกิจ และการลงทุน

อย่างสัญลักษณ์ของข้าวต้มมัด ถูกคนเสื้อแดง กทม. 50 เขต ที่เรียกตัวเองว่า “สื่อมวลชนเสื้อแดงปทุมธานี” มายื่นหนังสือพร้อมอ่านแถลงการณ์ แสดงจุดยืนของกลุ่มคนเสื้อแดงให้กำลังใจพรรคเพื่อไทย และขอให้พรรคเพื่อไทยรวบรวมเสียงพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ไม่สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาร่วมเป็นรัฐบาล และสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องได้ทันเวลา และคณะสื่อมวลชนเพื่อประชาธิปไตยเสื้อแดง ยินดีให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทยทำในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อคนไทยทั้งประเทศ และนำข้าวต้มมัดมาแกะแยกออกจากกัน พร้อมกับแกะใบตองออกและรับประทานโชว์สื่อ เพื่อจะสื่อว่า ข้าวต้มมัดต้องแกะ แล้วกินเพื่อปากท้อง 

การชั่งน้ำหนักรัฐบาล 10 เดือน จะคุ้มกับความเสี่ยงแค่ไหน ก็ยังมีหลายฝ่ายต่างออกมาแสดงความคิดเห็น รวมถึงความเห็นล่าสุดของ กัณวีร์ จากพรรคเป็นธรรม ที่ออกมาย้ำว่าให้ตั้งข้อสังเกตกลเกมในทางการเมือง เร่งรัดจัดตั้งรัฐบาลว่า

“การจัดตั้งรัฐบาลไปก่อนโดยเร็ว เป็นตัวเลือกที่ “เลวน้อยที่สุด” แต่จริง ๆ แล้ว คือ กลลวงที่พาประเทศกลับไปสู่จุดเดิม และอาจจะเลวร้ายกว่าเดิมด้วยซ้ำ คล้ายตอนที่เราถูกบีบบังคับให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบบนี้ และเกิดผลเสียหายตามมากว่าทศวรรษ”

กัณวีร์ สืบแสง

ตั้งรัฐบาลช้า รัฐธรรมนูญผิดปกติ นานาประเทศก็เคยเจอ แต่ไทยคุ้มเสี่ยงแค่ไหน?

สเปน ปี 2015 ตั้งรัฐบาลช้า ใช้เวลา 315 วัน

รศ.สมชาย อธิบายผ่านรูปธรรมของหลายประเทศ เช่น สเปน ในช่วงปี 2015 และ 2019 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 99 กำหนดให้หลังการเลือกตั้งต้องจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาฯ แต่หากไม่สำเร็จ โหวตได้อีกครั้งภายในเวลา 48 ชั่วโมง โดยรอบ 2 ต้องการเพียงเสียงข้างมากไม่ต้องถึงกึ่งหนึ่ง แต่หากยังไม่สำเร็จอีกและเวลาล่วงเลยครบ 2 เดือน ก็จำเป็นต้องยุบสภาฯ และเลือกตั้งใหม่

โดยสาเหตุที่สเปน ใช้เวลายาวนานในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะเวลานั้นพรรคการเมืองต่างขั้ว ทำให้การโหวต สส. เสียงไม่ครบ และบางพรรคมีอุดมการณ์ที่รวมกับพรรคอื่นได้ยาก เพราะมีแนวนโยบายที่เรียกร้องการแบ่งแยกดินแดน

แต่สำหรับ สเปน มีรูปแบบการปกครอง 17 แคว้น และ 2 เมือง ทำให้ไม่รู้สึกต่อผลกระทบในทางเศรษฐกิจ เพราะมีรัฐบาล รัฐสภาท้องถิ่น การใช้งบประมาณหลายอย่างจึงไม่กระทบงบประมาณส่วนกลาง

เบลเยียม ปี 2020 ตั้งรัฐบาลช้าใช้เวลา 652 วัน

เบลเยียม ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะความแตกต่างทางนโยบาย โดยมีพรรคที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส มีแนวคิด ต้องการแบ่งแยกแผ่นดิน กับพรรคขั้วตรงข้ามที่ใช้ภาษาดัตช์ในการสื่อสาร แนวคิดทางการเมืองต่างกัน ไม่ลงรอยกันหนักมากขึ้น จนใช้เวลายืดเยื้อนานกว่า 600 วัน และไม่มีแนวโน้มว่ารอยร้าวจะดีขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมของสำนักข่าวออนไลน์ เช่น ประชาไท, เนชั่นออนไลน์ พบอีกหลายประเทศที่จัดตั้งรัฐบาลล่าช้า รวมถึงไทยด้วยเหตุผลคล้ายกันในเรื่องขั้วการเมือง เช่น

  • สวีเดน จากการเลือกตั้งในปี 2018 ระยะเวลา 134 วัน
    สาเหตุมาจาก 2 พรรคการเมืองได้ สส. ไม่ถึง และพรรคอันดับ 3 ก็เข้าร่วมยากเพราะขวาจัด
  • เนเธอร์แลนด์ เลือกตั้งปี 2017 ระยะเวลา 225 วัน
    สาเหตุมาจากพรรคอันดับ 1 ดีลกันหลายพรรคเพราะอันดับ 2 เป็นพรรคขวาสุดขั้ว
  • เยอรมนี เลือกตั้งปี 2017 ระยะเวลา 136 วัน
    สาเหตุมาจากพรรคอันดับ 1 จับมือกับพรรคอันดับ 2 ส่วนพรรคอันดับ 3 ขวาจัดจนอันตราย

ส่วนประเทศไทย เคยรอรัฐบาลชุดใหม่นานที่สุดในสมัย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา การเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562 ใช้เวลารวม 108 วันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องจับตาดูว่าในปี 2566 จะใช้เวลานานแค่ไหนในการจัดตั้งรัฐบาล

แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะไม่ใช่คำตอบที่เร่งด่วนที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาล แต่การมีรัฐบาลรักษาการ ก็ควรจัดการปัญหาเร่งด่วนอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง เอลนีโญ ที่กำลังจ่อประเทศและอาจสร้างผลกระทบต่อประชาชน การมีรัฐบาลช้า หรือ เร็ว จึงควรช่างน้ำหนัก คำนึงถึงผลกระทบในทางสังคม โดยไม่ใช้ข้ออ้างเพื่อเป็นฉากบังหน้าในการหาผลประโยชน์ในทางการเมือง…


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์