รัฐบาล “กู้” วิกฤต

รัฐบาล “เศรษฐา” เพิ่งถูกชื่นชมในความกล้าตัดสินใจ เตรียมแถลงใหญ่ “แก้หนี้ทั้งระบบ” อาจหาญลงดาบเจ้าหนี้ที่ไร้ธรรมาภิบาล แต่ผ่านไปเพียงวันเดียวก็ถูกกลบด้วยกระแส #ตั๋วเพื่อไทย หลังจากที่นายกฯ หลุดปากปมขอตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจ แม้ล่าสุด นายกฯ ชี้แจงแล้วว่า “ไม่เคยไปก้าวก่ายหรือ แทรกแซงการแต่งตั้งผู้กำกับ”

แต่ก็มีประชาชน และพรรคการเมือง อย่าง ส.ส.ก้าวไกลที่ออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบประเด็นนี้ ตั้งแต่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่ออกมาเรียกร้องให้ เศรษฐา ทวีสิน ตอบคำถามนี้ให้ชัด เพราะอาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 185 รวมถึง รังสิมันต์ โรม ที่มองว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องนี้ใหญ่ เพราะตาม พ.ร.บ.ตำรวจ อำนาจในการเสนอและแต่งตั้งโยกย้ายผู้กำกับในสังกัด เป็นอำนาจของผู้บัญชาการ นายกฯ มีอำนาจเสนอชื่อ ผบ.ตร. แต่ถ้านายกฯ เข้าไปแทรกแซงการโยกย้ายผู้กำกับ คือ การทำผิดกฎหมาย เป็นการคอร์รัปชัน ผิดทั้งรัฐธรรมนูญ ผิดจริยธรรมนักการเมือง

นี่ยังไม่นับรวม #ซอฟต์พาวเวอร์ ที่เริ่มเป็นประเด็นให้เห็นชัดตั้งแต่ช่วงที่ภาพยนตร์สัปเหร่อกำลังเป็นกระแส, จนมาถึง เวทีนางงามมิสยูนิเวิร์ส และล่าสุดเมื่อ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี๊ยบ นิยามคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านรายการกรรมการข่าวคุยนอกจอ และให้สัมภาษณ์ว่า นิยามที่ลื่นไหล เหมือน “ความรัก” อยากรู้ว่า soft power หมายถึงอะไร ก็ไปหาความหมายของความรัก ว่าคืออะไร

ตามมาด้วยกระแสโต้กลับจาก พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า โดยเปรียบเทียบกับ รัฐบาลทักษิณ ที่เคยทำ “ครัวไทยไปครัวโลก” ซึ่งก็ถือว่าเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ว่าจะหยิบ อาหารไทย มาเป็นธีมสำคัญ เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ โดยย้ำว่าการบอกว่าอะไร ๆ ก็เป็น soft power นิยามมันลื่นไหลเหมือนความรัก ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปย่อมพูดได้ แต่ถ้ารัฐบาลหรือคณะกรรมการ soft power เป็นผู้พูด จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น และการทำความเข้าใจนโยบายนี้ ตั้งแต่ข้าราชการผู้ปฏิบัติงาน ไปจนถึงนานาชาติ

บทเรียน รัฐบาลเงินกู้ สู่ ยุคดิจิทัลวอลเล็ต

ส่วนอีกประเด็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถาม มาอย่างต่อเนื่อง คือ การกู้เงิน 5 แสนล้านบาทมาแจกประชาชน 50 ล้านคน ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยหลังจากที่ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาสภาพัฒน์ฯ เปิดตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ที่ + 1.5 ซึ่งต่ำกว่าที่ตั้งเป้าเอาไว้ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล  ย้ำว่า เศรษฐกิจไทยแย่ โตช้า โตต่ำกว่าที่คิด แต่คำถามคาใจคือ “วิกฤต” หรือยัง” ? ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า เศรษฐกิจกำลังวิกฤต

The Active สัมภาษณ์ นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ตีความคำว่า วิกฤต อาจต้องใช้กับ ตัวเลข GDP การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบแล้ว โดยหยิบยกตัวอย่างหลายรัฐบาลที่เริ่มกู้เงิน เพื่อมากู้วิกฤตในอดีต ส่วนใหญ่ล้วนเป็นสถานการณ์ที่วิกฤตจริง ๆ ยกตัวอย่างเช่น

  • รัฐบาลชวน หลักภัย ประเทศไทย-เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง รัฐบาลจึง ออก พ.ร.ก.เงินกู้ วงเงินไม่เงิน 5 แสนล้าน 2 ฉบับ
    เป็น พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน
  • รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือ วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ เป็นวิกฤตการเงินของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลออก พ.ร.ก เงินกู้ 2 ฉบับฉบับแรก วงเงินกู้ไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ขณะที่อีกฉบับเป็น ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ไม่ผ่าน ถูกถอนไปเพราะ “ภาวะทางเศรษฐกิจและสถานะทางการคลังของประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น”
  • ​รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ช่วง วิกฤตไทยเจอน้ำท่วมครั้งใหญ่ ออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.กู้เงิน – วางระบบบริหารจัดการน้ำ วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท ขณะที่อีกฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ ศาล รธน. เห็นว่า การออกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ‘มิใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน’ จึงขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ
  • รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ เน้นเยียวผลกระทบโควิด -19 ฉบับแรกวงเงิน ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท (ปี 2563) ถัดมาออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน – เพิ่มเติม (ปี 2564) วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท

ส่วนดิจิทัลวอลเล็ต จะบรรลุผลตามแนวทางที่วางไว้หรือไม่ นักรัฐศาสตร์วิเคราะห์ว่า เงื่อนไขทางการเมืองน่าจะไม่ยาก อาจจะต้องอาศัยความเป็นเอกภาพของสภาฯ แต่ที่สุ่มเสี่ยง หากรัฐบาลถูกร้องให้ ศาล รธน.วินิจฉัย ว่า พ.ร.บ.เงินกู้นั้น ขัดต่อ รธน.หรือไม่

TDRI วิเคราะห์ ระยะยาว : ไทยวิกฤตเชิงโครงสร้าง

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ อธิบายว่า หากมองให้ใหญ่กว่าคำว่า “วิกฤต” ปัญหาเศรษฐกิจ แบ่งได้เป็น 2 ระยะ ระยะยาว คิดจากช่วงเวลา 10-30 ปีที่ผ่านมา ประเมินได้ว่า ไทยกำลังอยู่ภาวะ “วิกฤตเชิงโครงสร้าง” และไม่สามารถแก้ได้ด้วยการแจกเงิน แต่ต้องแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนวิธีการมองว่า ในระยะยาวไทยจะสามารถตอบสนองตลาดโลกให้ดีขึ้นได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่นหลายประเทศในอาเซียน ที่สามารถใช้ช่วงเวลาวิกฤตฟื้นเศรษฐกิจ เกิดนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ในญี่ปุ่น, เทคโนโลยี โทรศัพท์ ในเกาหลีใต้, รวมถึงด้านอุตสาหกรรมการขนส่ง ในสิงคโปร์ ฯลฯ

ซึ่งหากมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย จะเห็นความสุ่มเสี่ยงในมิติเศรษฐกิจผ่านตัวเลข GDP ที่ลดลงอย่างต่อตั้งแต่

  • ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 1997 วิกฤตต้มยำกุ้ง GDP ประเทศโตอยู่ในระดับ 7%
  • จากนั้นใน ปี 2007 ไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือ วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ซึ่งเป็นวิกฤตการเงินของสหรัฐอเมริกา ทำให้ GDP ลดลงมาเหลือ 4-5%
  • ในปี 2007 ไทยประสบปัญหาโรคระบาด โควิด-19 ทำให้ GDP ไทยลดลงมาอยู่ที่ 3.6% และหลังจากปี 2007 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 3% ไม่เพิ่มขึ้น จึงเรียกได้ว่า ระยะยาวนั้นประเทศไทยเราอยู่ในภาวะวิกฤตเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง

ระยะสั้น : เศรษฐกิจป่วย แต่ไม่ติดลบ = ไม่วิกฤต

แต่หากมองใน ระยะสั้น ช่วง 1-3 ปี สถานการณ์การเติบโตก่อนโควิด-19 เศรษฐกิจไทยควรโต 3.6% ต่อปี หากปีไหนต่ำกว่า 3.6% แสดงว่า เริ่มมีปัญหา แต่ยังไม่ได้หมายความว่า วิกฤต อาจารย์ยังเปรียบเทียบให้เห็นชัด ๆ ว่า เหมือนคนที่กำลังเป็นแผล จากการประสบอุบัติเหตุ ซึ่งยังไม่ต้องเข้าห้อง ICU

GDP ต่ำกว่า 3.6% เริ่มมีปัญหา แต่ไม่ได้หมายความ วิกฤต

เหมือนคนที่กำลังเป็นแผล จากการประสบอุบัติเหตุ เราก็แค่ทำแผล

คำถามคือ รัฐบาลจะส่งคนเป็นแผล เข้าห้อง ICU เลยหรือไม่ ?”

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ

อาจารย์นณริฏ อธิบายต่อว่า สถาพัฒน์ฯ คาดการณ์แล้วว่าเศรษฐกิจเราจะขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ 1% หรือน้อยกว่าที่คาด 1.7 แสนล้านบาท เราจึงต้องการเงินกระตุ้น 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่ได้ใหญ่มาก แต่หากจะใช้คำว่า “วิกฤตจริง ๆ” ส่วนตัวคิดว่าการเติบโตของประเทศไทยจะต้องติดลบ เหมือนกับวิกฤตหลาย ๆ ครั้งของไทยที่ผ่านตั้งแต่ วิกฤตเศรษฐกิจ, อุทกภัยใหญ่, รวมถึงโรคระบาดที่ผ่านมา ที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินมาแก้ปัญหา

เดินหน้าแจกเงินกู้ ประชาชนต้องรู้เท่าทัน

สิ่งที่ประชาชนอาจจะต้องเจอ หลังมาตรการแจกเงิน คือ การเข้าถึง การลงทะเบียนมักจะพบว่า คนบางคนเข้าไม่ถึง บางครั้งมีการลงทะเบียน ไม่สามารถใช้จ่ายได้ 50 ล้านคน ครบถ้วนตามที่ประกาศไว้หรือไม่

และเมื่อเข้าถึงแล้ว ต้องตามดูกันต่อว่า การหมุนเงิน จน GDP เข้าใกล้ 5% รัฐบาลจะทำได้หรือไม่ นี่จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่จะต้องฟื้นเศรษฐกิจ ฟื้น GDP จนมีภาษีกลับคืนมาใช้หนี้ในเศรษฐปีหน้า และปีต่อ ๆ ไป จนไม่เป็นภาระการคลัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะต้องจับตาด้วยว่า “โครงการต่าง ๆ ที่อาจจะหายไป ภาครัฐมีหนี้มากขึ้น และอาจจะไม่ได้สามารถทำนโยบายอื่น ๆ ได้”

ส่วนตัวชี้วัดที่จะใช้ประเมินได้ว่า ภาครัฐสามารถหมุนเงินได้จริง ตามคาดหวังคือ ตัวเลขทาง ตัวเลขเศรษฐกิจที่จะกระดกขึ้น เงินในกระเป๋าจะมากขึ้น ไม่มีสภาพฝืดเคืองขัดสน ประชาชนสามารถขาดของได้จริง เงิน 10,000 บาท ที่จ่ายออกไปแล้วได้กลับมาใช้จ่ายแบบซื้อง่าย-ขายคล่อง แต่ต้องระวังไม่ให้เกิดภาวะซื้อง่ายเกินไปจนข้าวของราคาแพง ซึ่งก็จะเป็นอีกสถานการณ์ที่ไม่ดีนัก ทั้งหมดนี้คือความกังวล แต่หากรัฐบาลตัดสินใจเดินหน้าโครงการดังกล่าวไปแล้ว ก็จำเป็นที่ประชาชนอย่างเรา ๆ ต้องจับตานโยบายเรือธงอย่างใกล้ชิด ว่าจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่เคย หาเสียง เอาไว้หรือไม่ ?

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน