Transition Team มันคืออะไร มันคืออะไร !?

ทีมงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล หรือ Transition Team คือหนึ่งในเรื่องที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ประกาศหลายครั้งในการแถลงจัดตั้งรัฐบาล ที่เขาเรียกว่า “รัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน”

การประกาศจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่เวลานี้รวบรวมจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว 313 ที่นั่ง จาก 8 พรรคการเมือง นอกจากมีการแถลงร่วมกันว่าจะสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกลให้เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดทำข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อทำงานร่วมกันแล้ว ยังมีการประกาศว่าจะมีการจัดตั้ง Transition Team ด้วย

อะไรทำให้การจัดตั้ง Transition Team เป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ที่เริ่มทำกันตั้งแต่ กกต. ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้ง The Active ชวนดูหน้าตาของทีมที่ว่ากันว่าจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย (จากการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ) ถึงบทบาทสำคัญที่อาจช่วยปลดชนวนความขัดแย้งในอนาคตที่หลายฝ่ายกังวล

หากพูดถึงประเพณีการถ่ายโอนอำนาจ ที่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนและเห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด อาจต้องย้อนไปในปี 1952 ในสหรัฐอเมริกา สมัยนั้นถูกเรียกว่า “White House Transition” เป็นคณะทำงานที่มีหน้าที่จัดหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้คณะผู้บริหารชุดใหม่ รวมถึงออกแบบวิธีการทำงานของแต่ละกระทรวง ซึ่งการที่ พิธา จบการศึกษาจาก Harvard และ MIT จึงอาจได้รับอิทธิพลจากฐานคิดนี้มาด้วย

แต่ Transition Team จะเป็นการยกโมเดลของอเมริการมาเลยหรือไม่นั้น ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่า เป็นส่วนผสมกันของหลาย ๆ ประเทศ เพื่อให้เหมาะกับประเทศไทยและทำได้จริง ซึ่งคณะทำงานในระยะเปลี่ยนผ่านที่พรรคก้าวไกลประกาศ จะมีตัวแทนของพรรคร่วมรัฐบาลที่เวลานี้มีอยู่ 9 พรรค คร่าว ๆ พรรคละ 3-5 คน บทบาทหน้าที่หลัก ๆ คือ การสำรวจว่าเวลานี้มีเงื่อนไขหรือปัญหาอะไร ที่เมื่อรัฐบาลใหม่เข้าไปทำงานแล้วจะต้องตัดสินใจทันทีหรือจะกลายเป็นอุปสรรค เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รออยู่ เช่น เรื่องงบประมาณ หรือ กรณีมีสัมปทานหลาย ๆ ฉบับ ที่ต้องการการตัดสินใจของรัฐบาล

ขณะเดียวกันคณะทำงานชุดดังกล่าว จะต้องเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานราชการและเอกชน แต่การอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลชุดนี้ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจึงไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซง เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมรับข้อมูลจากภาครัฐและเอกชน ให้พร้อมมากขึ้นเมื่อถึงวันที่จะเป็นรัฐบาล

“แน่นอนว่าภาคเอกชนต้องเข้าไปพูดคุย ส่วนภาครัฐเราก็มองไว้หลายส่วน ซึ่งยังไม่มั่นใจว่าเขาอยากจะคุยกับเราหรือเปล่า แต่ถ้าเข้าไปขอความรู้ คำชี้แจงเบื้องต้นเขาก็อาจจะอยากคุยกับเราอยู่ เช่น สภาพัฒน์ ที่ดูภาพรวมของเศรษฐกิจในปีนี้ หรือสำนักงบประมาณ ได้คุยกันก็คงจะเห็นหน้าตาของงบฯ ปี 67 เป็นยังไง และถ้าจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงพอจะทำอะไรได้บ้างก็น่าจะดี”

ศิริกัญญา ตันสกุล

ส่วนในด้านการเปลี่ยนแปลงความคิดความเห็นต่าง รัฐบาลชุดนี้เห็นว่าจำเป็นจะต้องมีคณะทำงานเข้าไปรับฟังความเห็นต่างของประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจ ตามที่พิธาก็ประกาศว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีสำหรับทุกคน ดังนั้น การที่จะเข้าไปพูดคยกับคนที่เห็นต่างน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ และน่าจะเป็นหนึ่งในก้าวที่จะนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งของประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งน่าจะทำงานคู่ขนานไปกับคณะทำงานเจรจาจัดตั้งรัฐบาล โดยจะเริ่มเดินหน้าได้สัปดาห์หน้า หลังพรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมกันลงนามใน MOU ร่วมรัฐบาล 22 พ.ค. นี้

เรื่องใหม่ แต่หลายประเทศทำมานานแล้ว

ทีมงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล (Transition Team) มีการจัดตั้งขึ้นในหลายประเทศ มีชื่อและโครงสร้างที่แตกต่างกันออกไป แต่หัวใจหลักไม่ต่างกันมากนัก คือการส่งต่อการเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งให้เกิดความราบรื่นมากที่สุด

สหรัฐอเมริกา – ประเพณีการถ่ายโอนอำนาจ – White House Transition เริ่มในปี 1952  หรือ 2495

หน้าที่ :

  • จัดหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้คณะผู้บริหารชุดใหม่
  • ออกแบบวิธีการทำงานของแต่ละกระทรวง
  • จัดหาข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจของผู้นำ
  • ฝึกอบรมรับมือวิกฤติการณ์ บริเวณทำเนียบขาวให้กับประธานาธิบดี (บางสมัยเริ่มต้นการถ่ายโอนอำนาจล่วงหน้าถึง 1 ปี)

เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา – คณะกรรมการเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transition Committee) ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจ, สหภาพแรงงาน, กลุ่มความเชื่อ, การศึกษา, ผู้นำชุมชน รวม 44 กลุ่ม

หน้าที่ :

  • ให้คำแนะนำแก่นายกเทศมนตรีคนต่อไป เกี่ยวกับประเด็นด้านนโยบายต่าง ๆ

เกาหลีใต้ คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการวางแผนกิจการแผ่นดิน (The State Affairs Planning Advisory Committee)

หน้าที่ :

  • เป็นทีมเปลี่ยนแปลงเพื่อรัฐบาลที่เข้ารับตำแหน่งใหม่
  • นำเสนอแผนงานแผนภายใต้เป้าหมาย เช่น Road Map, ดูแลภาพลักษณ์, การสื่อสารภายใน และต่างประเทศ

สิงคโปร์ – ทีมเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

หน้าที่ :

  • ฝึกอบรมนายกรัฐมนตรีก่อนเลื่อนตำแหน่ง
  • ส่งต่อข้อมูลกับข้าราชการชุดเก่า เพื่อเข้าใจนโยบายสาธารณะ

แคนาดา – ทีมเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

หน้าที่ :

  • พูดคุยเกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐมนตรี
  • ดูแลท่าทีของผู้นำที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ และระบบราชการ
  • เป็นผู้นำการอภิปรายเกี่ยวกับทิศทางนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่
  • วิเคราะห์นโยบาย และถ้อยแถลงด้านเศรษฐกิจ
  • ตัดสินใจเกี่ยวกับคำมั่นสัญญาต่าง ๆ
  • ตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบ การจัดการของรัฐบาลทั้งระยะสั้น ระยะกลาง เพื่อให้มั่นใจว่าภารกิจ “เพื่อประชาชน” ของรัฐบาลบรรลุผลสำเร็จ

นักรัฐศาสตร์มองว่า การกำหนดยุทธศาสตร์ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาล ในการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ถือเป็นมิติใหม่ของการเมืองไทย และสังคมไทยที่กำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัญหาของก้าวไกลเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่การประสานระหว่างพรรค แต่เป็นการประสานในระดับกลุ่มย่อยทางการเมือง หรือ “มุ้งทางการเมือง” การมีคณะทำงานเปลี่ยนผ่านจึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะการทำงานกับรัฐเดิมที่อาจจะยังเป็นรัฐราชการ คล้ายคลึงกับชุดของรัฐบาลโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ออกนโยบาย 100 วันแรก ในการถอดรื้อปัญหาเดิมที่โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสร้างเอาไว้

ท้ายที่สุดบทบาทสำคัญของทีมงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล (Transition Team) ที่มี 9 พรรคร่วมรัฐบาลเป็นส่วนผสม ยังอาจทำให้การจัดสรรกระทรวงเป็นไปตามยุทธศาสตร์ ไม่ใช่การแบ่งโควตารัฐมนตรี หรือกระบวนการในการกำหนดนโยบายที่ไม่ได้ต่างคนต่างทำ แต่สอดคล้องและบูรณาการกันได้ดีมากยิ่งขึ้น


อ้างอิง :

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน