ภัยจากการรายงานข่าวชุมนุม สะท้อนเสรีภาพสื่อไทยอยู่ในอันดับที่น่ากังวล

นักวิชาการสื่อจัดนิทรรศการสะท้อนความท้าทายของสื่อในการรายงานข่าวชุมนุม ปี 2563 – 2565 มีสื่อบาดเจ็บอย่างน้อย 34 ราย ย้ำเสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน ยิ่งรัฐปิดกั้นสิทธิ สังคมจะยิ่งบาดหมาง

กลุ่มผู้จัดทำโครงการงานวิจัยการรายข่าวการประท้วง: บทบาทของสื่อมวลชนไทยในการชุมนุม จัดงาน “Beyond the Headline” นิทรรศการความท้าทายของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวการชุมนุม โดยงานจัดตั้งแต่วันที่ 15-20 กันยายน 2566 ที่ 1559 Space สามย่าน ภายในงานปรากฎคำบอกเล่า ภาพถ่าย และวิดีทัศน์ของเหล่าผู้ปฏิบัติงานสื่อและเหตุการณ์ชุมนุมตั้งแต่ปี 2535 สะท้อนแง่มุมต่าง ๆ ของการชุมนุมที่คนข่าวพบเห็น แต่อาจไม่ปรากภฏเป็นข่าว 

ภายในนิทรรศการฉายภาพความท้าทายและผลกระทบที่คนสื่อต้องเผชิญในการปฏิบัติงาน ในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่เหตุการณ์การชุมนุมพฤษภาประชาธรรม (2535) การชุมนุมที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฯ (2549-2551) การชุมนุมที่นำโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) (2552-2553) การชุมนุมที่นำโดย กปปส. (2556-2557) และการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชนกลุ่มราษฎร(2563-2565) โดยผลกระทบต่อสื่อมวลชนในการรายงานข่าวชุมนุมทั้ง 5 สมัยมีดังนี้

  • การชุมนุมพฤษภาประชาธรรม (2535): ผู้ปฏิบัติงานสื่อได้รับบาดเจ็บ 33 คน บาดเจ็บสาหัส 5 คน
  • การชุมนุมที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฯ (2549-2551): ผู้ปฏิบัติงานสื่อได้รับบาดเจ็บ 2 คน และถูกคุกคาม 8 คน
  • การชุมนุมที่นำโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) (2552-2553): ผู้ปฏิบัติงานสื่อเสียชีวิต 2 คน และได้รับบาดเจ็บ 10 คน
  • การชุมนุมที่นำโดย กปปส. (2556-2557): ผู้ปฏิบัติงานสื่อได้รับบาดเจ็บ 6 คน และถูกคุกคาม 3 คน
  • การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชนกลุ่มราษฎร (2563-2565): ผู้ปฏิบัติงานสื่อได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 34 คน

แม้ว่าการชุมนุมในแต่ละยุคสมัยจะมีประเด็นการเรียกร้องที่แตกต่างกัน แต่การปิดกั้นและลิดรอนเสรีภาพสื่อผ่านกลไกกฎหมายและอาวุธต่าง ๆ ยังคงปรากฎให้เห็นในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ระดับของความรุนแรง อาทิปิดกั้นช่องทางการสื่อสาร การบังคับปิดสถานี การเซ็นเซอร์โดยรัฐ ตลอดจนการใช้อาวุธ-อุปกรณ์สลายการชุมนุมกดดันสื่อ เป็นต้น กลไกนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามลิดรอนเสรีภาพของสื่อ ซึ่งนั่นหมายถึงเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ประชาชนจะสูญเสียพื้นที่กลางในการคลี่คลายความขัดแย้ง และแทนที่ด้วยการใช้ความรุนแรงที่รัฐอ้างว่าคือความชอบธรรมเพื่อยุติข้อเรียกร้องของมวลชน

ภาพเหตุการณ์การชุมนุมนปช. และ กปปส.
ภาพเหตุการณ์การชุมนุมกลุ่มราษฏร

เนื้อหาในนิทรรศการเผยข้อมูลจาก World Press Freedom Index โดย RSF ระบุว่า ปี 2553 พบสื่อมวลชน 2 ราย เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงด้วยอาวุธอันตรายโดยรัฐ ส่งผลให้ดัชนีเสรีภาพสื่อของประเทศไทยตกลงมาอยู่อันดับที่ 153 จาก 178 ประเทศทั่วโลก ซึ่งตกลงมา 23 อันดับจากปีก่อนหน้า โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ตัดสินว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ และไม่ได้มีการระบุถึงการเยียวยาโดยกองทัพตลอดจนการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

“เหตุการณ์ไหนที่สื่อโดนเยอะ ๆ เนี่ยประชาชนโดนเยอะยิ่งกว่านะครับ เยอะกว่าหลายเท่าด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นความปลอดภัยของสื่อมันเลยเดินไปด้วยกันกับความปลอดภัยของประชาชนและผู้ชุมนุมอย่างไม่ต้องสงสัยเลย”

ธีรนัย จารุวัสตร์ อดีตอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

นิทรรศการได้ตั้งคำถามต่อผู้เข้าชมว่า หากเลือกได้ คิดว่าเรื่องใดควรจัดการเร่งด่วนเพื่อรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน โดยให้นำเอาลูกปิงปองหยอดใส่ในกล่องทรงกระบอก ปรากฎว่า ความเห็นส่วนใหญ่หวังให้ รัฐบาลเป็นผู้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ผ่านการยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน รองลงมาคือรัฐบาลต้องทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

ผศ. พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศและสื่อใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้จัดทำโครงการงานวิจัยการรายข่าวการประท้วงฯ ระบุว่า การชุมนุมเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนแสดงสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสาร ซึ่งสื่อมวลชนเองก็ใช้สิทธิเดียวกัน โดยนำเอาประเด็นการขับเคลื่อนของประชาชนมาสื่อสารแทน เสมือนใช้สิทธิแทนประชาชน โดยการที่รัฐใช้ความรุนแรงในการยุติการชุมนุม เท่ากับว่ารัฐมอง ‘การชุมนุม’ เป็น ‘ภัยความมั่นคง’ โดยมุมมองในการตีความความหมายของการชุมนุมจะทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ มีปฏิกิริยาต่อผู้ชุมนุมที่แตกต่างกัน

ผศ. พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศและสื่อใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้าน ทัตเทพ ดีสุคนธ์ ผู้ช่วยวิจัยโครงการงานวิจัยการรายข่าวการประท้วงฯ ระบุว่า นอกเหนือจากการคุกคามเสรีภาพสื่อผ่านการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ สื่อเองก็อาจเป็นภัยคุกคามเสรีภาพสื่อด้วยตัวเองเช่นกัน จากการรายงานเหตุการณ์การชุมนุมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มักเป็นไปในลักษณะการรายงานยอดตัวเลขสูญเสียมากกว่ารายงานข้อเรียกร้องของมวลชน จนทำให้ประเด็นการเคลื่อนไหวมักถูกตีตกไปจากกระแสข่าว ทั้งนี้ ในยุคปัจจุบันมีสื่อเสรี สื่อภาคประชาชนขนาดเล็ก ถูกก่อตั้งเพิ่มมากขึ้นเพื่อรายงานในประเด็นนอกกระแส ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดข่าวสารมากขึ้น

นอกจากนี้ ทัตเทพ ย้ำว่า การที่รัฐยิ่งปิดกั้นไม่ให้สังคมเกิดการสื่อสาร เรียกร้องต่อภาครัฐ จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ในแต่ละสถาบันบาดหมางกันมากยิ่งขึ้น ดัชนีเสรีภาพสื่อไทยลดต่ำลงทุก ๆ ปีและอยู่อันดับที่ต่ำกว่าร้อยมาโดยตลอด (จาก 178 ประเทศทั่วโลก) เป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก การควบคุมการชุมนุม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งมาจากการรัฐประหารโดยเฉพาะครั้งในปี 2549 และปี 2557 และในปัจจุบันยังมี ร่างพ.ร.บ. จริยธรรมสื่อที่จะมาควบคุมพฤติกรรมของสื่อมวลชนไทยอีกด้วย

“ถึงแม้เราจะมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยอยู่ช่วงหนึ่ง เช่น รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ คุณสมัคร คุณสมชาย แต่อันดับเราก็ไม่ได้ดีขึ้นเพราะเรามีกฎหมายกีดกั้นเสรีภาพเหล่านี้อยู่ และพอมีเหตุชุมนุม-เหตุฉุกเฉิน มันก็จะถูกนำกลับมาใช้เสมอ ซึ่งถ้าเราแก้ไข มีการลดอำนาจรัฐในการกำกับควบคุมสื่อ ทำให้สื่อกำกับดูแลกันเองได้อย่างอิสระ มีสภาวิชาชีพที่เข้มแข็งก็จะช่วยให้ดัชนีเสรีภาพสื่อดีขึ้นได้ ” 

ทัตเทพ ดีสุคนธ์ ผู้ช่วยวิจัย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active