อย่าลืมความสูญเสีย จาก “พิษการเมือง” ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยเดิม I ศ.ชัยวัฒน์  สถาอานันท์

การเมือง “เป็นมิตร” ล้าง “พิษการเมือง”

“เมื่อจะตายก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ บ้า ๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิด ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ 

“การเมืองเป็นพิษ” ที่ไม่ได้ถูกนิยามความหมายไว้ในบทความ “ปฎิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ อ.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์   แต่ถูกขยายภาพให้ชัดขึ้นจากบาดแผลและความสูญเสีย ในหลายเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่พรากชีวิตผู้คนไปมากมายหลังจากนั้น  จนล่วงเวลามา 50 ปี ปัจจุบันร่องรอยของ “พิษการเมือง” ยังคงปรากฏและยังส่งเสียงเตือนให้ระวังไม่ให้กลับมาออกฤทธิ์ซ้ำ   

The Active  สนทนากับ ศ.ชัยวัฒน์  สถาอานันท์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน ชวนเรียนรู้คุณค่าของความทรงจำ และคุณสมบัติของการลืม ที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต  เพราะในบางห้วงจังหวะของการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยต้อง “อย่าลืม” ความสูญเสียหลายชีวิตจากพิษของการเมือง เพื่อเป็นบทเรียนย้ำเตือนไม่ให้กลับไปซ้ำรอยเดิม  ขณะเดียวกัน การ “ลืม” เรื่องราวบางเรื่องในอดีตก็จำเป็นสำหรับความหวังในการเปลี่ยนผ่าน และไปต่อ ที่โอบกอดความแตกต่างหลากหลายให้อยู่ร่วมกันได้

บาดแผลจากประวัติศาสตร์ ย้ำเตือนว่า “อย่าลืม” ทุกชีวิตที่สูญเสียไปเพราะ “การเมืองเป็นพิษ”

ศ.ชัยวัฒน์ เริ่มต้นด้วยการชวนมองลงไปในเนื้อหา บทความ “ปฎิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” จะพบว่าคำกริยาที่ อ.ป๋วยใช้ ส่วนใหญ่ คือ คำว่า “ต้องการ / ไม่ต้องการ” ซึ่งมีอยู่ 13 คำ  นอกนั้น มีคำว่า “ควร” อยู่  1 คำ  มีคำว่า “จำเป็น” อีก 1 คำ คือ เรื่องสวนสาธารณะและศิลปวัฒนธรรม และอีกหนึ่งคำสุดท้าย คือ การ “ขอ” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความตาย คือขอว่าอย่าตายในสงคราม อุบัติเหตุ  หรือตายด้วยน้ำ อากาศ และการเมือง ที่เป็นพิษ

เมื่อการเมืองเป็นพิษ เกิดจากต้นทาง คือการไม่ยอมรับความเห็นต่างของคนในสังคมและผลักความเห็นเหล่านั้นให้กลายเป็นอีกขั้วตรงข้ามที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้  และยังคงทิ้งร่องรอยของของ “พิษการเมือง” จากความคิดแบ่งพวกมาจนถึงปัจจุบัน

และเหตุการณ์ 6 ตุลา คือ ภาพของ “การเมืองเป็นพิษ”  ที่ย้ำเตือนพวกเราทุกคนว่า ผลลัพธ์ทางความคิดเหล่านั้น อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงได้เช่นในอดีต เพราะหากพวกเรา “ลืม” ความเจ็บปวดและความสูญเสียที่ผ่านมา เราอาจประเมินค่าความรุนแรงของ ‘พิษทางการเมือง’ ต่ำเกินไป และในวันใดวันหนึ่ง ความรุนแรงเหล่านั้นอาจหวนกลับคืนมาอีกครั้ง

“ทำไมถึงต้องอย่าลืมเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพราะย้ำเตือนเราว่าความรุนแรงเคยเกิดได้ถึงขั้นนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้นไม่ใช่แค่เผานั่งยาง จับนักศึกษาถอดเสื้อ ฯลฯ ถ้าเราลืม เราก็จะคิดว่า บ้านเมืองเราไม่เป็นอะไร เราเป็นบ้านเมืองที่ดี เราจะมองเบาการเมืองที่เป็นพิษมากเกินไป เหตุการณ์นี้เราต้องเตือนไว้ และทำความเข้าใจกับมันว่าทุกวันนี้ เพราะพิษการเมืองหรือเปล่าที่แพร่อยู่ในสังคมไทย”

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จบลงที่การประกาศชัยชนะของสังคมไทยที่สามารถเอาชนะเผด็จการทหาร แต่ 3 ปีให้หลัง 6 ตุลาคม 2519 เป็นวันที่ต่างออกไป เพราะเป็นวันที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเกิดกรณีนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุด เกิดการเข่นฆ่าประชาชนด้วยกัน เป็นความรุนแรงที่ต้อง “อย่าลืม” เพื่อนำเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้นเป็นบทเรียนให้กับสังคมไทย 

ร่องรอยการเมืองเป็นพิษ ที่ยังคงเห็นชัดในการเมืองไทย

ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ถูกเขียนขึ้นในช่วงของความขัดแย้งและบริบทการเมืองในยุคศตวรรษที่ 20 แต่สิ่งที่ อ.ป๋วยพูดก้าวข้ามไปกว่านั้น เพราะในยุคสมัยนั้น คำถามที่ถามกันในความขัดแย้งคือ “คุณอยู่ข้างไหน ?” เป็นการเลือกข้างระหว่างโลกเสรี และคอมมิวนิสต์   แต่เมื่อล่วงมาถึงศตวรรษที่ 21 กลายเป็นคำถามใหม่ ว่า “คุณเป็นใคร ?”  ซึ่งเป็นคำถามเชิงอัตลักษณ์ของผู้คนซึ่งยากที่จะเปลี่ยน  ทำให้ความขัดแย้งดูยากไปหมด และกลายเป็นการ “ผลักคน” ออกไป ไม่ใช่พวกฉัน ไม่เหมือนฉัน ซึ่งเป็นการเมืองเป็นพิษ และเราต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าวันนี้เรากำลังเผชิญกับพิษการเมืองกันอยู่ไหม

“มาถึงวันนี้ มันมีพิษการเมืองที่แพร่ระบาดอยู่ในสังคมไทยไหม ซึ่งน่ากลัวกว่ามลพิษทางน้ำ ทางอากาศ เพราะเรายังไม่รู้วิธีจัดการกับมัน เรารู้เพียงแค่ว่าตอนนี้คนแบ่งออกเป็นฝ่าย และมีฐานอะไรบางอย่างที่เป็นตัวตัดสินที่ว่า คุณเป็นใคร เป็นพวกนี้ พวกนั้น” 

ศ.ชัยวัฒน์ สะท้อนให้เห็นถึงพิษทางการเมืองที่แทรกซึมเข้าไปถึงเรื่องของ แนวคิด และ มิตรภาพของคนในสังคม ที่ปัจจุบันตัดสินความสัมพันธ์กันด้วยแนวคิดทางการเมือง  การทดสอบมิตรภาพที่ไม่ใช่เรื่องของการรู้จักกันมานาน หรือพร้อมที่จะลืมและจำบางอย่างเพื่อรักษามิตรภาพไว้ แต่กลับกลายเป็นการตัดสินความสัมพันธ์ด้วยพิษทางการเมือง สิ่งเหล่านี้อาจทำร้ายสังคมไทย และกลายเป็นปัญหาที่ยากแก้ไข 

“ถ้าจะพูดอีกที การเมืองเป็นพิษ คือการเมืองที่ทำลายมิตรภาพ เพราะมิตรภาพคือฐานของการเมือง เป็นฐานของความร่วมมือ เป็นฐานของการแก้ไขปัญหา และอะไรอีกหลายอย่าง แต่การเมืองเป็นพิษทำให้มิตรภาพอยู่ไม่ได้ อันนี้ก็เป็นปัญหาของการเมืองที่เป็นพิษอยู่ เพราะฉะนั้นเราลืมไม่ได้ ถ้าลืมมันจะทำร้ายสังคมการเมืองอย่างลึกซึ้ง”

เมื่อการเมืองเป็นพิษไม่ได้หายจากเราไป แนวคิดเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองถูกฝังรากลึกสู่คนไทย การแบ่งแยกผู้คนในสังคมด้วยความคิด ความเชื่อ ทางการเมือง กลายเป็นบรรทัดฐานความคิดของคนในปัจจุบัน ฉายชัดจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘พรรคก้าวไกล’ หลังการเลือกตั้ง จากการถูกกล่าวหาว่าไม่รักสถาบัน ไม่รักชาติ  เมื่อคนบางกลุ่มใช้หลักคิดเช่นนี้ ส่งผลให้ความเห็นต่างที่สามารถยอมรับได้ และอยู่ร่วมกันได้ กลายเป็นความ ‘ขัดแย้ง’ ที่ต้องขจัดออก ซึ่งประเด็นเช่นนี้อาจเป็นจุดเริ่มของปัญหาอื่นตามมา 

“คนจำนวนหนึ่งที่ไม่ชอบพรรคก้าวไกล ก็โจมตีบนฐานคิดที่ว่า พรรคก้าวไกลไม่รักสถาบัน ไม่รักชาติ ถ้าเอาเรื่องนี้มาเป็นหลัก และคิดน้อยไปก็เป็นปัญหา ว่าความจริงแล้ว ชาติมีความสามารถในความโอบอุ้มความหลากหลายได้ขนาดไหน  บางยุคสมัย เช่น สมัยอยุธยา ขุนนางในราชสำนักมีตั้งกี่ชาติ ทั้งญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เปอร์เชีย เพราะเมืองไทยเป็นแบบนั้น กษัตริย์ก็รับเอาความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ให้เขาเข้ามารับใช้ชาติ  แต่วันนี้เรากำลังบอกว่า ไม่ได้แล้ว บางคนไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็มีปัญหา”

การเมือง “เป็นมิตร” ล้าง “พิษการเมือง”

แม้บางเหตุการณ์ในอดีตจะทำให้สังคมไทยพบพานกับความขัดแย้งที่ลงเอยด้วยความรุนแรงและสูญเสีย แต่ในอีกขณะหนึ่ง บางเหตุการณ์ก็หยิบยื่นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ด้วยวิธีการ ‘ลืม’ บางอย่างเพื่อเดินหน้าต่อไปให้ได้ในที่สุด ‘การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลังวันเสียงปืนแตก’ เป็นบาดแผลจากภาวะสงครามกลางเมือง ที่มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายกว่า 14,000 คน รวมถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน อย่างกรณี “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” ศ.ชัยวัฒน์ย้ำว่า หากเราลืมเหตุการณ์ความสูญเสียเหล่านี้ ก็ลืมผู้คนที่เกิดความเกลียดชัง และต้องตายเพราะพิษทางการเมือง

แต่ในเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้น  ไม่ร้ายแรงเท่า “พิษการเมือง” ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519  เพราะในที่สุดถูกคลี่คลายโดย คำสั่ง 66/23 ซึ่งเป็นการสรุปบทเรียนของฝ่ายความมั่นคง นำมาสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วย ‘การโอบกอดความเห็นต่างทางการเมือง เชื่อมั่นและมั่นใจว่าคนไทยจะสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งนี้ไปได้ด้วยการ ยกโทษ ให้กับทุกคนที่เคยเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์’

“สิ่งที่เกิดขึ้นใน คำสั่ง 66/23 คือการไม่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ เพราะตอนนั้นมีพระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ ถ้าเขาทำตามกฎหมายเขาก็ต้องจับพวกที่ออกจากป่ามาทั้งหมด แต่เขาไม่ได้ทำ สิ่งที่เขาทำคือเขายกโทษ และกอดคนเหล่านั้นไว้ว่า เราเป็นคนไทยด้วยกัน เราอยู่ในสังคมเดียวกัน เราเชื่อว่าสังคมจะสามารถโอบกอดความต่างนี้ไว้ได้และเขาทำสำเร็จ ถ้าเขายึดที่กฎหมาย เขาจะทำอะไรไม่ได้เลย แต่เขายกกฎหมายนั้นไปก่อน อันนี้คือ ‘การเมืองนำการทหาร’ วิธีสู้การเมืองเป็นพิษคือ การเอาการเมืองนำ แต่ในปัจจุบัน ตอนนี้ ถ้าเอาการเมืองมานำก็ยุ่งเหมือนกัน เพราะการเมืองมันเป็นพิษไปแล้ว”

แม้ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองที่เป็นพิษ ได้สร้างบาดแผลไว้ให้กับทุกยุคทุกสมัย แต่กลับมีบางเหตุการณ์ในอดีตสามารถจัดการกับความขัดแย้งเหล่านั้นได้  ศ.ชัยวัฒน์ หยิบยกอีกหนึ่งตัวอย่าง  กรณี SEATO การรวมกลุ่มของประเทศที่ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ สู่ ASEAN ซึ่งมีประเทศสมาชิกที่เคยเป็นคู่กรณีกับ SEATO ในอดีต  “เป็นการลืม… เพื่อไปสู่บางอย่างที่ดีกว่า”

สนธิสัญญาเอเชียตะวันออกฉียงใต้ SEATO ที่ประเทศสมาชิกมีทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ยุโรป โดยองค์กรมีหน้าที่ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ การรวมตัวกันครั้งนั้นประเด็นสำคัญคือการแยกข้างเป็นศัตรูกับอีกฝ่ายอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสงครามคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สิ้นสุดลง องค์กร SEATO มีอันต้องถดถอยไป จนเกิด ASEAN เข้ามาแทนที่ สิ่งที่น่าสนใจคือการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศคู่กรณีสมัย SEATO ทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ ASEAN พยายามทำให้เกิดขึ้นคือ องค์กรระหว่างมนุษย์ (Human Organization) เป็นองค์กรที่ส่งเสริมและร่วมมือกันเพื่อสันติภาพ ใส่ใจเพื่อนมนุษย์ อยู่มาจนถึงปัจจุบัน

“คำถามคือถ้าคนเวียดนามไม่ลืมระเบิดทุกลูกที่เราส่งไปทิ้งระเบิดไว้ในครั้งนั้น เหตุการณ์จะเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ASEAN เปลี่ยน สิ่งที่เขาพยายามทำคือองค์กรระหว่างมนุษย์ พอทำแบบนี้แล้วก็น่าสนใจว่าสมัยก่อนเป็นการรวมตัวกันเพื่อสงครามแต่ต่อมากลับกลายเป็นมิตรได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นการลืมก็จำเป็นเช่นกันในกรณีนี้”

เปลี่ยนผ่าน ไปต่อ สร้างดุลยภาพระหว่าง “การเมืองเป็นมิตร” กับ “การจดจำความสูญสีย”

สิ่งที่ อ.ป๋วยพยายามเตือนเรื่องการเมืองเป็นพิษ  มันต้องมีตัวชี้ และตัวชี้ที่ว่า คือ “ความสูญเสีย” ของผู้คนที่เราต้องไม่ลืม ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพ ชีวิต ความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากฐานความคิดว่า “แกไม่ใช่พวกเดียวกับฉัน” ถ้าเรายังคิดกันอย่างนี้ คือเรายังอยู่ในสังคมที่ไม่มีความหวัง  ไปต่อไม่ได้และต้องจมอยู่กับสิ่งเหล่านี้  ตรงกันข้ามกับ “การเมืองเป็นมิตร” ที่ยอมรับว่าสังคมไทยสามารถจะโอบอุ้มความหลากหลายได้ 

“เราอาจต้องสร้างดุลยภาพระหว่าง การยอมรับความเป็นมิตร ความหลากหลาย กับการจดจำเรื่องในอดีต  ดุลยภาพ เป็นสิ่งที่ต้องคิดร่วมกัน และทำให้ได้ คืออย่าคิดว่าคนที่เห็นต่างกับเราเป็นคนอื่น เขาก็มีสิทธิ์ที่จะมีความหวังเช่นเดียวกัน ถ้าเราเริ่มแบบนี้เราก็พอจะมีทาง คือการไม่ผลักเขาเป็นคนอื่น แต่ดึงเขาให้กลายเป็นกลุ่มก้อนของเรา ด้วยวิธีการที่เหมาะสม”

     

การสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และการยอมรับให้ได้ว่า ทุก ๆ สังคมย่อมมีความแตกต่าง การเคารพในทุกความคิดเห็น เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ ศ.ชัยวัฒน์ มองว่าเป็นสิ่งที่สังคมไทยจะสามารถก้าวข้ามปัญหา ‘พิษทางการเมือง’ ไปได้ ภาพสะท้อนของเหตุการณ์ทางการเมืองบางเหตุการณ์ในปัจจุบัน เช่น การที่พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งมากที่สุด กลับไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่อำนาจการจัดตั้งรัฐบาลมาจากกลุ่มคนเพียงกลุ่มหนึ่ง สามารถสะท้อนแนวคิดบางประการในสังคมขณะนี้ว่า  ยังคงอยู่บนฐานที่ว่า “คุณไม่ใช่พวกเดียวกับฉัน” หากเราคิดเช่นนี้เราอาจกำลังอยู่ในสังคมที่ไม่มีความหวัง มีแต่ความหมดหวังและไปต่อไม่ได้

“ให้ระวังอิทธิฤทธิ์ของการเมืองเป็นพิษ เพราะในบางเงื่อนไข อาจก่อให้เกิดภัยร้ายให้กับประเทศนี้ได้อย่างน่ากลัว เพราะมันเคยทำให้เกิดมาแล้วในหลายเหตุการณ์”

อ.ชัยวัฒน์ ทิ้งท้ายด้วยคำเตือนถึงความน่ากลัวของการเมืองเป็นพิษว่า ที่ยังมีโอกาสกลับมาแผลงฤทธิ์ได้อีก ในขณะที่ อ.ป๋วย เตือนให้ระมัดระวัง เพราะเราทุกคนไม่อยากตายเพราะการเมืองเป็นพิษ ที่เป็นเรื่องโง่ ๆ บ้า ๆ และการที่ อ.ป๋วย ไม่ได้ขยายความคำว่า “การเมืองเป็นพิษ” ไว้ในปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ อาจเป็นเพราะว่าท่านอยากให้เรื่องนี้อยู่ยงคงกระพัน คอยเตือนเราว่าการเมืองเป็นพิษคืออะไร ซึ่งเราอาจต้องนิยามคำ ๆ นี้ในแต่ละยุคสมัยที่แตกต่างกัน

“อย่าลืม เพราะชีวิตทุกคนที่เสียไป มันมีค่า เหตุผลที่อาจารย์ป๋วยพูดถึงความหวัง ความต้องการ และโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่เกิด ความหวังให้มีครอบครัวที่ดี  มีการศึกษาที่ดี  ความต้องการทั้งหมด ก็เพื่อให้เราเติบโต อยู่ในสังคมร่วมกันได้อย่างไม่ต้องมีความเหลื่อมล้ำ ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เป็นคนกลุ่มเดียวกัน  อาจารย์ป๋วยไม่ได้ต้องการสำหรับตัวเอง แต่ต้องการสำหรับเราทุกคน ไม่ได้แบ่งพวก แต่ทุกคนในประเทศนี้ควรจะมีสิทธิ์  ถ้าจะพูดแทนอาจารย์ ก็จะบอกว่า อาจารย์ป๋วยหวังให้กับทุกคนบนโลก ไม่ใช่แค่คนไทย เพราะปฏิทินแห่งความหวัง ค่อนข้างเป็นสากล มีการเอาไปโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน  เป็นหลักคิดที่กว้างที่สุดเพราะมนุษย์อยู่ได้ด้วยความหวัง  อยู่ได้ด้วยเสรีภาพและความขัดแย้ง   และอยู่ได้ด้วยการจำ และการลืม ทั้งหมดนี้อยู่ด้วยกัน”


ติดตามซีรีส์ “อย่าลืม”​

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active