“อยู่ดี ตายดี” ยากเกินไปไหม สำหรับสังคมไทยที่แก่ก่อนรวย

“อยู่ดีตายดี เราออกแบบได้” ความสามารถนี้ขึ้นอยู่กับว่า เตรียมตัวดีแค่ไหน บนความต้องการมากน้อยซึ่งแตกต่างกันตามฐานะ การศึกษา และความสัมพันธ์ 

ชีวิตแบบไหนถึงเรียกว่า ชีวิตที่อยู่ดี หากมองเพียงผิวเผิน บางคนแค่ไม่เจ็บ ไม่ป่วย มีเงินใช้ไปวัน ๆ ก็นับวันดีที่สุดแล้ว แต่สำหรับบางคน อาจซับซ้อนเกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ คือไม่โดดเดี่ยว มีเพื่อน ตอบแทนสังคม หรือมากไปกว่านั้น คือการมีชีวิตที่มีความหมาย มีคุณค่า มีความหวัง และการมีชีวิตดี ๆ ยังส่งผลถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต สู่การตายดี ตายไม่ทรมาน ตายตาหลับ หมดห่วงมากกว่านั้น อาจหมายถึงการตายอย่างสมศักดิ์ศรี ตายสงบ การตายดีอยู่ดี จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน และมีองค์ประกอบร่วม คือ มีสุขภาพดี ฐานะดี และมีความสัมพันธ์ทั้งกับครอบครัว คนรอบข้างที่ดี 

แล้วเราจะมีสุขภาพดี ฐานะดี และความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้างได้อย่างไร ?

ในมุมเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า Life-Cycle หรือ สมมติฐานวัฏจักรชีวิต การบริโภคตลอดชีพที่เชื่อว่าทุกคนต้องมีการบริโภคที่ใกล้เคียงกัน แต่ในความเป็นจริงเราหาเงินได้แค่ช่วงทำงานเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องมีการวางแผนและถ่ายโอนทรัพย์สินไปเก็บไว้ใช้ในช่วงบั้นปลายชีวิต โดยเริ่มจากการมองย้อนตั้งแต่ตายถึงเกิด

เราเริ่มวางแผนเรื่องนี้กันหรือยัง? รศ.นพพล วิทย์วรพงศ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลงานวิจัยที่เขาได้สำรวจในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ช่วงปี 2564 พบว่า การวางแผนชีวิตต้องเริ่มต้นจากการประเมินว่าตัวเราจะมีชีวิตยืนยาวแค่ไหน ข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามในงานวิจัย พบว่า ทั้งสองกลุ่มตัวอย่างประเมินว่าตัวเองจะตายเร็วกว่าความเป็นจริง หากเทียบกับค่าสถิติมาตรฐาน 7-8 ปี เท่ากับว่า เรากำลังเตรียมทรัพยากรที่จะใช้ในช่วงบั้นปลายชีวิตไม่พอ การที่คนเราจะประเมินว่าตัวเองจะตายเมื่อไหร่ได้แม่นยำแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสุขภาพและการศึกษา

ขณะที่การเตรียมตัวตาย ผลการศึกษาพบว่า คนไทยเตรียมตัวตายไม่เยอะ จากกลุ่มตัวอย่างมีผู้สูงอายุเพียง 11% ที่คิดเรื่องนี้ ขณะที่วัยทำงานเตรียมตัวตายมากกว่า เนื่องจากมีการทำประกันชีวิตซึ่งเชื่อมโยงกับการลดหย่อนภาษี แต่หากตัดประเด็นนี้ออกไป จะพบว่าคนวัยทำงานเตรียมตัวตายน้อยกว่า คิดเป็นเพียง 8% เท่านั้น ขณะที่ปัจจัยการเตรียมตัวตาย ทั้งวัยทำงานและผู้สูงอายุสัมพันธ์กับการศึกษาดี จะมีการเตรียมตัวตายมากกว่า เช่นเดียวกัน หากมีสุขภาพดีก็จะมีการเตรียมตัวตายเยอะขึ้นด้วย

การวางแผนชีวิตยังสัมพันธ์กับความแก่และการออม แล้วคนไทยมีเงินออมมากน้อยแค่ไหน ?

คนไทยแก่ก่อนรวย 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทยอยู่ใต้เส้นความยากจน หรือคิดเป็น 76% และยังทำงานอยู่ โดยพบว่าระดับการศึกษายิ่งน้อยกว่าชั้นประถมศึกษา การทำงานในวัยเกษียณจะยิ่งสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากการศึกษาสูงอัตราการทำงานหลังวัยเกษียณจะน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุ 80% พึ่งพาบุตรหลานและเป็นเงื่อนไขสำคัญในคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุแทบทุกมิติ ทั้งสุขภาพ การเงิน การเข้าสังคม นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้สูงอายุในอนาคต (ปัจจุบันเป็นวัยทำงาน) 96% หวังพึ่งตัวเองตอนแก่ ดูเหมือนคิดเรื่องนี้มาก แต่กลับออมเพียง 59% ขณะที่การออมก็สัมพันธ์กับการศึกษา เช่นเดียวกับประเด็นอื่น ๆ สรุปคือ หากมีการศึกษาดี จะส่งผลให้การพึ่งพาคนอื่นน้อยลง พึ่งตัวเองมากขึ้น 

การเตรียมตัวเจ็บ พบว่า คนไทยมีสวัสดิการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากเจ็บป่วยจึงยังไม่มีความกังวลในประเด็นการเข้าถึงการรักษามากนัก แต่หากดูระยะยาว สังคมที่ยิ่งมีผู้สูงอายุมาก จะมีแนวโน้มผู้ป่วยติดเตียงมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาหากขาดการวางแผนด้านการดูแลสุขภาพ พฤติกรรมการกิน ซึ่งถ้าดูสถิติเปรียบเทียบกับประชาคมโลก ไทยไม่ได้อยู่ในลำดับที่น่ากังวลมาก แต่คนไทยบริโภคหวานและเค็ม และยังมีพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ที่ผ่านมาแม้จะมีการใช้มาตรการด้านภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วก็ตาม แต่การปรับเปลี่ยนสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องทำแบบองค์รวม และพบว่าส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนยาก

“ทุกมิติที่กล่าวถึง คือเรื่องเดียวกับการสร้างทุนมนุษย์ และทุนทางสังคม ในระดับปัจเจกเราสามารถทำได้ระดับหนึ่ง แต่เราจะปล่อยให้ปัจเจกวางแผนและรับมือฝ่ายเดียวไม่ได้ รัฐต้องเข้ามามีบทบาทส่วนร่วมในการสร้างทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ สร้างคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างโอกาสให้คนเข้าถึงทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ได้ง่าย”

รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2564  พบว่า ในปี 2562 ที่มีการสำรวจกลุ่มคนที่มีฐานะดีที่สุด (10% บน) มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 33.17 ของรายได้รวมทั้งประเทศ เป็นร้อยละ 33.43 หรือคิดเป็นส่วนแบ่งของกลุ่มคนที่มีฐานะต่ำสุด 16.4 เท่า ขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำสุด ที่มาของรายได้ มาจากภาครัฐร้อยละ 30 ช่วยเหลือจากบุคคลอื่นร้อยละ 21 ขณะที่รายได้จากการทำงานอยู่ที่ร้อยละ 48.5 ตรงข้ามกับกลุ่มคนที่มีฐานะที่มีรายได้หลักมาจากการทำงาน จากข้อมูลนี้ทำให้ทราบว่าคนที่มีฐานะยากจนหรือต่ำสุด พวกเขากำลังพึ่งพาเงินจากรัฐไม่น้อยเลยทีเดียว 

“รายได้แทบจะไม่พอใช้ แล้วจะเอาที่ไหนมาเก็บ” ประโยคคุ้นหู ที่ได้ยินกันดาษดื่น แต่จากข้อมูลงานวิจัยกลับพบว่า แม้กลุ่มคนที่มีรายได้มากพอเมื่อเทียบกับรายจ่ายก็ไม่มีพฤติกรรมการออม

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการสำรวจคนไทยอายุ 20-40 ปี ที่มีรายได้ตั้งแต่ 8,000 บาทขึ้นไป จำนวน 1,043 คน โดยพบว่า แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 70 จะมีรายได้มากกว่ารายจ่าย แต่กว่าร้อยละ 37 มีการออมไม่ถึงร้อยละ 10 ของรายได้ต่อเดือน นอกจากนี้ ส่วนมากเป็นการออมโดยการฝากธนาคารและเก็บเป็นเงินสดไว้กับตัว โดยคิดถึงการออมผ่านการลงทุนในหุ้น พันธบัตร และกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในลำดับรอง 

เพราะอะไร? คนไทยจึงไม่ออมให้มากพอและต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงวัยทำงาน เพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณ

เหตุผลประการหนึ่งที่สามารถหยิบยกขึ้นมาใช้อธิบายได้คือ “อคติเชิงพฤติกรรม” หรือการคิดการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผลตามหลักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์จริง อคติเชิงพฤติกรรมที่ถูกพูดถึงอย่างมากในวงวิชาการที่ทำให้การออมเพื่อการเกษียณไม่เพียงพอ เช่น  อคติชอบปัจจุบัน (present bias) คือ การที่ผู้คนให้น้ำหนักความสำคัญกับความสุขและผลตอบแทนที่ได้รับในปัจจุบันมากกว่าในอนาคต หรือ อคติยึดติดสภาวะเดิม (status quo bias) คือ การที่ผู้คนพึงพอใจกับสภาวะปัจจุบันมากกว่าจะเปลี่ยนไปลองทำสิ่งใหม่ที่จะแม้จะให้ผลประโยชน์มากกว่า ซึ่งอคติในเชิงพฤติกรรมยังมีมากกว่านี้อีก แต่ในกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว มีความอคติกลัวสูญเสียเกินเหตุ (loss aversion) คือ ความสูญเสียจากสถานะปัจจุบันมีผลกระทบต่อจิตใจทางลบมากกว่าที่จะมีความสุขจากการได้รับผลตอบแทนที่มีขนาดเท่ากัน ถึงร้อยละ 89%  

ซึ่งใน 1 คน อาจพบได้มากกว่า 1 อคติเชิงพฤติกรรม ส่วนมากพบในกลุ่มผู้มีรายได้และการศึกษาน้อย กลุ่มผู้มีหนี้ และกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งกลุ่มคนเปราะบางมักมีอคติเชิงพฤติกรรมมากกว่ากลุ่มผู้กินดีอยู่ดี 

ข้อค้นพบทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงต้นตอของ “กับดักแก่ก่อนรวย” ที่คนไทยออมไม่พอ เพราะมีอคติเชิงพฤติกรรม ส่งผลต่อความเปราะบางทางการเงิน และกลุ่มเปราะบางนี้เอง ก็เป็นกลุ่มที่ออมไม่พอ ข้อเสนอในเบื้องต้นต่อการเพิ่มการออมเพื่อการเกษียณ คือ ภาครัฐและเอกชนควรมีมาตรการที่ทำให้คนไทย เริ่มออม เพิ่มการออม และเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการออม โดยคำนึงถึงการมีอยู่ของอคติเชิงพฤติกรรมเหล่านี้ในหมู่คนไทยด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส