“ก่อนจะเป็นปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”

บทความ “ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” บทความชิ้นโด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง ของ ‘ศ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2516 ในชื่อ “The Quality of Life of a South East Asia : A Chronical of Hope from Womb to Tomb” การเผยแพร่ในครั้งนั้น ทำให้บทความนี้กลายเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะมากยิ่งขึ้น

แต่จริง ๆ แล้ว ปฏิทินแห่งความหวังฯ ของอาจารย์ป๋วย ฉบับภาษาไทย มีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2516 ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เพียง 4 วัน

เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของบทความนี้ The Active ร่วมกับ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผลิตคลิปความยาว 6 นาทีกว่า เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของอาจารย์ป๋วย ที่มีต่อสังคมไทย บทความดังกล่าวไม่เพียงสะท้อนชีวิต ประสบการณ์ และบริบทของบ้านเมืองในยุคสมัยของอาจารย์ป๋วยเท่านั้น แต่ความคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในอุดมการณ์ของอาจารย์ป๋วย ยังถือเป็นผู้มาก่อนกาลและมองเห็นทิศทางการพัฒนาที่ครอบคลุม “ทุนมนุษย์” ในทุกมิติ รวมถึงการเมืองการปกครองที่ยึดสันติประชาธรรม อุดมการณ์อันเหนียวแน่นของการพัฒนาประเทศชาติ

ก่อนจะเป็นปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

ในปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) ศ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับเชิญไปประชุมที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมาคมเอเชีย ซึ่งอาจารย์ป๋วยได้เสนอบทความที่มีชื่อว่า “ข้อคิดเรื่องการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับ ค.ศ. 1980″ โดยในบทความดังกล่าว มีการพูดถึงทิศทางการพัฒนาเอเชียในอนาคต ว่าควรทำอะไร รวมถึงสังคมที่พึงปรารถนาความยุติธรรม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสรีภาพ 

เมื่อจบบทความดังกล่าว ในภาคผนวก อาจารย์ป๋วยได้กล่าวถึง “การกินดีอยู่ดีของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยได้ขยายความว่าการกินดีอยู่ดีควรมีอะไรบ้าง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากนโยบายของพรรคการเมืองในอังกฤษพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งพูดถึงนโยบายที่พัฒนาคนตั้งแต่เกิดจนตาย โดยในบทความนี้ อาจารย์ป๋วยได้ใช้มุมมองจากความคิดที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ส่วนตัว ทั้งจากครอบครัว สังคม การเมือง บริบท ณ ขณะนั้น และอีกหลายเรื่อง เช่น สิ่งแวดล้อม ก็เป็นการกล่าวถึงปัญหาที่เมื่อ 50 ปีก่อน ไม่คาดว่าสังคมทั่วโลกจะเผชิญวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม จึงถือเป็นบทความที่มีผู้สรรเสริญว่าอาจารย์ป๋วยมาก่อนกาล 

ขณะเดียวกัน บางข้อความหากเทียบในยุคสมัยนี้ บางอย่างอาจมีผู้เห็นแย้ง ขัดกับหลักความเชื่อทางศาสนา ทว่า โดยรวม นี่ก็นับเป็นบทความที่ในแวดวงวิชาการ และผู้ที่ศึกษาผลงานของอาจารย์ป๋วยยอมรับว่ามีการพูดถึงการพัฒนา “ทุนมนุษย์” ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย ทั้งวัยเด็ก วัยศึกษา วันทำงาน และวัยชรา เป็นบทความที่ท้าทายการพัฒนาของประเทศ เป็นสังคมในความหวังและอุดมคติที่ควรไปให้ถึง 

เราจะตายด้วยการเมืองเป็นพิษได้อย่างไร?

“เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ อย่างบ้า ๆ คือ ตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”

นี่คือบางช่วงบางตอนจากบทความปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ซึ่งเดิมทีข้อความข้างต้น หากดูจากบทความภาคผนวกที่อาจารย์ป๋วยกล่าวครั้งแรกที่นิวยอร์ก ยังไม่มีถ้อยคำนี้ แต่ในปี พ.ศ. 2519 อาจารย์ป๋วยได้อ่านบทความนี้อีกครั้งในงานปาฐกถา “เหลียวหลังแลหน้า” ครบรอบวันเกิด 60 ปี ในเดือนมีนาคม และให้ชื่อบทความว่า “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน“ 

การเมืองที่เป็นพิษที่อาจารย์ป๋วยหมายถึงอะไร ไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมไว้ แต่ กษิดิศ อนันทนาธร นักวิชาการด้านกฎหมาย ที่ศึกษาประวัติและงานเขียนตลอดช่วงชีวิตของอาจารย์ป๋วย เห็นว่า อาจารย์ป๋วยน่าจะเติมเข้ามาภายหลังจากเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วง 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน แต่สุดท้าย เสรีภาพก็อยู่กับสังคมไทยได้ไม่นาน ก่อนจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง และพลิกผันชีวิตอาจารย์ป๋วยตลอดกาล

“ท่านเขียนให้เป็นตัวท่านเอง หลายอันมีความคิดเฉพาะหรืออุดมการณ์ เช่น สันติประชาธรรม แก่นแกนซ่อนอยู่ในนั้น หรือมีแก่นจากชีวิต เช่น พ่อแม่จะแต่งงานตามประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ สำคัญคือความอบอุ่นให้ผม พ่อแม่ต้องไม่มีลูกถี่นัก เพราะท่านมีพี่น้องหลายคน และพ่อก็เสียตั้งแต่เด็ก ครอบครัวก็ยากจน ลำบาก เข้าใจว่ามาทั้งแง่ส่วนตัว สิ่งที่เห็นแล้วในสังคม แต่อุดมการณ์ที่ท่านอยากเห็นคือ การพัฒนาชีวิตเพื่อประโยชน์ของทุกคน ไม่ใช่แค่ในสังคมไทย แต่ยังหมายถึงประเทศทั่วโลกด้วย”

กษิดิศ อนันทนาธร

ธนพล เลิศธนาผล โปรดิวเซอร์ชำนาญการอาวุโส ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) ไทยพีบีเอส ผู้ผลิตคลิปบทความ “ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน” พูดถึงที่มาของการถ่ายทอดคลิปบทความฯ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ จัดงานครบรอบ 50 ปี ฯ  โดยมีบทความฯ ตั้งต้นในการสื่อสาร จึงให้คนหลากหลายวัย อาชีพ  มาอ่านบทความนี้ ก่อนจะพัฒนาต่อยอดจนได้งานชิ้นนี้ออกมาในที่สุด 

“ใครจะอ่านก็ได้ แต่ถ้าได้คนที่ทำงาน เข้าใจบทความอยู่แล้ว จะมีพลังมากกว่า เราตีความบทความออกมาในลักษณะนี้ และศูนย์ฯ เราก็ทำงานสื่อสารเรื่องความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว และคิดว่าบทความนี้ก็มีคุณค่าในแง่การสื่อสารเนื้อหาที่ทรงพลังนี้ออกไป เช่น เราได้คนทำงานขับเคลื่อนเรื่องปัญหาฝุ่น สวนสาธารณะ และอีกหลายประเด็นมาร่วมถ่ายทอด และบางคน ยังถือเป็นคนที่เรียนรู้ สืบสาน วิธีคิดของอาจารย์ป๋วยโดยตรง เราจึงคิดว่าคลิปนี้มีคุณค่าในแง่ของการสื่อสาร รวมถึงการบันทึก ถ่ายทอดเจตนารมณ์ของอาจารย์ป๋วยด้วย”

ธนพล เลิศธนาผล

ชมคลิปเต็ม ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส