รักษาพื้นที่สาธารณะให้ความคิดต่าง สร้างความสมบูรณ์ของการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย

ถกเถียง โต้แย้ง พาประเทศไทย “เปลี่ยนผ่าน”

ไม่ติดบ่วงความขัดแย้ง – รุนแรง

การเมืองในสภาฯ ช่วงจัดตั้งรัฐบาลยังฝุ่นตลบ หลังพรรคเพื่อไทยขอถอนตัวจากเอ็มโอยู แยกทางกับพรรคก้าวไกลเพื่อเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล ผลักดัน “เศรษฐา  ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากเป็นการเร่งอุณหภูมิการเมืองให้พุ่งสูงขึ้น ยังทำให้ภาพปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม กำลังกลับมาอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง

The Active ชวน ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ถอดรหัสความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยหลังเลือกตั้ง พร้อมทบทวน “สิ่งสำคัญ” ที่คนไทยเคยทำตกหล่นหายไป และต้อง “ไม่ลืม” หากจะประคับประคอง “การเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย” ให้เดินหน้า โดยไม่กลับไปติดหล่มความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นต่อเนื่องมานานนับสิบปี

ความเปลี่ยนแปลงแบบ “เท่าทวีคูณ” ในช่วง 5 ปี พาประเทศไทย เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

ผศ.ศรีสมภพ เริ่มปักหมุด ฉายภาพให้เห็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญ จากการเลือกตั้งล่าสุด เมื่อพรรคของคนรุ่นใหม่อย่าง “ก้าวไกล”  ที่ ชูนโยบายปฎิรูปโครงสร้างและระบบใหญ่ของประเทศ โดยไม่อิงฐานการเมืองแบบเก่าอย่าง กลุ่มทุน บ้านใหญ่ หรือผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น แต่กลับได้รับเสียงตอบรับจากการเลือกตั้งมากที่สุด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่ง ผศ.ศรีสมภพ มองว่า เกิดจาก 3 จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ 

  • พลังทางสังคมใหม่ : ซึ่งก่อตัวจากความล้มเหลวของในการบริหารประเทศของ “อำนาจเก่า” ที่ปรากฏชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ว่าไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญและนำพาประเทศถอยหลังในทุกด้าน ส่งผลกระทบในเชิงลบถึงคนส่วนใหญ่ จนกลายเป็นการต่อสู้ทางความคิดระหว่าง “วัย” เมื่อคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ตื่นตัว ไม่ยอมรับการแก้ปัญหาแบบเดิม และขอเข้ามามีบทบาทโดยตรงในการขับเคลื่อนชุดความคิดในการแก้ปัญหาแบบใหม่ โดยมีคนรุ่นกลาง และรุ่นเก่า รวมถึง กลุ่มคนในทุกชนชั้นเข้ามาสนับสนุนมากขึ้นเรื่อย ๆ
  • พลังของเทคโนโลยีการสื่อสาร : รูปแบบการสื่อสารในยุคของโซเชียลมีเดีย  ทำให้เกิด “พื้นที่สื่อสารใหม่” ที่กลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลัง และเป็นตัวเร่งให้การขับเคลื่อนเนื้อหารวมถึงการต่อสู้ทางความคิด สามารถแพร่ไปได้รวดเร็วทั่วทุกพื้นที่และมีความเป็นสาธารณะที่ปิดกั้นได้ยาก 
  • พลังของพื้นที่สื่อสารใหม่ : ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า  “เนื้อหา” และประเด็นในการขับเคลื่อนทางความคิดคนรุ่นใหม่ มีความเป็นระบบ มีตรรกะ ขั้นตอน มีคำอธิบายและเหตุผลรองรับ ในลักษณะของ “อัลกอรึทึม”  ที่สามารถสนับสนุนความคิดความเชื่อในรูปแบบใหม่ที่ถูกสื่อสารได้รับการยอมรับ มีน้ำหนัก และจูงใจคนได้มาก และที่สำคัญ คือเป็นพื้นที่สื่อสารที่ “สามารถถกเถียงและโต้แย้งได้”

“ปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หากเปรียบเทียบในเชิงคณิตศาสตร์ ต้องบอกว่าเป็นแบบ ‘ทวีคูณ’ ทั้งรวดเร็วและแพร่กระจายไปได้อย่างกว้างขวางในแบบที่แทบไม่เคยปรากฏมาก่อน   แม้ความเปลี่ยนแปลงใหญ่จะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วง ยุค 14 ตุลา 2516  แต่ครั้งนั้นความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ขยายเป็นวงกว้าง เหมือนอย่างในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา”

ถอดสมการ “คู่ขัดแย้ง” 2 ทศวรรษในวังวนการเมือง สู่ยุค “การชิงอำนาจนำ” 

เกือบ 20 ปี  ที่ประเทศไทยตกอยู่ในวังวนความขัดแย้งระลอกใหม่ เริ่มจากความขัดแย้งระหว่าง “มวลชนสีเสื้อ” ที่เริ่มก่อตัวต่อเนื่องตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549  ทั้งมวลชนเสื้อเหลือง เสื้อแดง และ กปปส. ขยับมาเป็น  “ความขัดแย้งของช่วงวัย” ระหว่างคนรุ่นเดิม กับคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้ง ปี 2562 

กระทั่งปัจจุบัน  ผศ.ศรีสมภพ มองว่าประเทศไทยขยับเข้าสู่ ภาวะ “ความขัดแย้งของอำนาจนำ” ที่การขับเคลื่อนนำโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ปรับบทบาทจากเป็นผู้เรียกร้อง ที่ต้องเคลื่อนไหวผ่านผู้แทน หรือผู้อุปถัมภ์ มาเป็น “ผู้เล่น” และเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงโดยตรง ตั้งแต่การสื่อสารประเด็น แสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการต่อสู้กับอำนาจเดิมในระบบการเมือง

“การต่อสู้จึงมีความแหลมคม เป็นการกำหนดทิศทางประเทศ และแนวทางพัฒนาให้เข้ากับโลกภายนอกในยุคสมัยใหม่ ว่าจะยึดโยงกับระบบอะไร และใครเป็นอำนาจนำ ระหว่าง ประชาชนส่วนใหญ่ หรืออำนาจเก่า“

คำถามที่ตามมาคือ แล้วความเปลี่ยนรูปของคู่ตรงข้าม และบริบทการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะมีโอกาสหวนกลับไปสู่วังวนความขัดแย้ง ความรุนแรง และการใช้กำลังปะทะกันแบบเดิม ๆ ได้อีกหรือไม่ ?

“เกมที่คนรุ่นใหม่เล่น เขารู้ว่ามันจะลากไปสู่อะไร เขาต้องรักษาภาวะสงบสันติเอาไว้เพื่อจะชนะ”

ผศ.ศรีสมภพ มองว่าสถานการณ์ที่นำพาไปสู่ความรุนแรง และสูญเสีย จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย เพราะสังคมไทยหลุดพ้นไปสู่กระแสธารความเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ และกำลังจะเบ่งบานมากขึ้นเรื่อย ๆ  ขณะเดียวกัน วิธีแบบเก่า ๆ จะไม่สามารถเอาชนะ  “ระบบใหม่” ทั้งระบบที่กำลังขยายตัวและพร้อมทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงให้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  เพราะคนรุ่นใหม่สู้ด้วยโมเดลของเกม เป็นทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ มีการปรับตัว ปรับสมการอยู่ทุกขณะ ตรงข้ามกับอำนาจเก่าที่ยังใช้ยุทธวิธีแบบสามก๊ก ซึ่งเป็นคนละโลกกัน

“ส่วนตัวมีความเชื่อว่าพลังความเปลี่ยนแปลงที่เรากำลังพูดถึง เป็นพลังบริสุทธิ์ เชื่อในเหตุผล เพราะฉะนั้นถ้าการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงยังเป็นแบบนี้  ความรุนแรงอย่างที่เคยเห็นโอกาสเกิดขึ้นน้อย  หากความรุนแรงจะเกิดขึ้นก็จากการตัดสินใจของฝ่ายอำนาจเก่า ส่วนอำนาจใหม่สู้ด้วยเหตุผล และรอได้ เพราะรู้ว่ากำลังกุมความได้เปรียบมากขึ้นเรื่อย ๆ “

รักษาพื้นที่สาธารณะให้ความคิดต่าง สร้างความสมบูรณ์ของการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย

เมื่อสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงพัดพามาถึง  ผศ.ศรีสมภพเห็นว่า ภูมิทัศน์การเมืองไทยจะไม่หวนกลับไปสู่วังวนของระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองในรูปแบบเดิม ๆ อีก  แต่ถ้าจะทำให้ประเทศไทยเดินหน้า สิ่งสำคัญมากที่จะต้องรักษาไว้ คือ “พื้นที่การสื่อสาร ของคนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง” 

ทั้งในทางบวกและในทางลบ คนที่คิดต่างต้องมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น คนไม่เห็นด้วยต้องมีสิทธิที่จะพูดโดยใช้เหตุผล ผ่านการกลั่นกรองจากพื้นที่สาธารณะ หรือเวทีต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น  การให้สัมภาษณ์ในรายการข่าว หรือการเปิดพื้นที่ในสื่อออนไลน์ ให้ตัวแทนความคิดต่างเข้ามาถกเถียง แสดงเหตุผล โดยที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าไปรับชม แสดงความคิดเห็น แชร์ต่อ หรือกลับมาดูย้อนหลังได้

“การถกเถียงในพื้นที่สาธารณะบนพื้นที่สื่อสารแบบใหม่จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญคือเมื่อทุกอย่างเข้ามาสู่โลกดิจิทัล มันทำลายไม่ได้ และสามารถกลับมาเปิดย้อนดูใหม่ได้ว่าใครพูดอะไร  ดังนั้นความคิดเห็นที่แตกต่าง จะทำให้เกิดข้อถกเถียง นำมาสู่การแสวงหาฉันทามติและการเห็นพ้อง ยอมรับความเห็นซึ่งกันและกันในแบบที่ยังเถียงต่อกันไปได้ ที่สำคัญคืออย่าไปกระตุ้นการใช้ความรุนแรงก็แล้วกัน”

นัยของการเปิด และคงไว้ซึ่งพื้นที่ในการถกเถียง ในความเห็นของ ผศ.ศรีสมภพ ครอบคลุมทุกระดับตั้งแต่ประเด็นทั่วไป จนถึงประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน อย่างเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 หรือ ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคง ก็ควรมีรูปแบบเฉพาะ ในลักษณะของ  “พื้นที่ปลอดภัย” ให้ความคิดต่างสามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนหาแนวทางร่วมกันได้เต็มที่โดยไม่มีผลกระทบทางด้านกฎหมายตามมาย

ในมุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อีกหนึ่งเรื่องสำคัญ ที่ต้องทำเป็นลำดับต้น ๆ หลังจากได้รัฐบาลใหม่  คือการแก้ปัญหาที่เกิดจาก “กติกาใหญ่” คือ การแก้รัฐธรรมนูญปี 60  เพื่อเปิดทางไปสู่การตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่เลือกมาจากประชาชนคนข้างล่าง และตัวแทนจากคนทุกกลุ่ม เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ให้มีเนื้อหาจากการช่วยกันคิดและมองจากหลาย ๆ ด้าน  ใช่เพียงฝั่งผู้มีอำนาจ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย หรือกลุ่มที่ต้องการรักษาผลประโยชน์เท่านั้น 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active