การสร้างความปรองดอง ต้องทำเป็นขั้นตอน และใช้เวลา

ถอดบทเรียน “ความล้มเหลว” กลไกแก้ปัญหาความขัดแย้งการเมืองร่วมสมัย

ที่ผ่านมา กระบวนการสลายความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง ในสังคมไทยมีอันต้องล้มเหลว หลายครั้งต้องจบลงที่ความรุนแรงและความสูญเสีย ในขณะที่เงื่อนปมความขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ไขให้คลี่คลายสลายไป แต่กลับรุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

The Active สนทนากับ ศ.วุฒิสาร ตันไชย  อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่เคยมีบทบาทเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทั้งในบทบาทของ ‘คนกลาง’ และ องค์กรสนับสนุนด้านวิชาการ ในวันที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่ง มาร่วมถอดบทเรียนความขัดแย้งทางการเมือง และหาคำตอบในก้าวต่อไปว่าอะไรที่คนไทยต้อง “ อย่าลืม”  หลังจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่ผานมา

หากนับหนึ่งจากปี 2545  ที่ถูกยืมตัวจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เข้ามาช่วยงาน นับแต่เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ต่อเนื่องมาเป็นรองเลขาธิการ 8 ปี และอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการอีกแปดปี  บวกลบเบ็ดเสร็จเป็นเวลา 20 ปีเต็ม ที่ ศ.วุฒิสาร ตันไชย รับบทบาทหน้าที่สำคัญในสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการก่อตัวและเกิดความต่อเนื่องของความขัดแย้งการเมืองระลอกใหม่ จึงมีหลายห้วงเวลาที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จนกระทั่งครบวาระไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา 

อยู่สถาบันพระปกเกล้าตั้งแต่ปี 2545 จนถึงเดืน ธันวาคม ปีที่ผ่านมา เมื่อพ้นวาระก็รู้สึกถึงความเป็นเสรีชนมากขึ้น  เสรีชนในที่นี้ คือ ไม่มีตำแหน่งทางการมากนักที่จะต้องระมัดระวังเพราะการให้ความเห็นในปัญหาบ้านเมือง มีได้สองมุมเสมอ คือมุมความเห็นที่เราคิดจริง กับความเห็นในฐานะที่มีบทบาทและตำแหน่ง ซึ่งบางทีไปไม่สุด ดังนั้นเมื่อหมดวาระแล้ว ก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ตรงไปตรงมา และตรงใจ ทำให้เรารู้สึกอิสระและสบายขึ้น 

“ที่สำคัญคือไม่ต้องมีภาระงานประจำ ที่ต้องตื่นมาเพื่อเข้าออฟฟิศ รอเซ็นหนังสือ อนุมัติอะไรเยอะแยะ คือก่อนเกษียณ เราไม่เคยมี เสาร์ อาทิตย์มาตลอดชีวิตการทำงาน พอหมดวาระวันแรกรู้สึกสบาย และรู้สึกว่าจะได้ทำอะไรที่อยากทำมากขึ้น”

ศ.วุฒิสาร เริ่มบทสนทนาด้วยความรู้สึกในวันที่ได้พักวางจากภาระงานประจำ  แม้ว่าปัจจุบันยังคงบทบาทการทำงานในการเป็นคณะกรรมการอยู่ในหลายองค์กร แต่ชีวิตหลังเกษียณทำให้สามารถใช้เวลากับการทำงานวิจัยและงานวิชาการเกี่ยวกับการจัดทำแผนกระจายอำนาจให้องค์กรท้องถิ่น ที่เคยผลักดันต่อเนื่องมาหลังมี รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ให้ก้าวหน้าและสมบูรณ์มากขึ้น 

ถอดบทเรียน “ความล้มเหลว” ของกลไกแก้ปัญหาความขัดแย้งการเมืองร่วมสมัย

ในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และห้วงเวลา 2 ทศวรรษ ที่ได้ทำงานกับสถาบันพระปกเกล้า  ศ.วุฒิสาร เข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองในหลายช่วงเวลา ทำให้เห็นปมปัญหา และความล้มเหลวของการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองที่สุดท้ายหลายเหตุการณ์ต้องไปจบลงที่ความรุนแรงและความสูญเสีย

“ความขัดแย้ง หรือความเห็นต่างทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ เพราะสังคมไม่ต้องเห็นพ้องต้องกันเสมอไป มีความขัดแย้งทางความคิด และอุดมการณ์ได้ ถ้าสังคมมีภูมิต้านทาน ก็จะไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา และหาทางออกด้วยการใช้วิธีการที่ประนีประนอมเพื่อหาทางออกร่วมกัน มากกว่าความขัดแย้งแบบเผชิญหน้า”

อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ฉายภาพปรากฏการณ์ความขัดแย้งการเมืองไทยที่หลายครั้งนำไปสู่ความรุนแรง ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  ถึง 6 ตุลา 2519 ผ่านมายังเหตุการณ์พฤษภา 2535 กระทั่งถึงความขัดแย้งทางการเมืองระลอกใหม่ ที่เกิดกลุ่มการเมืองสีเสื้อต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 มาถึงปัจจุบัน 

แทบทุกครั้งเกิดจาก “ความไม่อดทนต่อความขัดแย้ง” สุดท้ายไปจบลงที่การ “รัฐประหาร” และวนกลับไปเริ่มที่รัฐธรรมนูญใหม่

แต่หากมองลงไปแต่ละเหตุการณ์จะเห็นว่าความรุนแรงเกิดขึ้นจาก “ประเด็น” และ “การขยายผล” โดยการไปทำให้ความขัดแย้งเกิดเป็น “ขั้วทางความคิด”  ก่อนจะมีการเรียกสมัครพรรคพวกให้ขั้วเหล่านั้นมีพลังผ่านกลไกการสื่อสาร จนทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันมากขึ้น แต่ไม่หาวิธีแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยจนกลายเป็นความรุนแรง

“ปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดไม่มีทางได้ข้อยุติ หากไม่มีการพูดคุยหารือกัน คุณต้องบอกได้ว่าคุณเห็นยังไง คนคิดต่างกัน ต้องมีสิทธิที่จะพูดได้ ว่าแต่ละฝ่ายคิดอะไร ความขัดแย้งถึงจะคลี่คลาย วิธีการหาบทสรุปของความขัดแย้ง ทั่วโลกใช้วิธีเดียวเท่านั้น คือ ต้องใช้กระบวนการพูดคุย หรือ ไดอะล็อก (Dialogue) ต้องเอาสิ่งที่ตัวเองคิดมาวาง เคารพในความเห็นต่างกันก่อน แล้วค่อยใช้เหตุผลมาหักล้างกัน ซึ่งเราไม่ค่อยมีเวทีแบบนี้”

แต่เมื่อพูดถึงการเปิดพื้นที่เจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเรา ศ.วุฒิสาร ชวนย้อนไปถึงช่วงปี 2553 ในยุครัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ขณะนั้นได้รับการประสานให้สถาบันพระปกเกล้าเป็น “คนกลาง” จัดให้มีการพูดคุยหาทางออก ระหว่างผู้แทนรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ กับแกนนำคนเสื้อแดง ฝ่ายละ 3 คน ที่สถาบันพระปกเกล้าโดยใช้เวลา 2 วัน แต่ครั้งนั้นกลับไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี เพราะมี “การถ่ายทอดสด” ออกสู่สาธารณะ

“ไดอะล็อก เป็นเรื่องดี แต่เมื่อมีการถ่ายทอดผ่านสื่อสาธารณะ แทนที่ทั้งสองฝ่ายจะพูดอะไรได้เต็มที่ ก็กลับไม่พูด เพราะถูก ‘ตรึงด้วยสังคม’ วันนั้นภาวนาให้ทั้งสองฝ่ายตัดสินใจคุยกันแบบลับก่อน ก็อาจได้ข้อยุติ เพราะจะเจรจากันแบบตรงไปตรงมา ไม่ถูกเป็นตัวประกันกับสังคม ถ้าสังคมมีความคิดที่เป็นขั้วความขัดแย้งอยู่แล้ว ถึงคุณคุยตกลงประณีประนอม หาทางออกร่วมกันได้เขาก็หาว่าฮั้วหรือสมยอมกัน”

อีกหนึ่งตัวอย่าง ที่ ศ.วุฒิสาร หยิบยกมาสะท้อนให้เห็นปัญหาในกระบวนการหาทางออกให้ความขัดแย้ง  คือในช่วงปี 2554  ที่สถาบันพระปกเกล้าได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติของสภาผู้แทนราษฎร ที่มี พลเอก สนธิ บุณยะรัตกลิน เป็นประธาน ให้จัดทำงานวิจัยสร้างความปรองดองแห่งชาติ เพื่อหาคำตอบ แก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคม 

ในงานวิจัยชิ้นนั้น ได้จัดทำหลายข้อเสนอที่เป็นทางเลือกพร้อมบอกถึงข้อดี ข้อเสีย รวมถึงผลกระทบและข้อพึงระวัง เป็นรูปแบบกระบวนการที่ต้องใช้เวลานำไปสู่ความสุกงอมและยอมรับร่วมกันของสังคม แต่สุดท้าย เนื้อหาจากงานวิจัยกลับถูกนำเพียงบางส่วนไปใช้เพื่อเร่งผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย จนกลายเป็นจุดตีกลับ ให้เกิดการประท้วงของกลุ่ม กปปส. บานปลายกลายเป็นวิกฤตการณ์การเมือง และนำมาสู่การยึดอำนาจของ คสช. ในที่สุด

“จากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้าง ก็เห็นชัดว่า ปัญหาความขัดแย้งของสังคม เราอาจไม่ได้ตั้งใจอยากให้มันยุติ  คือเราไม่พยายามที่จะหาวิธียุติมันได้ แต่เราต้องการให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ประโยชน์อยู่เสมอ วิธีคิดแบบนี้ ไม่สามารถจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้  เพราะใครคิดว่าข้อเสนอไหนมีประโยชน์กับตัวก็จะเลือกแบบนั้น เป็นความพยายามที่คิดว่า มีงานวิจัยที่อ้างอิงแล้ว

…แต่งานวิจัยที่เอาไปอ้างอิง มันเป็นกระบวนการ มันต้องพูดคุย เริ่มการยอมรับบางส่วน แล้วค่อย ๆ ขยับตัว ไม่ใช่ตูมเดียว ไปประโยคสุดท้ายเลย มันไปไม่ได้ เพราะมันเป็นกระบวนการ ที่น้ำต้องเดือด ไก่ต้องหมักได้ที่พอสมควร จึงเอาไก่ลงไปต้มในน้ำเดือด แต่นี่คุณเอาไก่ที่เพิ่งหมักใส่ลงไปในน้ำแล้วก็จุดไฟ แล้วคุณคิดว่าจะได้แกงเหมือนกันไหมล่ะ”

การสร้างความปรองดอง ต้องทำเป็นขั้นตอน และให้เวลา  

คำถามที่ตามมาคือ แล้วถ้าจะหาคำตอบและทางออกที่ถูกต้อง ให้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้งได้จริงและไม่นำไปสู่ความรุนแรง จะต้องทำอย่างไร ? 

ศ.วุฒิสาร บอกว่า ต้องเริ่มจากการปรับวิธีคิด ว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้ง การสร้างความปรองดอง ไม่ได้แปลว่ามีฝ่ายใดได้ทุกอย่าง เมื่อมีคนสองฝ่าย ต้องยอมรับและไม่คิดว่าฝ่ายใดถูกหรือผิดเสมอ ต้องคิดว่าแต่ละฝ่ายมีส่วนที่ถูกและผิด และทุกคนไม่ควรตายบนความขัดแย้ง เป็นการคิดที่ไม่เอา “ตัวเราและพวกเรา”  แต่เอา “อนาคตและประโยชน์ส่วนรวม” เป็นตัวตั้งจึงจะแก้ปัญหาได้   

ศ.วุฒิสาร ยกข้อเสนอจากงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ เพื่อหาคำตอบ แก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคม  ที่เคยนำเสนอไว้ใน ปี 2554 ซึ่งมีข้อเสนอที่จำเป็น และต้องทำเป็นขั้นตอน  

เรื่องแรก คือ การสร้างบรรยากาศ ที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมต้องการความปรองดอง ด้วยการยุติบทบาทของกลไกที่ เสี้ยม ส่งผ่านหรือจัดการข้อมูลที่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน  ต้องหยุดวาทกรรมสร้างความเกลียดชังทั้งหมด แต่ภาพสังคมวันนี้ กลับเห็นการต่อสู้กันด้วย “ไอโอ” ดังนั้น ผู้อยู่ในอำนาจต้องชัดเจนว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และต้องยืนบนหลักการที่ต้องการเปิดเวทีแห่งการปรองดองจริง ๆ

เรื่องที่สอง  การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่มีเครื่องมือ หรือวิธีการใดที่จะทำได้ มากไปกว่า “การพูดคุย” ที่จำเป็นต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับความซับซ้อน ความเข้มข้นของปัญหา และการให้พื้นที่กับความเห็นต่างและคู่ขัดแย้ง  รวมถึงการใช้ “คนกลาง” เข้ามาเชื่อมต่อการสนทนาและหาพื้นที่ที่พอร่วมกันได้ก่อน และค่อย ๆ ขยับการไว้วางใจและเข้าใจเหตุผลซึ่งกันและกัน ส่วนอะไรที่คุยกันไม่ได้ก็วางไว้ก่อน

เรื่องที่สาม คือ “การค้นหาความจริง”  เพราะในแต่ละความขัดแย้งส่วนใหญ่ มีอดีต และประวัติศาสตร์ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งกันต่อไป  เช่น ความรุนแรง ความสูญเสีย ดังนั้นจึงต้องมีคณะทำงานที่เป็นกลาง ดำเนินการสืบค้นความจริงจากเหตุการณ์ต่างๆ ให้ปรากฏ แทนการกล่าวหากันไปมา  

“ในหลายประเทศที่เราศึกษา การแก้ปัญหาความขัดแย้ง พบว่าการค้นหาความจริง ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยทันทีก็ได้ แต่สามารถเก็บความขัดแย้งนี้ไว้ก่อน แล้วหาข้อเท็จจริง ไปเปิดเผยในอีก 20 -30 ปีข้างหน้ายังได้  แต่ต้องทำไว้ตั้งแต่วันนี้ เพราะฉะนั้น การค้นหาความจริง นอกจากทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันในอนาคตแล้ว ยังสร้างบทเรียนว่าเราจะไม่ทำผิดอีก”

เรื่องที่สี่ เมื่อผ่านการสานเสวนา และได้แนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแล้ว ต้องมี “การให้อภัย” และ “การลงโทษ”  เป็นการพิจารณาว่าคนผิดกลุ่มไหนควรได้รับการให้อภัย และคนผิดกลุ่มไหนต้องรับโทษต่อไป เพื่อรักษา “หลักนิติธรรม” ของประเทศ และ “หลักนิติรัฐ” ของสังคม เช่น ความผิดทางอาญาที่ไม่ได้มีเหตุจูงใจทางการเมือง อาจให้อภัยไม่ได้ แต่ความผิดจากการต่อสู้ของความคิดทางการเมือง และอุดมการณ์ ในที่สุดต้องได้รับการยอมรับในการให้อภัย แต่หลักเกณฑ์ต่าง ๆ จะต้องมีเครื่องพิสูจน์ และต้องมาจากกระบวนการสานเสวนา ว่าแต่ละฝ่ายจะรับกันได้แค่ไหน อย่างไร

เรื่องที่ห้า คือ “การเยียวยา” ให้กับผู้สียหาย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการชดใช้  การให้ข้อเท็จจริง หรือการสร้างความทรงจำที่ดี หรือการยกย่อง  ยกตัวอย่าง การสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงผู้สูญเสีย เป็นการเยียวยาผู้คนที่ผ่านอดีตมา และให้สังคมเรียนรู้ว่า “เราไม่ควรทำผิดซ้ำ”

และเรื่องสุดท้าย คือ “การสร้างอนาคตร่วมกัน” ให้เห็นว่า ทุกฝ่ายจะพาสังคมไปต่อกันอย่างไร ด้วยการมีข้อเสนอให้เห็นในอนาคต  เช่นการปฏิรูป โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ  หรือกลไกแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

“ทั้งหมดคือกระบวนการที่สำคัญจำเป็น ในการทำให้สังคมเดินต่อไปได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง  แต่ที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินกระบวนการเหล่านี้ไปจนสิ้นสุด  และสถานการณ์ความขัดแย้งแทบทุกครั้งจะเดินไปสู่การ ‘ยึดอำนาจ’ แทนที่จะใช้กระบวนการสังคมเข้ามาแก้ปัญหา ทำให้สังคมไทย ตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างที่เป็นอยู่”

ความเปราะบาง ระหว่างความคิด ก้าวหน้า และ อนุรักษ์นิยม  โจทย์ใหญ่ที่ผู้อยู่ในอำนาจต้องช่วยรักษาความสมดุล

เมื่อมองปรากฏการณ์ความคิดต่างในสังคมปัจจุบันประเด็นของความขัดแย้งมีการ “ย้าย” และ “เปลี่ยน” จากการพูดเรื่องผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องทางการเมืองมาสู่ความแตกต่างของจุดยืนความคิดของคน ที่เป็นฝ่ายก้าวหน้า และ อนุรักษ์นิยม ซี่งไปยึดโยงกับสถาบันอื่นที่มีความสำคัญกับประเทศและเป็นสถานการณ์ใหม่ของสังคมไทย

ศ.วุฒิสาร มองว่ายังไม่ชัดเจนว่าเป็นความขัดแย้งหรือไม่ แต่ระหว่างสองชุดความคิดมีช่องว่างและความเปราะบางอยู่พอสมควร และที่สำคัญคือ มีทั้ง “ประเด็น” และ “ตัวขยายผล” ผ่านการใช้โซเชียลมีเดีย ทำให้เกิด “ขั้ว” มากขึ้น  แต่ขณะเดียวกันสังคมก็มีบทเรียนเรื่องความรุนแรงมาหลายครั้ง ทำให้โอกาสในการเกิดความรุนแรงซ้ำรอยก็น่าจะบรรเทาเบาบางลง แต่การแก้ปัญหาต้องหันกลับมาหาวิธีการพื้นฐาน คือใช้กระบวนการพูดคุยหาพื้นที่ร่วมกัน  แต่เมื่อเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก ทำให้โอกาสที่จะทำให้เกิดการถกถียงหรือพูดคุยยากขึ้นเรื่อย ๆ  ดังนั้นจึงเป็นทิศทางที่จะต้องหาวิธีการแก้ปัญหากันต่อไป

“วันนี้ขยับไปไกลขึ้น เมื่อขยับไปไกลขึ้นก็ยิ่งคุยกันยากขึ้น เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหวมาก โอกาสที่จะมาพูดคุย ถกเถียงกันก็ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้ต้องระมัดระวังเพราะเป็นความเปราะบาง อาจไม่ถึงขั้นความขัดแย้ง แต่มีร่องรอยความเห็นของชุดความคิด ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเดิม หากปล่อยไปเรื่อย ๆ อาจคลี่คลายด้วยตัวมันเอง หรืออาจรุนแรงมากขึ้นก็ได้ ดังนั้นขึ้นอยู่กับตอนนี้ กลไกที่เป็นกลไกกลางคือ การเมือง จะต้องช่วยหาทางออกให้”

“สถานการณ์ตรงนี้ เป็นหน้าที่ของคนที่เป็นรัฐบาล ต้องพยายามทำหน้าที่ในการป้องกันหรือหาทางออก  เพราะการที่ไม่ทำอะไรไม่ได้แปลว่าความขัดแย้งหรือความคิดนั้นหายไป แต่ว่าจำเป็นเร่งด่วนขนาดไหนที่ต้องหยิบมาพูดก็เป็นอีกเรื่อง ดังนั้นคนที่อยู่ในอำนาจคือรัฐบาลมีหน้าที่ต้องรักษาความสมดุลทุกฝ่าย ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์มีมาหลายครั้งในประเทศไทยและก็ถูกคลี่คลายได้  สำหรับรัฐบาลวันนี้ เมื่อฝุ่นหายตลบเขาก็คงจัดลำดับความสำคัญว่าจะต้องทำอะไร”

ศ.วุฒิสาร ย้ำว่า เครื่องมือในการสร้างความปรองดอง การสร้างพื้นที่ใช้เหตุผล แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นเครื่องมือสากล แต่ความเหมาะสมในช่วงจังหวะเวลา และเนื้อหาที่จะใช้พูดกัน เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง  หากยังไม่มีอะไรรุนแรงก็อาจจะปล่อยและดูไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ที่จะต้องมีการพูดคุยกัน ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ เมื่อไหร่ แค่ไหน อย่างไร เป็นเรื่องของสถานการณ์ในอนาคต  

“บางทีการเพิกเฉย ก็เป็นหนึ่งวิธีการในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ก็คือการยังไม่เอามาพูด แต่ต้องยอมรับว่ามีอยู่จริงเพียงแต่ยังไม่ถึงเวลา  คือเรื่องแบบนี้ พอเวลาให้พูดแล้วไม่รู้ว่าจะคุมเนื้อหาสาระไปได้ถึงไหน ข้อน่าห่วงคือตรงนั้น

แล้วเวลาเราพูดว่าลับเนี่ย จริง ๆ ไม่มีเรื่องลับหรอก คุณประชุมลับ ผมก็เห็นเนื้อมันออกมา นักข่าวรู้ก่อนทุกที เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าตรงนี้ก็เป็นความห่วงใยของแต่ละฝ่ายนะ คือฝ่ายที่จะต้องการพูดเยอะ ก็ต้องเข้าใจความห่วงใยของอีกฝ่ายด้วย คือเวลาเราพูดอะไรในการแก้ปัญหา อย่าคิดแต่ว่าของคุณถูกเสมอ และอีกฝ่ายนึงไม่ใช่ คุณต้องพยายามเข้าใจเขาด้วยว่าเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่ารัฐบาลมีวุฒิภาวะพอที่จะแก้ปัญหานี้”

หน้าที่ของทุกคนคือ อดทน เรียนรู้ และพัฒนาไปเรื่อย ๆ

บรรยากาศหลังการเลือกตั้ง เดินทางมาถึงการจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียงของพรรคเพื่อไทย กับพรรคการเมืองขั้วเดิม  ศ.วุฒิสารมองว่าความคาดหวังกับความเป็นจริงทางการเมือง ค่อนข้างมีช่องว่างมากขึ้น เพราะการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างการเลือกตั้งเป็นการต่อสู้เชิงหลักคิด มีการแบ่งขั้วอุดมการณ์ รณรงค์เพื่อให้ได้คะแนนนิยมแบบสุดขั้วแบบไม่ประณีประนอมกัน เช่น มีเราไม่มีเขา ทำให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งกลุ่มหนึ่งมีความคาดหวัง

แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับเงื่อนไขว่า ปัจจุบันกติกามีข้อยกเว้น 5 ปี ให้ สว.โหวตเลือกนายกฯ นำมาสู่การตั้งรัฐบาลข้ามขั้วหลายพรรค แต่ไม่ตอบโจทย์ความคาดหวังที่เคยพูดไว้ จึงกลายเป็น “ช่องว่าง”  ซึ่งประชาชนจะใช้ ‘ความจำ’ นี้อีกครั้ง ใน ‘การเลือกตั้งครั้งหน้า’ แต่ระหว่าง 4 ปีนี้ หากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ปัญหาความยากจนได้ ก็อาจทำให้ความเชื่อและความจำที่เป็นความผิดหวังหายไป  ดังนั้น บทพิสูจน์ของรัฐบาล คือทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ให้ได้

ดังนั้นการพัฒนาไปสู่สังคมประชาธิปไตย ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า ระบบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์ที่สุด แต่เป็นกลไกที่ทำให้คนมีโอกาสใกล้เคียงกันมากที่สุด  ยังมีความบกพร่องในตัวมันเอง และยังเป็นเรื่องที่ยากต่อการไปถึงเป้าหมายและอุดมการณ์อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม กระบวนการสำคัญ คือต้อง  “อดทน” และ “เรียนรู้” ร่วมกัน ค่อย ๆ พัฒนา ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล หรือนักการเมือง  แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน 

“ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ฟื้นฟูตัวมันเองได้ เราต้องเชื่อแบบนี้ก่อน วิกฤตในหลายประเทศประชาธิปไตย ยกตัวอย่าง ตอนโจ ไบเดน สาบานตน กลุ่มผู้สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ไปปีนบุกสภา เราเคยคิดไหมว่าจะเกิดขึ้น แต่ในที่สุด ระบบมันก็ฟื้นฟู คนทำผิดก็ถูกจับ กลไกตามรัฐธรรมนูญก็เดินต่อไป กลไกทหารก็ออกมาบอกว่าจะเป็นทหารภายใต้รัฐธรรมนูญ  ดังนั้น ความอดทน ความเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยจึงสำคัญ”   


ติดตาม ซีรีส์ “อย่าลืม”


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active