เหนื่อยไหม? ที่ต้องเป็นแม่ที่ดีที่สุด

“May I Quit Being a Mom?” อาจไม่ใช่แค่ประโยคคำถามของคนเป็นแม่

แม่ที่ดีที่สุด ควรเป็นแบบไหน? นี่ไม่ใช่คำถามที่ต้องการคำตอบ แต่เป็นเพียงการเริ่มต้นบทสนทนา เพื่อจะบอกว่ามีแม่บนโลกใบนี้จำนวนมาก กำลังเจ็บป่วยเพราะอยากจะทำหน้าที่แม่ให้ดีที่สุด 

ปลายเดือนกรกฎาคม 2566 VIPA Film Festival นำสารคดีญี่ปุ่น เรื่อง “May I Quit Being a Mom?” มาฉายที่ Doc Club & Pub สารคดีบอกเล่าสิ่งที่ “แม่” หลายคนกำลังเผชิญอยู่ ความรัก ความคาดหวัง ของการทำหน้าที่แม่ให้สมบูรณ์ ขณะเดียวกันก็กำลังทำให้พวกเธอกดดัน เหนื่อยล้า หมดแรง จนมีความคิดที่จะขอลาออกจากการเป็นแม่ หลายคนกำลังตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า?

แม่
May I Quit Being a Mom?

งานวิจัยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ปีล่าสุด ระบุว่า มีแม่ 50 % – 80 % มีโอกาสเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด อะไรคือสาเหตุของการทำให้คุณแม่ตกไปสู่ภาวะนี้? ประสบการณ์ของแม่ฟูลไทม์ที่บอกเล่าผ่านสารคดีเรื่องดังกล่าว จะพบว่า การเปลี่ยนบทบาทครั้งใหญ่ รับมือกับอารมณ์ของเด็กทารก ต้องเลี้ยงลูกให้ได้ดีตามหลักการสมบูรณ์แบบ บนความคาดหวังของตัวเอง สามี สังคม และทั้งหมดนี้ พวกเธอกำลังเผชิญมันอย่างโดดเดี่ยว ขาดที่ปรึกษา คนเข้าใจ และคอยสนับสนุน

ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายให้เห็นสาเหตุเพิ่มเติมว่า เป็นเพราะฮอร์โมนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ตั้งครรภ์จนไปถึงคลอด ผนวกกับความกังวลจากการเลี้ยงลูก 

“สามี คือตัวช่วยที่ดีที่สุด ที่จะทำให้ผู้หญิงไม่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ถ้าสามีสามารถดูแล สนับสนุน สื่อสาร การรับมือเรื่องนี้จะดีขึ้น เราต้องวางแผนและตระหนักถึงภาวะนี้ตั้งแต่แรก ”

ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์

“May I Quit Being a Mom?” ไม่ได้พาเราไปรู้จักกับโรคนี้เท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดให้เห็นถึงความรุนแรงของโรค ผ่านครอบครัวที่ต้องสูญเสีย “แม่” เมื่อเธอไม่สามารถก้าวข้ามโรคนี้ได้ การตัดสินใจยุติบทบาทครั้งนี้ไม่ใช่เพราะความไม่รักลูก แต่เป็นผลพวงที่เกิดจากอาการของโรค เนื่องจากไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาต่อเนื่องและมีคุณภาพ 

แม่
May I Quit Being a Mom?

หากมองสถานการณ์นี้ในประเทศไทย ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว ชี้ให้เห็นว่า จำนวนจิตแพทย์ยังมีจำกัดและยังต้องต่อคิวรักษานาน แม้ว่าทุกวันนี้จะมีช่องทางการปรึกษาเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง และสิ่งที่เป็นปัญหามากว่านั้น คือการที่แม่ตระหนักว่าตัวเองกำลังเผชิญกับภาวะดังกล่าวหรือไม่ ลังเลที่จะเข้ารับการรักษาโดยได้รับการสนับสนุนจากสามี ครอบครัว และรัฐอย่างไร

การดูแลสุขภาพจิตของคนเป็นแม่ เป็นเรื่องที่สำคัญและควรลงทุน ผศ.ณัฐสุดา ระบุว่า สุขภาพจิตของแม่หรือผู้เลี้ยงดูคนแรก สามารถถ่ายทอดไปถึงเด็ก และยังกำหนดพฤติกรรมที่มีผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์ที่เขาจะสร้างขึ้นกับบุคคลอื่น ๆ หากความสัมพันธ์กับแม่มีการตั้งคำถามถึงความรัก คุณค่าในตัวเอง ก็จะส่งผลต่อการสร้างรูปแบบความสัมพันธ์กับคนอื่นไปด้วย 

“ผู้เลี้ยงดูคนแรกจะมีผลต่อเด็ก ความสัมพันธ์แรกในชีวิตสำคัญ มันจะเป็นรูปแบบที่ส่งต่อ ถูกถ่ายทอดต่อ มันเลยคุ้มค่าที่สุดที่จะดูแลคนที่ดูแลเด็ก เราอยากได้คนที่มีสุขภาพจิตที่ดี เราก็ต้องตระหนักและลงทุนเรื่องนี้” 

ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์

หากดูนโยบายการลงทุนเฉพาะด้านแรงงาน ณัฐยา บอกว่าปัญหาเวลานี้ คือ การที่ผู้หญิงไม่ได้รับการคุ้มครองและถูกปฏิเสธงานหากรู้ว่าตั้งครรภ์และยังมีคนถูกเลิกจ้างด้วย สะท้อนให้เห็นว่ารากฐานของวิธีคิดนโยบายไม่ได้มองว่าแม่คือบุคคลที่ควรลงทุนตั้งแต่แรก ขณะที่นโยบายของพรรคการเมืองในช่วงหาเสียงที่ผ่านมา มีการทำสำรวจพบว่า ทุกพรรคให้ความสำคัญกับเด็กและเยาชนมากขึ้น จะเห็นได้ว่ามีการเพิ่มเงินอุดหนุนและเน้นทำครอบคลุมให้เป็นสวัสดิการ แต่จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมายังพบว่าผู้หญิงไม่ได้ต้องการการสนับสนุนที่เป็นเพียงแค่ตัวเงินเท่านั้น แต่ยังต้องการระบบสนับสนุนอื่นๆ ที่จะทำให้บทบาทของแม่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น การมีสถานรับเลี้ยงเด็กรายชั่วโมงที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้ ยืดหยุ่น หรือแม้แต่การยกระดับให้แม่ฟูลไทม์เป็นอาชีพมีรายได้ มีสวัสดิการคุ้มครองจากรัฐ

ในประเทศญี่ปุ่นผู้หญิงนิยมลาออกมาเลี้ยงลูกเต็มตัว เนื่องจากรัฐสนับสนุนทั้งที่เป็นตัวรายได้ และระบบอื่น ๆ รองรับอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นตามเป้า กระทั่งนโยบายล่าสุดมีการระบุว่าเด็ก คือ ลูกของรัฐ สังคมต้องดูแลร่วมกัน

“ญี่ปุ่นออกนโยบายยกระดับมุ่งเป้าเป็นสังคมที่เป็นมิตรกับเด็ก เขาจะไม่มองว่าเป็นภาระของผู้หญิงคนเดียวเท่านั้น แต่กำลังพูดถึงการปรับค่านิยม วัฒนธรรม ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายใหม่ สร้างระบบสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้คนมีลูกมากขึ้น”

ณัฐยา บุญภักดี
แม่
May I Quit Being a Mom?

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรไทย ปี 2566 ประมาณการอยู่ที่ 0.2 % ขณะที่อัตราการเกิดต่อประชากรพันคนอยู่ที่ 10.04 % และคาดการณ์ว่าจะต่ำลงกว่านี้ ขณะที่ 4-5 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด จากข้อมูลนี้ ณัฐยา อธิบายเพิ่มว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะส่งผลกระเทือนในหลายมิติหากไทยไม่มีแผนเตรียมรับมือ ขณะที่อัตราการเกิดก็ยังไม่สามารถทดแทนได้ การลงทุนกับเด็กเล็กจึงคุ้มค่าและน่าลงทุนที่สุดในสถานการณ์เวลานี้ และคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่สูงแต่ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า

“เจตจำนงทางการเมืองต้องเข้ามาดูแล้วว่าสังคมไทยที่เกิดน้อย ด้อยคุณภาพ สังคมสูงวัย จนด้วย สามารถที่จะฝ่าคลื่นลมไปได้ ต้องมองทั้งระบบ มองวิธีคิด ไทยเหลื่อมล้ำสูง เด็กส่วนใหญ่อยู่ในครัวเรือนที่เปราะบาง ต้องพึ่งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราไม่ควรปล่อยให้เด็กหลุดมือไปแม้แต่เพียงคนเดียว หากพบความเปราะบางของครอบครัวต้องเข้าไปสนับสนุน รัฐต้องมีระบบสนับสนุน”  

ณัฐยา บุญภักดี

สำหรับนโยบายระดับชาติที่ถือเป็นสวัสดิการพื้นฐานให้เด็กแรกเกิด มีเงินอุดหนุนบุตร 600 บาท จ่ายให้กับประชาชนทั่วไปที่ลูกอยู่ในครอบครัวรายได้น้อย เมื่อเด็กเกิดมา ก็สามารถไปลงทะเบียนได้เลย โดยบุตรจะอยู่กับพ่อแม่หรือกับปู่ย่าตายายก็ได้ ขณะที่เงินสงเคราะห์บุตร 800 บาท จ่ายให้สำหรับผู้ประกันตนในมาตรา 33 และ 39 ที่จ่ายเงินมาสักระยะหนึ่งแล้ว 

ส่วนสิทธิลาคลอดสำหรับแม่ กฎหมายแรงงาน ให้สิทธิ 98 วัน โดยนับรวมกับวันที่ลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินสี่สิบห้าวัน ส่วนเกินกว่านั้นขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละแห่ง โดยสิทธิการลารับรองหญิงตั้งครรภ์ไม่ว่าจะอยู่สถานะลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างระหว่างทดลองงาน นอกจากนี้ สวัสดิการที่ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนยังรวมถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเวลานี้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นสามารถกระจายความดูแลได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ แต่ยังเปิดรับจำกัดช่วงวัยเริ่มต้นที่ 2 ขวบ ขึ้นไป ขณะที่นโยบายของพรรคการเมืองช่วงเลือกตั้ง บางพรรคเริ่มขยับเรื่องสิทธิลาคลอดขยายไปถึง 6 เดือน – 1 ปี แต่ในแวดวงสาธารณสุขแม้จะเห็นด้วยและอยากผลักดัน แต่เชื่อว่ายังยากที่จะเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย 

ระหว่างที่เรารอนโยบาย เราลองหันมาร่วมกันสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรกับมนุษย์แม่! เริ่มต้นตั้งแต่ครอบครัว ที่ทำงาน “เหนื่อยไหม” อาจไม่ใช่ประโยคคำถาม แต่อาจเป็นประโยคที่แสดงถึงความห่วงใย ส่งต่อกำลังใจให้มนุษย์แม่ทุกคน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส