แรงงานทำงานหนัก-ค่าแรงถูก แนะรัฐหนุนจัดตั้งสหภาพฯ ช่วยต่อรองกับกลุ่มทุน

นักวิชาการด้านแรงงาน และ ตัวแทนสหภาพคนทำงาน ร่วมวงเสวนาก่อนรับชมภาพยนตร์ After Work ในเทศกาลภาพยนตร์ VIPA Film Festival สะท้อนบทเรียนปัญหาคุณภาพชีวิตแรงงานและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

21 ก.ค. 2566 – นักวิชาการด้านแรงงาน และ ตัวแทนสหภาพคนทำงาน ร่วมวงเสวนาก่อนรับชมภาพยนตร์ After Work ในเทศกาลภาพยนตร์ VIPA Film Festival ร่วมสะท้อนบทเรียนปัญหาคุณภาพชีวิตแรงงานและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ชี้ ประชาธิปไตยในที่ทำงานคือฐานรากของประชาธิปไตยชาติ หากคนมีปากท้องดี มีโอกาสพัฒนาตนอย่างเท่าเทียม สังคมจะมีเสถียรภาพเพราะคนรู้สึกถึงความเป็นธรรม พร้อมแนะรัฐหนุนสหภาพแรงงาน ให้แรงงานและเจ้าของกิจการมีพื้นที่เจรจาผลประโยชน์ วิธีการประชาธิปไตยจะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างไม่สูญเสีย

ฉัตรชัย พุ่มพวง ตัวแทนสหภาพคนทำงาน เผยว่า ในสังคมไทยคน 1% เป็นคนกำหนดปัจจัยการผลิต คนส่วนน้อยเป็นคนถือครองทุนส่วนใหญ่ในสังคม ในขณะที่ 99% ที่เหลือเป็นแรงงานฐานราก โดย ‘งาน’ ที่แต่ละคนจะได้ทำจะมีหน้าตาหรือความหมายอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเราเกิดมามีฐานะหรือสถานภาพทางเศรษฐกิจแบบใด

คนที่เติบโตมาในครอบครัวยากจน หรือมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 10,000 – 15,000 บาท ซึ่งนับเป็นประชากรเกินครึ่งของประเทศ ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่มีต้นทุนเช่นนี้ ทำให้คนยากจนต้อง ‘ทำงานเพื่อมีชีวิต’ แต่ไม่ได้ ‘มีชีวิต’ เป็นสำคัญอันดับแรก ยกตัวอย่างไรเดอร์ส่งของ ช่วงแรกจะได้รับเงินค่อนข้างดี แต่พอเวลาผ่านไปกฎเกณฑ์จะเริ่มเข้มงวดขึ้น ทำให้พนักงานเหล่านี้ได้ค่าตอบแทน 2,500 บาทต่อวัน แต่ไม่ใช่ภายใน 8 ชั่วโมง แต่เป็นการทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึงตี 5 ของอีกวัน รวมเป็น 23 ชั่วโมง หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 108 บาท

ฉัตรชัย ระบุว่า ตนได้มีโอกาสคุยกับพี่น้องคนทำงานในหลากหลายอาชีพ เช่น พนักงานร้านสะดวกซื้อ บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น คนเหล่านี้มีวันที่ทำงานติดต่อกัน 24 – 36 ชั่วโมงเป็นปกติ และต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ยกตัวอย่างพนักงานกวาด กทม. ทำงานกะเช้า ตี 5 – บ่ายโมง แต่เงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาท รวมสวัสดิการแล้วประมาณหมื่นต้น ๆ พวกเขาต้องทำงาน 6 วัน วันอาทิตย์ได้ OT 400 บาท แต่ว่าทุกคนยังต้องแย่งกันทำวันอาทิตย์ เพราะว่าเงินเดือนไม่พอ

“แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ หลังจากที่เขาออกกะตอนบ่ายโมงแล้วเขาต้องไปทำงานที่สอง ไปเป็นคนขับส่งของ ฯลฯ ทำให้เขาต้องทำงาน 7 วัน วันละ 14 ชั่วโมง โดยที่เพื่อแค่ให้พอกิน”

ฉัตรชัย พุ่มพวง
ฉัตรชัย พุ่มพวง ตัวแทนสหภาพคนทำงาน

รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการนโยบาย Thai PBS นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน ระบุว่า สภาพการทำงานของแรงงานในไทยแตกต่างจากที่อื่นในต่างประเทศ โดยอิงจากประสบการณ์การทำงานเป็นผู้ใช้แรงงานในต่างประเทศของตนเอง แม้ตนจะต้องทำงานหนักแต่ก็ยังได้รับค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล สามารถใช้จ่ายค่าเล่าเรียนหรือค่าครองชีพในเมืองหลวงได้ ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานในไทยไม่สามารถทำได้ และทำให้เขาไม่สามารถหลุดพ้นจากเส้นล่างของความยากจนนี้ได้

“คือไม่ว่าอาชีพไหน รายได้มันไม่ถึงกับต่างกัน คุณสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ระดับหนึ่ง แล้วทุกคนมีคุณค่าหมด ไม่ว่าพนักงานเสิร์ฟหรือเด็กปั๊ม มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากันหมดไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไร”

รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ
รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการนโยบาย Thai PBS นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน

เมื่อกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ต่างประเทศและประเทศไทยมีศักยภาพในการสร้างคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างกัน อนุสรณ์ ให้ทรรศนะว่า ระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งแต่รูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศก็จะให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในสังคมแตกต่างกัน ยกตัวอย่างทางยุโรปเหนือที่ให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการ ก็จะพบว่าแรงงานส่วนใหญ่มีความสุข มีเวลาว่างทำงานอดิเรก อยู่กับคนที่เขารัก เป็นต้น แต่ต้องยอมรับว่าสังคมรัฐสวัสดิการสำหรับไทยยังต้องใช้เวลาในการก่อร่างขึ้น เพราะโครงสร้างประเทศไทยต่างจากประเทศแถบนั้นมาก ตลอดจนวิถีคิดของคนไทยที่ยังเชื่อในการคงไว้ซึ่งระบบเดิม ๆ แต่ตนเชื่อว่า คนรุ่นใหม่จะเริ่มนำพาความเปลี่ยนในทางบวกมายังประเทศไทยมากขึ้นซึ่งพวกเราต้องช่วยกันส่งเสริม

ฉัตรชัย เผยว่า หากวิเคราะห์ปรากฏการณ์คนไทยย้ายประเทศด้วยมุมมองของสหภาพแรงงาน จะพบว่า รายชื่อประเทศส่วนใหญ่ที่คนไทยอยากย้ายคือกลุ่มประเทศที่มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง มีอำนาจต่อรองกับรัฐและเจ้าของทุนที่เป็นส่วนน้อยของประเทศ เพื่อย้ำหลักการว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนซึ่งเป็นต่างเป็นฟันเฟืองแรงงานผู้ขับเคลื่อนสังคมนี้ทั้งสิ้น

“ในประเทศที่เจริญแล้ว เบื้องหลังความเจริญมันคือการรวมตัวกันที่เข้มแข็ง อย่างประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ตัวเลข 45% ถึง 79% คืออัตราส่วนของคน (แรงงาน) ที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน แต่ในไทยคือ 1.5% ซึ่งมันต่างกันมาก ๆ แล้วเขาได้ ‘รัฐสวัสดิการ’ ไทยได้ ‘รัฐเผด็จการ’”

ฉัตรชัย พุ่มพวง

ฉัตรชัย เชิญชวนให้คนไทยกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ตัวเองเป็นผู้มีอำนาจ ถือทุนที่จะให้คุณหรือโทษกับคนจำนวนมากได้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ คุณคือแรงงาน 99% ในประเทศ เมื่อรู้แล้วว่าเราต่างเป็นพวกเดียวกัน ให้เริ่มรวมตัวกันอย่างสม่ำเสมอ มีการจัดเก็บค่าสมาชิก มีการทำการเคลื่อนไหว หรือก็คือร่วมกันจัดตั้ง สหภาพแรงงาน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตผู้ใช้แรงงานไปในทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ฉัตรชัย มองเห็นต่างว่า รัฐบาลไม่ใช่ผู้ชี้ขาดอำนาจหรือทิศทางนโยบายแรงงานเพียงฝ่ายเดียว แต่ภาคประขาชนเองก็มีส่วนร่วมที่จะผลักดันให้เกิดนโยบายต่าง ๆ ได้ โดยยกตัวอย่างประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย สหภาพแรงงานมีเอกภาพและมีความเข้มแข็งมาก ทำให้มีแรงกดดันไปยังรัฐบาลและสะท้อนออกมาเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับเสียงของผู้ใช้แรงงาน

“เข้าใจว่าในสแกนดิเวีย รัฐบาลก็ถูกกดดันหรือต้องฟังการสื่อสารของสหภาพฯ เสมอ เพราะว่าสหภาพมีอำนาจจริง ๆ เพราะเขารวมคนได้ทั้งประเทศหรือเกินครึ่ง ผมว่ารัฐบาลแบบไหนก็ไม่สำคัญเท่า เราเข้าใจว่าเราเป็นเจ้าของประเทศ เราเข้าใจว่าอำนาจสูงสุดเป็นของเรา แล้วเราใช้มันได้ทุกวัน ไม่ใช่แค่ 4 วินาทีในคูหาเลือกตั้ง”

ฉัตรชัย พุ่มพวง

อนุสรณ์ กล่าวว่า สมัยรัฐบาลชาติชาย สหภาพแรงงานได้รับการสนับสนุนและเข้มแข็งมาก แต่ภายหลังการรัฐประหารในวันที่ 23 ก.พ. 2534 โดยคณะ รสช. ทำให้กลุ่มทหารแนวคิดอนุรักษ์นิยมมองว่าสหภาพแรงงานนั้นเป็นภัยต่อความมั่นคง หลังจากนั้น ขบวนการแรงงานถูกทำให้อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่อง ILO ฉบับที่ 87 และ 98 คืออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศจะทำให้ขบวนการแรงงานเข้มแข็ง เพราะเอื้อสิทธิให้ทุกคนในทุกองค์กรสามารถรวมกลุ่มกันได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางการ สามารถเจรจาต่อรองกับเจ้าของกิจการเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้ แม้จะรณรงค์มา 30 กว่าปีแล้ว อนุสัญญาฉบับดังกล่าวก็ยังไม่ถูกยอมรับไม่ว่าในรัฐบาลชุดใด ๆ

“ทั้งที่ประเทศอาเซียนบางประเทศเขายอมรับไปแล้วนะ มัน (สหภาพแรงงาน) จะทำให้พลังประชาชนเข้มแข็งขึ้น มันไม่ใช่เข้มแข็งแค่สหภาพแรงงาน มันจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งด้วย เพราะเซลล์ย่อยของสังคมและระบบเศรษฐกิจทุกองค์กร จะมีองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชนอยู่ทั้งหมด”

รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ

อนุสรณ์ เผยว่า ประชาธิปไตยทางการเมืองไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และการสหภาพแรงงานจะสร้างประชาธิปไตยในสถานประกอบการ ซึ่งทำให้คุณภาพแรงงานของทุกคนที่ทำงานมีคุณภาพที่ดีพอ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีโอกาสและการพัฒนาในสถาบันด้านอื่นจะตามมา แล้วก็สังคมจะมีเสถียรภาพและสงบสุขเพราะคนไม่ได้รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ พร้อมแนะว่า การเปลี่ยนแปลงต้องขับเคลื่อนทั้ง 2 ระดับทั้งระดับภาคประชาชน และระดับโครงสร้างใหญ่ของประเทศ เพราะผู้มีอำนาจส่วนหนึ่งที่เสียผลประโยชน์จากการมีสหภาพแรงงานจะกดดันให้ขบวนการอ่อนแอ แต่เชื่อว่าจะมีผู้มีอำนาจส่วนหนึ่งที่มองเห็นถึงสังคมแห่งความชอบธรรม

ในศตวรรษที่ 21 และระยะต่อไป อนุสรณ์ ระบุว่าสังคมดิจิทัลและการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามาแทรกแซงตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่เราต้องออกแบบระบบทุนนิยมใหม่ให้เป็นธรรมมากกว่านี้ ให้คนสามารถทำงานน้อย แต่มีผลิตผล (Productivity) เท่าเดิมหรือมากขึ้น อนุสรณ์ ชี้ว่า ‘การต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย’ เป็นคำตอบสำคัญที่จะทำให้การจัดสรรผลประโยชน์จากคน 1% มายังคน 99% เป็นไปอย่างมีวุฒิภาวะโดยไม่เกิดการสูญเสียเหมือนตอนปฏิรูประบบแรงงานในหลายประเทศช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้นซ้ำอีกในศตวรรษต่อไป

ฉัตรชัย เห็นด้วยที่การเปลี่ยนแปลงจะต้องขับเคลื่อนทั้งในภาคประชาชนและโครงสร้างใหญ่ แต่ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเป็นแรงสำคัญที่จะทำให้แนวคิดของสหภาพแรงงานหยั่งรากในประเทศไทย และอยู่ในวิถีคิดของคนไทยได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าเทคโนโลยีดิจิทัล และการมาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจทำให้แรงงานต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่มากขึ้น ซึ่งเจ้าของเทคโนโลยีเหล่านี้ก็คือกลุ่มคน 1% เขาชี้ว่า การมีอยู่ของเทคโนโลยีเหล่านี้จะสร้างประโยชน์ให้กับคนฐานรากมากขึ้น หากเราอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง

ถกถามความหมายของการใช้ชีวิตไปกับสารคดี After Work

งานเสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลภาพยนตร์ VIPA Film Festival ซึ่งเป็นเทศกาลที่ VIPA แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจาก Thai PBS จัดขึ้น เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดความเข้าใจในประเด็นของความเหลื่อมล้ำในสังคม ผ่านภาพยนตร์สารคดี พร้อมวงเสวนาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในประเด็นต่าง ๆ โดยได้รับความร่วมมือจาก Documentary Club ชุมชนสำหรับคนรักหนังสารคดี ร่วมกับ VIPA คัดสรรเนื้อหาคุณภาพเพื่อสอดคล้องกับปัญหาสังคมจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ After Work, May I Quit Being a Mom?, และ PUSH ระหว่างวันที่ 21 – 23 ก.ค. 2566

สำหรับ After Work ภาพยนตร์หลากสัญชาติจาก สวีเดน-อิตาลี-นอร์เวย์ ชวนตั้งคำถามถึงความหมายของการดำรงชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์ เมื่อโลกของการทำงานถูกรื้อถอนความหมายตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 ด้วยแนวคิด ‘หลักจริยธรรมในการทำงาน’ ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตเพื่ออุทิศให้การทำงาน และทำงานเพื่อมีชีวิตอยู่ ยากที่จะจินตนาการถึงชีวิตที่ไร้ซึ่งการทำงาน

ภาพยนตร์พาผู้ชมเดินทางไป 4 ทวีปทั่วโลก ฉายภาพความหมายของ ‘งาน’ ในมุมมองที่แตกต่าง ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังดิ้นรนทำงานเพื่อสร้างคุณค่าในการมีอยู่ของตัวเองจากยอดใบเสร็จเงินเดือน อีกด้านหนึ่งของโลก มีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้ใช้ชีวิตเพลิดเพลินไปกับสุนทรียะโดยไม่ต้องหาเงินสักแดง ก่อนจะทิ้งคำถามใหญ่กลางใจผู้ชมว่า ท้ายที่สุดแล้ว หากชีวิตไร้ซึ่งงาน การใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างที่ควรจะเป็นควรเป็นเช่นไร?

AfterWork

สามารถติดตามและรับชมภาพยนตร์เหล่านี้ได้ทาง http://www.VIPA.me หรือ VIPA Application ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งทาง VIPA application ได้จัดทำสื่อที่สามารถรับชมได้ทุกคน (VIPA for All) อาทิ audio description (เสียงบรรยาย) เป็นเสียงบรรยายภาพยนตร์สำหรับผู้พิการทางการมองเห็น หรือ big sign ภาษามือใหญ่ครึ่งจอสำหรับผู้มีความพิการทางการได้ยินอีกด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active