Learning Bag : ถุงยัง Ac (tivity)

: เมื่อโควิด-19 ทำให้พื้นที่การเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ กำลังหดหาย
พวกเขาจึงต้องการถุงยังชีพ เพื่อต่อลมหายใจทางปัญญาในช่วงวิกฤตนี้

ในสภาวะที่ “ครอบครัวชุมชนเมือง” ต้องเผชิญกับปัญหาคุณภาพชีวิต รายได้ ปากท้อง จากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ผู้คนต่างต้องเอาตัวรอด กลายเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมให้ตกอยู่ในความเครียด

ภาวะแวดล้อมเหล่านี้ กำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็ก

โดยเฉพาะ “กรุงเทพมหานคร” ที่ยังคงเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม หรือ “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” ของโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการศึกษา เกิดภาวะหยุดชะงักของการเรียนรู้  

แต่ในช่วงที่ยังไม่สามารถเรียนรู้ได้จากในห้องเรียน อย่างน้อย กล่องสี กาว กรรไกร แกนกระดาษแข็ง ที่ใส่ไว้ในถุงกระดาษ หรือ ที่เรียกว่า “ถุงยังแอค” (Activity) ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่ “กลุ่มบางกอกนี้ดีจัง” พยายามใช้เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ในชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย  กรุงเทพมหานคร

“บางกอกนี้…ดีจัง” 

ก่อนจะไปถึงแนวคิดของกิจกรรมถุงยังแอค เราจะมาชวนรู้จักกับ “บางกอกนี้…ดีจัง” ว่าเขาคือใครกัน?

ชุมชนแออัดในเมืองขนาดใหญ่ ที่ห่างจากกลางเมืองเพียงแค่แม่น้ำเจ้าพระยากั้น พื้นที่ขนาดไม่กว้างมาก แออัดไปด้วยบ้านเรือน 1,500 หลัง และมีประชากรถึง 7,500 คน นั่นคือชุมชนเมืองที่มีชื่อว่า วัดโพธิ์เรียง และเป็นที่ทำการของ “กลุ่มบางกอกนี้ดีจัง”

กลุ่มเครือข่ายชุมชนที่มีทั้งเด็ก เยาวชน และผู้นำชุมชน ที่ทำกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ เพื่อการส่งเสริมพัฒนาเด็กเยาวชน ทั้งการเรียนรู้และการเล่น โดยมี มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เป็นผู้ประสานงานหลักในการชวนกลุ่มเยาวชน และมีโรงเรียนในชุมชนเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อดึงเด็กเยาวชนออกจากปัจจัยเสี่ยง มีการจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กเยาวชน โดยสร้างความร่วมมือกับคนในชุมชน รวมทั้งเรื่องการแก้ปัญหาในพื้นที่เขตบางกอกน้อย นานนับ 8 ปีแล้ว

แล้วถุงยัง Ac (tivity) คืออะไร ?

เมื่อถุงยังชีพ มีวัตถุดิบ อาหารการกิน ยารักษาโรค ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะประชาชนที่ขาดรายได้ ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อเฝ้าระวังตัวเองและครอบครัว

แต่ไม่เพียงแค่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและหยุดชะงัก แต่การเรียนรู้ของเด็ก ๆ เองก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

บทบาทและประสบการณ์ ของ “บางกอกนี้ดีจัง” ที่ทำงานกับเยาวชนมานาน จึงมองว่าการเรียนรู้สำคัญต่อเด็กและครอบครัวไม่แพ้กัน

ฉะนั้น การให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างพัฒนาการ โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย ควรจะถูกสร้างให้เกิดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม เพื่อให้พัฒนาการของจินตนาการไม่หยุดชะงัก ควรเข้าถึงประสบการณ์แบบใหม่ หลากหลายรูปแบบ สามารถสร้างการเรียนรู้ สนุกร่วมกันในบ้าน สร้างปฏิสัมพันธ์ครอบครัว ลดการอยู่กับสื่อโซเชียล ที่นับวันเริ่มตึงเครียดมากขึ้น

แต่เมื่อช่วงการระบาดของโควิด-19 ทั้ง 3 รอบที่ผ่านมา ทำให้การทำงานของกลุ่ม ไม่สามารถที่จะทำงานบนพื้นที่และรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมได้อย่างเคย

จึงมีการออกำแบบกิจกรรมที่เรียกว่า ถุงยังแอค ที่ส่งตรงถึงหน้าบ้าน

ถุง ที่หมายถึงถุงกระดาษ ยัง (Young) ที่หมายถึงแกนนำ อาสาสมัคร เยาวชน คนรุ่นใหม่ และ Ac ที่มาจากคำว่า Activity  แอคชั่นกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับคน กับชุมชน และแอคทิวิตี้หรือกิจกรรมที่ใส่ลงไปให้เข้าถึง

สิ่งนี้ถูกคาดหวังให้ช่วยทดแทนกิจกรรมความคิดสร้างสรรค์ ที่เด็ก ๆ ขาดหายไป ภายใต้สถานการณ์ที่การเรียนรู้ และพื้นที่กิจกรรมมีข้อจำกัด

The Active พาเดินทางลงพื้นที่ชุมชนวัดโพธิ์เรียงไปกับตัวหนังสือ เพื่อทำความเข้าใจแนวคิด และการพยายามแก้ปัญหา โดยตัวชุมชนเอง

หลายครั้งที่การออกแบบกิจกรรมบางอย่าง จะต้องคำนึงบนฐานความเป็นไปได้ อีกทั้งส่งผลต่อผู้คนในวงกว้าง แต่โควิด-19 ที่กินเวลาชีวิตไปในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นอีกหนึ่งผลพวงที่สร้างข้อจำกัดให้การใช้ชีวิต หรือการทำกิจกรรมนั้นไม่เหมือนเดิม 

ตัน สุรนาถ แป้นประเสริฐ เจ้าหน้าที่ประสานงานเครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง ผู้ที่อยู่ในชุมชนนี้ พาเราเดินทางเข้าไปยังแนวคิด โดยเริ่มบทสนทนาจากการยกตัวอย่างการทำโครงการเพื่อเบิกงบประมาณ ไม่ว่าใครก็ตาม หากเคยผ่านทำงานกับหน่วยงานราชการหรือการเบิกงบประมาณจากแหล่งทุนต่าง ๆ ต่างก็ต้องเคยเจอกับการเขียนโครงการ

อาจมีการคาดการณ์และคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้น เขาบอกว่ามันคือการ “นั่งเทียน” เพราะไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลาทำกิจกรรม จะต้องใช้งบประมาณไปกับอะไรบ้าง

แต่หลายครั้ง เมื่อถึงเวลาที่ลงมือทำจริง ๆ ผลลัพธ์กลับออกมาอีกอย่าง…

“การทำโครงการที่ผ่านมา มันทำให้เราเห็นว่ามันไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเสมอไป ต่อไปเราจะทำ Proposal (การนำเสนอ) โดยการที่ไปเอาข้อมูลมาก่อน มันต้องทำกับหัว มันต้องใช้พลังมากกว่าปกติ แต่สภาวะวิกฤตแบบนี้ถ้าเราไม่ลงแรง จะใช้โอกาสไหน หากเราจะทำแบบสอบถามและข้อมูลเพื่อเอามาต่อยอดแก้ปัญหาแบบนี้ เชื่อว่ามันต้องมาในสภาวะที่ลำบาก ไม่งั้นเราจะได้ข้อมูล ณ สภาวะปกติ ข้อมูลที่ได้ก็เป็นข้อมูลพื้นฐาน ที่เราคาดเดาได้”

ถุงยังแอคมีอะไร พิเศษอย่างไรบ้าง?

“ถุงยังแอคทิวิตี้ เราต้องการให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ ร่วมกับเรื่องของสถานการณ์ เรื่องปากท้อง มันเหมือนกับถุงการเรียนรู้จากการอยู่ที่บ้านก็สามารถเรียนรู้ได้ เพราะที่ผ่านมา มาตรการที่ทำให้เด็ก ๆ ต้องอยู่บ้าน ทั้งการเปิดเทอมต้องเลื่อนออกไป อยู่ที่บ้านก็อยู่กับสื่อออนไลน์เยอะ หลายคนต้องเรียนออนไลน์ บางบ้านก็ต้องอยู่กับจอทีวี เราเชื่อว่าถุงยังแอคทิวิตี้ มันจะไปช่วยลดเรื่องของการอยู่ติดหน้าจอเยอะ ความคิดสร้างสรรค์มาจากความศิลปะที่เราส่งตรงถึงหน้าบ้าน”

สุรนาถ หยิบของที่อยู่ในถุงออกมา พลางอธิบายถึงเหตุและผลของการเลือกวัสดุ ที่นำมาใส่ในถุงกระดาษสีน้ำตาล

“ศิลปะการออกแบบความคิดสร้างสรรค์ มันก็ขึ้นอยู่กับเรื่องของการใช้สี การใช้กรรไกร การใช้กาว การใช้กระดาษมาจากฐานคิดที่ว่า เมื่อก่อนเราทำงานบนพื้นที่ เรามีการเอาคนมารวมกัน แต่ตอนนี้มันเอาคนมารวมกันไม่ได้ เราก็ต้องยืนยันให้กับการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง และนำไปสู่การเรียนรู้”

เดินเท้า ส่งถุง ถึงที่

เงาที่ตรงกับลำตัว แสดงถึงช่วงเวลาที่พระอาทิตย์อยู่ตรงหัวพอดี นั่นกำลังแสดงให้เห็นถึงนาฬิกา ที่เข็มยาวและเข็มสั้นมาเคียงกันตรงเลข 12 พอดี

ใช่!

นี่คือเวลาเที่ยงวัน ที่อากาศในกรุงเทพฯ อุณหภูมิเกือบแตะที่ 40 องศา

“มีน้อง ๆ อยู่บ้านไหมครับ มีถุงกิจกรรมมาแจกครับบบบบ” 

นี่คือเสียงของกลุ่มแกนนำที่เปล่งดังไปทั่วทั้งซอย ซอยที่มีทางเดินพอตัวและพอจะให้รถเข็นกิจกรรมจะสามารถผ่านไปได้เท่านั้น

ถุงยังแอคถูกส่งออกจากที่ทำการในวันนี้เกือบ 200 ถุง

ไอติมวัย 4 ขวบได้รับถุงยังแอคจากพี่ ๆ แกนนำ

นี่คือตัวผม และถุงกระดาษมีผมอยู่ในนั้น…”

แกนกระดาษ กาว กระดาษสีที่ได้รับมา ถูกแต่งเติมด้วยจินตนาการของไอติมและแม่ที่กำลังขะมักเขม้นและจดจ่อกับการเล่นของในถุงกระดาษ

แต่มองรวม ๆ มีตามีจมูก ผู้ใหญ่หลายคนคงจะมองว่าสิ่งที่อยู่ในมือเด็กชาย 4 ขวบ คงต้องเป็นตัวละคร บางตัวจากการ์ตูนบางเรื่อง

นี่คือตัวอะไรครับ? เราตัดสินใจเปิดบทสนทนากับเด็กชาย

อันนี้ไอติมครับ ไอติมเอง” เขาพูดพร้อมกับยื่นมันมาให้ดู

ไอติม เด็กชายวัย 4 ขวบ

บทสนทนาสั้น ๆ สะท้อนให้เรากลับไปนึกถึงประโยค ที่คุยกับ ตัน สุรนาถ คำพูดประโยคเดียว อาจตอบคำถามถึงความสำเร็จของกิจกรรมไม่ได้ แต่นั่นกำลังทำให้เห็นว่าเด็ก ๆ ที่ได้รับถุง เขาสามารถที่จะจินตนาการสร้างตัวเขาได้

และนี่กำลังฉายภาพของความฝันอันยิ่งใหญ่ของเด็กชายวัย 4 ขวบ

“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” เป็นวลีอันอมตะที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ทิ้งเอาไว้ให้แก่โลก ก่อนที่เขาจะสลายไปเป็นสสารในจักรวาล 

เปรียบเทียบง่าย ๆ ความรู้ก็เหมือนกับปัจจุบัน ขณะที่จินตนาการเปรียบได้กับอนาคต

คำพูดนี้คงจะสะท้อนให้เห็นภาพของบทสนทนานี้ได้ชัดเจนขึ้น

นี่อาจจะไม่ใช่ผลสำเร็จของโครงการ แต่เป็นแค่จุดเล็ก ๆ ที่กำลังสะท้อนให้เห็นก้าวเล็กจิ๋ว ของจินตนาการเด็ก

“เราเชื่อว่าถุงยังแอคจะนำไปสู่การสร้างกิจกรรมภายในครัวเรือน อย่างน้อยพ่อแม่สามารถเป็นเพื่อนเล่นในครอบครัวได้ เด็กสามารถออกแบบอย่างสร้างสรรค์ได้ ฉะนั้นอุปกรณ์ที่เราให้ไป จะเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบเอง ไม่ได้ตายตัว”

การเดินทางของถุงยังแอคตอนนี้ ถึงขั้นไหนแล้ว?

ณ ตอนนี้เราพยายามออกถุงยังแอคให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยการเอาคนที่มีความรู้ความสามารถในการเข้าใจเรื่องของอารมณ์ ก็คือกลุ่มศิลปินบางกลุ่มที่พยายามจะสื่อสารมาช่วยออกแบบกับเรา ฉะนั้น เราก็พยายามทำงานต่อเนื่อง 200 ชุดต่อ 1 พื้นที่ ผมเชื่อว่าอาจจะไม่ครอบคลุมทุกคนที่เป็นเด็กและเยาวชน แต่ว่าอย่างน้อย 200 ชุดนี้  มันจะเป็นใบเบิกทางทำให้เรารู้ว่าเด็กและเยาวชนของเราอยู่ตรงไหนบ้างเจอสภาวะอะไรบ้างผ่านการทำแบบสอบถามควบคู่ไปด้วย

แล้วจะไปอย่างไรต่อ?

ตอนนี้เราคำนึงถึงถุงยังแอคทิวิตี้ เราพยายามประสานงานกับศิลปินที่เป็นศิลปินที่อยู่ในประเทศไทย ผ่านองค์กรที่เขาพยายามที่จะหาศิลปินที่จะมาร่วมออกแบบชุมชน

ตอนนี้เราได้เครือข่ายจากกลุ่มยังธน กลุ่มเครือข่ายมูลนิธิสื่อเด็กและเยาวชน กลุ่มมูลนิธิเพื่อนเยาวชน ร่วมกันออกแบบคิดว่าถ้าหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ ถุงยังแอคทิวิตี้เราจะสามารถออกแบบการเรียนรู้ภายในบ้าน แต่ต้องออกแบบทำให้หลากหลาย และเราเชื่อว่าแค่ปฐมวัยยังไม่พอ ถ้าหากกลุ่มมัธยมกลุ่มเหล่านี้ยังเป็นวัยที่มีความคิดสร้างสรรค์ เราจะทำอย่างไรให้ถุงยังแอคมีวัสดุอุปกรณ์ขั้นพื้นฐาน ที่นำไปสู่การเล่น และเรียนรู้ภายในบ้าน และก็ไม่ใช่เล่นแค่กับตัวเอง แต่หมายรวมถึงการเล่นกับครอบครัวและเล่นกับผู้อื่นได้

หากการระบาดยืดเยื้อไปเช่นนี้เรื่อย ๆ นอกจากการเรียนรู้แล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่ทางกลุ่มบางกอกนี้ดีจัง มองเห็นถึงความสำคัญ คือ เรื่องของปากท้อง เรื่องการกินของคนในชุมชน

ผมเชื่อว่ามาตรการณปัจจุบัน การสั่งล็อกดาวน์ การสั่งหยุดการสั่งปิด หลาย ๆ อย่างไม่ได้ตอบโจทย์และไม่ได้คำนึงถึงคนหมู่มากในชุมชนเมืองมากนัก เรามีแนวคิดทำมากกว่าถุงยัง Ac (tivity) นั่นคือการทำถุงยัง Food ที่บรรจุของสดเป็นวัตถุดิบประเภทเนื้อสด ผักสดแจกคนในชุมนทำอาหารในครัวเรือน เพื่อสร้างทางเลือก และให้สารอาหาร ซึ่งมันน่าจะมีประโยชน์ และสร้างทางเลือกมากกว่าอาหารแห้งที่เราแจก ๆ ก่อนหน้านี้

ซึ่งขณะนี้ก็มีการดำเนินการแล้ว เมื่อไรที่ปากท้องอิ่ม ร่างกายสมบูรณ์ สร้างภูมิต้านทานกับเชื้อโรค ทั้งยังส่งผลให้ร่างกายร่าเริงแจ่มใส พร้อมสำหรับการเรียนรู้และการทำงาน

แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่เด็กเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ปกครองและผู้สูงอายุในครอบครัวอีกด้วย

ระหว่างการลงพื้นที่แจกของ กลุ่มเครือข่ายเก็บแบบสำรวจชุมชน ณ สภาวะวิกฤตแบบนี้ เพราะมองว่าน่าจะเป็นฐานข้อมูลเสนอต่อหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องจะนำไปสู่การออกแบบมาตรการที่จะมาเยียวยา

ยิ่งการระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดนี้ กรุงเทพฯ ถือเป็นจุดใหญ่คลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นทุกวัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อเตะหมื่น ฉะนั้น ชุมชนเมืองอย่างบางกอกน้อย จึงต้องพยายามออกแบบร่วมกับองค์กรเครือข่าย

แต่การทำโดยลำพังก็อาจจะลำบากเช่นกัน เพราะทรัพยากรและกำลังของชุมชนก็มีขีดจำกัด…

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ