“โลกในห้องเรียน” หมุนไม่ทัน “โลกนอกห้องเรียน” ช่องว่างการศึกษา ที่ไม่เท่าการเรียนรู้

หลังคณะทำงานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนา (Strategic Agenda Team: SAT) วงการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยงานวิจัย ผ่านเวทีเสวนาวิชาการ Thailand Education Forum ครั้งที่ 1 “ทอผ้าผืนใหม่ สู่ การศึกษาไทยไร้รอยต่อ”

อ่านเพิ่ม : คณะทำงานวิจัย SAT เผย 3 ปรากฎการณ์ “โลกในห้องเรียน” หมุนไม่ทัน “โลกนอกห้องเรียน” แนะ สร้างสมดุลให้ “การศึกษา = การเรียนรู้”

ได้กล่าวถึง 3 สถานการณ์สำคัญของระบบการศึกษาและการเรียนรู้ในไทย

  • ทักษะ และวุฒิการศึกษา แยกตัวออกจากกัน

  • การศึกษาในระบบโรงเรียนรัฐเสื่อมถอย

  • ทางเลือก การเรียนรู้เกิดใหม่ หลากหลาย

ปัจจุบัน พบว่า ‘โลกในห้องเรียน’ หมุนไม่ทัน ‘โลกนอกห้องเรียน’ กลายเป็นรอยต่อทางการศึกษาที่สำคัญ เช่น “สังคมไทยเปลี่ยนสู่การตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล สวนทางภาครัฐจัดการศึกษาภาพรวม ไม่ตอบโจทย์ผู้เรียนรายบุคคล” จึงจำเป็นต้องสร้างสมดุลการศึกษาให้สังคมอยู่ได้ ผู้เรียนมีความสุข

สิ่งที่ตามมา คือ รูปแบบการศึกษานอกระบบ-มีผู้เล่นใหม่ที่ให้บริการด้านการเรียนรู้ มากขึ้น การศึกษาในระบบจึงเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายระบบที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทำให้สังคมเกิดคำหนึ่งที่สำคัญคือ การศึกษา (ไม่เท่ากับ) การเรียนรู้

หุ้นส่วนการศึกษา อภิปราย 4 กรอบความเป็นไปได้
‘การศึกษาไทยไร้รอยต่อ’

คณะทำงาน SAT ให้กรอบแนวคิด การศึกษาไร้รอยต่อ เป็นเลนส์หนึ่งที่ใช้มองการศึกษาไทย โดยนิยามคำว่า รอยต่อ เป็นอุปสรรคที่เด็กไทยต้องเจอ และโจทย์คำถามปลายเปิด สู่วงอภิปรายต่อว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่การศึกษาจะเปลี่ยนเป็น

  • ทำให้ ผู้เรียนไทย เคลื่อนย้ายไปมาได้ทั้งในระบบ นอกระบบ  หรือได้รับวุฒิประสบการณ์ที่ต่อยอดในชีวิตตัวเองได้

  • ให้ผู้เรียนได้รับความยอมรับแตกต่างหลากเรียน

  • เรียนรู้ได้ทุกเรื่อง อย่างไม่มีข้อจำกัด ไม่จำกัดแค่ “สายวิทย์ สายศิลป์”

  • เป็นไปได้ไหม ที่ผู้เล่นทางการศึกษาจะออกแบบทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน

หลังการนำเสนอ ข้อค้นพบของคณะทำงาน SAT แล้ว ภาคีการศึกษาจาก ภาคการศึกษา, การเมือง, ภาคเอกชน ยังได้ร่วมอภิปราย มุมมอง และข้อคิด ต่อ ข้อเสนอการศึกษาไร้รอยต่อ The Active รวบรวมหลากหลายมุมมองจากภาคส่วนสำคัญ เพื่อมีส่วนกำหนดทิศทางอนาคตการศึกษาไทย

ตัวแทนภาคการศึกษา

ศ.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)


ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผอ.โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี

ตัวแทนภาคเอกชน

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TCP Group

ตัวแทนภาคการเมือง (ผู้ทำนโยบาย)

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรี และโฆษกประจำกระทรวงศึกษาธิการ


• และข้อเสนอเพิ่มเติม จาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ

ม.12 พ.ร.บ.การศึกษา 2542 ไร้พลังปฏิบัติ
แนะขั้นต่ำต้องไปถึง ปรัชญาการศึกษา ‘พิพัฒนาการนิยม’

ศ.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นคนแรกที่ได้อภิปราย มองว่า “การศึกษาไร้รอยต่อ” มีความหมายที่ซับซ้อน มีเสน่ห์ และมีความหวังมากขึ้นกว่า “การศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ศ.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ภาครัฐทำงานตามลำพังไม่ได้ ไม่ใช่เพราะไม่เก่ง แต่เกินความสามารถ จะทำอย่างไรให้ ม.12 ใน พ.ร.บ.การศึกษา ปี 2542 เป็นจริง มีพลัง มีผลลัพธ์ มีอำนาจ… อย่างน้อยต้องไปให้ถึงปรัชญาการศึกษา พิพัฒนาการนิยม”

ศ.นงเยาว์ เนาวรัตน์

ประการที่ 1 : โดยยกตัวอย่าง พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ม.12 ที่กำหนดเจ้าภาพทางการศึกษา ให้อำนาจ และทรัพยากรเอาไว้ แต่จากข้อค้นพบงานวิจัยกลับทำให้เห็นว่า ทรัพยากรแทบไม่กระจาย ผู้เล่น ผู้จัดการศึกษาร่วมกับรัฐ ยังคงอยู่ชายขอบ และไม่สามารถเพิ่มศักยภาพตัวเองได้ “ภาครัฐทำงานตามลำพังไม่ได้ ไม่ใช่เพราะไม่เก่ง แต่เกินความสามารถ จะทำอย่างไรให้ ม.12 ใน พ.ร.บ.การศึกษา ปี 2542 เป็นจริง มีพลัง มีผลลัพธ์ มีอำนาจ…”

ประการที่ 2 : ทีมวิจัยไม่พูด คือเรื่อง ปรัชญาการศึกษา เราได้ทลายกรอบอันนั้นไปแล้วใน พ.ร.บ.การศึกษา 2542 ในทางปฏิบัติ อย่างน้อยที่สุด “ปรัญชาพิพัฒนาการนิยม” (หมายถึง การศึกษาจะต้องพัฒนาเด็กทุก ๆ ด้านไม่เฉพาะสติปัญญาเท่านั้น โรงเรียนมีความสัมพันธ์กับสังคมมากขึ้น เด็กจะต้องพร้อมที่จะไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ปรับตัวได้อย่างดี) ขยายแนวทางการศึกษา “สารัตถะนิยม(หมายถึง การศึกษาแบบถ่ายทอดสาระสำคัญทางวัฒนธรรม ความเชื่อ)

สิ่งสำคัญคือ จะต้องพูดถึง “ปรัชญาการศึกษาใหม่” ไม่เช่นนั้น 4 กรอบแนวคิดจากทีมงาน SAT จะเป็นไปได้ยากให้ ครูกล้าสอน โดยไม่ต้องสอบได้อย่างไร ให้ครูรู้สึกว่า ต้องเอาเด็กทะลุกะลาออกไปจากเดิม

ประการที่ 3 : การอ่าน และภาษา เด็กทุกบ้านต้องมีหนังสืออ่านสนุก กระตุ้นให้รักการอ่าน สิ่งสำคัญคือเรายังไม่กล้าที่จะให้การสอนภาษาอนุบาล – ป. 6 ไม่ใช้ภาษาแม่เป็นฐาน อ.นงเยาว์ ยกตัวอย่าง การศึกษาใน จ.เชียงใหม่, ตาก, แม่ฮ่องสอน พบว่าภาษาแม่ ไม่ใช่ภาษาไทยกลาง แต่มีการนำร่องให้เด็กใช้ภาษาแม่สื่อสาร ทำให้เด็กสนทนากันอย่างเข้าใจ และมีความสุข แต่เมื่อโครงการทดลองจบไม่สานต่อ ตัวอย่างการถักทอมีเยอะ และหลายตัวอย่างสานต่อไม่ได้ กลายเป็นช่องว่างทางการศึกษาที่สำคัญ

เสนอรูปธรรม ผลักดันการศึกษาไร้ร้อยต่อ ระดับอำเภอ ทั่วประเทศ

พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ระบุว่า ภาพใหม่การศึกษาไทย ที่นำเสนอ เกี่ยวข้องกับผู้เล่นทางการศึกษาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และมี การเรียนรู้ เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญให้เปิดกว้าง และเกี่ยวเนื่องกับผู้คนที่มีความหลากหลายมากขึ้น 4 กรอบแนวคิด ที่เสนอโดยทีมคณะทำงาน SAT สามารถเริ่มมได้ถ้าสามารถ “ลดความกลัว และความกังวล ลงได้” ในระบบราชการหรือภาครัฐ “หลายเรื่องจัดอยู่บนความกลัว จะทำอย่างไรให้ลดกรอบเหล่านี้ได้น้อยลง กล้าเปิดพื้นที่ให้คุณครูหลายแสน ร่วมออกแบบกับเรื่องการศึกษา ไม่ให้มีมาตรฐานเดียวเหมือนกันทั้งหมด

พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)

ถ้าเปิดพื้นที่ให้เอกชน เข้ามา ระบบในโรงเรียนก็จะเหนื่อยน้อยลงมาก เพราะผู้มีใจด้านการศึกษามีเยอะ เช่นที่ทำเรื่องการเรียนรู้ยาวนาน จริงจัง แต่เราเป็นคนที่ไม่มีใครมองเห็น ต้องขอทุน แต่ยืนยันว่า ภาคประชาชนกระจายอยู่ทั่วประเทศ ภาคธุรกิจทั่วประเทศ ถ้ามีระบบเอื้ออำนวยการให้องค์กรเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น จะทำให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้มีพลัง ไม่ต้องใช้เวลาขับเคลื่อน 100 ปี

“เสนอรูปธรรมไร้รอยต่อ ระดับอำเภอทั่วประเทศ มีหน่วยงานรัฐ ทำงานร่วมกับผู้จัดการศึกษาระดับท้องถิ่น ใช้งบฯ ไม่เกิน 5 พันล้านบาท งบฯ ไม่มาก แต่คนในเมืองสามารถขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยกันได้”


พฤหัส พหลกุลบุตร

เสนอรูปธรรมผลักดันการแก้ปัญหาไร้รอยต่อ ระดับอำเภอ ให้มีหน่วยงานรัฐอย่าง สพฐ. และมีหน่วยงานท้องถิ่น อปท., อบต., เทศบาล ที่จะเข้ามาสนับสนุนเมืองตัวเอง โดยมี องค์กรภาคประชาสังคม, ที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้, ธุรกิจ, เอกชน, ผู้ประกอบการในพื้นที่ ดึงมาเป็นสถานีการเรียนรู้ กับเด็ก ๆ ในโรงเรียนได้หรือไม่

หากทำได้จะทำให้ เมืองนั้นไปสู่ 4 รอยต่อที่ทำให้มีความแนบเนียบมากยิ่งขึ้น มีทีมการสนับสนุนระดับอำเภอ 900 อำเภอ + 50 เขต กทม. ในประเทศ โดยจะใช้กองทุนสนับสนุนระดับอำเภอ 1-5 ล้านบาท ปีหนึ่งใช้ ไม่เกิน 5 พันล้านบาท (โดยประมาณ) ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่ผู้คนในเมืองสามารถขับเคลื่อนการเรียนรู้ได้ร่วมกัน และสามารถทำให้มันเกิดการเรียนรู้เหล่านี้ได้ น่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก 

นอกจากนั้นยังเสนอผลักดันให้การกระจายอำนาจ สร้างการเรียนรู้ของตัวเองในระดับเมือง แนะลดความกังวล ความกลัว เปิดพื้นที่ให้คุณครูที่มีหลักแสน ลดความกลัว ไม่ได้มีมาตรฐานเดียวคลายล็อกได้มาก

แก้ ‘ห้องเรียน ไม่ได้เรียน’ เร่งด่วน
จูนภาพ ‘โรงเรียนที่ดี’ คู่ขนาน คลายความกังวลผู้ปฏิบัติ

ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผอ.โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี คนหน้างานที่เจอปัญหารอยต่อทางการศึกษา ตั้งคำถามว่า จนถึงวันนี้ ผู้เล่นที่หลากหลายทางการศึกษา มองเรื่องของความเชื่อทางการศึกษาตรงกันหรือยัง ? หากยังมองไม่ตรงกัน หน่วยงานระดับปฎิบัติ หรือการทำหน้าที่ ก็จะเกิดความสับสน มีหลายอย่างที่ ผอ.ศุภโชค อารยะขัดขืนกับคำสั่งจากข้างบน เพราะความคิด ความเชื่อไม่ตรงกัน

ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผอ.โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี

สิ่งแรกเร่งด่วน คือ กรอบวิธีคิด (mindset) ว่า เรามองคำว่าโรงเรียนที่ดีตรงกันแล้วหรือยัง หากยังมองไม่ตรงกันมันก็จะนำมาสู่ปัญหา ห้องเรียน ไม่ได้เรียน อย่างที่งานวิจัยคณะทำงาน SAT บอกไว้

“เราต้องเลือก และเข้มแข็งพอสมควรว่า Schooling ที่ดีของ โรงเรียนผม คืออะไร ? ถ้าไม่เลือก รับทั้งหมดไว้ เราจะไปไม่ถึงปลายทาง แต่ในโลกของความเป็น คุณครูก็เหนื่อยกับการต้องระมัดระวังตัว… ปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ คือ ผู้เล่นทางการศึกษาต้องมีกรอบแนวคิดมองความหมายของ ‘โรงเรียนที่ดี’ ให้ตรงกัน…”

ศุภโชค ปิยะสันติ์

ผอ.ศุภโชค ย้ำว่า อยากให้โรงเรียนเติบโต เข้มแข็งด้วยจุดยืนที่ชัดเจนว่า… เราจะนำพาโรงเรียนไปตรงไหน ใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยวางกรอบคนทำงานให้มีความชัดเจน ไร้ความกลัวมากขึ้น

เด็กไทยต่างจากเพื่อนบ้าน คือ การตีกรอบความคิดว่าตัวเอง ‘ทำได้แค่นี้’

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TCP Group ระบุ การศึกษาไทยวิกฤต เมื่อเทียบกับที่อื่น การศึกษาไทยตกลงอย่างต่อเนื่อง หาจุดแข็งยาก บริษัทต่างชาติมองข้ามประเทศไทย และ ไทยไม่เคย TOP10 ที่ ต่างชาติเลือกลงทุน ส่วนหนึ่งก็เพราะศักยภาพของคนไทย

วิกฤตมากกว่า คือ คนไทย ประชากรลดลง เข้าสู่ สังคมสูงวัย สุดท้ายจะขับเคลื่อนสังคมไทยอย่างไร เมื่อจำนวนคนลด คุณภาพไม่ได้ และเหตุผลหนึ่งที่คนไทยไม่นิยมมีลูกกันแล้ว เพราะส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของการศึกษา หากมีลูกแล้วจะเอาลูกไปเรียนที่ไหน เพราะต้องแข่งขันเอาลูกเข้าสู่โรงเรียนดีดี อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การมองเด็กเพื่อนบ้าน และเด็กชายขอบ เมื่อประชากรไทยเพิ่มยาก ก็ต้องมองหาเยาวชนเพื่อนบ้านเข้ามาช่วยประเทศไทย

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TCP Group

ส่วน ปัญหาการศึกษาที่แก้ยาก เพราะมีความซับซ้อน โดยเทียบกับโรคความดันโลหิตสูง ที่เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ การแก้ปัญหาจึงต้องประกอบกันหลายแบบ เช่นเดียวกับการศึกษาที่ยาก เพราะ แต่ละคนมองไม่ตรงกัน เช่น จะเน้นเฉพาะความประพฤติดี การหาเลี้ยงชีพของเด็กก็ไม่ผิด จะสร้างคนเก่ง หรือสร้างคนดี วิธีการก็อาจจะแตกต่างออกไป นี่เป็นเหตุผลว่า… ปัญหาหลากหลาย ทำกันเต็มที่แต่ยังไม่สำเร็จชัดเจน เหมือนโรคความดันที่รักษาหลายยา แต่ก็ไม่หายขาดชัดเจน ต้องช่วยกันหลาย ๆ วิธี

สราวุฒิ เขาย้ำว่า ภาคธุรกิจจะเน้นที่ว่า การแก้ปัญหา คืออะไร เพราะหากตั้งโจทย์ผิดจะเสียเวลาเปล่า ต้องกลับมาดูนิยามการศึกษาให้ชัดว่า เรากำลังมองอะไร อย่างวันนี้เราเห็นหลายทางออกของการแก้ปัญหา ก็ไม่จำเป็นต้องตอบเรื่องเดียวกัน เพียงแต่ต้องทำให้ชัดว่า โรงเรียนแห่งนี้ วิธีการนี้ ตอบอะไร และตรงจริตชุมชนหรือไม่ ? การศึกษาจึงต้องมองว่า ใครแก้ตรงไหนได้ เพราะไม่มีใครแก้ได้ทุกเรื่อง

วิพากษ์ชื่องาน การศึกษาไร้รอยต่อ เพราะ ส่วนตัวมองว่า การศึกษาในอนาคตต้องมีรอยต่อ โดยยกตัวอย่าง การศึกษาที่เอกชนช่วยทำกันเยอะ คือ การเรียนไป ทำงานไป ไม่ต้องเรียนทุกอย่าง วันหนึ่งเติบโต ก็สามารถกลับไปเรียนได้อีกเป็นวัฎจักรการเรียนรู้ที่ขึ้นลงอยู่เสมอ สิ่งที่ขาดจึงเกิดจากกรอบแนวคิด (mindset) ของเด็กด้วย โดยคุณสราวุฒิ มองว่า ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าตัวเด็ก การอ่านหนังสือเป็นการพัฒนาเด็กมาก เด็กติดจอ ทำให้กรอบแนวความคิด (mindset) หายไป 

เอกชนคุยกันเยอะว่า อนาคตเราจะหาเด็กไทยที่ไหนมาทำงาน ? มหาวิทยาลัยบางแห่งระบุว่า เด็กจบไปส่วนใหญ่ ขายของออนไลน์, เป็นอินฟลูเอนเซอร์, ทำ Tiktok ฯลฯ เด็กดูเหมือนสุขสบายในโลกโซเชียลมิเดีย แต่โลกความจริงเป็นอีกเรื่อง (mindset) จึงต้องสร้างตั้งแต่เด็ก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรู้ข้อจำกัด แต่มีวิธีคิดที่จะ “ฝันให้ไกล ไปให้ถึง”

“วงการธุรกิจ ให้ความสำคัญกับ (mindset) ถ้าได้แค่นี้ ก็จะได้แค่นี้ เพราะติดกรอบความคิด ตีกรอบในใจตัวเอง สิ่งที่เยาวชนเพื่อนบ้าน และหลายประเทศมี คือ ความฝันไปไกล อยากเติบโตมีชื่อเสียง และไม่หยุดฝัน ต่างจากเยาวชนบ้านเรา… ซึ่งไม่แน่ใจว่าหลักสูตรของเราช่วยอะไรได้บ้าง”

สราวุฒิ อยู่วิทยา

สุดท้าย ในฐานะภาคธุรกิจ สราวุฒิ ยอมรับชอบตั้งคำถามว่า มีบทสรุปงานวิจัยแล้ว Action Plan คืออะไร มันเป็นจุดตั้งต้นที่ดี แต่แผนคืออะไร เราทุกคนเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว จะทำมากกว่านี้ได้อย่างไร พร้อมรับฟัง…

ย้ำชี้ปัญหาให้ชัด รัฐบาลทำงานต่อ พร้อมรับทุกข้อเสนอภาคการศึกษา

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วย รมว. และโฆษกประจำกระทรวงศึกษาธิการ ย้ำว่า ในฐานะผู้ทำนโยบาย…รับให้หมด และพร้อมจะทำตามนโยบายรับทุกข้อเสนอ ประเด็นหนึ่งที่เห็นในหลายเวที พูดหลายปี คือประเด็นโครงสร้าง ระบบ ณ วันที่ทีมได้เข้ามาที่กระทรวงศึกษาฯ โครงสร้างหลักสูตรมีปัญหาหรือไม่ ? ระบบใช่หรือเปล่า คำถาม คือ เป็นสาเหตุของปัญหาหมดคงไม่ใช่

เช่น หากบอกว่า หลักสูตรแกนกลางไม่ยืดหยุ่น จะไม่มีตัวอย่างของ โรงเรียนห้วยซ้อ ห้วยไร่ อีกหลาย ร.ร.ในสังกัด สพฐ. สิ่งนี้ แสดงให้เห็นว่า หลักสูตรแกนกลางไม่มีปัญหา แต่มันอยู่ที่การปฏิบัติ ที่อาจจะรู้ไม่เท่ากัน มีทัศนคติของผู้บริหารที่ต่างกัน แล้วระบบการศึกษาไทย มีปัญหา หรือไม่ 

“ภาครัฐพยายามปรับแก้ให้การศึกษาไทยไร้รอยต่อหลายเรื่อง เช่น ธนาคารหน่วยกิต มีการพูดถึงระหว่างสายอาชีวะเท่านั้น หลัง รมว.เข้ามา ระบุว่า หน่วยกิจไม่ใช่แค่สายอาชีพ อาชีวะ แต่ต้องมีมาตรฐาน เกณฑ์เดียวกัน ใช้กรอบคุณวุฒิวิชาชีพมาเป็นตัวตั้ง มาถอดเชิงวิชาการ สามารถเทียบกับวุฒิแบบไหนได้บ้างเพราะอะไร”

สิริพงศ์ ยังได้อธิบายความยากของการแก้ปัญหาการศึกษา เรื่องหลักสูตร รัฐบาลมีอายุ 4 ปี ก็จะเริ่มปรับหลักสูตรใหม่หมด, ร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ไม่ต่อเนื่อง, ทุกครั้งที่กฎหมายตกไป ก็ต้องทำใหม่หมดจึงเป็นอุปสรรคของการแก้ปัญหา พร้อม ฝากคณะทำงาน SAT สรุปเรื่องพื้นที่นวัตกรรม หลักสูตรฐานสมรรถนะ

“หลังจากนี้เทียบโอนหน่วยกิต จะไม่ได้มีเฉพาะแค่สายอาชีพ สายอาชีวะเท่านั้น และต้องมีมาตรฐานเดียวกัน เป็นหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหา… อยากให้ผู้เล่นทางการศึกษาวิพากษ์เชิงปฏิบัติการ พูดให้ชัดว่าต้องการให้แก้สิ่งใด รัฐบาลพร้อมรับและทำทั้งหมด…”


สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ

โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ แนะให้ผู้วิพากษ์ทางการศึกษา เน้นการวิพากษ์เชิงปฏิบัติการ เช่น การพูดให้ชัดถึงสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหา เช่น การพูดชัด ม.12 เห็นภาพ ที่จะทำให้รัฐบาลทำงานต่อได้ โดยต้องไปดู ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจะทำอย่างไร ขอความร่วมมือ อย่าให้หว่านแห ให้เป็นเชิงปฏิบัติการ ความเห็นที่ตรงใจ ที่มองคล้ายกัน… ว่าใครทำอะไร ช่วยกันทำ 

“กระทรวงศึกษาฯ เริ่ม ทอผ้ากับท่านแล้ว มีรอยต่อหรือไม่ อาจจะไม่สำคัญ เท่ากับวัตถุประสงค์ สำคัญคือเด็กต้องเอาความรู้ไปใช้ได้จริง”

รมว.ศธ. ย้ำเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว พร้อมเปิดใจรับฟัง ร่วมกันแก้ปัญหาการศึกษา

ช่วงระหว่างการอภิปราย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ยังมีข้อเสนอแนะ ไปถึงคนที่ทำงานในแวดวงการศึกษาโดยระบุว่า

“ความอยากของรัฐมนตรี อยากให้การศึกษาไทย มีการพัฒนา สิ่งที่อยากฝากหลายท่านเป็นผู้รู้ ผู้ชำนาญ สิ่งที่อยากให้ ลดอัตตา จงทำตนให้เป็นน้ำไม่เต็มครึ่งแก้ว ถ่ายทอดแล้วฟังคนอื่นด้วย เปิดใจรับฟัง เหมือนรัฐมนตรี เป็นน้ำไม่เต็มครึ่งแก้ว ถ้ามา เสวนากันอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเสวนา ส่งต่อให้ท่าน ผู้ช่วย รมว. เป็นโซ่คล้อง ต้องมีการดำเนินการต่อเนื่อง ปรับวิธีการทำงานให้ดีขึ้น”

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ

นอกจากผู้อภิปรายนำแล้วก็ยังมีคนสำคัญในแวดวงการศึกษา ที่ร่วมอภิปรายข้อค้นพบจากคณะทำงานวิจัย SAT ซึ่งถึอเป็นประโยชน์และเป็นจุดเริ่มต้นของการนำข้อมูลไปต่อยอดในอนาคต 

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

เชาวริน เกิดสุข

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล