“เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน” : ไม่เช่นนั้นเด็กจะกลับมาเผาหมู่บ้านทิ้ง

“ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราจะมอบให้เด็ก ๆ ได้
คือ รากฐานของความรับผิดชอบและปีกแห่งความอิสระ”

Maria Montessori – แพทย์และนักการศึกษาชาวอิตาลี

ถ้าจะไปให้ถึงความหมายที่ Maria Montessori ให้ไว้ บทบาท และหน้าที่สำคัญ คงหนีไม่พ้นผู้ใหญ่ที่ต้องคอยส่งเสริมให้เด็ก ๆ กล้าเรียนรู้ กล้าคิด และกล้าลงมือทำ บนพื้นฐานของความรับผิดชอบที่เด็ก ๆ พึงมี

แต่การส่งเสริมลักษณะนิสัยเหล่านั้นไม่ได้สร้างได้ด้วยการบอกให้ทำ แต่ผู้ใหญ่จำเป็นต้องช่วยกัน สร้างระบบนิเวศของการเรียนรู้ ที่เอื้อให้เด็กสามารถเรียนรู้ผิด รู้ถูก ด้วยสมอง และสองมือของเขาเอง

สภาพแวดล้อมส่งผลสำคัญอย่างมากต่อการเรียนรู้ของเด็ก แนวคิด Unintentional learning บอกกับเราว่า 80% ของการเรียนรู้ของพวกเขามาจากการทำความเข้าใจพื้นที่โดยรอบผ่านประสาทสัมผัส รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนบทสนทนากับผู้อื่น

ขณะที่อีก 20% เป็นการเรียนรู้ที่มาจากการอบรมสั่งสอน หรือการให้การศึกษาในห้องเรียน ที่เป็นความรู้เพียว ๆ ดังนั้น การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในเมือง หรือในชุมชนจึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อให้รักษาให้การเรียนรู้อยู่คู่กับพวกเขาไปตลอดชีวิต และหากเมืองดูแลเด็กได้ไม่ดี พวกเขาก็ยากที่จะเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ

เหตุอาชญากรรมที่เด็กเป็นคนลงมือในหลายเหตุการณ์ที่ปรากฎขึ้น คำถามในบทสนทนาของสังคมคือ “ใครคือผู้รับผิดชอบ ?”

ก. เยาวชน

ข. ครอบครัว

ค. ระบบการศึกษา

ง. สังคม

คำถามนี้ไม่มีคะแนนให้ และไม่มีคำตอบที่ตายตัว แต่การได้ตั้งคำถาม และถกเถียงถึงทางออกอาจมีความหมายมากกว่าเพียงแค่กาตัวเลือกที่ถูกต้อง The Active ชวนผู้อ่านเรียนรู้ และหาคำตอบร่วมกันผ่านบทสนทนาของ ‘มิรา เวฬุภาค‘ หรือ ‘แม่บี’ ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Mappa ที่เชื่อมั่นว่า “เด็กจะดีได้ หากคนรอบข้างและสิ่งรอบตัวนั้นดีตาม”

มิรา เวฬุภาค

มีอะไรที่สังคมไทยต้องมาเรียนรู้ (Relearn) กันใหม่ ?

ความคิดนี้มันเริ่มจากคำถามที่ว่า “ตอนนี้เรากำลังจะเลี้ยงเด็ก ที่จะมีชีวิตในอีก 50 ปีข้างหน้า ด้วยองค์ความรู้ 50 – 100 ปีที่แล้วรึเปล่านะ?” เด็กไทยเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ในขณะที่ความรู้ของพ่อแม่ และคนรอบตัวไม่ค่อยได้เปลี่ยนแปลงไป ถ้ามุมมองของสังคมยังไม่เปลี่ยน แนวคิดที่บอกว่าจะปรับ กับการเรียนรู้ของเด็ก คงไม่อาจเกิดขึ้นได้ จึงอยากชวนผู้คนมาตีความหมายว่าจะมองเรื่องเด็ก เยาวชน และการเรียนรู้ของพวกเขาใหม่อย่างไร

แม่บี อธิบายว่า เด็กที่เกิดขึ้นมา เขาไม่ได้เกิดขึ้นมาโดด ๆ เขาเกิดขึ้นมาโดยมีสภาพแวดล้อมรอบตัว เวลาที่พูดถึงเรื่องของเด็กเยาวชน เรามักจะบอกว่าเด็กมีปัญหา ดังนั้นจึงควรแก้ปัญหาที่เด็ก แต่เราไม่แก้ปัญหาคน และสิ่งรอบตัวเด็ก

“คนที่อยู่รอบตัวเขาไม่มีความสุข พ่อแม่เลี้ยงลูกแบบไม่มีความสุข ยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ฝุ่นมีเยอะแยะเต็มไปหมด ครูภาระงานเยอะ โรงเรียนก็ปรับตัวไม่ถูก คนรอบตัวเด็กยังไม่ปกติเลย แล้วจะไปเป็นเบ้าหลอมหรือจะสร้างเด็กที่มีคุณภาพได้ยังไง ?”

ถ้ากลับไปดูทฤษฎีการเรียนรู้จะเห็นเลยว่าจริง ๆ แล้ว Unintentional Learning หรือ การเรียนรู้ด้วยสภาพแวดล้อม ส่งผลต่อ 80% ของการเรียนรู้ทั้งหมด นั่นหมายถึงว่า สิ่งที่เราให้เป็นความรู้กับเด็กมีอยู่แค่ 20% ถ้าประสบการณ์พาเขาไปได้ดี บรรยากาศเหมาะสม เขาก็พร้อมที่จะเรียนไม่ว่าเนื้อหาใด แต่ถ้าสิ่งรอบตัวไม่เอื้อ ก็ยากมากสำหรับเด็ก

ยกตัวอย่างมีนิทรรศการหนึ่งในงาน Relearn Festival ที่ให้ลองนั่งฟังเสียงทะเลาะของพ่อแม่ ระหว่างทำข้อสอบ ซึ่งไม่มีทางเลยที่เด็กจะคิดออก ดังนั้นจึงอยากจะชวนคิดว่า

“สังคมควรให้น้ำหนักกับ ‘ระบบนิเวศ’ รอบตัวเด็กให้มากกว่าการที่เราพร่ำบอกว่าเด็กควรเป็นยังไง เพราะเราเชื่อว่า ถ้าทำเหตุดี ผลจะออกมาดี และระบบนิเวศรอบตัวเด็กคือเหตุ

ทำความรู้จักกับ Stereotype (การเหมารวม) แล้วเกี่ยวข้องยังไง ? กับการสร้างการเรียนรู้ที่ดี

แม่บีมองว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้อง 100% เพราะทุกวันนี้ นิทาน หนังสือ สื่อเด็ก หนีไปพ้นเรื่อง Stereotype อย่างในต่างประเทศเขาจะไม่พูดแล้วว่า เด็กผู้หญิงต้องเป็นคนเรียบร้อย, เจ้าหญิงไม่ต้องรอให้เจ้าชายมาช่วยเหลือ, ไม่ต้องสวย แต่แบบทะมัดทะแมงออกไปเตะบอลได้, มีเจ้าชายที่ร้องไห้ได้ มีบุคลิกที่แตกต่างออกไป ไม่ต้องเข้มแข็งดุดันตลอดเวลา

ดังนั้นจะเห็นว่ามีการพยายามจะพูดเรื่องของ การอย่าตัดสินคนที่รูปลักษณ์ภายนอก กับเด็กแล้ว แต่ผู้ใหญ่ยังไม่ไปตรงนั้น จึงจำเป็นจะต้อง Unlearn ความคิดแบบเดิมที่มาจากความเชื่อทางวัฒนธรรม เพื่อที่เราจะได้มีสายตาปราศจากอคติ มองเด็กอย่างชัดเจน อย่างที่เขาเป็นเขาได้จริง ๆ

บทเรียนที่สังคมควรได้เรียนรู้จากกรณีเยาวชนก่อเหตุความรุนแรง ?

สังคมเราไม่เคยถอดบทเรียนเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที คือเรามักจะอยู่ตรงที่เราสบายใจว่าใครเป็นคนผิด” เป็นสิ่งที่แม่บีสะท้อนมุมมอง ถึงการหาคำตอบของปัญหาแค่หาว่า ใคร ? คือคนผิด แล้วก็จะหยุดแค่นั้น ไม่ได้ถามต่อ ถ้าดูปรากฏการณ์ในแต่ละกรณีที่เกิดขึ้น สังคมจะตั้งคำถามไปที่ปัจเจกว่าปัจเจกต้องรับผิดชอบเรื่องอะไร ? พอได้คนผิดแล้วก็จะรู้สึกว่า โอเค มีคนรับผิดชอบแล้วจบ

แต่ไม่เคยตั้งคำถามไปถึงโครงสร้างว่าสภาพแวดล้อมอะไรทำให้เขาเป็นแบบนั้น ? เด็กต้องโตมาในสภาพแวดล้อมแบบไหน ? มันแค่ปัญหาในบ้านหรือมันต้องพูดถึงกฎหมายอื่น ๆ เช่น เรื่องการครอบครองอาวุธ เรื่องยาเสพติด ที่ทำให้เด็กคนนึงต้องโตมาแบบนี้ หรือต้องจนขนาดไหน พ่อแม่ถึงไม่มีเวลาแม้จะมาดูแลเด็กซึ่งเขารักที่สุด จนเขาต้องเครียดเขาต้องหาทางออกด้วยรูปแบบอื่น ๆ นี่เราเคยคิดกันไหมว่าเราอยู่ในสังคมแบบไหนกัน

“มันควรตั้งคำถามในระดับโครงสร้างมากกว่าการตั้งคำถามในระดับปัจเจก ไม่ใช่พอใจที่ระดับปัจเจก ไม่ใช่ถอดบทเรียนว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกยังไงอย่างเดียว แต่มันต้องถอดบทเรียนด้วยว่าโครงสร้างแบบไหน ที่ทำให้เด็กเป็นแบบนี้

ทุกครั้งที่มีเยาวชนลงมือใช้ความรุนแรง สังคมล้วนมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน ?

ถูก แม่บีตอบอย่างไม่ลังเล พร้อมทั้งอ้างถึงสุภาษิตจากทางแอฟริกา ที่บอกว่า “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน” ซึ่งจริง ๆ สุภาษิตนี้มีต่อเพราะว่า “ถ้าเราเลี้ยงเขาไม่ดี เขาจะกลับมาเผาหมู่บ้านทิ้ง” นึกออกใช่ไหม (หัวเราะ) ถ้าเกิดสมมุติว่า เราไม่ได้ช่วยกันดูแล หรือช่วยแบบประคับประคองเขา หากเขาโตเป็นผู้ใหญ่ เวลาเจอปัญหาแต่หาทางออกกับตัวเองไม่ได้ เขาก็ต้องกลับมาแก้ปัญหาในชีวิตเขาด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น ทำลายทิ้ง ฯลฯ

สุดท้ายต้องมองย้อนกลับไปว่าเวลาเราพูดเรื่องเด็กที่มีปัญหา เราพูดกันรอบด้านแล้วหรือยัง

ถ้าพ่อแม่ดูแลลูกดี สังคมเราจะปลอดภัยมากขึ้นไหม ?

ปัญหาในเชิงปัจเจกเชื่อมโยงกับโครงสร้างเสมอ การจัดเวิร์กช็อปทำให้พ่อแม่เลี้ยงลูกดีขึ้นไม่ได้หรอก ต้องแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะคนที่พร้อมจะเรียนโรงเรียนพ่อแม่ คือคนที่เขาไม่ต้องทำงาน เขาไม่มีภาระทางเศรษฐกิจ ดังนั้นพวกเขาเป็นเจ้าของเวลา จัดการการเงินของตัวเองได้เพื่อมาเรียนและเป็นพ่อแม่ที่ดี

ขณะที่คนอื่นทำงานหนักตั้งแต่เช้า ตี 5 ตื่นไปส่งลูกก่อน เข้าแถว 7 โมง แล้วค่อยไปทำงาน บางครั้งก็เลิกมืดค่ำต้องโทรไปฝากให้ตายายไปรับที่โรงเรียน กลับมาถึง รู้สึกผิดอีกเพราะไม่ได้ทำข้าวเย็นให้ลูกกิน กลับไปไม่ทัน เห็นลูกเล่นเกมอยู่ แทนที่จะได้พูดคุยกับลูกดี ๆ ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่เราเองก็เหนื่อยเกินไป ก็จบลงที่การดุ และโวยวายใส่เขา ความสัมพันธ์ก็พังลง ประเด็นคือเราไม่มีอะไรเลยที่จะช่วยเหลือพ่อแม่และเด็ก มีศูนย์เด็กเล็กที่เลิกบ่าย 2 แต่พ่อแม่เลิกงาน 5 โมงเย็น หรือถามว่าบริษัทไหนพร้อมให้พ่อแม่ลาคลอดไปเลี้ยงลูก สิ่งที่พูดมาตลอดว่านมแม่สำคัญ ต้องป้อนให้ลูกจน 2 ขวบ แต่ยังให้ลาคลอดได้แค่ 90 วัน

“พอเป็นอย่างนี้แล้วเราจะกล้าบอกว่าพ่อแม่ว่า “เลี้ยงลูกให้ดีนะลูกจะได้ไม่ไปก่ออาชญากรรม” เรากล้าพูดประโยคนี้ได้ไง? เรากล้าเอาภาระทั้งหมดไปทุ่มให้พ่อแม่ได้อย่างไร ?”

เราหวังกับระบบการศึกษาไทยได้ไหม ? ห้องเรียนไทยถอดบทเรียนอะไรได้บ้าง ?

แม่บี ยอมรับว่า ไทยเป็นประเทศที่ถอดบทเรียนในระบบศึกษาเยอะที่สุดในโลก (หัวเราะ) แต่ว่าตรงจุดไหม ? สุดท้ายเป็นปัญหาที่คุณภาพการเรียนรู้ หรือเป็นเพราะระบบราชการ ? จริง ๆ การศึกษาไทยไม่ได้น้อยหน้าประเทศอื่น อะไรที่คนอื่นรู้ ก็ทำได้เช่นเดียวกัน เรามีต้นทุนคนที่ทำได้ด้วย และมีต้นทุนคนที่พร้อมจะช่วยระบบการศึกษาด้วย แต่สุดท้ายมันไปติดชะงัก อยู่ที่การปฏิบัติใช้จริงผ่านระบบราชการทั้งปี

“สมมุติว่าพูดเรื่อง ความรู้เท่าทันด้านการเงิน (Financial Literacy) ที่เคยฮิตเมื่อสิบปีที่แล้ว เราอยากปลูกฝังเด็กให้รู้ ตอนนี้กลับมาฮิตอีกแล้ว เรายังปลูกฝังไม่เสร็จเลย มันติดราชการ สั่งการคนนั้น เขียนเอกสารโครงการนี้ รออนุมัติ รอหาคนรับผิดชอบ วิชาการเงินไม่ใช่หมวดสังคมฯ ไม่ใช่คณิตฯ แล้วตกลงครูคนไหนจะสอนเนี่ย มันติดกับระบบแบบนี้ มันไม่ใช่ระบบที่เอื้อต่อจินตนาการใหม่ ดังนั้นต่อให้ถอดบทเรียนอีกร้อยครั้งก็ทำไม่ได้ถ้าไม่แก้ระบบราชการ อันนี้ท้าเลย”

ถ้าเด็กอยากจะเรียนรู้อะไรสักอย่าง เป็นไปได้ยากที่จะหวังกับระบบการศึกษาแบบนี้ใช่ไหม ?

ประเด็นนี้แม่บี ยอมรับว่า ตอบยาก อย่างแรกต้องแยกระบบ การศึกษา ออกจากระบบ การเรียนรู้ เพราะถ้าเด็กอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับการเงินเขาไม่จำเป็นต้องหาจากโรงเรียน เขาสามารถค้นหาในมือถือได้เลย สิ่งที่ต้องคุยคือ โอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือ หรือพื้นที่ของการเรียนรู้มันมีมากน้อยแค่ไหน ? จริง ๆ ต้องถามกลับไปอีกว่า เราได้จุดประกาย (Inspire) ให้เด็กใคร่สงสัยต่อปัญหารอบตัว ว่าเขาต้องควรรู้เรื่องใดบ้างเพื่อเอาตัวรอด ยังจำเป็นต้องพูดถึงระบบการศึกษาอยู่หรือไม่ เพราะหากมีหลักสูตรบางอย่างที่ต้องการกระจายให้ทั่วถึง ถ้าใช้วิธีจัดเวิร์กช็อป คงต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี แต่ระบบการศึกษาจะช่วยเป็นกิ่งก้านกระจายแนวทางจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง ที่พูดก็อายนิดนึง เพราะว่ามันก็ยังไม่ค่อยทั่วถึงเท่าไหร่

สมัยนี้เนื้อหาความรู้มีเยอะมาก เอาจริง ๆ ตอนนี้ครูอาจจะตามเด็กบางกลุ่มไม่ทันเวลาสอน ซึ่งควรจะดีใจ เขาเข้าถึงความรู้ได้โดยไม่ต้องมีครู แต่สิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้ใหม่ (Relearn) คือการศึกษาควรทำหน้าที่จุดประกายไอเดียให้เด็ก แนะแนวให้เด็กมากกว่า แต่ประเด็นก็คือว่า ณ ตอนนี้ เทคโนโลยีที่เด็กมีอยู่ที่ปลายนิ้วมันไม่ได้ถูกเอาไปทำเรื่อง ความรู้เท่าทันทางการเงิน หรือความรู้อย่างที่ควรจะเป็น ถูกไปใช้กับเรื่องบันเทิง ถามว่าเสียประโยชน์ไหม ก็ไม่ได้เสียประโยชน์ แต่การศึกษาควรเข้าไปสร้างแรงบันดาลใจต่อยอดจากสิ่งที่เด็กสนใจเหล่านั้น และ เราควรเลิกทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับเทคโนโลยีเสียที เราควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างหาก

ในโลกที่สื่อออนไลน์หมุนไปไวอย่างนี้ จนหันไปอีกทีเด็กอาจหลุดลอยไปกับกระแส เราควรจัดการอย่างไร ?

อยากให้ผู้ใหญ่เผื่อใจเอาไว้เลยว่า “เราตามเขาไม่ทัน” เด็กเขาไปเร็วกว่าเรา เขาเกิดมาด้วยสัญชาตญาณของพลเมืองดิจิทัล เราไม่สามารถควบคุมได้ เราต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ในการอยู่กับเขา เวลาเขาเข้าถึงข้อมูลอะไรมา ครอบครัวปลอดภัยพอจะคุยกันได้ไหม เข้าหาแลกเปลี่ยนกันแล้วเขาจะมีภูมิ

“ถ้าปกครองลูกแบบบนลงล่าง สุดท้ายเค้าจะแอบทำ แล้วเราจะต้านไหวเหรอ นอนดึกครึ่งชั่วโมงก็เข้าไปกว่าร้อยเว็บแล้ว คือให้รู้เลยว่าไม่มีวันทัน ถึงจะทัน มันก็ไม่ควรจะมีใครที่ทำหน้าที่ไปตามเด็กว่าเข้าไปกี่เว็บ”

แม่บี จึงเห็นว่า ควรจะคิดในโครงสร้างด้วย ไทยมีกฎหมายเรื่องของการคัดกรองเนื้อหารัดกุมพอหรือยัง มากกว่าที่จะปล่อยให้เป็นภาระของพ่อแม่ที่ต้องคุมลูกให้ดีฝ่ายเดียว ปล่อยให้ภาระการเลี้ยงเด็ก เป็นของพ่อแม่กับโรงเรียน แล้วก็ไม่มีเครื่องมืออะไรให้เขาเลย

จากโรงเรียนถึงบ้านใช้เวลา 2 ชั่วโมง มีสถานที่ดักเยาวชนรออยู่ตลอด พ่อแม่เลิกงานช้าไปรับลูกไม่ทัน แล้วเด็กไปอยู่ไหน ไปเดินห้าง ร้านเกมใช่ไหม ? สภาพแวดล้อมในสังคมแบบนี้ก็เรียกว่าตามมีตามเกิด คือถ้าเกิดเด็กไปอยู่ในที่ที่ดีมันก็ดีไป แต่ถ้าไปอยู่ในที่ที่ไม่พร้อม ก็จะไปอีกทางหนึ่งเลย ทั้งยาเสพติด เพศ ความรุนแรง มันเป็นเพราะว่าระหว่างทางจากโรงเรียนถึงบ้านเรามีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กน้อยมาก อย่าง ชห้องสมุดของฟินแลนด์เทียบกับไทยต่างกันระดับหลักหมื่น

เด็กยังรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ หรือจริง ๆ เป็นเพราะสังคมไทยยังไม่เชื่อใจเด็ก ?

แม่บีตอบคำถามนี้ โดยเทียบเคียงและถามกลับว่า ทำไม ? เด็กต้องปีนต้นไม้ เพราะว่าทุกกิ่งเวลาขาเขาแตะ เขาจะประเมินว่ากิ่งนี้เหยียบได้ไหม ? เขาจะเหยียบแล้วมันจะหักไหม ? มือเขาจะเอื้อมถึงไหม ? นี่คือสิ่งที่เด็กได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ เขาเป็นเจ้าของการประเมินทั้งหมด เขารู้ความสามารถของร่างกายเขาเพื่อที่จะทำให้เขาปีนขึ้นไปได้ หรือเขาจะหยุดอยู่ตรงไหนก็แล้วแต่เขาประเมิน เขาได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้แบบง่ายสุดเลย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ปกครองก็ห้ามด้วยนะ นี่คือระดับครอบครัว ในวัยที่เขาเป็นเด็ก พอโตขึ้นมาระดับปฐมวัย ก็จะรีบให้เขาเร่งเรียนเขียนอ่าน ซึ่งยังไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นความสำคัญ ไม่ได้ส่งเสริมหลักพัฒนาการของเด็กอย่างเพียงพอ

“เมื่อก่อนบีเคยทำโฮมสคูล เราบอกว่าเด็กไม่ต้องอ่านหนังสือเลยจนถึง 7 ขวบ ให้เล่นอย่างเดียว พอเริ่มสักประมาณ 6 ขวบ เราก็จะให้เขาเข้าใจตัวอักษรเล็กน้อย แต่ก็อ่านหนังสือให้ฟังทุกวัน สุดท้ายเขาอ่านได้เอง แต่ก็ไม่เท่าเด็กที่ถูกสอนมาโดยตรงเพื่ออ่านเขียน ทุกวันนี้เขาเข้าระบบการศึกษาเขาก็ไปต่อได้”

ประเด็นคือผู้ปกครองไม่มีเวลาว่างพอที่จะคุยถึงเหตุผลว่าทำไมเราต้องให้เขา เรียน หรือ ทำ สิ่งเหล่านี้ เช่น เขาสงสัยว่าทำไมเขาต้องเรียนการหาพื้นที่สามเหลี่ยม เรียนเคมีทำไม ? คือเรื่องพวกนี้มีเวลาตอบเด็กน้อยเกินไป จึงควรจะตอบเด็กให้มากกว่านี้ ต้องคุยกับลูกว่า ลูกกินข้าวไป ขับถ่ายออกมามันไม่ใช่เมล็ดข้าวถูกไหม? เหมือนกันเลย เรียนเลขมันไม่ได้ออกมาเป็นว่าจะต้องคิดเลขให้ถูก แต่มันสอนเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน

18 x 5 หาคำตอบ มันมี 20 วิธีในการคิด แค่เราก็เอา 18 ตั้งคูณด้วย 5 เอา 8 x 5 และ 10 x 5 และเอามาบวกกัน วิธีคลาสสิก เพราะว่าโรงเรียนไทยทุกโรงเรียนสอนแบบนี้ แต่เด็กที่เขาไม่ได้เรียนตามระบบ ลูกสาวใช้วิธีเอา 20 x 5 แล้วก็มาลบ 2 x 5 มันใช้ได้เหมือนกันถูกไหมคะ ดังนั้นเด็ก 10 คน เขาก็อาจจะมีได้ 10 วิธีแล้วเขาแชร์กันเขาจะได้วิธีแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย

แต่วิธีการของโรงเรียนไทยคือ สอนวิธีที่ถูกให้เด็ก แล้วถ้าเด็กคิดต่างจากวิธีที่ครูสอน เด็กถูกกาผิด มันเลยไปฆ่าทักษะของเด็กโดยไม่รู้ตัว และเด็กไม่ได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ เพราะเขาไม่ใช่เจ้าของวิธีคิดไง

มิรา เวฬุภาค

เขาจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองแล้วใช้วิธีคิดของครูเพื่อให้ถูกตามที่ครูบอก นี่ยังไม่พูดถึงวิชาสังคม ที่ไม่ได้มีคำตอบตายตัว แต่เราสอนว่าคิดนอกกรอบไปจากตำราไม่ได้เลย ข้อมูลมีผิดถูกเสมอ เอาแค่ตั้งคำถามก็ตั้งไม่ได้แล้ว

การที่เด็กไม่ได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ จะนำไปสู่การเริ่มก่อเหตุความรุนแรงเลยหรือ ?

แม่บี ตอบคำถามนี้โดยอ้างอิง หลักสูตรที่แคนาดาใช้ เขาให้ความสำคัญกับ ทักษะการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (Belonging Skill) เช่น การเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว, การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เพราะว่าทักษะนี้จะทำให้เขารู้สึกรักพื้นที่ และชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ ถ้าทำให้เด็กเป็นอื่นในพื้นที่ที่ควรจะเป็นของเขา อย่างในโรงเรียนหรือในครอบครัว จะทำให้เขาปฏิเสธ เขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้น เวลาเกิดความรู้สึกแบบนั้นขึ้นมา ก็จะนำไปสู่การเกิดเหตุร้ายได้ ตั้งแต่การไปพึ่งพายาเสพติด การพึ่งพาเรื่องเพศ

“ห้องเรียนบอกเขาเรียนหนังสือไม่ได้ เพราะว่าเขาทำไม่ถูกวิธีการเดียวที่โรงเรียนบอกเขามา การศึกษาเรานอกจากมีระบบการคิดระบบเดียว เรายังมีระบบหลักสูตรเดียวใช้ทั้งประเทศอีก นั่นหมายถึงว่า มีวิธีเดียวต้องใช้กับเด็กหลายล้านคน แต่ว่าเด็กหลายล้านคนจะต้องมีไม่น้อยเลยที่ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา แต่ว่าถ้าหลักสูตรต่างประเทศมีสัก 5 – 6 หลักสูตร เด็กเขามีตัวเลือก อันนี้ไม่ไหวก็ไปอีกทาง แต่ของเราหลุดแล้วคือหลุดเลย”

“ทุกบ้านทำโฮมสคูลไม่ได้ ไม่ใช่ทุกบ้านที่พ่อแม่คนใดคนหนึ่งจะแบ่งมาจัดการศึกษาให้ลูกได้ตลอดเวลา” นี่คืออีกประเด็นสำคัญที่แม่บี เน้นย้ำ โดยมองว่า ทางออกของเรื่องนี้ต้องกลับไปที่ระบบการศึกษา แต่เรากำลังปฏิเสธการเรียนรู้เด็ก ด้วยการบังคับให้เขาอยู่ที่เดิม ออกมาก็ไม่ได้ ต้องยัดเขากลับเข้าไปในห้องเรียน เพราะว่านั่นคือที่ที่เด็กควรอยู่ และเราก็ไม่มีระบบการศึกษาอื่นให้เขาเลือกเลย

“สิ่งที่เขาทำได้อย่างเดียวคือต้องทน ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจว่ามันเกิดเหตุการณ์น่าสะเทือนใจเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะมันเป็นเหตุและผลแบบนี้”

ดังนั้นผู้ใหญ่ควรจะคิดสักทีว่า หลักสูตรควรจะมีมากกว่าหนึ่ง คุณครูควรจะมีความพร้อมมากพอ มีเวลาเตรียมการสอนมากพอแล้วก็มาอยู่กับเด็ก สามารถมองตาเด็กได้ทุกคน ได้รู้ว่าเขาเป็นยังไง รู้สึกอะไรอยู่ ไม่ใช่พึ่งพาบ้านอย่างเดียว พ่อแม่ควรจะมีระบบที่มีสวัสดิการที่ดีพอ ที่จะทำให้เขามีเครื่องมือการเลี้ยงลูกได้ ทุกวันนี้เรามีแต่บอกว่าให้เลี้ยงลูกให้ดี แต่ไม่มีเครื่องมือให้เขา บอกว่าเขาต้องเป็นพ่อแม่ที่ดี แต่งานการเขาต้องรักษาไว้ มีแต่ภาระมาทับถม ดังนั้น ไม่เห็นต้องตั้งคำถามเลยว่าทำไมเรามีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชนเต็มไปหมด เพราะสังคมเราเป็นแบบนี้

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวปัญหาของระบบการศึกษาใช่ไหม ?

ถึงตรงนี้สิ่งที่แม่บีทิ้งท้าย คือ ระบบชีวิตของเด็ก เพราะว่าการศึกษานี่เป็นส่วนหนึ่งของระบบชีวิตของเด็ก จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดียวไม่ได้ เวลาพูดถึงเรื่องเด็กและเยาวชน เรื่องครอบครัว ต้องพูดทั้งองคาพยพ ทุกอย่างต้องขยับพร้อมกัน ต้องช่วยกันแบบคิดอย่างจริงจังว่าอะไรบ้างที่ควรจะเกิดการเปลี่ยนแปลง อะไรบ้างที่ควรจะช่วยเหลือคนเป็นพ่อแม่ และพ่อแม่ทุกคนต้องการการเตรียมพร้อมจากภาครัฐที่มากพอ เป็นสิ่งที่ต้องพูดเรื่อย ๆ

เพื่อให้คนเห็นความสำคัญ ว่าการแก้ปัญหาเรื่องอาชญากรรมโดยเยาวชน ระบบการศึกษา และระบบนิเวศของการเรียนรู้ ไม่สามารถคิดแยกออกจากชีวิตของเด็กได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล