คลองเตย Isolated Community

: อย่าปล่อยให้ชุมชนโดดเดี่ยว

“เริ่มอ่อนล้าและกำลังจะหมดแรง” คือเสียงสะท้อนของอาสาสมัครด่านหน้า ในชุมชนแออัดเขตคลองเตย กรุงเทพฯ

พวกเขาลุกขึ้นมาช่วยดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไปพร้อม ๆ กับการดูแลชีวิตและปากท้องของคนจนในเมือง มา 4 เดือนเต็ม!

แต่ในภาวะที่สถานการณ์การระบาดยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ การขาดการสนับสนุนจากกลไกราชการ ก็ทำให้พวกเขาค่อย ๆ อ่อนล้าและเริ่มหมดกำลัง

ไม่น่าแปลกใจ ที่ข้อมูลของ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 ระบุว่า คลองเตย เป็นเขตที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมสูงสุดของกรุงเทพฯ เพราะหากย้อนกลับไปที่การระบาดระลอก 1 และ 2 เมื่อปี 2563 คลองเตย ก็ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ในฐานะเป็นที่ตั้งของชุมชนแออัดจำนวนมาก ที่มีประชากรรวมกว่าแสนคน 

อาจเป็นโชคดี ที่ครั้งนั้นการติดเชื้อยังไม่ระบาดเข้าไปในชุมชน แต่ก็เป็นโอกาส ให้คนทำงานในพื้นที่ ทั้งชุมชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ เริ่มทำข้อมูล และวางระบบ เพื่อรับมือการระบาดในระลอกถัดไป

เดือนเมษายน 2564 หลังการระบาดระลอกที่ 3 ไม่กี่วัน หลายชุมชนในเขตคลองเตยก็เริ่มพบผู้ติดเชื้อ

ทันทีที่พบว่าในชุมชนมีผู้ติดเชื้อคนแรก อาคารชมรมผู้สูงอายุของชุมชนพัฒนาใหม่ เขตคลองเตย ก็ถูกปรับพื้นที่ โดยนำแผ่นพลาสติกใสขนาดใหญ่ที่ได้จากร้านรับซื้อของเก่า มาขึงกั้นพื้นที่ เพื่อใช้เป็นที่พักชั่วคราวของคนติดเชื้อ เกิดเป็น ศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อรอส่งต่อไปรักษา 

เพราะไม่ใช่ว่าบ้านทุกหลัง จะมีพื้นที่เหลือ เพื่อใช้ “รอ” ได้

ในวันที่คำว่า Community Isolation ยังไม่เป็นที่รู้จัก ศูนย์พักคอยฯ ในระดับชุมชนแห่งแรก ถือกำเนิดขึ้นที่ชุมชนพัฒนาใหม่ ด้วยเหตุผลที่ต้องการแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนให้ได้เร็วที่สุด เพื่อตัดวงจรการระบาดจากความแออัดขอที่อยู่อาศัย

“มาเรียม ป้อมดี” ประธานชุมชนพัฒนาใหม่ เจ้าของเสียงแหบดัง กับคำพูดตรงไปตรงมา นั่งประจำอยู่ที่ศูนย์พักคอยฯ ช่วยประสาน รับ-ส่ง ผู้ติดเชื้อในชุมชนเข้าศูนย์พักคอย และส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษา

เธอเล่าว่า เมื่อมีคนติดเชื้อในชุมชน ก็รู้ทันทีเลยว่า ไม่สามารถปล่อยให้คนติดเชื้อ กักตัวเองอยู่ในบ้านได้ เพราะเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้กับคนอื่นในครอบครัว รวมถึงชุมชน จึงคุยกับคณะกรรมการชุมชนและตัดสินใจตั้งศูนย์พักคอย ทั้ง ๆ ที่ยังมีความกังวลในเรื่องข้อกฎหมาย

“ข้อกฎหมายระบุว่า ห้ามคนที่ติดเชื้อโควิด-19 กักตัวในที่สาธารณะ ต้องกักตัวในบ้านเท่านั้น แต่เพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชน ก็ตัดสินใจทำเลย และหากมีใครมาจับ ประธานก็จะยอมติดคุกคนเดียว”

แนวคิดเดียวกันนี้ ยังตรงกับสิ่งที่ชุมชนเคยคิดไว้ ในการระบาดระลอก 1 และ 2 ซึ่งกำหนดให้วัดสะพาน เป็นสถานที่รองรับในกรณีที่จำเป็นต้องใช้สถานที่เพื่อให้คนในชุมชนกักตัว หรือพักคอย ซึ่งหลังจากการพูดคุยกันของหลายฝ่าย ทั้งชุมชน พระสงฆ์ หน่วยงานราชการ และภาคประชาสังคม ทั้งหมดเห็นตรงกัน

ปลายเดือนเมษายน 2564 สิ่งของจำเป็น ถูกระดมมาที่วัดสะพาน ตัวอาคารถูกปรับปรุงให้เหมาะสม สำหรับการดูแลผู้ติดเชื้อ

และเพียงไม่กี่วัน ศูนย์พักคอยฯ ที่วัดสะพาน ก็พร้อมเปิดรับผู้ติดเชื้อ จากชุมชนต่าง ๆ ในเขตคลองเตย

ความตั้งใจเริ่มแรก วัดสะพาน จะเป็นเพียงศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ แบบวันต่อวัน ไม่ให้ผู้ติดเชื้อค้างคืน แต่ในความเป็นจริง ปัญหาเรื่องเตียงในโรงพยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลสนาม ที่ไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย ก็ทำให้มีผู้ป่วยตกค้างเป็นจำนวนมาก พระสงฆ์ และอาสาสมัครที่มาช่วยงานศูนย์พักคอยฯ จึงต้องทำหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขจำเป็น ช่วยดูแลผู้ป่วยที่ตกค้าง

และเมื่อสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 มีผู้ป่วยตกค้างอยู่ที่ ศูนย์พักคอยฯ วัดสะพาน มากกว่า 300 คน บางคนตกค้างนานกว่า 10 วัน แต่รูปธรรมของความสำเร็จ จากการแยกคนติดเชื้อออกจากชุมชนได้รวดเร็ว ทำให้แนวคิดการตั้งศูนย์พักคอยฯ ถูกขยายไปทั่วกรุงเทพฯ 

ดูแลปากท้อง ช่วยควบคุมการแพร่ระบาด

นอกจากแยกคนติดเชื้อออกจากชุมชน สิ่งที่กลไกแกปัญหาโควิด-19 ของชุมชนในเขตคลองเตยต้องดูแล ก็คือเรื่องปากท้อง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มองว่า การควบคุมการแพร่ระบาด ไม่ได้หมายถึงการจัดการกับโรคเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการดูแลชีวิตของผู้คน ความมั่นคงพื้นฐาน และความมั่นคงทางอาหาร หากคนในชุมชนมั่นใจว่ามีอาหาร ก็สามารถอยู่กับที่ได้

“ปัจจัยการแพร่กระจายของโควิด-19 คือการเคลื่อนที่ และคนในชุมชนแออัด ที่เป็นกลุ่มเปราะบางของเมือง สิ่งที่พวกเขาต้องคำนึงถึงก่อนคือไม่ได้กลัวติดโรค แต่กลัวอดตายก่อน”

“2 ครั้งต่อวัน” คือ ช่วงเวลาที่ วันเพ็ญ ชื่นด้วง กรรมการชุมชนริมคลองวัดสะพาน และคณะกรรมการชุมชนคนอื่น ๆ ต้องสับเปลี่ยนกันนำอาหารไปแจกให้กับชาวบ้านในชุมชนริมคลองวัดสะพาน บางมื้ออาจเป็นอาหารปรุงสำเร็จ บางมื้ออาจจะเป็นถุงยังชีพ หรืออาหารแช่แข็ง ขณะที่มื้อเย็นส่วนใหญ่เป็นอาหารปรุงสดโดยครัวกลางของชุมชน จากวัตถุดิบที่ได้รับบริจาคมาจากหน่วยงานต่าง ๆ

ไม่เพียงแค่กลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัว แต่แทบทุกคนในชุมชนแออัด ที่ต้องฝากท้องไว้กับอาหารที่ชุมชนนำมาแจก เพราะต่างก็ได้รับผลกระทบ ต้องหยุดงาน ขาดรายได้

ช่องทางระดมความช่วยเหลือ มาจากทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม อย่างโครงการคลองเตยดีจัง มูลนิธิดวงประทีป โรงครัววัดสะพาน แต่ยิ่งนานวัน ความช่วยเหลือต่าง ๆ จากภายนอก ที่เคยหลั่งไหลเข้าไปในชุมชน ก็ค่อย ๆ เริ่มลดลง กลายเป็นภาระที่ชุมชนเริ่มแบกรับไม่ไหว

อันที่จริงแล้ว คลองเตยเอง ก็ถูกให้ความสำคัญจากภาครัฐไม่น้อย เห็นได้จากการที่ กทม. ในฐานะองค์กรท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้ระดมมาตรการต่าง ๆ ลงไปในพื้นที่ ทั้งการตรวจคัดกรองเชิงรุกและการปูพรมฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งตั้งเป้าไว้ 50,000 คน แต่เมื่อมาตรการต่าง ๆ ยุติ สถานการณ์ก็เหมือนจะกลับมาอยู่ที่จุดเดิม ชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อย ยังเข้าไม่ถึงการตรวจ และการฉีดวัคซีน และเมื่อเผชิญกับเชื้อสายพันธุ์เดลตา ก็ทำให้ยังคงพบผู้ติดเชื้อในชุมชนเพิ่มมากขึ้น

สถานการณ์ยืดเยื้อ ลุกลาม อาสาสมัครในชุมชนเริ่มอ่อนล้า

หากถามถึงสถานการณ์ในคลองเตยเวลานี้ นอกจากการเป็นเขตที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงที่สุด ภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่ ให้ข้อมูลว่า ยากที่จะระบุเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน มีเพียงตัวเลขผู้ติดเชื้อในช่วงต้น ที่คลองเตยดีจังพยายามรวบรวมไว้ว่ามีมากกว่า 3,000 คน แต่ยอดติดเชื้อรายวันก็ยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคประชาสังคมมีปัญหาการเข้าไม่ถึงข้อมูล หน่วยงานภาครัฐไม่เปิดเผย คนทำงานในพื้นที่เองก็ประเมินสถานการณ์ไม่ถูก

นภนาท อนุพงษ์พัฒน์ ผู้อำนวยงานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา และที่ปรึกษากลุ่มคลองเตยดีจัง สะท้อนถึงปัญหาของการทำงานของกลไกชุมชนว่า ทุกคนทำโดยรู้สึกว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในพื้นที่เลย หลายคนทำไปร้องไห้ไป และเมื่อได้รับการติดต่อจากหน่วยงานในพื้นที่ จะเป็นเพียงแค่การโทรมาถาม หรือไลน์มาถาม แต่ไม่เคยมีใครลงมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่

“ทุกคนเริ่มจะหมดแรงแล้ว ทุกคนมีงานที่ต้องทำ แต่เมื่อต้องมาทำในฐานะตัวแทนชุมชนที่เป็นงานอาสาสมัครรูปแบบหนึ่ง ก็ทำกันเท่าที่มีกำลัง พอถึงระยะยาวความช่วยเหลือจากภายนอกก็เริ่มน้อยลง คนในชุมชนก็เริ่มล้า เมื่อไหร่ภาครัฐในพื้นที่จะลงมา”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลไกของชุมชน มีส่วนช่วยอย่างมากต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เห็นได้จาก การนำระบบ Community Isolation มาใช้ เพื่อแบ่งเบาภาระของระบบการแพทย์ปกติ ในภาวะที่มีคนติดเชื้อเกินขีดความสามารถ 

แต่ก็อาจจะต้องไม่ลืมคำถามสำคัญ ว่าจะทำอย่างไร ให้กลไกของชุมชน และคนทำงานอาสาที่ลุกขึ้นมาช่วย ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง จนกลายเป็น Isolated Community


ชวนติดตามสารคดี “คลองเตย Isolated Community” ทาง www.VIPA.me คลิก 👉 https://thaip.bs/IyWl2zx เพื่อชมสารคดี