ยุคสมัยแห่ง Echo Chamber อยู่ในโลกกันคนละใบ เห็นต่างอย่างเข้าใจจึงสำคัญ

ผศ.ชนินทร เพ็ญสูตร รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อโซเชียลมีเดีย เป็นเหมือนพื้นที่แสดงตัวตนและจุดยืนทางความคิด ไม่น่าแปลกใจหากหน้าฟีดของเราจะมีแต่เรื่องที่เราสนใจอยากติดตาม ทั้งจากเพื่อนฝูงหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่เราชื่นชอบ ไม่ว่าจะเลื่อนไถจอไปทางไหนก็ถูกใจไปเสียหมด นี่อาจทำให้เราหลงลืมไปว่าความแตกต่างยังหมุนเวียนอยู่รอบตัวเราเสมอ ทำให้ทักษะการยอมรับความเห็นต่างของเราอาจถูกลดทอนไปทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว และเมื่อไหร่ที่เจอความคิดเห็นที่ต่างเข้าไปอย่างจังอาจจะทำใจลำบากจนเลิกคบเพื่อนฝูงไปเลยก็เป็นได้

The Active ชวนทำความเข้าใจความต่างไปกับ อ.เอื้อย – ผศ.ชนินทร เพ็ญสูตร รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะช่องว่างระหว่างวัยและยุคสมัยที่เติบโตล้วนมีผลให้เกิดความขัดแย้ง แต่ทุกอย่างแก้ไขด้วยเพียงรู้จัก “การฟัง”

เราทำงานในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะกับนักศึกษา พวกเขายังอยู่ในช่วงวัยเดียวกันทำให้ความคิดเห็นต่อเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตจึงอาจไม่ต่างกันมาก โดยเฉพาะเรื่องการเมือง

ในช่วงเลือกตั้ง นักศึกษาส่วนใหญ่จะเทคะแนนไปในทิศทางเดียวกัน แต่เราสังเกตเห็นในหน่วยเลือกตั้งว่าหากมีนักการเมืองหรือพรรคที่เขาไม่ชอบถูกโหวตคะแนนขึ้นมา พวกเขาจะเริ่มจับกลุ่มคุยกันแล้วว่าใครเลือก หรือบางครั้งมีการโห่ไล่นักการเมืองคนที่ตัวเองไม่ชอบลงจากเวทีปราศรัย

การทำแบบนี้ไม่ถูกเลย เพราะการที่ใครจะเลือกพรรคหรือนักการเมืองคนไหน ย่อมมีเหตุผลของตัวเอง ไม่ดูถูกเหยียดหยามกัน และต้องฝึกฝนทำความเข้าใจการเห็นต่างของผู้อื่น

อ.เอื้อย เล่าให้เราถึงสถานการณ์ความขัดแย้งที่พบเจอในรั้วมหาวิทยาลัย นี่จึงเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ทำให้เราเห็นว่าอาจบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งได้ในที่สุด

ประเทศที่เต็มไปด้วยผู้นำ แต่กลับไม่มีผู้ฟัง

ในหลายกรณี เราเห็นว่าคนคุยกันไม่รู้เรื่องทั้ง ๆ ที่พูดเรื่องเดียวกัน นั่นเป็นเพราะเขาขาดจุดเชื่อมโยง มันคิดต่างกันอย่างสิ้นเชิง แถมทุกคนยังถูกสอนให้กล้าแสดงออกและมีความคิดเป็นของตัวเอง ในขณะที่ทักษะการรับฟังกลับค่อย ๆ หายไป

เราเห็นว่าทั้งโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในบ้านเราตอนนี้เต็มไปด้วยค่ายผู้นำ เราฝึกให้เด็กทุกคนเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็น แต่กลับไม่มีผู้ตาม และการจะเป็นผู้ตามที่ดีได้นั้น ทักษะที่สำคัญมากคือ “การรับฟัง”  โดยเฉพาะกับความคิดเห็นต่าง 

“หรือแม้กระทั่งในต่างประเทศเราจะเห็นหลักสูตรการอบรมที่พัฒนาไปไกลถึงการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำหรับคนกลางเพื่อเจรจา แต่เมื่อมองกลับมา เรายังเห็นหลักสูตรแบบนี้น้อยมากในบ้านเราทั้ง ๆ ที่ควรปลูกฝังเรื่องนี้ให้กลายเป็นวัฒนธรรมปกติในสังคม”

สำรวจงานวิจัย เมื่อครูดูแลอย่างดี แต่เจน Z อาจไม่ถูกใจสิ่งนี้

หากขุดรากลึกถึงปัญหาว่าทำไมเราจึงคุยกันไม่รู้เรื่องพบว่าการเติบโตของผู้คนแต่ละยุคสมัยมีผลหล่อหลอมต่อความคิดและพฤติกรรมอย่างมาก ช่องว่างที่ไม่บรรจบกันของคน แต่ละเจเนอเรชันนี้จึงอาจเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง

มีงานวิจัยที่ลงไปสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีต่ออาจารย์พบว่า นักศึกษามีแนวโน้มที่จะชื่นชอบอาจารย์ที่อยู่ในเจเนอเรชันใกล้เคียงกันมากที่สุด และยิ่งอาจารย์อยู่ในเจเนอเรชันที่ห่างไกลกับพวกเขาออกไปเท่าไหร่ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะไม่ชอบมากขึ้นเท่านั้น

ในงานวิจัยเราพบว่านักศึกษาเจเนอเรชัน Z ไม่ชอบอาจารย์ยุคเบบี้บูมมากที่สุด รองลงมาคือเจเนอเรชัน X

เข้ากันได้ดีที่สุดกับอาจารย์ในเจเนอเรชัน Y สิ่งนี้สะท้อนว่าพวกเขามี mindset ต่อออาจารย์แต่ละเจเนอเรชันแตกต่างกันอย่างชัดเจน

ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว อาจารย์ที่อยู่ในเจนฯ เบบี้บูม จะเป็นกลุ่มที่มีความห่วงใย คิดว่าเด็กแต่ละคนเหมือนลูกหลานและดูแลนักศึกษาผ่านการกระทำมากที่สุด สิ่งที่ทำจึงมากกว่าแค่การสอนหนังสือ แต่คอยให้ความช่วยเหลือนักศึกษาเมื่อยากลำบาก

“มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาค เด็กหลายคนออกจากบ้านเป็นครั้งแรก ความเหงาและความว้าเหว่ทำให้ต้องปรับตัวมาก และเป็นอาจารย์กลุ่มนี้เองที่คอยดูแลช่วยเหลือ หากนักศึกษามีฐานะยากลำบากก็จะคอยหาทุนการศึกษาให้ สิ่งที่เขาทำจึงมากไปกว่าการเป็นครูสอนหนังสือ ในขณะที่อาจารย์รุ่นใหม่กลับรู้สึกว่าการต้องดูแลเรื่องเป็นอยู่ของนักศึกษา อาจเกินขอบเขตภาระงาน จึงมุ่งที่จะทำการสอนและงานวิจัยมากกว่า”

เพราะคนเราเปลี่ยนไปทุกวัน ยิ่งโตขึ้น ยิ่งเป็นคอนเซอร์เวทีฟ ?

งานวิจัยยังพบอีกว่า แม้ว่าในช่วงวัยรุ่น เราอาจเคยมีแนวคิดแบบเสรีนิยม (liberalism) แต่เมื่อโตขึ้น คนเรามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปและกลายเป็นอนุรักษ์นิยม (conservative) ในที่สุด

”อาจเป็นเพราะในวัยนักเรียน นักศึกษาหรือ first jobber พวกเขายังไม่ได้มีการสะสมเงินทองได้มากนัก เขารู้สึกว่ายังมีทางเลือกที่จะลองไปทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เพราะชีวิตเขายังรับความเสี่ยงได้ แต่เมื่อโตขึ้น หน้าที่การงาน เงินทอง และความรับผิดชอบที่มากขึ้น อาจทำให้เขาต้องการความมั่นคง ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และกลายเป็นมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมในที่สุด”

ทั้งหมดจึงพอจะทำให้เราเห็นภาพและทำความเข้าใจได้ว่าการที่คนแต่ละเจเนอเรชันมีความเชื่อและแนวคิดที่ไม่ตรงกันอาจเกิดมาจากบริบทการเติบโตที่แตกต่างกัน และเมื่อบริบทชีวิตเปลี่ยนไปคนเราก็อาจเปลี่ยนตามด้วยเช่นกัน และนี่จึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการคุยกันไม่เข้าใจก็เป็นได้

”ในชีวิตจริง เราจะพบคนเห็นต่างอยู่รอบตัวเราเต็มไปหมด ทักษะสำคัญอันดับแรกที่ต้องมีคือ ‘การฟัง’ เพราะการฟังอย่างตั้งใจจะทำให้เราเข้าใจวัตถุประสงค์และภูมิหลังของคน ๆ นั้น ถึงจะรู้ว่าความต้องการที่แท้จริงของเขาคืออะไรกันแน่”

อ.เอื้อยกล่าวทิ้งท้าย

แม้ทักษะการฟังจะเป็นเรื่องพื้นฐานและเริ่มฝึกฝนได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่กลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในสังคมที่ยังไม่คุ้นเคยกับการรับฟังความต่าง แต่อย่างน้อยที่สุด ตอนนี้ในบ้านเราก็มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้คนหันมารับฟังกันมากขึ้นแล้ว และนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมรับฟังความต่างในสังคมบ้านเราก็เป็นได้


นื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์

Transmedia Journalist