เริ่ม Thailand Talks สงขลา พรุ่งนี้ ! เปิดพื้นที่คนเห็นต่างพูดคุยกันได้

นักสันติศึกษา มอง Thailand Talks เป็นจุดเริ่มต้นสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับคนที่เห็นแตกต่างกันได้มา พูดคุย รับฟัง สู่แนวทางการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย หลีกเลี่ยงความรุนแรง

ธรรมศาสตร์ โสตถิพันธุ์ อาจารย์สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงงาน Thailand Talks เปิดพื้นที่คนเห็นต่าง ขยายพื้นที่พูดคุย ในจังหวัดสงขลา ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม สะท้อนให้เห็นว่าเราสามารถพูดคุยกับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันหรือคนที่เรามองว่าเขามีความแตกต่างได้ ทั้งนี้ วิธีการพูดคุยจะใช้กระบวนการจับคู่คนที่เห็นต่าง จากคำถาม ของ Thailand Talks ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับจุดประสงค์ของสถาบันสันติศึกษา  คือการเป็นพื้นที่ของการที่จะเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนของคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลาย และผู้คนที่มี Background ที่แตกต่างกัน ดังนั้น โครงการ Thailand talks และตัวสถาบันสันติศึกษาจึงมีจุดร่วมที่คล้ายกัน

Thailand Talks

นอกจากนี้ จังหวัดสงขลาซึ่งมีพื้นที่ใกล้เคียง คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี หรือที่เรียกว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น จังหวัดสงขลาจึงเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเปิดพื้นที่พูดคุยของคนที่หลากหลายทางความคิด และวัฒนธรรม ในประเด็นของความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้คนในพื้นที่ได้มองเห็น แลกเปลี่ยนมุมองความขัดแย้ง ความคิดเห็นที่ต่างกัน มีการพูดคุยกันในเชิงลึก และมีวิธีจัดการแนวทางในการแก้ไข ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และรับฟัง ในประเด็นต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาเมือง ที่มีมิติความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำของเมืองหลวงกับต่างจังหวัด

“ช่วงวัยที่มาพร้อมกับประสบการณ์ที่แตกต่างกัน การเกิดมาในยุคสมัยที่มีประเด็นที่เกิดขึ้นรอบตัว แต่ละวัยไม่เหมือนกัน ทำให้การมองโลกไม่เหมือนกัน จึงพูดคุยกันบนฐานที่ไม่เหมือนกัน แต่ถ้ามีเวลาและพื้นที่ การพูดคุยกันก็จะเป็นเรื่องที่ดี”

ธรรมศาสตร์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อภายในจังหวัดมีความแตกต่างของช่วงอายุ มุมมอง และวิถีชีวิต  ความคิดเห็นล้วนมีความแตกต่างกัน แนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นการปะทะกันระหว่างแนวทางและวิธีมองของแต่ละบุคคล  การเตรียมตัวให้พร้อมที่จะพูดคุยจึงมีความสำคัญ การเปิดใจรับฟังเหตุผล และไม่เห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรู จึงเป็นเป้าหมายหลักของการพูดคุย

อาจารย์ธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายของงาน Thailand talks  เป็นงานระยะยาวที่ต้องการส่งเสียงไปถึงภาครัฐ ซึ่งหากเป็นในระยะเวลาอันสั้นอาจเป็นไปได้ยาก แต่ในเชิงกระบวนการ ถ้าหากมีการจัดทำโครงการไปเรื่อย ๆ และทำให้เห็นว่าการพูดคุยกันเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ในการที่จะแก้ไขปัญหา หน่วยงานภาครัฐ หรือผู้มีอำนาจที่จะตัดสินหรือวางนโยบายเกี่ยวข้องกับประเด็นในข้อขัดแย้งจะสามารถหยิบไปใช้ในลักษณะการพูดคุยการมีส่วนร่วม

โครงการ Thailand Talks จึงเป็นจุดเริ่มต้น และพื้นที่ปลอดภัยที่จะมาพูดคุยกันของคนเห็นต่างได้มาเปิดใจและรับฟัง เป็นอีกทางเลือกที่ไม่ใช่ความขัดแย้ง หรือการใช้ความรุนแรง และอาจทำให้เกิดแรงผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐได้ช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหา เนื่องจากในโลกความเป็นจริงประเด็นในสังคมไม่สามารถคุยกับคนที่คิดเหมือนกันได้แต่เพียงเท่านั้น แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังเหตุผลของคนเห็นต่าง จึงจะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาในสังคมได้

สำหรับงาน Thailand Talks 2023 จ.สงขลา จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566 เวลา 13.00 – 17.00 น. ณ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สำหรับผู้ที่สนใจสามารสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ https://bit.ly/ลงทะเบียนThailandTalks2023ภูมิภาค

Author

Alternative Text
AUTHOR

วิฆเนศ ตรีตรง

นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์ วิชาโทภาษาไทยเพื่อการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่