เราต้องคุยกัน | รู้จัก “Thailand Talks” ชวนคนแปลกหน้า แต่เห็นต่างมาคุยกัน

: เฟรดเดอริค ชปอร์ (Frederic Spohr)

คำแนะนำอย่างหนึ่ง ที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ ก่อนการพูดคุยนัดสำคัญ อย่างการเจรจาธุรกิจ หรือคนที่จะมาเกี่ยวดองกับเรา คือ อย่าคุยเรื่องการเมืองจะดีกว่า เพราะคุยการเมืองทำลายบรรยากาศในการพูดคุยทั้งหมด

เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะการเมืองอยู่ในทุก ๆ เรื่อง

เราจะทำงานอย่างไร?

เราจะกินอะไร?

แล้ว เราจะอยู่ที่ไหน-พักอาศัยแบบไหนกัน?

แต่เราเลือกที่จะคุยเรื่องดินฟ้าอากาศ แทนที่จะคุยเรื่องนโยบายสภาพภูมิอากาศ เราคุยเรื่องคนดัง มากกว่าที่จะคุยเรื่องการทำงานของเหล่าผู้นำทางการเมือง ท้ายที่สุดแล้ว เราคุยเรื่องการเมืองแค่กับคนที่เรารู้จักและมีมุมมองที่สอดคล้องกับเรา

สื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย ทำให้ปรากฏการณ์นี้รุนแรงยิ่งขึ้น เพราะโซเชียลมีเดียกล่อมให้เราอยู่ในวงความคิดที่เหมือน ๆ กัน (filter bubbles) และไม่ให้เราพบเจอกับความคิดและมุมมองอื่น ๆ ที่ต่างออกไป

ในบางครั้งเราถูกทำให้เชื่อว่า เราเป็นฝ่ายที่ถูก คนอื่นต่างหากที่คิดผิด เมื่อมีอินเทอร์เน็ต เราสามารถเชื่อมต่อกับใครก็ได้บนโลก แต่เรากลับเลิกพูดคุยกัน การสื่อสารที่ยังเห็น เหลือเพียงแค่การสบประมาทกัน

โครงการ Thailand Talks อยากชวนคุณคิดใหม่ ไปสู่แนวโน้มใหม่ โดยทำในสิ่งที่ไม่มีใครแนะนำให้ทำ โครงการ Thailand Talks ชวนคนแปลกหน้า ที่มีมุมมองทางการเมืองแตกต่างกันให้มาพูดคุยกัน เหมือนกับแอปพลิเคชันทินเดอร์สำหรับคุยการเมือง

โครงการ Thailand Talks ทำให้ความแตกต่าง ที่ไม่น่าจะลงรอยกันได้ ให้มาเจอกัน

การได้ปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีมุมมองต่างกันเป็นรางวัลชีวิต คาร์ล พอพเพอร์ (Karl Popper) นักปราชญ์เชื้อสายออสเตรียน-บริทิช กล่าวถึงหลักการ 3 อย่าง สำหรับการพูดคุยที่ยอมรับกันได้ด้วยเหตุและผล 

ข้อแรก ทั้งสองฝ่ายควรยอมรับความผิดพลาด บางทีคุณอาจจะถูก บางทีฉันอาจจะถูก หรือบางทีเราทั้งคู่อาจจะผิด ข้อสอง ควรวิเคราะห์ข้อโต้แย้ง (arguments) โดยใช้เหตุและผลในการวิเคราะห์ ไม่ถือเอาเป็นเรื่องส่วนตัว การพูดคุยโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์เป็นหลัก นำมาสู่หลักการ ข้อสาม แม้ว่าคู่สนทนาจะไม่เห็นด้วย พวกเขาก็ได้พยายามเข้าถึงความจริงอย่างถึงที่สุดแล้ว

พอพเพอร์ เริ่มจากการเป็นนักปราชญ์ทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการสันนิษฐานว่าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ต้องเปิดกว้างสำหรับข้อผิดพลาดและการเปลี่ยนแปลง จนถึงวันนี้เขาเป็นหนึ่งในนักคิดสายรัฐศาสตร์ และนักทฤษฎีประชาธิปไตยคนสำคัญของช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา

สิ่งที่ประยุกต์ใช้ทางวิทยาศาสตร์ ย่อมสามารถประยุกต์ใช้กับทางสังคมศาสตร์ และสถาบันทางสังคมได้ แทนที่จะยึดถือกับหลักปฏิบัติเดิม ก็ควรมีความยืดหยุ่นและเปิดรับความคิดใหม่ เช่นเดียวกับที่วิทยาศาสตร์ค่อย ๆ เข้าถึงความจริง ทำให้สังคมค่อย ๆ วิวัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงอาจไม่ใช่การปฏิวัติอย่างฉับพลัน แต่เป็นกระบวนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง

โครงการ Thailand Talks มีความตั้งใจให้เป็นก้าวแรกสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคมไทย มากกว่าที่จะให้เกิดความแตกแยกไป เราเห็นสถานการณ์ที่ผู้ปกครองฟ้องบุตรหลานเพราะมีความเห็นไม่ตรงกัน เราเชื่อว่าไม่ว่าการต่อสู้บนถนน หรือคำพิพากษาของศาล ก็ไม่สามารถมาเติมเต็มช่องว่างนี้ได้ แต่การพูดคุยร่วมกันจะเป็นเครื่องมือในการเติมเต็มช่องว่างนั้น

Thailand Talks ได้รับแรงบันดาลใจจากแพลตฟอร์ม My Country Talks ในยุโรป โดยแพลตฟอร์ม My Country Talks นี้ได้นำคนกว่าหมื่นชีวิต ที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างหลากหลาย ให้มาพบปะกัน หลายคู่ผูกพันธ์เป็นมิตรภาพ จากที่เคยพูดถึงกันและแบ่งฝ่ายบนทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ตอนนี้พวกเขานัดกันไปดูกีฬา หรือไปดื่มกาแฟด้วยกัน บางคู่ก็คบหาและแต่งงานกัน

มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ ร่วมกับองค์กรภาคี จึงนำโมเดล My Country Talks มาสู่ทวีปเอเชียเป็นครั้งแรก ภายใต้โครงการ Thailand Talks โดยที่องค์กรภาคีสื่อของเรา อาทิ Thai PBS, Voice Online, The MATTER, Workpoint TODAY จะมีแบบสอบถามเกี่ยวกับมุมมองทางสังคมวางไว้บนเว็บไซต์ข่าว หรือบทความ จากนั้น เมื่อผู้สนใจตอบแบบสอบถามและลงทะเบียน ระบบอัลกอริทึมของระบบ My Country Talks จะเริ่มทำการจับคู่ให้คนที่มีความเห็นแตกต่างกัน ได้มาเป็นคู่เดตกัน

จากนั้น ในวันที่ 20 พฤศจิกายน เป็นวันที่เหล่าคู่เดต ที่มีมุมมอง ความเห็นเกี่ยวกับสังคมไม่ตรงกัน ได้มาพบเจอผ่านทางออนไลน์ – หรือหากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ดีขึ้น เราอาจได้พบกันแบบออฟไลน์ พวกเขาอาจเห็นต่างในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความสำคัญของศาสนาที่มีต่อสังคม หรือ การสมรสของคนเพศเดียวกัน

มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการพบกันได้รู้จักกันแบบเห็นหน้า ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจและเกิดความเข้าใจกันยิ่งขึ้น และทำให้เรายอมรับในกันและกันได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย หรือถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถเห็นพ้องหรือตกลงกันได้ อย่างน้อยการยอมรับมุมมองที่แตกต่างไป ก็ได้เติบโตขึ้น

แม้ว่ามุมมองต่อการสมรสเท่าเทียม/คู่ชีวิต หรือ มุมมองต่อรัฐธรรมนูญจะแบ่งเราออกจากกัน แต่บางทีเราอาจมีความเหมือนกันมากกว่าที่เราคิด บางครั้งเราอาจมีความห่วงใยต่ออนาคตลูกหลาน เราอาจยังรักยังหวงแหนในบ้านเกิดเมืองนอน ในสังคมที่มีความแตกต่างแบ่งขั้ว สายสัมพันธ์ที่เชื่อมเราไว้มักถูกหลงลืมไป แต่การพบกันจริง ๆ สามารถนำสายสัมพันธ์นั้นกลับมาและเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างการพูดคุยในพื้นที่สาธารณะ

เหล่านี้เป็นผลจากการทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมโครงการ My Country Talks ในยุโรป และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ผู้เข้าร่วมบอกว่าพวกเขาสนุกและเพลิดเพลินไปกับการสนทนากับคนที่คิดไม่เหมือนเขาเลย

ถ้าคุณต้องการที่จะเข้าใกล้ความจริง ร่วมผลักดันสังคมไทยให้ขยับไปข้างหน้า และ อาจได้เจอเพื่อนใหม่ที่มีความคิดเห็นต่างจากคุณแท้ เราชวนคุณสมัครเข้าร่วมโครงการ Thailand Talks กับเรา แล้วมาสนุกด้วยกัน!

[เขียนโดย เฟรดเดอริค ชปอร์ หัวหน้าสำนักงานประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน เพื่อเสรีภาพ]

เข้าร่วมโครงการ Thailand Talks
ผ่านการตอบคำถาม
ให้ระบบจับคู่คุณกับคู่ของคุณ
จากนั้นนัดแนะและพุดคุยกัน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active