‘จังหวัดจัดการตนเอง’ ความหวังที่เข้าใกล้ความจริงของชาวเชียงใหม่ I ชำนาญ จันทร์เรือง

โลกหมุนไปข้างหน้า ยังไงก็ต้องไปตามนั้น ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว 

ชัยชนะในการเลือกตั้งของ ‘พรรคก้าวไกล’ กับ 151 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎร แม้จะไม่อาจผลักดันให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้สำเร็จ แต่ก็ทำให้เส้นทางการขับเคลื่อนหลาย ๆ นโยบายเริ่มต้นเดินหน้าไปอย่างมีความหวัง

รวมทั้ง ‘นโยบายกระจายอำนาจ’ อีกนโยบายสำคัญของพรรคก้าวไกล กับแนวคิดการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เดินหน้าทำประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ปลดล็อกทุกข้อจำกัด เพื่อให้ทุกจังหวัดมีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการจัดการตนเอง  ที่มีกระแสตอบรับค่อนข้างดีในหลายพื้นที่ แต่สุดท้ายแล้วจะถูกผลักดันไปถึงเป้าหมายได้มากน้อยแค่ไหน…

ในช่วงฝุ่นตลบของการเลือกนายกรัฐมนตรี The Active เดินทางไปเยือนเชียงใหม่ พื้นที่ซึ่งมีความตื่นตัวเรื่องกระจายอำนาจมาอย่างต่อเนื่องเพื่อ พูดคุยกับ ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า นักวิชาการด้านกระจายอำนาจ ซึ่งย้ำว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ ‘การกระจายอำนาจ’ มีโอกาสมากที่สุดนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ประกาศใช้   

“แม้ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านก็ยังมองว่ามีโอกาสเพราะมีเสียงเยอะ  คราวที่แล้วเสนอแก้ไขปลดล็อกท้องถิ่นหมวด 14 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรชนะ แต่เสียงวุฒิสภารวมไม่ผ่านถึงหนึ่งในสาม ครั้งนี้จึงมองว่าเป็นโอกาส”

ประชามติ ปรับโครงสร้างท้องถิ่น

ทั้งนี้ บางเรื่องต้องแก้ไขเป็น พ.ร.บ. หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องเข้าสภาฯ  ส่วนบางเรื่องที่จะกระทบโครงสร้างเป็นเรื่องใหญ่ ก็จะทำ ‘ประชามติ’ เพื่อหาฉันทมติของประชาชนแล้วค่อยทำ โดยสามารถทำพ่วงไปพร้อมกับการเลือกตั้ง นายก อบจ. ที่จะครบวาระ  9 ธ.ค. 67 และต้องเลือกตั้งภายใน 60 วัน  

โดยการปรับโครงสร้างจะใช้วิธีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะใช้หลัก Negative List  คือแทนที่จะเขียนกำหนดอำนาจที่ทำได้ ก็กลับเป็นเขียนกำหนดประเด็นที่ห้ามท้องถิ่นทำ อย่างเช่นที่นานาอารยประเทศกำหนดก็จะมีเรื่องการทหาร การต่างประเทศ การทูต การคลัง  หรือจะเขียนเพิ่มเติมบางเรื่องก็ได้เช่นประเด็นที่เกี่ยวกับศาล เมกะโปรเจ็กต์ที่คาบเกี่ยวกับหลายจังหวัด เรื่องไหนไม่อยากให้ท้องถิ่นทำก็ระบุไป เรื่องที่เหลือก็จะสามารถทำได้ ที่ผ่านมาจะมีอุปสรรค เช่น สำนักงบประมาณมองว่า ถ้ามีส่วนภูมิภาคทำแล้ว ส่วนกลางทำแล้ว เขาก็จะไม่ให้งบฯท้องถิ่น  ดังนั้นถ้ากลับหลักกำหนดห้ามไม่ให้ทำที่เหลือทำได้ก็จะคล่องตัวขึ้นเหมือน นานาอารยประเทศ

ปลดล็อก ‘ภาษีท้องถิ่น’

ต่อเนื่องมาถึงประเด็นการปลดล็อกเพื่อการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่นที่จะมีอำนาจในการออกแบบภาษี เช่น ญี่ปุ่น มี Home land Tax  ปัจจุบันไทยเองส่วนของภาษีรายได้ส่วนบุคคลท้องถิ่นไม่ได้เงินสักบาท ขณะที่ เวียดนามซึ่งเป็นสังคมนิยมเขายังมีการแบ่งกัน  สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 10 ที่ปรับลดเหลือร้อยละ 7  ใน 10 บาท เข้าท้องถิ่นแค่ 70 สตางค์ ทั้งที่ท้องถิ่นมีปัญหามลภาวะ ขยะ ความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก ถ้าปรับได้ก็จะสามารถอธิบายคนเสียภาษีให้เห็นว่าเอาเงินไปทำอะไร   

ปัจจุบันคนไม่เสียภาษี ไม่ใช่เขาเลี่ยงแต่เขาไม่รู้ว่าเสียแล้วเอาไปทำอะไรบ้าง อำนาจในการจับเก็บภาษีของท้องถิ่นจริง  ๆ มีไม่กี่อย่าง เช่น ภาษีล้อเลื่อน ภาษีบำรุงท้องที่ ที่เปลี่ยนเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลส่วนกลางประกาศให้เก็บภาษีส่วนนี้แค่ร้อยละ 10 ลดไป ร้อยละ 90 แต่ก็ไม่ได้ชดเชยให้เขา

“พูดง่าย ๆ การกระจายอำนาจ หรือการปลดล็อกท้องถิ่นที่ว่าคือทำให้มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ท้องถิ่นเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันตั้งแต่ ตื่นจนนอน เกิดจนตาย ถ้าท้องถิ่นมีอำนาจทำได้ก็จะสามารถบำบัดทุกข์บำรุงสุข ส่วนรัฐบาลกลางก็ทำในส่วนสำคัญ ๆ เรื่องใหญ่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นได้ดีกว่าคนท้องถิ่น

ชำนาญ ยกตัวอย่าง พื้นที่เชียงใหม่ รายได้ท้องถิ่นมาจาก 3 ส่วน คือ คือภาษีที่เก็บเองอย่างภาษีป้าย ภาษีส่วนกลางที่เก็บได้แล้วแบ่งให้ เช่น ภาษีขนส่ง และงบประมาณที่ส่วนกลางจัดเก็บและแบ่งให้เป็นงบอุดหนุน งบฯ ส่วนนี้แบ่งรายได้มาให้ท้องถิ่นร้อยละ 25.5 -25.7 ท้องถิ่นใช้จริงแค่ร้อยละ 18 ที่เหลือเป็นงบฯค้างท่อ งบฯฝาก เป็นงบฯ ประจำ งบฯ ครุภัณฑ์ ก่อสร้าง ถ้าปรับไปเป็นร้อยละ 50 ก็จะไปช่วยให้เกิดการพัฒนาได้ ลองมองไปแถวอำเภอรอบนอก งบฯ พัฒนาบางที่เหลือไม่ถึง 1 ล้านบาท สร้างถนนได้ไม่ถึง 1 กม. 20 -30 ปี สร้างถนนยังไม่ได้เลย เปรียบเทียบกับการก่อสร้าง สะพาน กทม. 3 กม. งบฯ 1,600 ล้านบาท

“ไม่มีใครรู้ปัญหาท้องถิ่นได้ดีกว่าคนท้องถิ่น ไม่มีใครรู้ปัญหาท้องที่ ได้ดีเท่ากับคนในพื้นที่   เป็นการตอบสนองความต้องการของพื้นที่ ผู้บริหารทั้งหลายโดยตรงเป็นคนในท้องถิ่นนั้น มีวาระ 4 ปี ถ้าชั่วไม่มีดีไม่ปรากฏก็ไม่ได้เลือกมา และสามารถถอดถอนได้ ดีที่สุดคือการจัดสรรอำนาจ มอบอำนาจ ในระบบที่มีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ ต้องมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยกเว้น 3-4 เรื่องที่ทำไม่ได้

…แต่ทุกวันนี้ผู้ว่าฯ แทบไม่มีอำนาจ ถนนกรมทางหลวงชนบทไปตัดต้นไม้หัวกุด พอคนไปร้องผู้ว่าฯ ก็บอกไม่มีอำนาจ แต่จังหวัดจัดการตนเอง ตั้งใจว่าจะทำให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สามารถแก้ไขได้ หรือปัญหาสำคัญอย่างฝุ่นควัน ที่มีทั้งอำนาจการจัดการปัญหาระดับชาติเรื่องข้ามพรมแดน แต่ในพื้นที่ท้องถิ่นก็ต้องมีบทบาท อย่างช่วงวิกฤตโควิด ก็รอดได้ด้วยท้องถิ่น”

สำหรับเป้าหมายสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ชำนาญ อธิบายว่า  ถ้าเลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างเดียว แต่โครงสร้างยังเหมือนเดิม ทุกอย่างก็จะเละกว่าเดิม เพราะมันทับซ้อนกันไปหมด ดังนั้นจึงต้องปรับโครงสร้างยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค หรือ ควบรวม แล้วจะเรียกหัวหน้าจังหวัด นายกฯ จังหวัด อะไรก็ได้ เพราะคนอาจจะติดใจคำว่า ผู้ว่าฯ ส่วนจะใช้คำไหนก็ค่อยมาว่ากัน

สภาพลเมือง กลไกตรวจสอบถ่วงดุลและการมีส่วนร่วม

สำหรับอำนาจผู้ว่าฯ ที่เพิ่มมากขึ้น ก็ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลที่จะเป็นกลไกซึ่งออกแบบมาตั้งแต่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร จัดหวัดจัดการตนเอง โดยจะมี ‘สภาพลเมือง’  ซึ่งมีอำนาจในการไต่สวนสาธารณะ  ตรวจสอบการทำงาน นอกเหนือไปจากกลไกตวจสอบปกติ  ทั้ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลอาญาแผนกดคีทุจริต โดยที่ผ่านมาการร้องเรียนทุจริตเยอะมากขึ้น แต่จากข้อมูลปี 2556-2558  มีเพียงแค่ร้อยละ 2 ที่มีมูลดำเนินคดี  เรื่องทุจริตที่ดูเหมือนเยอะขึ้นเพราะมีหูตาคอยดูมากขึ้น

ท้องถิ่นต้องโปร่งใส ทั้ง Open Government  Open Local  Government  ไม่ว่าการประชุมท้องถิ่น งบประมาณ สามารถเปิดเผยได้ และต้องเปิดให้มีการมีส่วนร่วม Participatory System อย่างการตั้งงบฯไว้ก้อนหนึ่งให้ประชาชนมาโหวตจะทำอะไร แต่ปัจจุบันต้องตั้งผ่านฝ่ายบริหารอย่างเดียว ในขณะที่ สภาพลเมืองจะช่วยออกแบบว่าอยากเห็นภาพ ท้องถิ่นใน 10-20 ปี ข้างหน้าเป็นอย่างไร ผู้บริหารเข้ามาก็ทำให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ว่าจะเป็นเมืองท่องเที่ยว อุตสาหกรรม มรดกโลก เกษตร หลายเรื่องได้แต่ต้องมีประเด็นหลักที่ชัดเจน

โดย สภาพลเมือง  ยกร่างมาจาก Civil Jury Civil Citizen ที่แปลว่าลูกขุนพลเมือง  แต่เราจะไม่เรียกลูกขุนพลเมือง เพราะกลัวสับสนกับระบบศาล เลยใช้คำว่า สภาพลเมือง ซึ่งต่างประเทศเขาจะทำ Town Meeting  อย่างการจะทุบโบราณสถาน จะขายอะไรกันเขาก็ประชุมกัน หรือการดีเบตเลือกประธานาธิบดี 3 ครั้ง ก็จะมี ครั้งที่สภาพลเมืองเป็นคนจัด โดยเชียงใหม่เองก็เคยทำมาแล้วตั้งแต่ช่วงยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร   

จังหวัดจัดการตนเอง ประชาชนกำหนดอนาคตตัวเอง

แนวคิดที่สำคัญคือ ‘จังหวัดจัดการตนเอง’ ซึ่งจะเปิดทางให้ประชาชนสามารถเข้ามากำหนดชะตาชีวิตตัวเอง กำหนดอนาคตตัวเอง กำหนดนโยบายด้วยตนเอง ชำนาญ ตั้งคำถามว่า เป็นไปได้อย่างไร เชียงใหม่ เมืองใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ  แต่ขนส่งสาธารณะยังไม่มี รถเมล์ยังไม่มี เป็นเรื่องประหลาดมาก ทั้งที่ศักยภาพสามารถสามารถทำได้แต่ต้องรอส่วนกลาง รอสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

“ถ้าเป็น ‘จังหวัดจัดการตนเอง’ จะสามารถทำได้แน่นอน  เมื่อกำหนดนโยบายจังหวัด กำหนดภาษี กำหนดงบประมาณได้ ก็ทำให้การแก้ปัญหาตรงจุด ตรงความต้องการ ถ้าท้องถิ่นเจริญ ประเทศก็เจริญ  ลองดูประเทศเจริญอย่างยุโรป อเมริกา ท้องถิ่นเจริญทั้งนั้น ประเทศเราไปไม่ถึงไหนเพราะท้องถิ่นเราถูกตัดถูกตอน พอมีรัฐประหารทีก็ชะงักที”

ความพร้อม และความตื่นตัว ของชาวเชียงใหม่

ชำนาญ ย้ำว่า การปกครองท้องถิ่น การปรับโครงสร้าง การกระจายอำนาจ  การจะทำให้สำเร็จได้ต้อง มีองค์ประกอบใหญ่ 3  เรื่อง คือ ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ สภาฯ และ ภาคประชาชน ซึ่งนอกจาก กทม. ภาคประชาชนที่พร้อมที่สุดก็คือเชียงใหม่ มีความเข้มแข็ง แต่ก็ยังมีส่วนที่ไม่พร้อม ที่มีมายาคติ เช่น เดี๋ยวจะได้นักเลงครองเมือง  เดี๋ยวมีซื้อสิทธิขายเสียง  มีการโจมตีเรื่องแบ่งแยกดินแดน หรืออย่างนี้ดีอยู่แล้ว หลัง ๆ เชียงใหม่มีปัญหารุมเร้า  แต่เครือข่ายภาคประชาชนก็ตื่นตัว มีการรณรงค์เลือกตั้ง จัดเลือกตั้งจำลองคนก็ตื่นตัว

หลายคนเสนอว่า เริ่มเลือกตั้งจังหวัดที่พร้อมก่อน  เอาจังหวัดที่พร้อมก่อน แต่เราไม่คิดแบบนั้น แต่เดินหน้ารณรงค์ 76 + 1 จังหวัด  ทุกคนอยากเลือกหมด ซึ่งต้องดูที่เจตนารมณ์ว่าเขาอยากเลือกไหม ไม่ใช่ไปดูแค่จำนวนประชากร ดูรายได้ อย่างนั้นจะไม่ยุติธรรม และถ้าเลือกไม่พร้อมกันก็จะเกิดการลักลั่น  ควรทำพร้อมกันเราเลยเสนอให้ทำประชามติ ดูว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ถ้ายังไม่เลือก ก็ค่อยปรับ เรียนรู้กันอีกทีก็ได้

อย่างกระทรวงมหาดไทยเขาก็รู้ว่าสักวันหนึ่งก็ต้องมา ก็พยายามเสนอเป็นแบบฝรั่งเศส ตอนระเบียบบริหารราชการแผ่นดินยุคแรก ก็มาจากฝรั่งเศส แต่อย่าลืมว่าปี 2525  จังหวัดเขาเป็นท้องถิ่นหมดแล้ว ส่วนภูมิภาค หรือผู้ว่าฯ เดิม ก็เป็น รีพับลิก คอมมิชั่นเนอร์ หรือ ผู้ตรวจการสาธารณรัฐ ส่วนของเราก็ต้องมาดูว่าจะทำยังไงต่อไป

กระจายอำนาจ  แบ่งแยกดินแดน

ในแง่ประเด็นการโจมตีเรื่อง ‘การแบ่งแยกดินแดน’ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า อธิบายว่า การกระจายอำนาจ จัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จังหวัดจัดการตนเอง เป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่เกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนน ราชการส่วนกลางมีอยู่ ไทยยังเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนเดิมทุกประการ กทม. ก็ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค ไม่เห็นแยกไปไหน กทม.ก็ยังอยู่ในประเทศไทย ไม่ได้เป็นสหพันธรัฐ  รัฐเดี่ยวที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่มีส่วนภูมิภาคเขาก็อยู่กันได้ก็มีเยอะ อย่างญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เกาหลี

ในการเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป นั้น เชื่อว่า อีก 4 ปีข้างหน้า นี้จะเริ่มเห็นการกำเนิดขึ้น เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ไม่ใช่ว่ากฎหมายออกมาแล้วจะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ต้องให้เวลาเปลี่ยนผ่าน เตรียมพร้อม ตั้งณะกรรมการเปลี่ยนถ่าย อันไหนควรอยู่ต่อไป  อีกอย่างการปรับโครงสร้างใหญ่ต้องมีหลักประกัน ทั้งสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ ต้องไม่น้อยกว่าเดิม ไม่เช่นนั้นก็จะมีกระแสต่อต้านเยอะ

แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ตอบสองความต้องการทำให้ประเทศรุ่งเรือง จากคำกล่าวของ คอนราด อาเดนาวร์ นายกรัฐมนตรีคนแรกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ปรมาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ บอกไว้ว่า  “No state without city” ไม่มีประเทศหรือรัฐไหน จะเจริญเข้มแข็งได้ถ้าปราศจากการปกครองท้องถิ่น  ถ้าการปกครองท้องถิ่นดี ประเทศนั้นก็เจริญ แต่ถ้าประเทศไหนรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง เมืองหลวง ประเทศนั้นไม่มีทาง ประเทศ ที่ยังมีส่วนภูมิภาคมีอยู่ไม่ถึง 1 ใน 3 ของโลก ถ้าส่วนกลางส่วนท้องถิ่นดีเขาก็คงเก็บไว้  ฝรั่งเศสต้นแบบที่เราเอามาแนวเขามาใช้ จังหวัดเขาเป็นท้องถิ่น วุฒิสภาเขามาจากองค์กรปกครองท้องถิ่น คัดตัวแทนจากแสนกว่าคนเหลือ 300-400 คน สะท้อนให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญมากกับท้องถิ่น

 “โลกหมุนไปข้างหน้า ยังไงก็ต้องไปตามนั้น ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว”  ชำนาญกล่าวทิ้งท้าย


ติดตามซีรีส์ มหานครภูมิภาค

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนพล บางยี่ขัน

นักข่าวรุ่นเก่าที่ชอบวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ เชื่อมั่นในพลังของข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์