โหล่งฮิมคาว ต่อยอดจุดแข็งชุมชน ปั้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์

โหล่งฮิมคาว หรือ ‘ที่ดินกว้างริมน้ำแม่คาว’ นับเป็นต้นแบบของชุมชนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งช่วยกันเปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ใน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ให้กลายเป็นชุมชนงานศิลป์ ที่มีนักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมเยียนไม่ขาดสาย และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายพื้นที่ลุกขึ้นมาค้นหาจุดแข็งและต่อยอดไปสู่การพัฒนาในรูปแบบของตนเอง

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ต้องผ่านการคิดวิเคราะห์ร่วมกันของชาวบ้านในพื้นที่ ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ต้องคอยปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ด้วยแนวคิดหลักคือต้อการให้พื้นที่แห่งนี้เป็นสโลว์ไลฟ์ มาร์เก็ต อยู่แบบวิถีเนิบช้า กินช้า ๆ ซื้อขายกันช้า ๆ พูดจากันม่วน ๆ ไม่ต้องรีบเร่ง

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว มองว่า หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จ คือ 'การจัดการตนเอง' ชุมชนจะต้องจัดการตนเองได้ กำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้ ชุมชนรู้ปัญหาของตัวเองดีสุด รู้จักคนในชุมชนตัวเองดีที่สุด รู้จักศักยภาพและข้อจำกัด รู้ว่าจะเดินไปยังไง ตรงนี้น่าจะเป็นจุดตั้งต้นที่ดี ซึ่งการกระจายอำนาจช่วยทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้
ชุมชนมีข้อดีเยอะ ต้องดึง ‘สตอรี’ ออกมาให้ชัดเจน  ทั้งเรื่องภูมิปัญญา ความรู้ชุมชน  แล้วมานำเสนอในรูปแบบที่น่าสนใจ  สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องอยู่ได้ พึ่งตนเองได้  ต่อยอดจากฐานเดิมให้อยู่ได้ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานชุมชนโหล่ง ฮิม คาว เล่าถึงจุดเริ่มต้น
ที่นี่แต่ละบ้านเป็นศิลปิน มีความเก่ง มีศักยภาพ  โดยนำความเก่งมารวมกันสร้างให้เป็นธีมเดียวกัน อย่างเรื่องธรรมชาติ การสืบสานศิลปวัฒนธรรม
ชัชวาลย์ มองว่า จุดสำคัญคือ ชุมชนจะต้องจัดการตนเองได้ กำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้  ชุมชนรู้ปัญหาของตัวเองดีสุด รู้จักคนในชุมชนตัวเองดีที่สุด รู้จักศักยภาพและข้อจำกัด รู้ว่าจะเดินไปยังไง ตรงนี้น่าจะเป็นจุดตั้งต้นที่ดี  ซึ่งการกระจายอำนาจช่วยทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้
แต่ถ้าชุมชนไม่ทำอะไรเลย อยู่เฉย ๆ แล้วรอแต่กระจายอำนาจก็จะไม่มีอะไรดีขึ้น ชุมชนต้องเข้าใจอำนาจ เอาอำนาจพลังความรู้มาบริหารจัดการตนเองให้แข็งแรง พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สิ่งแวดล้อม  แล้วมาโยงกับการกระจายอำนาจ
ตลาดแนวนี้เกิดขึ้นเยอะมาก หนึ่งเราต้องพยายามรักษาคุณภาพ อัตลักษณ์ให้ชัดเจน สองเราคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีคนเยอะเกินไปจนอึดอัด แต่ก็ไม่อยากให้น้อยเกินไปจนอยู่ไม่ได้ แต่อยากให้มาสม่ำเสมอ
อย่างบางตลาดชุมชนพีคมาก ส่วนตอนนี้ไม่มีใครไปเลยก็น่าเสียดาย เราจึงอยากทำกระบวนการให้เกิดความยั่งยืน พัฒนาอย่างสร้างสรรค์
สิ่งสำคัญคือการจัดการตนเอง หากมีหน่วยงานจากภายนอกมาบอกให้จัดงานแบบนี้ ๆ  จัดอีเวนต์แบบนี้ พอปีหน้าก็เปลี่ยนงานใหม่ ไม่ต่อเนื่อง มีลักษณะลากไปลากมา ไม่แข็งแรง  แต่ที่นี่มีองค์กรของของตนเอง ที่ทำงานโดยใช้กระบวนการพูดคุยเป็นหลัก
หน่วยงานที่จะเข้ามาก็จะต้องอยู่ใต้ธีมของเรา มาช่วยกันสนับสนุน ในทิศทางมีเป้าหมายที่สอดคล้อง เหมาะสมไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมั่นใจว่าแนวทางนี้น่าจะมีความยั่งยืนมากกว่า
รวมไปถึงการทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน คนรุ่นเก่าอาจจะมีฝีมือ แต่อาจจะไม่ถนัดเรื่องสื่อออนไลน์ สื่อประชาสัมพันธ์แบบใหม่
การพัฒนาแบบเชียงใหม่ของเราก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกรุงเทพฯ เติบโตบนฐานศักยภาพ  ต้นทุน ของท้องถิ่นที่เติบโตไปพร้อมกัน หากท้องถิ่นทุกที่เติบโตรากฐานแข็งแรง ในที่สุดสังคมเราก็เข้มแข็งทำให้ยืนอยู่ย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีในเวทีโลก
ปิณฑิรา ตาปัญญา เจ้าของ “ล้านฝ้ายงาม” ระบุว่า จุดเด่นของโหล่ง ฮิม คาว คือ ต่างคนต่างดูแลร้านของตนเอง ที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืน ไม่เหมือนกับตลาดที่เกิดใหม่
โดยสินค้าในร้านก็จะเน้นสินค้าในพื้นที่ พัฒนาให้เหมาะกับลูกค้าที่เป็นวัยรุ่น อย่างผ้าตีนจกที่ปกติผืนละ 2,000 บาท ขึ้นไปก็ปรับมาเป็นต่างหู เป็นพวงกุญแจให้ราคาจับต้องได้ ลูกค้าทั้งไทย ทั้งต่างประเทศก็ซื้อง่ายขึ้น
แนวทางการพัฒนาพื้นที่ในลักษณะนี้ เป็นการพัฒนาที่ตรงจุด โดยดึงจุดแข็งของชุมชน ของในพื้นที่มาพัฒนาต่อยอด ทำให้คนในพื้นที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง ที่จะดีกว่าแค่ไปช่วยให้เขาขายของได้
การเติบโตของโหล่ง ฮิม คาว ยังทำให้พื้นที่ในรอบนอกและชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับประโยชน์  ​หลายคนออกมาขายของตนเอง  ทำให้การพัฒนาขยายวงกว้างออกไป การเป็นการพัฒนาที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันในชุมชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนพล บางยี่ขัน

นักข่าวรุ่นเก่าที่ชอบวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ เชื่อมั่นในพลังของข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

ชาลี คงเปี่ยม

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์