รอยร้าวชายแดนใต้ “ความยาก” คุมวิกฤตโควิด-19 ระบาด

17 ปีที่แล้ว “เหตุการณ์ตากใบ” เป็นเหมือนเชื้อไฟความรุนแรงต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ “ชายแดนใต้” กำลังเผชิญกับอีกปัญหาใหญ่ คือ การระบาดของโควิด-19 แม้จะมีความพยายามระดมวัคซีนเพื่อคุมระบาด แต่ปัญหาที่ซับซ้อนอยู่แล้ว ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้ไม่ง่าย

ปัญหาความขัดแย้งพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี เป็นปัญหาเรื่องชาติพันธุ์มลายูไม่ลงรอยกับรัฐไทยส่วนกลาง ไม่ใช่ประเด็นศาสนา

และสาเหตุของความขัดแย้งรอบใหม่ นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา 5 ปีแรก มีสาเหตุมาจากการเรียกร้องเพื่อแบกแยกดินแดนและการเรียกร้องเอกราช แต่ภายหลังมีส่วนของสาเหตุอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ายิ่งมีความขัดแย้งยืดเยื้อมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ซับซ้อนและแก้ไขยากขึ้น โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพลเรือนมากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มติดอาวุธ

และ “เหตุการณ์ความรุนแรงที่อำเภอตากใบ” จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังคงทิ้งร่องรอยมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ฝ่ายรัฐจะสรุปว่า เป็นการจัดการฝูงชนของเจ้าหน้าที่ ที่ขาดประสบการณ์ แต่ก็มีข้อสังเกตว่า เกิดขึ้นจากมุมมองความต่างทางวัฒนธรรมที่ไม่ได้รับการยอมรับ และเป็นหนึ่งในชนวนเหตุความขัดแย้ง ที่ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ 

ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้  Deep South Watch ก็ระบุถึงสาเหตุความรุนแรงปี 2547-2563 ว่ามากที่สุดมาจากข้อเรียกร้องเรื่องการแบ่งแยกดินแดนกว่า 14,000 เหตุการณ์ ซึ่งนักวิชาการและภาคประชาสังคมที่ศึกษาเรื่องนี้ ก็มองว่า ความขัดแย้งเหล่านี้ยังส่งผลต่อการพัฒนาในพื้นที่ ที่สำคัญมันคือปัจจัยทำให้เกิดความหวาดระแวงฝ่ายรัฐ และ นั่นก็ส่งผลต่อการควบคุมโรคเวลานี้ด้วย 

โควิด-19 ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ไม่ใช่เพิ่งมาวิกฤต ทว่า มักเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ มาทุกรอบการระบาด เพียงแต่อาจถูกพูดถึงน้อยไปหน่อยเฉพาะรอบนี้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่นี้ คิดเป็น 1 ใน 5 ของทั้งประเทศ และอัตราการติดเชื้อรายใหม่ต่อประชากร 100,000 คน สูงกว่ากรุงเทพฯ 5 เท่า!

“ศบค.ส่วนหน้า”  ประเมินว่า แม้ช่วงนี้สถานการณ์อาจดู “ทรงตัว” แต่นี่อาจไม่ใช่ช่วงพีคสุด และถ้าควบคุมไม่ได้ ฉีดวัคซีนไม่ตามเป้า ปลายปีเราอาจได้เห็นยอดผู้ติดเชื้อ แตะหลักหมื่นคนต่อวัน ถ้าไปถึงจุดนั้น จะวิกฤตไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ 

ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต ส่วนใหญ่ 90% ไม่ได้ฉีดวัคซีน

การระบาดในช่วงขาขึ้น ขณะที่ยังคงมีความไม่ไว้วางใจรัฐ หัวใจสำคัญ ยังหนีไม่พ้นจะสื่อสารอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้คนใน 3 จังหวัดฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ครบ 70 % ภายในเดือน พฤศจิกายนนี้ ซึ่งคณะกรรมการอิสลามกลางจังหวัดทั้งสงขลาปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทราบดีว่าขณะนี้ทัศนคติของคนในพื้นที่ต่อการฉีดวัคซีน แบ่งเป็น 4 คือ (ก) คนที่ยอมรับการฉีดวัคซีน เมื่อรัฐประกาศว่ามีฉีดวัคซีนที่ใดก็จะเข้ารับบริการ เพราะมีความรู้และตระหนักผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย (ข) กลุ่มคนที่ลังเล ขอทราบถึงผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีน รวมทั้งท่าทีของผู้นำศาสนา (ค) กลุ่มคนที่ปฏิเสธ เพราะอาจมีความคิดเชิงศาสนาว่าการเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมชาติ และเป้นสิ่งที่พระเจ้ากำหนด กับ (ง) กลุ่มคนที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน การเข้ารับการฉีดวัคซีน “เท่ากับ” การเป็นแนวร่วมของรัฐ

ทัศนคติของคนในพื้นที่ข้างต้น ยังไม่นับรวมข้อจำกัด การเดินทางยากลำบากในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนตามหน่วยบริการของรัฐ และระบบราชการที่แข็งตัว ต้องยืนยันตัวตนก่อนฉีดกลายเป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดและกีดกันคนที่มีคดีความมั่นคงและหมายจับต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และมีความเสี่ยงรับเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ในหมู่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์จำนวนหนึ่งเข้าใจข้อจำกัดนี้ จึงใช้ “วัคซีนนอกระบบ” ของรัฐ (ซึ่งไม่ใช่วัคซีนไฟเซอร์) ไปฉีดให้กลุ่มผู้ต้องหา มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และคนที่ถูกออกหมายจับตาม ป.วิอาญา เพื่อไม่ให้พวกเขาถูกจับระหว่างการฉีดวัคซีน

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี มองว่า ความสำคัญอยู่ที่การสร้างความเชื่อถือ และสื่อสารด้วยข้อเท็จจริง อย่างสถิติผู้เสียชีวิต เทียบระหว่างคนที่ฉีดกับ ไม่ฉีดวัคซีน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยบทบาทของผู้นำศาสนา นำร่องฉีดวัคซีนเป็นแบบอย่าง 

สถานการณ์พื้นที่ชายแดนใต้ที่ประชาชนยังมาฉีดวัคซีนน้อย ทั้งที่วัคซีนมีเพียงพอ จึงเสนอให้ทำงานเชิงรุก เช่น การมีรถโมบายเคลื่อนที่เพื่อฉีดวัคซีนเชิงรุกเพราะไม่อยากจะออกันมาอยู่ในโรงพยาบาล การทำงานในพื้นที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ของผู้นำเข้าไปเจรจา

“ผมคิดว่าการที่ชาวบ้านไม่ไว้วางใจวัคซีน เราบังคับเขาไม่ได้ แต่ตัวเลขคือการหักล้าง ต้องยอมรับว่าบางคนบอกฉีดไปก็ติด เมื่อฉีดแล้วลดความเจ็บป่วยได้มากกว่าไม่ฉีดเลย ต้องสื่อสารให้มากขึ้นทั้งใน ภาษามลายู อินฟลูเอนเซอร์ แพทย์ที่ศึกษาภาษามลายูได้ ประธานกรรมการอิสลามยอมฉีดเขาก็จะยอมฉีดด้วย” 

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล

ขณะที่ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ คือสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะยิ่งการระบาดยังควบคุมยาก เรื่องวัคซีนยังไปไม่ถึงไหน ผู้ป่วยอาจมีอาการที่รุนแรงขึ้นสิ่งนี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การรับมือทำได้ยาก จึงจำเป็นต้องเร่งจัดระบบ Home Isolation หรือ OPD Case เพื่อลดภาระงานให้ได้มากที่สุด

นพ.มัซลัน ตาเระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธารโต ประเมินว่าสถานการณ์โควิด-19 ระบาดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ชนบทกำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่ในเมืองเป็นขาขึ้น จึงควรจัดการแยกส่วนเมือง-ชนบท ให้หมู่บ้านชนบทรักษาคนไข้เหมือน OPD case ลดภาระงานบุคลากร ให้ รพ.สนาม ดูเฉพาะผู้ป่วยสีเหลืองและ ผู้สูงอายุ เพิ่มคนไปช่วยเรื่องวัคซีน สอบสวนโรค และจะมีคนว่างพอไปช่วยในเมืองได้อีก

“ตัวเมืองใหญ่ ๆ ยังหนัก ตอนนี้คนที่อยู่หน้างาน จะยุ่งมาก เพราะมีงานเพิ่มขึ้นจากเดิม 4-5 เท่าจากที่เคยทำงานกันอยู่ เพราะมีงานรูทีน งานที่ต้องดูแลคนไข้ที่เป็นคนไข้โควิดโดยตรง 200-300 เตียง โรงพยาบาลใหญ่ก็ 4,000-5,000 เตียงโรงพยาบาลสนามไม่มีที่ไหนว่างเลย” 

นพ.มัซลัน ตาเระ

เร่งตรวจเชิงรุกด้วย ATK ถ้าผลเป็นบวก ไม่ต้องรอตรวจซ้ำด้วย RT-PCR แล้วก็ให้จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ได้เลย 100% เพื่อป้องกันเชื้อลงปอด ลดความเสี่ยงอาการหนัก คือสิ่งที่ ศบค.ส่วนหน้า พยายามปรับแนวทางเพื่อคุมระบาด ช่วย Save การครองเตียงในโรงพยาบาล พร้อมขอให้ ท้องถิ่น ช่วยจัดหา CI และ HI ไว้รองรับด้วย แนวทางนี้อาจสอดคล้องกับ มุมมองของแพทย์ในพื้นที่ แต่ก็มองว่า นโยบาย CI และ HI ต้องชัดเจน ไม่อย่างนั้นการคุมระบาดจะไม่สามารถหยุดการระบาดได้จริง

แนะเลิกค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่ไประดมฉีดวัคซีน 

การตรวจเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK จัดคัดแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน (CI) หรือให้อยู่เฉพาะในบ้าน (HI)  แจกถุงยังชีพ ให้ความรู้และฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมาย แบบนี้ฟังดูดี 

ทว่า ศ. นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์  ประธานหลักสูตรระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เกรงว่าอาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เพราะไปเสียเวลาปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ซึ่งชาวบ้านได้รับเชื้อโควิด-19 ไปเรียบร้อยแล้ว การตรวจคัดกรองก็ไม่ไวพอ คนที่ติดเชื้อก็มีมากจนหาที่กักตัวให้ไม่ไหว เวลาสำหรับการฉีดวัคซีนก็ไม่มาก การฉีดวัคซีนก็ไม่ปลอดภัยพอเพราะเงื่อนไขการทำงานไม่พร้อม

“เรากล้าไหมที่จะหลับหูหลับตาชั่วคราว ลืมเรื่องการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ (ซึ่งมีอยู่ไม่สิ้นสุด) เสียบ้าง เน้นเฉพาะการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด โดยเริ่มต้นจากกลุ่มผู้สูงอายุ โรคเสี่ยง และหญิงตั้งครรภ์ ลุยฉีดเข้าไปในโรงงาน โดยต้องฉีดสองรอบห่างกันหลายสัปดาห์ ถ้ากำลังพลพยายาลไม่พอก็ขอความช่วยเหลือจากภาคอื่นมาช่วยกันลุย ทำอย่างนี้สักสองเดือนโดยไม่มีวันหยุดงานสงครามโควิดรอบนี้น่าจะจบลงได้” 

ศ. นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์

ทั้งนี้ ศ. นพ.วีระศักด์ ไม่ได้แนะนำให้ละทิ้งผู้ป่วย แต่เสนอว่าเอาเวลาและความพยายามที่จะค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ไม่มีอาการไประดมฉีดวัคซีนแทน เพราะอย่างไรเสียเราก็มีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการอยู่ในชุมชนต่าง ๆ ล้นหลามจนตรวจไม่ไหวอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเปราะบางที่ยากไร้เข้าถึงสถานีฉีดวัคซีนได้ยากกว่าชนชั้นกลางที่มีการศึกษา การฉีดวัคซีนจึงมักจะพลาดกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญนี้ ถ้าจะฉีดวัคซีนให้เป็นยุทธการใหญ่จริง ๆ ต้องมีการจัดตั้งการเดินทางของกลุ่มเป้าหมายให้เข้าถึงสถานีฉีด รวมทั้งมีแรงจูงใจต่าง ๆ ให้ครบวงจร

ในประเทศสแกนดิเนเวีย ผู้ป่วยทุกคนที่ไปโรงพยาบาลสามารถรับเงินสนับสนุนค่าเดินทางไปกลับจากรัฐได้ เพราะรัฐเข้าใจดีว่าอุปสรรคของการรับบริการไม่ได้มีเพียงค่ายาเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอื่น ๆ รวมทั้งการเดินทาง 

ในประเทศไทยเอง การวิจัยพบว่าการรักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนานในระยะต้น ๆ ผู้ป่วยต้องฉีดยาต่อเนื่องทุกวัน ต้องเสียเวลาและเสียเงินเดินทาง ทั้งเสียเวลาทำมาหากิน เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยรับยาได้ไม่ครบ เมื่อเปลี่ยนเป็นการรักษาโดยยากินเท่านั้น และให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือครอบครัว การรักษาก็ได้ผลโรคที่อันตรายนี้ก็ลดลงจากประเทศไทย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

กลับมาเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากการเดินทางของกลุ่มเป้าหมายที่ยากไร้เป็นปัญหาที่สำคัญ นอกจากการสั่งการแล้ว ผู้บริหารระดับสูงควรต้องพิจารณาเตรียมระดมทรัพยากรเงินทองมาช่วยด้านนี้ การสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายที่ยากไร้ได้เข้าถึงวัคซีนโดยไม่มีอุปสรรคเรื่องการเงิน อาจจะเป็นการบริจาคที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการบริจาคถุงยังชีพให้คนถูกกักบริเวณโดยไม่มีอาการ

ต้องยอมรับว่ามาตรการควบคุมโรคด้วยการ “ปิดหมู่บ้าน” เพื่อตรวจเชิงรุกในพื้นที่อ่อนไหวโดยอาศัยอำนาจฝ่ายความมั่นคงด้วยการยกระดับเป็น ศบค.ส่วนหน้า อาจยิ่งซ้ำเติมปัจจัยลบด้านอื่นที่ไม่ใช่การควบคุมโรค ฉะนั้น ความเห็นของ ศ. นพ.วีระศักดิ์ จึงน่าจะเป็นทางสายกลางที่ควรถูกนำมาพิจารณาในการควบคุมโควิด-19 ชายแดนใต้ 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์