ชายทะเลบางขุนเทียน ชายขอบระบบสุขภาพ กทม.​

เกาะกลางทะเลเขตบางขุนเทียน กทม.
กับการเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขของชุมชนน้ำท่วม

เมื่อกล่าวถึงปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข เรามักนึกถึงชุมชนที่อยู่ห่างไกลในหุบเขา ชายแดน แต่ในเมืองหลวงอย่าง “กรุงเทพมหานคร” ยังมีชุมชนที่เข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขเช่นเดียวกัน

สวนทางกับนโยบายของ กทม. ที่ต้องการรื้อระบบสุขภาพและเน้นการให้บริการด้านปฐมภูมิ ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” มักใช้คำว่า “เส้นเลือดฝอย”

ชุมชนที่ไร้ศูนย์บริการสาธารณสุข

เกือบ 3 ปี ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 42​ สาขาคลองพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน ต้องปิดลง​ หลังโครงสร้างของอาคารทรุดโทรมจากปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ และเจ้าหน้าที่บอกว่ามีผู้มาใช้บริการน้อย​ ไม่คุ้มค่า​ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจาก​ 11​ ชุมชนชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งได้รับผลกระทบ ไม่สามารถเข้าถึงระบบสุขภาพที่อยู่ใกล้บ้านได้​ 

ครอบครัวมงคลเมือง แม้จะอยู่ตรงข้ามศูนย์บริการสาธารณสุข​ สาขาคลองพิทยาลงกรณ์ แต่ 10 เดือนที่ผ่านมา ชายวัย 83 ปี ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง หลังเส้นเลือดในสมองแตก ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมบ้าน “วันธนา​ มงคลเมือง”​ ลูกสาว​ ​ต้องหามพ่อไปเปลี่ยนสายปัสสาวะ​ และสายให้อาหารทางจมูกที่โรงพยาบาล​ด้วยความยากลำบาก

“ถ้าสายหลุดก็ต้องรีบพาไปเปลี่ยนโรงพยาบาลเพราะเราทำไม่ได้ มันต้องเสียบเข้าไปข้างใน ยิ่งเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องอุ้มขึ้นรถเข็น ยกกันหลายทอดกว่าจะไปได้”

วันธนา​ มงคลเมือง

หากระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ม อย่างในต่างจังหวัดจะมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต. หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ออกเยี่ยมบ้านเปลี่ยนสายปัสสาวะ เปลี่ยนสายให้อาหาร เบิกได้ตามสิทธิ์บัตรทอง แต่ที่นี่ไม่มี กลายเป็นว่าผู้ป่วยรายนี้ต้องเสียโอกาส และครอบครัวต้องเสียค่าใช้จ่าย มีภาระที่ต้องพาไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น 

แถบชายทะเลบางขุนเทียน มี 5 ชุมชนที่อยู่บนฝั่ง​ และมี 6 ชุมชน ที่ต้องนั่งเรือออกไป​ อย่างชุมชนเสาธง​ เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ หลังจากที่ศูนย์บริการสาธารณสุข​ สาขาพิทยา​ลงกรณ์​ ที่อยู่ใกล้ที่สุด​ต้องปิดตัวลง ทำให้ชาวบ้านที่นี่ต้องไปใช้บริการ รพ.สต. ในเขตจังหวัดสมุทรสาคร ที่อยู่ไกลออกไป​

“รำเพย​ โพธิ์จันทร์” อายุ 76 ปี มีโรคประจำ เป็นความดันสูง และนอนไม่หลับ ต้องเดินทางไปรับยาที่ รพ.สต. บ้านกสิกรรมนิคมเกลือ (หัวถนน) ทั้ง ๆ ที่เธอเป็นคนกรุงเทพฯ​ เขตบางขุนเทียน

รำเพย บอกว่า จำใจต้องเดินทางข้ามเขตไปรักษาตัวที่ รพ.สต. ในเขต จ.สมุทรสาคร ถ้ามีศูนย์บริการสาธารณสุขซึ่งเดิมอยู่ใกล้ ๆ ก็ไม่ต้องเดินทางไปไกล อย่างจะวัดความดัน ขึ้นฝั่งไปซื้อของแล้วก็แวะเข้าไปใช้บริการได้ 

เช่นเดียวกับ “ใหญ่ ฤทธิเดช” วัย 71 ปี มีอาการปวดบริเวณบั้นเอว ลุกเดินแล้วรู้สึกเจ็บคล้ายมีอาการกระดูกทับเส้น เขาซื้อยาสมุนไพร มากินหวังช่วยลดอาการปวดแทนที่จะไปหาหมอ เพราะเดินทางลำบากต้องเสียค่าใช้จ่าย​ เขาบอกว่าคงจะดีกว่าถ้ามีหมอมาหา​ เอายามาส่ง หรือไม่ต้องเดินทางไปหาหมอไกล ๆ​ 

“มีหมอมาดูก็ดี แต่เขาจะมาดูหรือเปล่า กว่าจะมีก็คงหายแล้วมั้ง” 

ใหญ่ ฤทธิเดช
“ใหญ่” ลุกเดินแล้วรู้สึกเจ็บ

สำหรับชุมชนเสาธงที่เรามาสำรวจเป็น 1 ใน 6 ชุมชนที่ชาวบ้าน ต้องใช้เรือสัญจรเข้าออก​ และต้องดูระยะเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง หากอยู่ในช่วงเวลาที่น้ำลง​ เรือก็จะออกเข้าฝั่งไม่ได้ 

การเดินทางที่ยากลำบากเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบสุขภาพของชาวบ้านที่นี่อยู่แล้ว พวกเขาไม่อยากถูกซ้ำเติมด้วยการปิดศูนย์บริการสาธารณสุข 

คงศักดิ์ ฤกษ์งาม

“คงศักดิ์ ฤกษ์งาม” อดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สาขาคลองพิทยาลงกรณ์ ซึ่งเกษียณอายุราชการมาหลายปี ร่วมกับประธานชุมชนคลองพิทยาลงกรณ์ เป็นแกนนำ 11 ชุมชนยื่นเรื่องร้องเรียนให้ กทม. เปิดศูนย์บริการสาธารณสุข สาขามาแล้วหลายครั้งเพราะไม่อยากเห็นความสูญเสียเกิดขึ้น จากการที่ชาวบ้านเข้าไม่ถึงระบบสุขภาพ

คงศักดิ์ เล่าว่า ถ้าให้เจ็บป่วยในช่วงน้ำลง หากมีอาการหนัก ตายอย่างเดียว ไม่มีโอกาสขึ้นไปหาหมอได้เลย เพราะว่าออกจากบ้านช่วงน้ำขึ้นไปรักษาพยาบาลตามสิทธิ์ ตอนกลับบ้านหากน้ำลง ต้องคอยจนกว่าน้ำจะขึ้น เพราะฉะนั้นการออกจากบ้านแต่ละครั้งจึงลำบากค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

“ผมไม่อยากจะพูดเลยนะเรื่องความตาย แต่ก็มีประวัติมาแล้ว ตัวผมเองยังช่วยเขาไม่ทัน คนไข้เสียชีวิตก่อนแล้วเพราะระยะเดินทาง” 

คงศักดิ์ ฤกษ์งาม

บทบาทของศูนย์บริการสาธารณสุขในชุมชนไม่ได้แค่เพียงเป็นหน่วยบริการที่ตั้งรับ​ รอให้ชาวบ้านมารับการรักษา​เท่านั้น แต่ยังถูกคาดหวังต่อบทบาทเชิงรุก​ ในการส่งเสริม​ ป้องกันโรคและฟื้นฟูผู้ป่วยที่กลับมารักษาตัวที่บ้าน​ คือสิ่งที่ชาวชุมชนทั้ง 11 ชุมชนชายทะเลบางขุนเทียน​ ยังคงรอคอย

กทม. แก้ไขปัญหานี้อย่างไร ?

ท่ามกลางการเดินหน้านโยบายสุขภาพดีของ กทม. ต้องการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ให้มีความครอบคลุม มีมาตรฐานสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น และถือเป็นด่านหน้าของการรองรับประชาชนไม่ให้ตกหล่น จากการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนชายทะเลบางขุนเทียนเป็นภาพสะท้อนที่ดูสวนทางกับการเดินหน้านโยบายดังกล่าว 

แม้ กทม. จะมีช่องทางให้ชาวบ้านได้ร้องเรียนทางระบบออนไลน์อย่างทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue)  แต่ก็ต้องยอมรับว่าชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุยังเข้าไม่ถึง ประกอบกับมีการยื่นเรื่องร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มาแล้วหลายครั้งไม่มีความคืบหน้า ชาวบ้านที่นั่นจึงใช้กลไก “สื่อมวลชน” ส่งข้อมูลมายัง The Active ซึ่งติดตามการปฏิรูประบบปฐมภูมิของ กทม. อย่างต่อเนื่อง ให้ช่วยสะท้อนปัญหา จนนำมาสู่การประชุมหารือกันระหว่างชาวบ้าน กับผู้บริบริหารระดับสูงของ กทม. เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566

ผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ระบุว่าคงต้องดูในสองเรื่อง 1. สภาพของศูนย์บริการสาธารณสุขที่อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมจากปัญหาน้ำกัดเซาะ ขณะที่พื้นที่ในละแวกเดียวกันก็มีโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนคอยดูแลอยู่แล้ว และ 2. ฟังความต้องการของประชาชน ได้มอบหมายให้รองปลัดกรุงเทพมหานคร “นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร” ลงไปดูความต้องการของชุมชนว่ามีปัญหาอุปสรรคความไม่สะดวกในการมาที่โรงพยาบาล มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากที่เคยลงพื้นที่ไปในชุมชนบริเวณนั้นทราบว่ามีการสัญจรทางเรือ อย่างไรก็ตามให้มีการไปรับฟังประชาชนเพื่อหาทางออกที่ตอบโจทย์กับความต้องการของประชาชนมากที่สุด

จากการประชุมร่วมกันระหว่างชุมชน กับ กทม. จึงได้ข้อสรุปแนวทางในการแก้ไขปัญหา ดังต่อไปนี้ 

  1. ศบส. กลับมาเปิดศูนย์ฯ อีกครั้ง 1 ตุลาคม 2566 ใช้พื้นที่ของ รร.คลองพิทยาลงกรณ์ เป็นหน่วยบริการชั่วคราว
  2. ฝ่ายโยธา ทำแผนของงบฯ ปรับปรุงศูนย์เก่าที่ทรุดโทรม
  3. พัฒนาสังคม อำนวยความสะดวกค่าเดินทางไป รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน แก่ผู้ยากไร้
  4. ศบส. ติดตามดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ในชุมชนต่อเนื่อง

นอกจากนี้เมื่อ The Active ตรวจสอบจากนโยบาย Bangkok Health Zoning ที่มีการแบ่งโซนสุขภาพออกเป็น 7 โซนเพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ พบว่าเขตบางขุนเทียนอยู่ในโซนกรุงเทพตะวันตก ซึ่งมีโรงพยาบาลราชพิพัฒน์เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายในการจัดระบบบริการสุขภาพ และมีโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ กับโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เป็นโรงพยาบาลพี่เลี้ยง ซึ่งโรงพยาบาลที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นโรงพยาบาลสังกัด กทม. นั่นหมายความว่าในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน เขตบางขุนเทียน มีความพร้อมมากเพียงพอแล้ว ในการรองรับผู้ป่วยไม่ให้ตกหล่นที่เหลือก็อยู่ที่ว่าจากนโยบายจะทำให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติได้อย่างไร


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS