Bangkok Health Zoning พลิกโฉมระบบสุขภาพ กทม.

การทดลองแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ระบบสุขภาพ กทม. แก้ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนกรุงเทพฯ หลังบทเรียนโควิด-19 ที่ทำให้คนกรุงกลายเป็นคนด้อยโอกาส เข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ช้ากว่าคนจังหวัดอื่น ๆ เป็นนโยบายสุขภาพดี 1 ในนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร ปักธงหลังจากชนะการเลือกตั้งเมื่อ 1 ปีก่อน

กทม. เริ่มนำร่องทดลอง Sandbox ระบบสุขภาพใน 2 พื้นที่ คือ 1. ราชพิพัฒน์โมเดล ครอบคลุม เขตทวีวัฒนา บางแค หนองแขม ภาษีเจริญ และตลิ่งชัน และ 2. ดุสิตโมเดล ครอบคลุม เขตดุสิต พระนคร บางชื่อ และบางพลัด  

หลังทดลอง Sandbox ระบบสุขภาพจากทั้งสองแห่งมานานเกือบปี “รศ.ทวิดา กมลเวชช” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านสาธารณสุข บอกว่า มาถูกทาง ทลายกำแพงเชิงโครงสร้างทั้งสำนักการแพทย์และสำนักอนามัยให้สามารถทำงานร่วมกันได้ จากเดิมที่ทำงานแยกส่วน เป้าหมายสำคัญ คือการพัฒนาระบบปฐมภูมิ หรือหน่วยการรักษาพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดฝอยให้แข็งแรง ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการได้ง่ายขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 

สุขภาพ
รศ.ทวิดา กมลเวชช

ก้าวต่อไปคือการขยายผล ที่จะไม่ใช่การทำ Sandbox ระบบสุขภาพอีกต่อไป แต่จะทำให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพมหานคร ด้วยการแบ่งโซนสุขภาพออกเป็น 7 โซน หรือที่เรียกว่า Bangkok Health Zoning

1. กรุงเทพฯ ตะวันตก

Health Zone Manager: โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
Mentor Manager: โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน, โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์
Area Manager: ศูนย์บริการสาธารณสุข 8 แห่ง ครอบคลุม เขตทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางแค ภาษีเจริญ หนองแขม บางบอน บางขุนเทียน 

2. กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี 

Health Zone Manager: โรงพยาบาลตากสิน
Mentor Manager: โรงพยาบาลศิริราช 
Area Manager: ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง ครอบคลุม เขตบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี จอมทอง

3. กรุงเทพฯ ใต้

Health Zone Manager: โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
Mentor Manager: โรงพยาบาลเลิดสิน (สธ.), โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (รร.แพทย์) 
Area Manager: ศูนย์บริการสาธารณสุข 18 แห่ง ครอบคลุม เขตปทุมวัน สาทร บางรัก วัฒนา คลองเตย พระโขนง ยานนาวา บางคอแหลม ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ 

4. กรุงเทพฯ ชั้นใน 

Health Zone Manager: โรงพยาบาลวชิรพยาบาล 
Mentor Manager: –
Area Manager: ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง ครอบคลุม เขตบางซื่อ บางพลัด ดุสิตพระนคร

5. กรุงเทพฯ กลาง 

Health Zone Manager: โรงพยาบาลกลาง 
Mentor Manager: โรงพยาบาลรามาธบดี (รร.แพทย์), โรงพยาบาลราชวิถี (สธ.) 
Area Manager: ศูนย์บริการสาธารณสุข 9 แห่ง ครอบคลุม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ พญาไท ราชเทวี ดินแดง ห้วยขวาง

6. กรุงเทพฯ เหนือ 

Health Zone Manager: โรงพยาบาลกลาง 
Mentor Manager: โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช (ทอ.), โรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ (เอกชน) 
Area Manager: ศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่ง ครอบคลุม เขตดอนเมือง สายไหม หลักสี่ บางเขน จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง

7. กรุงเทพฯ ตะวันออก 

Health Zone Manager: โรงพยาบาลสิรินธร 
Mentor Manager: โรงพยาบาลลาดกระบัง, โรงพยาบาลเวชการุณรัศมิ์, โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี (รร.แพทย์) 
Area Manager: ศูนย์บริการสาธารณสุข 14  แห่ง ครอบคลุม เขตหนองจอก คลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง คันนายาว สะพานสูง ประเวศ บางนา สวนหลวง บางกะปิ บึงกุ่ม 

สำหรับโรงพยาบาลที่เป็น “Zone Manager” จะเป็นโรงพยาบาลสังกัด กทม. ทั้งหมด มีบทบาทเป็นหลังพิงให้กับศูนย์บริการสาธารณสุขในทุก ๆ ด้าน ส่วนโรงพยาบาลที่เป็น “Mentor Manager” จะเป็นพี่เลี้ยง คอยดูแลศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์สุขภาพชุมชน และร้านขายยา ฯลฯ ให้คำแนะนำและช่วยเหลือ โดยโรงพยาบาลพี่เลี้ยงมีทั้งสังกัดโรงเรียนแพทย์ สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลทหาร และโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่อยู่บ้านไม่สามารถออกมาข้างนอกได้ เข้าถึงการรักษา และข้อมูลในการปฏิบัติตนให้สุขภาพดีได้ และส่วนสุดท้าย “Area Manager” คือศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ เส้นเลือดฝอยในระบบสาธารณสุข กทม. 

นี่เป็นหน้าตาคร่าว ๆ ของ Bangkok Health Zoning ซึ่งจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการหรือ Workshop ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 7-8 มิถุนายน 2566 เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ ออกแบบการทำงานร่วมกัน และตกผลึกไปในทิศทางเดียวกัน 

หลังจากนั้นจะร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ เซ็น MOU ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หรือ ต้นเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ เป็นการนับหนึ่งระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานครแนวใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน หวังให้คนกรุง เข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความท้าทายอยู่ที่การทำงานโดยไม่มีกำแพงด้านสังกัด “รศ.ทวิดา กมลเวชช” ยอมรับ กรุงเทพมหานครไม่มีกำลังมากพอที่ทำเรื่องสาธารณสุขได้เพียงลำพัง ด้วยขนาดพื้นที่ ความหนาแน่นของประชากร ความซับซ้อนในเรื่องการสิทธิสุขภาพแต่ละกองทุน จำเป็นต้องร่วมมือกับทุกฝ่าย 

เบื้องต้นมี 20 โรงพยาบาล ประกอบด้วย 3 โรงพยาบาล สำนักการแพทย์ กทม., 3 โรงพยาบาล สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 3 โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย (โรงเรียนแพทย์), 3 โรงพยาบาลเอกชน และ 1 โรงพยาบาลทหารอากาศ

สุขภาพ
พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ 

พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ผู้ตรวจฯ เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขว่า การพัฒนาขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในนโยบายปักธงของกระทรวงฯ ที่จะให้ความช่วยเหลือ กทม. ดูแลผู้ป่วย ซึ่งหลายโซนสุขภาพที่แบ่งออกมามีโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์อยู่ในพื้นที่ จะประกอบกันเป็นระบบดูแล รับส่งต่อจากหน่วยงานที่เล็กกว่า ขณะที่ภาพรวมจะมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ดูแลกระบวนการเบิกจ่ายเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน หรือต้องเสียค่าใช้จ่าย 

กว่าจะเป็น Bangkok Health Zoning

นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ สำนักงานพัมนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) หนึ่งคณะทำงานการขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิ กรุงเทพมหานคร เล่าว่าตลอดระยะเวลาเกือบปีที่มีการทดลอง Sandbox ระบบสุขภาพ กทม. มี 2 ประเด็นหลักที่ถูกรื้อขึ้นมา 1. การเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในระบบสุขภาพ และ 2. การหาโรงพยาบาลมาเป็นแม่ข่าย ซึ่งความพยายามดังกล่าวนี้ถือเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 

นอกจากนี้ยังมีความพยายาม ดึงภาคเอกชน คลินิกชุมชนอบอุ่น เข้ามาอยู่เป็นลูกข่ายเชื่อมกับโรงพยาบาลแม่ข่ายทำให้การเข้าถึงบริการมีระบบมากยิ่งขึ้น ต่างจากในอดีตที่แยกส่วนกัน

“จริง ๆ แล้วความพยายามสร้างระบบสุขภาพ กทม. ให้เชื่อมกัน ไม่ได้พึ่งทำในช่วงที่นายชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่มีความพยายามมานาน ล้มลุกคลุกคลานหลายสิบปีเพราะเป็นความพยายามจากคนนอกเข้ามาจัดทำระบบ แต่ว่าการจัดการครั้งนี้เป็นความพยายามจากคนใน คือเป็นนโยบายของกรุงเทพมหานคร ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่จะประสบความสำเร็จ” 

สุขภาพ
นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์

เขาเชื่อว่า การพัฒนาจาก Sandbox ระบบสุขภาพไปสู่ Bangkok Health Zoning เป็นสัญญาณที่ดี สำหรับการสร้างระบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานครให้กลับมาเข้มแข็ง โดยเฉพาะ Area Manager หน่วยบริการปฐมภูมิ ที่จะต้องเข้าไปดูแลประชาชนในลักษณะเส้นเลือดฝอย แต่อาจมีความท้าทายอยู่ไม่น้อย เมื่อลงไปรายละเอียดในเชิงศักยภาพของศูนย์บริการสาธารณสุขเอง จะมี คน-เงิน-ของ เพียงพอกับภารกิจในการทำงานเชิงรุกหรือไม่ จึงมีข้อเสนอ 4 ข้อ

  1. ทรัพยากร ทั้งบุคลากรและงบประมาณจะต้องเพิ่มไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขเพิ่มเติม เพื่อให้มีคนออกไปดูแลประชาชนที่ติดบ้านติดเตียง เพื่อทำให้การทำงานเชิงรุกเป็นไปได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
  2. ต้องเปิดข้อมูลให้ผู้จัดการพื้นที่ทุกระดับไม่ว่าจะเป็น Mentor Manager หรือ Area Manager รับทราบข้อมูลร่วมกัน จะสามารถติดตามการทำงานได้
  3. กลไกทางการเงิน อาจจำเป็นต้องมีการออกแบบระบบการจ่ายเงิน จะต้องแบ่งเงินเป็น 2 ก้อน หรือไม่ก้อนสำหรับในการบริหารจัดการของหน่วยบริการและก้อนที่เป็นในส่วนของการเบิกไปยัง สปสช.
  4. กรุงเทพมหานคร ไม่ได้มีอำนาจมากถึงขนาดครอบคลุมในการจัดการระบบสาธารณสุขทั้งระบบ เพราะมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหลายสังกัด จำเป็นต้องหากลไกมาช่วยบริหารจัดการให้เป็นทิศทางเดียวกัน อาจมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ 

Bangkok Health Zoning เป็นทางเลือกแรกที่ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เลือกที่จะใช้ในการแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร แทนที่จะสร้างโรงพยาบาลให้ครบทุกเขตเนื่องจากต้องใช้งบประมาณและกำลังคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะเกินกำลังความสามารถของหน่วยงานท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร 

ขณะที่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองเสนอจะสร้างโรงพยาบาลให้ครบทั้ง 50 เขต ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งนักวิชาการยอมรับว่าบางเขตขาดโรงพยาบาลจริง เห็นได้จากผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองในกรุงเทพมหานคร ราว 1.9 แสนคน ที่ยังไม่มีโรงพยาบาลรับส่งต่อ แต่ก็เป็นเพียงบางเขตเท่านั้น ซึ่งอาจจะสร้างโรงพยาบาลในเขตที่ยังขาดแคลน แต่อาจไม่จำเป็นต้องสร้างโรงพยาบาลครบทั้ง 50 เขต 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS