ถ้าการเมืองดี… เราจะคุยเรื่อง “สถาบันกษัตริย์” กันอย่างไร

นับถอยหลังอีก 2 วัน ก่อนถึงวันครบรอบ 14 ปี รัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549 มีหลายกิจกรรมทางวิชาการจัดขึ้น โดยมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับวงจรการรัฐประหารของประเทศไทย

ถ้าการเมืองดี… เราจะคุยเรื่อง “สถาบันกษัตริย์” กันอย่างไร? คือ การเสวนาวิชาการครั้งแรกในชุดโครงการเสวนา #ถ้าการเมืองดี Ep.01 ของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นวันที่ 15 ก.ย. 2563

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ประชาชนไทย ผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กล่าวว่า หากพูดถึงการเมืองดีคงไม่มี เพราะไม่มีอะไรที่ถูกใจไปทั้งหมด ส่วนการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทุกคนมีสิทธิจะคิดและพูด แต่หากพูดในพื้นที่สาธารณะ ก็ต้องคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้น หากเป็นการพูดแลกเปลี่ยนในเชิงวิชาการด้วยข้อเท็จจริงก็สามารถทำได้

การเมืองคงไม่มีวันดี แต่ถ้าจะพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็อยากจะเริ่มด้วยคำพูดว่า ขอให้พูดกันด้วยความเคารพประชาชน อำนาจที่สถาบันกษัตริย์มี ก็มาจากประชาชนมอบให้

เขาบอกว่า อำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ หากสถาบันพระมหากษัตริย์ทำอะไรที่ผิดรัฐธรรมนูญ สถาบันฯ ก็อยู่ไม่ได้ อำนาจทุกอย่างถูกกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ วางความสัมพันธ์ของทุกตำแหน่งไว้

แต่ทุกคนมีสิทธิที่จะคิด ไม่สามารถบังคับให้ใครชอบหรือไม่ชอบได้ บังคับให้เปลี่ยนใจหรือห้ามพูดอะไรไม่ได้ แต่ใน ARTICLE 19* บอกว่า ถ้าการพูดใด ๆ มีผลต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ให้ตราไว้

การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถทำได้ตามความเชื่อของแต่ละคน แต่ควรจะตรวจสอบ ทั้งวิธีการพูดและบริบท ถ้าเป็นอย่างในห้องประชุมนี้ สามารถถกเถียงกันด้วยเหตุผล แต่ถ้าออกไปทางสื่อสังคมออนไลน์และมีคนไม่พอใจ (คนพูด) ก็ต้องรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเอง

*องค์กรนานาชาติอาร์ติเคิล 19 (ARTICLE 19) คือ องค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนนานาชาติ ที่ทำงานรณรงค์ให้ประเทศต่าง ๆ เคารพและปฏิบัติตามหลักการมาตรา 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และมาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งเคยแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประเทศคองโกและประเทศสเปน


ส่วน ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุม “19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 19 ก.ย. นี้ มองว่า ปัจจุบันการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการพูดคุยมากขึ้น และย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงนำมาสู่ข้อเสนอ 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยระบุว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน และเพื่อให้สถาบันฯ ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

แม้การเมืองจะยังไม่ดี ก็สามารถพูดในชีวิตในประจำวันได้โดยไม่กลัว คนที่โต้แย้งมีอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย

เธอระบุถึงกรณีของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามที่ถูกกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ การเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย เป็นที่เทิดทูนสักการะ เพราะฉะนั้น การจะทำให้สถาบันฯ เป็นที่เทิดทูนต่อไปได้ คือ ต้องมีการแนะนำได้ หากทำผิดก็จะต้องปรับปรุง เพื่อเป็นที่เทิดทูนต่อไป เพราะไม่อยากให้มีอะไรเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ รวมถึงการที่สถาบันฯ ต้องถูกตรวจสอบได้ และต้องปรับงบประมาณแผ่นดินให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน


ขณะที่ รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า คงต้องยืนยันและยอมรับหลักการประชาธิปไตยก่อนว่า เป็นหลักที่ประกันเสรีภาพการแสดงออก แต่ต้องอดทนต่อความเห็นต่าง เพื่อนำไปสู่การถกเถียงจนได้ฉันทามติของมหาชน ดังนั้น ถ้าการเมืองดี ก็ต้องสามารถอภิปรายถกเถียงเรื่องนี้ได้ ซึ่งหมายความว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องปรับให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

ต้องตั้งหลักว่า เราต้องการปกครองในระบอบอะไร ถ้าเราเอาประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ในระบอบประชาธิปไตย

เขาบอกว่า ในยุคสมัยใหม่นี้ ต้องยอมรับว่า สังคมต้องการให้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องการให้ยึดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องการให้ผู้มีอำนาจมีความรับผิดชอบและถูกตรวจสอบได้ ถ้าเรายืนยันต้องการการปกครองในระบอบแบบนี้ ก็ต้องมาคุยกันว่าแล้วสถาบันทั้งหลายในประเทศไทย สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ประชาธิปไตยหรือไม่

ไม่ว่าจะถกเถียงในรายละเอียดอย่างไร แต่มีหลักร่วมกัน คือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน องค์กรที่มาทำหน้าที่ใช้อำนาจรัฐแทนประชาชนนั้น จำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชน และจำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบการใช้อำนาจนั้น มีหลักการแบ่งแยกไม่ให้ผูกขาดที่ใคร

หากดูประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จะมีบทบัญญัติเป็นภาษาอังกฤษว่า The person of the King is inviolable คำนี้ หมายความว่า พระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขของรัฐ มีเอกสิทธิและความคุ้มกัน คือ ไม่ถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดีใด ๆ ซึ่งเมื่ออ่านประโยคนี้ต้องอ่านในฐานะเป็นผลลัพธ์ ต้องมีเงื่อนไข คือ พระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจโดยแท้ในทางการเมือง แล้วปล่อยให้รัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจโดยแท้ในทางการเมือง เป็นคนรับผิดชอบ

มีถ้อยคำเพิ่มเข้ามาอีกว่า องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ คำว่าผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ คือ is inviolable แต่องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ หรือ The person of the King is sacred คำ ๆ นี้เป็นมรดกตกทอดในทางประวัติศาสตร์ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ประเทศไทยนำมาใช้ตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2475 แรก ๆ ไม่มีใครสงสัย แต่ระยะหลังมีการแปลความคำว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ หมายความว่า ใครจะพูดถึงพระมหากษัตริย์ในทางลบไม่ได้เลย ในทางวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เลย และจำเป็นต้องมีกฎหมายอาญามาตรา 112 มาขยายความเพื่อทำให้คำว่าเคารพสักการะบังเกิดผลได้จริง ซึ่งเป็นการแปลความที่ผิด


ขณะที่มุมมองของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง อย่าง ศ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ระบุถึงข้อจำกัดของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ทำให้ผู้คนไม่กล้ากล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในทางลับ

มาตรา 112 ทำให้คนกลัวความผิด เพราะอยู่ที่ผู้ปฏิบัติใช้ดุลพินิจมากเกินขอบเขต ทำให้ปัญหาบานปลาย ทำให้คนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ เก็บไว้ในใจ ถ้าไม่พยายามหาวิธีแก้ปัญหา จะเป็นอันตรายต่อสังคมไทย

ศ.ธีรภัทร์ บอกว่า ที่ผ่านมามีความพยายามเสนอทางแก้ปัญหานี้ แต่ยังไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไร หากจะเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็ต้องหาสาเหตุและแก้ปัญหาให้ตรงจุด

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เคยพระราชทานพระราโชวาทว่า เดอะคิง ทำผิดพลาดได้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ตรงนี้จึงจะต้องนำไปใช้ปฏิบัติแก้ไขได้ รัชกาลที่ 10 ก็มีปฐมพระบรมราชโองการว่า จะสืบสานแนวทางของพระราชบิดา

ในช่วงท้าย เขายังระบุด้วยว่า เมื่อมีคำสั่งหรือประกาศคณะปฏิวัติ ไม่เคยมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้าคณะปฏิวัติ ดังนั้น ข้อเสนอข้อที่ 10 ที่บอกว่าต้องไม่ลงพระปรมาภิไธยก็น่าจะเป็นประเด็นรอง แต่ประเด็นหลัก คือ พระมหากษัตริย์ไม่ควรเห็นด้วยกับการปฏิวัติ ถ้ามีการปฏิวัติรัฐประหารพระมหากษัตริย์ต้องทรงคัดค้าน ในอดีตก็มีเหตุการณ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงคัดค้าน

ดูเพิ่ม

เสวนา #ถ้าการเมืองดี เราจะคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์กันอย่างไร

ก่อน 14 ปี รัฐประหาร “19 กันยา”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active